หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจอยากเปิดร้านขายยา แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี วันนี้เรามีคำแนะนำเล็ก ๆน้อย ๆให้คุณเป็นแนวทางให้คุณเปิดร้านขายยาอย่างไรจึงจะไม่เจ๊ง
ธุรกิจร้านขายยาถือกำเนิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ที่ว่า “ยาคือปัจจัยสำคัญ 1 ใน 4 ของมนุษย์” เพราะเมื่อใดที่มีอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆน้อย ๆ คนทั่วไปย่อมวิ่งไปที่ร้านขายยาก่อนเป็นอันดับแรก เราจึงเห็นร้านขายยาเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นร้านที่มีเจ้าของร้านเปิดเอง หรือร้านในระบบแฟรนไชส์ ยิ่งในแหล่งชุมชนใหญ่ ร้านขายยายิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว หลายครั้งที่เราเห็นในซอยเดียวกันที่มีคนพลุกพล่าน จะมีร้านขายยาตั้งอยู่หลายร้าน และแม้ว่าจะมีร้านขายยาอยู่ก่อนแล้ว คุณก็มีโอกาสเห็นร้านขายยาเกิดใหม่อยู่เรื่อย ๆนั่นแสดงให้เห็นว่า ร้านขายยายังเป็นธุรกิจที่อยู่ได้ และมีแนวโน้มที่ยังไปต่อได้ในอนาคต
ก่อนเปิดร้านขายยาอ่านตรงนี้ เรื่องควรรู้หากคิดจะทำธุรกิจร้านขายยา
การเปิดร้านขายยาอาจไม่ใช่เรื่องยากที่ใคร ๆก็เปิดได้ แต่มันก็มีบางส่วนที่ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยกฎหมาย เพราะยาแม้จะเป็นประโยชน์อย่างอนันต์แต่หากมีการใช้ผิดไปจากวัตถุประสงค์ มันก็คือโทษมหันต์ที่ไม่ได้ส่งผลแค่เพียงต่อตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่บางกรณียังมีผลกระทบในวงกว้างอีกด้วย ก่อนจะเปิดร้านขายยา คุณควรจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ก่อนครับ
1. ศึกษาทำความเข้าใจกฎหมายยา กฎหมายข้อบังคับการเปิดร้านขายยา และที่เกี่ยวข้องให้ถี่ถ้วน
สิ่งแรกที่คุณควรจะทำความเข้าใจเป็นอย่างแรกคือ การศึกษาข้อกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องของยาทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นประเภท หรือข้อห้ามการจำหน่ายเสียก่อน และอันดับถัดมาสิ่งที่คุณควรจะทำคือศึกษากฎหมายว่าด้วยเรื่องของการเปิดร้านขายยาและการดำเนินกิจการร้านยาให้เข้าใจ เพราะการเปิดร้านขายยาและการขายยาถูกควบคุมอย่างเข้มงวดด้วยกฎหมายนั่นเอง
2. จะทำร้านขายยาก็ต้องขออนุญาตให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียก่อน การเปิดร้านขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีสิทธิ์ติดคุก
หากตัดสินใจแน่ ๆแล้วว่าอยากจะเปิดร้านขายยา สิ่งที่ควรจะทำเป็นอันดับถัดมาคือ คุณควรจะขออนุญาตเปิดร้านขายยาให้ถูกต้องเรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งการขออนุญาตสามารถยื่นเรื่องได้ที่กระทรวงสาธารณสุขหรือสาธารณสุขจังหวัดที่ร้านของคุณตั้งอยู่ ส่วนรายละเอียดหลักฐานคุณสามารถเข้าไปอ่านได้ที่เว็บไซด์ของกระทรวงสาธารณสุข จำไว้ว่าการเปิดร้านขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีความผิดตามกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ตัวเองติดคุกได้ และโทษของมันก็ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆนะเออ
3. เภสัชกรประจำร้าน นอกจากจะทำให้ร้านมีมาตรฐานยังเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย
หากคุณไม่ใช่เภสัชกรและอยากมีร้านขายยาเป็นของตนเองคุณก็ควรจะมีเภสัชกร”จริงๆ”มาประจำร้าน เพราะนอกจากจะทำให้ร้านคุณมีมาตรฐาน และไม่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายแล้ว ยังถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย เพราะในปัจจุบันหนึ่งในปัญหาใหญ่ของวงการสาธารณสุขไทยคือปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม นอกจากโรคที่รักษาจะไม่หาย ยาบางชนิดยังมีผลต่อร่างกายที่คาดไม่ถึง ซึ่งเภสัชกรเท่านั้นที่จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการใช้ยา อย่าโลภมากและไร้คุณธรรมด้วยการใช้เภสัชกรแขวนป้ายหรือเภสัชกรเถื่อน เพราะผลเสียที่ตามมามันได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน
7 กลยุทธ์เด็ดเปิดร้านขายยาอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
1. เงินทุน: ฟันเฟืองสำคัญขับเคลื่อนธุรกิจ
ธุรกิจร้านขายยาเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ไหนจะค่าตกแต่งร้าน ค่าบริหารจัดการร้าน ค่าสต็อกสินค้า ค่าจ้างเภสัชกร ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าพื้นที่(ถ้ามี) เหล่านี้ล้วนต้องอาศัยเงินทุนแทบทั้งสิ้น คุณควรจะบริหารจัดการและแบ่งเงินทุนในแต่ละส่วนให้ดี และควรมีเงินทุนสำรองเผื่อฉุกเฉินเอาไว้ด้วย เพราะการเปิดร้านขายยาเป็นธุรกิจที่คุณต้องเตรียมใจขาดทุนหรือเสมอตัวในช่วงแรกได้เลย ถ้าสายป่านคุณไม่ยาวพอ อย่าเสี่ยงลงทุนเปิดร้านขายยาเด็ดขาด
2. ถ้าไม่อยากเริ่มต้นเองทั้งหมด แฟรนไชส์คือคำตอบ
แฟรนไชส์คืออีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่สนใจอยากเปิดร้านขายยาแต่ไม่มีประสบการณ์โดยตรงและไม่รู้จะหาเภสัชกรที่ไหน เพราะการซื้อแฟรนไชส์นอกจากคุณจะได้วิธีและระบบบริหารจัดการร้าน แฟรนไชส์บางรายก็หาพนักงานและเภสัชกรมาประจำที่ร้านของคุณด้วย และที่สำคัญสิ่งที่คุณจะได้รับซึ่งสำคัญมากในร้านขายยาก็คือชื่อแบรนด์และความน่าเชื่อถือ รวมถึงการตลาดซึ่งจะช่วยคุณได้มากครับ แต่แน่นอนว่าไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ เพราะค่าแฟรนไชส์ร้านขายยาและค่าใช้จ่ายตกแต่งร้านตามมาตรฐานที่แต่ละแบรนด์กำหนดมัน “สูงมาก ๆ”
3. ทำเลร้าน ชัยภูมิสำคัญที่กำหนดชะตาของร้าน
ทำเลคือสิ่งสำคัญในทุก ๆธุรกิจ การเปิดร้านขายยาก็เช่นกัน ทำเลที่เหมาะสมก็คือทำเลในแหล่งชุมชนที่มีคนพลุกพล่าน นี่คือทำเลทองที่จะทำให้ร้านขายยาของคุณมีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่อีกหนึ่งทำเลที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ทำเลที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลครับ เพราะคนไข้หลาย ๆคนก็มักจะมาหาซื้อยาจากร้านขายยาภายนอกซึ่งมีราคาถูกกว่าของโรงพยาบาล
4. สำรวจคู่แข่ง รู้เขารู้เรารบกี่ครั้งก็ชนะทุกครั้ง
ก่อนคิดจะเปิดร้านนอกจากการสำรวจทำเลก็คือ การสำรวจว่าในละแวกนั้นมีร้านขายยาอยู่กี่ร้าน และแต่ละร้านมีจุดเด่นหรือจุดด้อยอะไรบ้าง แล้วนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงพัฒนาร้านขายยาของคุณ คุณจึงจะมีโอกาสเอาชนะคู่แข่งได้ครับ การสำรวจดูคู่แข่งคุณควรจะสำรวจดูปริมาณลูกค้าที่ใช้บริการในแต่ละร้านด้วย คุณจึงจะเห็นภาพรวมว่าแต่ละร้านมียอดขายเช่นไรและหากคุณจะเปิดร้านอีก คุณจะสามารถสร้างยอดขายให้ร้านของคุณได้แค่ไหน
5. คุณภาพของยาคือสิ่งสำคัญ ตัวแทนที่ดีจะช่วยตอบโจทย์นี้ของคุณ
คิดจะเปิดร้านขายยา คุณควรจะใส่ใจคุณภาพของยาที่นำมาขาย การหาตัวแทนยาจากบริษัทที่มีชื่อเสียงและได้มาตรฐาน คือเครื่องการันตีคุณภาพของยาในร้านคุณได้ และยาที่มีคุณภาพยังช่วยประชาสัมพันธ์ทางอ้อมให้แก่ร้านขายยาของคุณครับ คุณควรให้เวลาในการหาตัวแทนยาจากบริษัทที่มีคุณภาพ แม้จะเสียเวลาเสียหน่อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับมามันคุ้มค่าแน่นอน
6. เปิดร้านขายยาใช่ว่าจะต้องขายแต่ยา อาหารเสริมและอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยก็ช่วยเพิ่มยอดขายให้แก่ร้านของคุณ
หากคุณอยากให้ร้านของคุณมียอดขายเพิ่ม การขายอาหารเสริมหรืออุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลว เพราะคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในร้านขายยาย่อมต้องการการบริการที่ครบวงจร หากคุณขายยาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอยู่แล้ว การมีอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยหรืออาหารเสริมย่อมดึงดูดความน่าสนใจให้กับร้านของคุณ
7. หัวใจบริการคือเสน่ห์ของร้านแต่สำหรับร้านขายยา “จรรยาบรรณ”คือสิ่งสำคัญที่สุด
หากคุณเปิดร้านขายยา มีบริการที่ดีและอัธยาศัยไมตรีคือสิ่งสำคัญที่เป็นสเน่ห์ของร้านคุณ แต่สิ่งสำคัญที่สุดกลับเป็นจรรยาบรรณที่คุณจะต้องมี สิ่งที่ไม่ควรทำเด็ดขาดคือการขายยาที่ไม่จำเป็นเช่นยาแรงเกินไปให้กับลูกค้าหรือการนำยาที่ไม่มีคุณภาพมาขาย ร้านขายยาไม่ใช่ร้านทั่ว ๆไปที่คุณจะสามารถเชียร์แขกให้ลูกค้าซื้อยาที่เกินความจำเป็นได้ เพราะยาบางชนิดมันส่งผลเสียต่อลูกค้าครับ สิ่งที่จะช่วยทำให้ร้านขายยาของคุณอยู่ได้คือหัวใจที่คุณพร้อมจะให้คำแนะนำการใช้ยาที่เหมาะสมกับลูกค้า ด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดีของคุณและจรรยาบรรณที่จะไม่เอาเปรียบลูกค้าของคุณ
ธุรกิจร้านขายยายังคงไปได้เสมอไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ยุคกี่สมัย ตราบเท่าที่ยังมีการเจ็บป่วยอยู่ ความแตกต่างเดียวที่จะทำให้ร้านขายยาแต่ละร้านอยู่รอดหรือพังพาบก็คือ คุณภาพของยาและจรรยาบรรณที่จะไม่เอาเปรียบลูกค้า จงซื่อสัตย์ ขายยาด้วยใจและทำอะไรที่ถูกต้องตามกฎหมาย เชื่อเถิดว่าหากคุณทำคำแนะนำนี้ ร้านขายยาของคุณจะประสบความสำเร็จอย่างที่คุณต้องการครับ
บทความเกี่ยวกับการทำการตลาดออนไลน์
- กลยุทธ์เพิ่มยอดขายธุรกิจท้องถิ่นด้วยเครื่องมือการตลาดออนไลน์
- ช่องทางการตลาดออนไลน์สำหรับธุรกิจร้านอาหาร
เริ่มต้นธุรกิจอย่างไรไม่ให้เจ๊ง !!!
- ธุรกิจบริการรับซักรีด ทำอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- 8 กลเม็ดทำธุรกิจขายเสื้อผ้าแฟชั่นอย่างไรไหนไม่ให้เจ๊ง
- 7 ต้องระวัง !!! ทำธุรกิจชาบูอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- เปิดร้านบิงซู อย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- เปิดร้านกาแฟอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- เปิดร้านคาร์แคร์ ร้านล้างรถ อย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- สร้างแบรนด์ครีม เครื่องสำอาง อย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- เปิดร้านชานมไข่มุกอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- เปิดร้านหม่าล่าอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- เปิดร้านเพ็ทช็อปอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- 9 สิ่งต้องทำเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- เจาะลึก 11 เคล็ดลับเปิดร้านถ่ายเอกสารอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
- 9 รหัสลับเปิดร้านซูชิอาหารญี่ปุ่นขนาดเล็กอย่างไรไม่ให้เจ๊ง
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME