เปิดร้านสเต็กคุณต้องเรียนรู้เรื่องสเต็กเป็นอันดับแรก เชื่อเถอะการทำสเต็กให้อร่อยมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่รวมอยู่ในจานเดียว

สเต็กยังคงเป็นอาหารยอดนิยมสำหรับคนชอบทานเนื้อวัวเสมอ เพราะความชุ่มฉ่ำในการย่างสเต็กคือสิ่งที่ช่วยขับให้เนื้อวัวมีรสชาติอร่อยยิ่งขึ้น คอเนื้อวัวย่อมไม่มีทางพลาดการทานสเต็กเมื่อมีโอกาส แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะมีแต่คนชอบทานเนื้อวัวเท่านั้นที่ชอบทานสเต็ก เพราะแม้แต่คนไม่ทานเนื้อ ก็ยังชื่นชอบการทานสเต็กจากเนื้อชนิดอื่น ๆ ยิ่งปัจจุบันมีเทคนิคในการปรุงสเต็กให้มีรสชาติหลากหลาย สเต็กจึงเป็นอาหารที่เข้าถึงได้ทุกเพศทุกวัย

ธุรกิจร้านสเต็กจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์การบริโภคนี้ และที่สำคัญคู่แข่งในตลาดก็มีไม่เยอะ จึงทำให้ธุรกิจนี้ยังคงมีความน่าสนใจในปัจจุบัน ส่วนใครก็ตามที่คิดอยากจะเปิดร้านสเต็กสัก 1 ร้าน แต่ยังไม่รู้จะทำอย่างไรดี วันนี้เรามีคำแนะนำและแนวทางที่น่าสนใจมานำเสนอเพื่อให้คุณเปิดร้านสเต็กได้อย่างมั่นใจครับ

จะเปิดร้านสเต็กก็ต้องเรียนรู้ การทำเสต็กก็เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์เชียวนะ

ถ้าคิดจะเปิดร้านสเต็กคุณต้องเรียนรู้เรื่องสเต็กเป็นอันดับแรก เชื่อเถอะการทำสเต็กให้อร่อยมันเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่รวมอยู่ในจานเดียว ไล่มาตั้งแต่การเลือกเนื้อดี ๆ แต่ละเกรดมาเป็นวัตถุดิบ การเตรียมเนื้อแต่ละส่วน การเลือกใช้เนื้อในแต่ละเมนู วิธีการย่างให้อร่อย การทำน้ำเกรวี่ให้เข้ากับสเต็ก จนไปถึงการจัดจานเสิร์ฟ สิ่งเหล่านี้คุณต้องศึกษาและเรียนรู้ให้เชี่ยวชาญ เพราะมันคือก้าวแรกในการเปิดร้านสเต็กครับ

ร้านสเต็กมีหลายเกรด หลายระดับ ตั้งแต่สเต็กข้างทางไปจนถึงพรีเมี่ยม

นอกจากศาสตร์ของการปรุงสเต็กที่ต้องเรียนรู้ คุณต้องเข้าใจด้วยว่าตลาดการบริโภคสเต็กในบ้านเรากว้างมาก ร้านสเต็กก็มีหลายระดับตามคุณภาพและกรรมวิธีในการปรุง คุณอยากได้ลูกค้าระดับใดควรจะเป็นโจทย์ที่คุณต้องตั้งไว้ก่อนจะลงมือทำ เพราะมันสำคัญต่อรูปแบบร้าน รูปแบบเมนูและที่สำคัญคือ “เงินทุน” โดยเฉพาะเงินทุนค่าวัตถุดิบ ถ้าคุณตั้งธงไว้ในใจว่าใครคือลูกค้าของคุณ การทำงานในขั้นต่อ ๆ ไปจะง่ายดายมาก ๆ ครับ

จะเปิดเองหรือแฟรนไชส์คิดให้มากก่อนจะเริ่มทำการ

ไม่ว่าคุณจะเปิดร้านเองหรือซื้อแฟรนไชส์ มันก็มีข้อดีข้อเสียคนละแบบ ถ้าคุณเข้าใจการทำสเต็กและมีสูตรที่ทำแล้วอร่อย การเปิดร้านเป็นของตนเองน่าจะเหมาะสมกว่าเพราะคุณมีโอกาสสร้างแบรนด์ สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้เป็นที่รู้จักมากกว่า ในขณะที่แฟรนไชส์จะช่วยคุณตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงการเปิดร้าน แต่ข้อเสียคือแฟรนไชส์มักไม่ค่อยบอกสูตรคุณ หลายเจ้ามักให้คุณต้องรับวัตถุดิบของเขามาขาย คุณก็จะกลายเป็นเพียงเจ้าของร้านที่ย่างสเต็กเป็นอย่างเดียวโดยทำอย่างอื่นไม่เป็น

เปิดร้านสเต็กต้องเตรียมตัวอย่างไรดี เรามีคำแนะนำ

1. เลือกรูปแบบและวางคอนเซปท์ให้ดี มันมีผลต่อความสนใจของลูกค้า

ถ้าอยากชนะในการรบ ก็ต้องวางหมากให้แยบยล ถ้าคิดอยากเปิดร้านสเต็กให้ประสบความสำเร็จก็ต้องวางคอนเซปท์ร้านให้น่าสนใจ เพราะมันมีผลต่อความสนใจของลูกค้า ที่สำคัญไม่ใช่ว่ามีแต่ร้านระดับพรีเมี่ยมหรือสเต็กสุดหรูเท่านั้นที่จะวางคอนเซปท์ได้ ร้านสเต็กข้างทางก็วางคอนเซปท์ของร้านได้ไม่ต่างกัน หาจุดเด่นที่แสดงออกถึงความเป็นตัวคุณแล้วแสดงมันออกมา นั่นแหละคือคอนเซปท์ของร้านที่ดีที่สุด

2. เงินทุนมันต้องมี และควรมีคลังสำรองไว้เผื่อฉุกเฉิน

จะเปิดร้านสเต็กก็ต้องมีเงินทุน ไม่อย่างนั้นมันก็เปิดไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายเริ่มต้น นอกจากค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นภายในร้าน อาจต้องรวมไปถึงค่าเช่าที่ ค่าตกแต่งร้านและค่าซื้อวัตถุดิบเข้าร้าน ฉะนั้นคุณควรจะต้องบริหารจัดการเงินทุนส่วนนี้ให้ดี ร้านคุณจึงจะไม่ติดขัดในช่วงแรก ๆ ของการเปิดร้าน ขณะเดียวกันคุณควรจะกันเงินทุนส่วนหนึ่งเอาไว้เป็นทุนสำรองเผื่อฉุกเฉินในกรณีต่าง ๆ จำไว้ว่าอย่าทุ่มเงินทุนโครมเดียวลงไปทั้งหมดโดยไม่มีสำรอง เพราะหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น คุณจะไม่มีโอกาสแก้ตัว

3. ทำเลคือปัจจัยกำหนดรูปแบบร้าน

ทำเลก็คือที่ตั้งค่ายในสมรภูมิรบ ทำเลทองนอกจากจะกำหนดชะตาชีวิตของร้านว่าจะมีลูกค้าเข้ามากหรือน้อยแล้ว ทำเลก็ยังกำหนดรูปแบบของร้านด้วยเช่นกัน ถ้าคุณคิดจะเปิดในสไตล์พรีเมี่ยมทำเลคุณก็ควรไปอยู่ในละแวกธุรกิจหรือใกล้กับห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ถ้าทำเลที่ตั้งร้านของคุณอยู่ในตรอกซอยที่มีคนพลุกพล่าน คุณอาจเปิดในสไตล์ “โฮมเมด” มันก็ช่วยสร้างความน่าสนใจให้ร้านคุณ หรือถ้าทำเลคุณอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษา การเปิดเป็นร้านข้างทางก็เหมาะสมครับ แต่สิ่งสำคัญอีกประการคือ หากคุณมีที่จอดรถด้วยแล้ว ร้านคุณก็สบายตัวครับ

4. แหล่งวัตถุดิบก็สำคัญไม่ว่าจะพรีเมี่ยมหรือข้างทางของที่ใช้ต้องมีมาตรฐาน

แหล่งวัตถุดิบที่น่าเชื่อถือและไว้ใจได้มีผลอย่างมากในการเปิดร้านสเต็กครับ นี่คืออีกหนึ่งการบ้านใหญ่ที่คุณต้องจัดการ เพราะรสชาติและความอร่อยของสเต็กขึ้นอยู่กับคุณภาพของวัตถุดิบมากกว่าครึ่ง อย่าเห็นแก่วัตถุดิบราคาถูก แม้ของดีใช่ว่าจะต้องแพงเสมอไป แต่วัตถุดิบที่ราคาถูกจนน่าประหลาดใจ คุณภาพของมันก็อาจสร้างเซอร์ไพรส์ในแง่ลบอย่างคาดไม่ถึงได้เช่นกัน

5. เตรียมองค์ประกอบของอาหารให้พร้อม ที่สำคัญอย่าละเลยเมนูเสริม

นอกจากตัวสเต็กที่คุณต้องใส่ใจ องค์ประกอบที่ช่วยเสริมรสชาติคุณก็อย่าได้เพิกเฉยไม่ว่าจะเป็นเครื่องเคียง น้ำเกรวี่หรือการหมักเนื้อสิ่งเหล่านี้คือตัวตัดสินอนาคตของร้าน และการเปิดร้านสเต็กก็ใช่ว่าคุณจะขายแต่สเต็กเสียเมื่อไหร่ จำไว้ว่าเมนูเสริมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การเลือกเมนูเสริมที่เข้ากับสเต็กมาบริการในร้าน คือการสร้างความได้เปรียบให้แก่ร้านคุณ

6. กลยุทธ์ที่ดีในเวลาที่เหมาะยิ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจ

กลยุทธ์ของร้านสเต็กใช่ว่าจะมีแต่การลดราคาเท่านั้น ยังมีกลยุทธ์โดน ๆ ที่ใช้ได้ผลมาแล้วในการกระตุ้นยอดขายไม่ว่าจะเป็นเมนูเซตราคาประหยัดที่จับคู่เมนูต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แต่อีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจและใช้ได้ดีคือ “กลยุทธ์อาหารจานยักษ์” เพราะมันทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความคุ้มค่าในการทานซึ่งหลายร้านนอกจากจะใช้กลยุทธ์นี้ยังเพิ่ม “challenge” ให้ลูกค้าโดยการทานให้หมดภายในเวลาที่กำหนดเพื่อมื้ออาหารฟรี กลยุทธ์เหล่านี้แรงกว่าโปรโมชั่นลดราคาเสียอีก

7. การตลาดเป็นสิ่งสำคัญ อยากให้คนรู้จักก็ต้องทำออนไลน์ให้เป็น

สุดท้ายแล้วการรบที่ปราศจากกองหนุนคุณย่อมไม่อาจเอาชนะศึกได้ การตลาดออนไลน์คือกองหนุนที่ทรงพลังที่สุดในสมรภูมิธุรกิจ ใครก็ตามที่เพิกเฉยการตลาดออนไลน์ ย่อมไม่มีทางเอาชนะใครได้ จงเรียนรู้และพยามยามทำการตลาดออนไลน์ หากคุณทำสำเร็จมันจะช่วยพลิกโฉมร้านของคุณอย่างไม่น่าเชื่อ

        จะทำร้านสเต็กให้ประสบความสำเร็จมันไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ว่าคุณจะเปิดในรูปแบบใดหรือจะขายให้ใคร มันสำคัญแค่ว่าคุณใส่ใจในสิ่งที่ทำมากน้อยเพียงใด เชื่อเถิดว่าอะไรก็ตามที่ทำมันออกมาจากใจ หากคุณมุ่งหวังความสำเร็จมันคือสิ่งที่คุณหวังเอาไว้ได้เลย

บทความเกี่ยวกับการทำการตลาดออนไลน์

เริ่มต้นธุรกิจอย่างไรไม่ให้เจ๊ง !!!