การขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์เป็นอีก 1 กลยุทธ์ที่มีตัวอย่างแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศนำมาขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด สามารถส่งต่อความสำเร็จจากสาขาต้นแบบสู่สาขาอื่นๆ ได้อย่างมีคุณภาพ

แต่การจะยกระดับธุรกิจ SME ให้เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ รวมทั้งทุ่มเทเวลาแรงกายแรงใจ เพื่อยกระดับธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

ปัญหาก้าวแรกของการเปลี่ยนระบบธุรกิจจาก SME สู่ธุรกิจแฟรนไชส์ คือ ความรู้ และ พี่เลี้ยงที่ปรึกษาที่จะคอยนำพา ช่วยเซตอัพระบบธุรกิจให้ “ตั้งต้น” ธุรกิจได้ รวมทั้งช่วยผลักดันให้ธุรกิจ “เติบโต”

เครือข่ายแฟรนไชส์สมาพันธ์ SMEs เพื่อน พี่เลี้ยง ที่ปรึกษาธุรกิจ SME พัฒนาธุรกิจสู่ระบบแฟรนไชส์

คุณ ศรีวรรณ อมรพูนชัย ,ดร. ณพพงศ์ ธีระวร,คุณ ปิรันทนา คลี่ขจาย
คุณ ศรีวรรณ อมรพูนชัย ,ดร. ณพพงศ์ ธีระวร,คุณ ปิรันทนา คลี่ขจาย

ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหา ความรู้ ความเข้าใจ ในการยกระดับธุรกิจ SME ไทยให้ก้าวสู่ระบบธุรกิจแฟรนไชส์ ทางสมาพันธ์ SME ไทยโดยการนำของท่าน ดร. ณพพงศ์ ธีระวร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ ประธานสมาพันธ์ SME ไทย ได้จัดตั้งเครือข่ายแฟรนไชส์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้แต่งตั้งให้คุณ ศรีวรรณ อมรพูนชัย ผู้บริหารแฟรนไชส์ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแม่ศรีวรรณ ซึ่งท่านมีประสบการณ์ในธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 20 ปี มาดำรงตำแหน่งเป็นประธานเครือข่ายแฟรนไชส์สมาพันธ์ พร้อมทั้งทีมที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิเช่น คุณ ปิรันทนา คลี่ขจาย  ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายแฟรนไชส์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล หัวหน้า ภาควิชาการตลาด ม.ธรรมศาสตร์ คุณ สุทธิชัย พนิตนรากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะวอฟเฟิล ซัพพลาย จำกัด   ร่วมกับทีมคณะกรรมการคนรุ่นใหม่มาช่วยกันขับเคลื่อนเครือข่าย โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้

  • ช่วยส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการแฟรนไชส์ในสมาพันธ์ให้เติบโต มีศักยภาพ
  • ในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ
  • สร้างมาตราฐานแฟรนไชส์สมาชิกในสมาพันธ์ให้เป็นที่ยอมรับ
  • รวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลหลัก (Database) ของสมาชิกสมาพันธ์ที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์
  • ทำงานร่วมกับหน่วยงานทางภาครัฐ
  • ร่วมมือกับหน่วงด้านแหล่งเงินทุน

เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางเครือข่ายแฟรนไชส์สมาพันธ์เอสเอ็มอี จึงได้มีการจัดทำโครงการ “โตแบบก้าวกระโดดด้วยกลยุทธ์ธุรกิจแฟรนไชส์” และโครงการต่อเนื่อง “จับมือทำ” โดยมีการแบ่งระยะการดำเนินงานเป็น 4 ขั้นตอนคือ

  • คัดกรองผู้ประกอบการ ธุรกิจที่ต้องการขยายธุรกิจ เข้าร่วมการฝึกอบรม
  • บ่มเพาะ และพัฒนา ให้เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพ
  • ยกระดับมาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์ในระดับสากลเพื่อความพร้อมทางด้านการแข่งขัน
  • นำแฟรนไชส์ร่วมส่งออกตลาดสากล

เครือข่ายแฟรนไชส์จึงเป็นเสมือน “เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ลงมือทำสำหรับ SME” ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนในตลอดเส้นทางในการทำธุรกิจแฟรนไชส์

คุณภาพธุรกิจคุณภาพคนแฟรนไชส์ QFD

ผู้ผ่านการพิจารณาได้รับวุฒิบัตรแฟรนไชส์คุณภาพ
ผู้ผ่านการพิจารณาได้รับวุฒิบัตรแฟรนไชส์คุณภาพ

คุณภาพคน คุณภาพเจ้าของธุรกิจ เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

เพื่อเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ เครือข่ายแฟรนไชส์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จึงได้มีการมอบวุฒิบัตรให้กับผู้บริหารแฟรนไชส์คุณภาพ QFD ทั้งนี้แฟรนไชส์ที่ได้รับวุฒิบัตรได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมทั้งในด้านคุณธรรมจริยธรรม ความรู้ความสามารถในการบริหารแฟรนไชส์ รวมทั้งแฟรนไชส์ได้มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง บริหารแฟรนไชส์ซีเป็นอย่างดี และเป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน

สร้างความเข้าใจให้สมาชิกสมาพันธ์ได้รู้จักธุรกิจแฟรนไชส์

 ดร.ลัทธพล  เลิศลบศิริ
ดร.ลัทธพล  เลิศลบศิริ

                พื้นฐานที่ความคิด และ ความรู้ที่ถูกต้อง เป็นจุดเริ่มต้นในการ Start ธุรกิจให้แฟรนไชส์ที่เติบโต

ดร.ลัทธพล  เลิศลบศิริ ผู้บริหารแฟรนไชส์นมเหนียว นักธุรกิจรุ่นใหม่มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 10 ปีในฐานะผู้บริหารในบริษัทแฟรนไชส์ และออกมาปลุกปั้นธุรกิจแฟรนไชส์ตัวเอง เติบโตแบบก้าวกระโดดกว่า 200 สาขาในระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี เป็นหนึ่งในคณะกรรมการเครือข่ายแฟรนไชส์ ได้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแฟรนไชส์ให้กับผู้ประกอบการ SME ชี้ให้เห็นประเภทธุรกิจแฟรนไชส์ เงื่อนไขค่าธรรมเนียม รวมทั้ง ปัจจัยที่จะทำให้แฟรนไชส์ประสบความสำเร็จ

กระดุมเม็ดแรกสำคัญที่สุด หากเราไม่สามารถสร้างความเข้าใจ และปรับทัศนคติให้ถูกต้องเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ การจะเดินก้าวไปข้างหน้าย่อมมีโอกาสผิดพลาดสูง ความรู้พื้นฐานจึงเป็น “กระดุม” ที่ช่วย “กระตุกความคิด” ในการ “ทำธุรกิจแฟรนไชส์ได้ถูกต้อง”

วางโมเดลธุรกิจ แฟรนไชส์ เพื่อไปต่อยอด

คุณ ธนบรรณ สัมมาชีพ
คุณ ธนบรรณ สัมมาชีพ

รูปแบบโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ คือกรอบธุรกิจเพื่อใช้ในการกำหนดกลยุทธและยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจแฟรนไชส์ขับเคลื่อนไปได้โดยไม่สะดุด และ เติบโตไปตามแผนธุรกิจที่ได้วางไว้

คุณ ธนบรรณ สัมมาชีพ ผู้บริหารทรัพยากรบุคคล แฟรนไชส์ Advice และ คุณ บรรเจิด ยอดศิริ ผู้บริหารแฟรนไชส์น้ำดื่ม บีเจสมุทร ได้นำประสบการณ์ ในการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ ผ่านโมเดลธุรกิจ Canvas Business Model สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของแต่โมดูลธุรกิจ

เมื่อเป้าหมายชัดเจน กรอบธุรกิจชัด ความเชื่อมโยงชัดเจน การวางแผนธุรกิจก็จะแม่นยำ การลงมือทำก็สามารถทำได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็ว

การวางแผนวางกรอบธุรกิจบนกระดาษก่อน จะทำให้เราเห็น “ช่องโหว่” และ “ช่องทาง” ในการทำธุรกิจ หลายคนผิดพลาด “พ่ายแพ้ในสนามจริง” เพราะไม่เคยวางแผน “ไม่เคยรบให้ชนะบนกระดาษ” หากวันนี้จะเริ่มทำธุรกิจแฟรนไชส์ ขอให้เริ่มจากโมเดลธุรกิจที่ถูกต้องเสียก่อน

ต้นแบบความสำเร็จธุรกิจแฟรนไชส์ แรงบันดาลใจให้ SME ไทยได้พัฒนา

คุณ หนึ่งฤทัย ตวงโชคดี ผู้บริหาร แฟรนไชส์ปิ้งย่าง Giant,คุณสุทธิชัย พนิตนรากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะวอฟเฟิล ซัพพลาย
คุณ หนึ่งฤทัย ตวงโชคดี ผู้บริหาร แฟรนไชส์ปิ้งย่าง Giant,คุณสุทธิชัย พนิตนรากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะวอฟเฟิล ซัพพลาย

ความผิดพลาดของตัวเองคือ บทเรียนราคาแพงสำหรับเรา แต่ความผิดพลาดของผู้อื่น เสมือนอาจารย์ที่ให้บทเรียนราคาที่คุ้มค่า ที่เราต้องพยายามเรียนรู้เพื่อนำมาเป็นภูมิคุ้มกันมาใช้ในวันที่เราต้องเผชิญกับปัญหา หรือใช้เป็น “ทางลัด” สู่เป้าหมายที่วางไว้

คุณสุทธิชัย พนิตนรากุล ผู้บริหาร แฟรนไชส์ เดอะวอฟเฟิล พี่ใหญ่ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ที่มีประสบการณ์ร่วม 20 ปีในการล้มลุกคลุกคลาน จนปัจจุบันเป็นแฟรนไชส์ที่ขายวาฟเฟิลได้มากที่สุดในโลก และคุณ หนึ่งฤทัย ตวงโชคดี ผู้บริหาร แฟรนไชส์ปิ้งย่าง Giant จากอดีตเด็กล้างจานผลักดันตัวเองจนเป็นกุ๊ก และสร้างมาสร้างแฟรนไชส์ของตัวเอง มียอดขายหลายร้อยล้านต่อปี ได้มาร่วมตอบคำถาม ให้คำแนะนำในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ บอกถึง “ความผิดพลาด” ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ “จุดที่ต้องระวัง” ในการก้าวเดินแต่ละก้าว รวมทั้ง “วิธีการสู่ความสำเร็จ” ซึ่งเป็นทางตรง ในการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จอย่างถูกต้องและรวดเร็ว

แรงบันดาลใจเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่จะเติมให้รถได้มีกำลังขับเคลื่อนต่อไป ทว่าแม้จะมีเชื้อเพลิงดีเท่าไหร่ หากเครื่องยนต์ไม่ทำงานเชื้อเพลิงนั้นก็ไม่มีประโยชน์

SME ควรหมั่นตรวจสอบเครื่องยนต์ “หัวใจ” ตัวเองว่าสู้หรือเปล่า ทนแค่ไหน พยายามมากพอหรือยัง หากเครื่องยนต์พร้อมก็ลงมือลุย และ หมั่นหาพี่เลี้ยง ที่ปรึกษาธุรกิจแฟรนไชส์มาค่อยช่วยเติมน้ำมัน และ ช่วยเป็น GPS ชี้เส้นทางที่ถูกต้องในการทำธุรกิจ

6 ขั้นตอนสู่การเป็นแฟรนไชส์คุณภาพ QFD

คุณวาทิต ประสมทรัพย์ ผู้บริหารแฟรนไชส์ น้ำหอมกัลยา
คุณวาทิต ประสมทรัพย์ ผู้บริหารแฟรนไชส์ น้ำหอมกัลยา

รีดไขมันที่ไม่จำเป็นเอาแต่กล้ามเนื้อที่ใช้จริงๆ ในการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์ จากประสบการณ์ในการฝึกอบรม เรียนรู้ ลงมือทำจริง เจ็บจริง ได้ผลสำเร็จจริง จากคณะทำงานเครือข่ายแฟรนไชส์ พบว่าการทำธุรกิจนี้หากเดินคนเดียว ทำคนเดียว โอกาสล้มเหลวสูง และต้องใช้เงินทุนจำนวนมากจ่ายให้กับโอกาสความล้มเหลว รวมทั้งเสียเวลาในการลองผิดลองถูก

คุณวาทิต ประสมทรัพย์ ผู้บริหารแฟรนไชส์ น้ำหอมกัลยา และผู้บริหารบริษัทด้านการตลาดประชาสัมพันธ์ เป็นตัวแทนของเครือข่ายแฟรนไชส์สมาพันฯ บรรยายเกี่ยวกับโมดูลในการสร้างธุรกิจแฟรนไชส์คุณภาพ ที่ผ่านการพิจารณาออกแบบจากคณะกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษา ในส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใช้เวลากว่า 6 เดือนในการพัฒนาออกแบบจนได้ต้นแบบโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ QFD

QFD Module จึงเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จะ “จูงมือสู่ความสำเร็จ” โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ

โมเดลแฟรนไชส์คุณภาพ QFD
โมเดลแฟรนไชส์คุณภาพ QFD
  • เรียนเฉพาะที่จำเป็น ไม่เวิ่นเว้อ
  • ลงมือทำจริง
  • มีที่ปรึกษาคอยช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
  • ทำตาม Templates
  • เป็นขั้นเป็นตอน
  • มีของกลับบ้าน
  • พร้อมโตแบบก้าวกระโดดได้ทันที
  • ได้ประกาศนียบัตรจากสมาพันธ์ฯ

นับว่าเป็นอีก 1 โครงการดี ๆ ที่คนตัวเล็กร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนธุรกิจจากรากหญ้า พึงพาอาศัยความรู้ ความชำนาญ ในแต่ละศาสตร์แต่ละสาขา เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนชุมชน องค์กร และ ประเทศ เดินตามศาสตร์พระราชา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ว่าด้วยเรื่องการพึ่งพาตนเอง และ ความสามัคคี ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันดั่งพี่น้องร่วมชาติ

สอบถามการทำการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ และสร้างมารตฐานก่อนการขยายสาขา

เพิ่มเพื่อน

บทความเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์