การที่จะให้ธุรกิจอยู่รอดและไปต่อได้นั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างในช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 เป็นเหมือนตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายท่านตั้งรับไม่ทัน ธุรกิจ Food Truck เองก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เมื่อช่องทางการขายรูปแบบเดิมไม่อาจสร้างรายได้ให้เหมือนเดิมอีกต่อไป ทำอย่างไรให้ธุรกิจดำเนินไปได้ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เรามีแนวคิดในการมองหาโอกาสในวิกฤตแบบคนงบน้อย จากบทสัมภาษณ์คุณวินิจ ลิ่มเจริญ CEO WeChef Thailand มาฝากกัน
ทำธุรกิจ Food Truck จะรอดได้อย่างไรในภาวะวิกฤต
1.เปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ
เมื่อพูดถึง Food Truck หลายคนมักจะคุ้นชินกับภาพของรถขายอาหารที่อยู่ตามงานอีเว้นท์ต่างๆ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 งานอีเว้นท์ต่างก็ถูกยกเลิกจนไม่สามารถจัดงานได้เหมือนเดิม ส่งผลให้ธุรกิจฟู้ดทรัคได้รับผลกระทบไปด้วย เมื่อแหล่งรายได้ของฟู้ดทรัคถูกจำกัดด้วยช่องทางการขาย หนึ่งในหนทางเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดคือ การมองหาช่องทางการขายในรูปแบบต่างๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ อย่างแพลตฟอร์ม Wechef ที่ออกแบบเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจฟู้ดทรัค ไม่ต้องผูกติดกับงานอีเว้นท์ สามารถขายได้อย่างอิสระ เช่น ปั๊มน้ำมัน ตลาดต่างๆ ขายตามหมู่บ้าน หรือตามสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ
2.ทำธุรกิจ Food Truck ปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล
เมื่อทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในชีวิต ผู้ประกอบการก็ต้อง Transform ธุรกิจเข้าสู่โลกดิจิทัล นำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ และอำนวยความสะดวกในการธุรกิจทั้งในฝั่งของผู้ประกอบการและลูกค้า เช่น ช่องทางติดต่อออนไลน์ วิธีสั่งซื้อสินค้า ช่องทางการชำระเงิน บริการจัดส่ง เป็นต้น ซึ่งจะต้องคำนึงถึงรูปแบบเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาและบริการ ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากที่สุด การเลือกใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมกับธุรกิจและเกิดประโยชน์สูงสุด จะช่วยประหยัดต้นทุนด้านแรงงานและค่าใช้จ่ายไปได้มาก และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอีกด้วย
3.ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา
ธุรกิจจะอยู่รอดได้นั้นไม่ใช่แค่การพึ่งพาเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเช่นกัน อย่างในภาวะวิกฤตธุรกิจก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ และพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ต้องเปิดใจเพื่อรับแนวคิดใหม่ๆ และหาทางตอบโจทย์ความต้องการให้ได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ความยืดหยุ่นพร้อมที่จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ผู้ประกอบการต้องมองการณ์ไกล ติดตามสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น วิเคราะห์แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตว่า ธุรกิจจะเปลี่ยนไปทิศทางไหน จะเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร บางครั้งก็ต้องแก้ปัญหาไปพร้อมกับการปรับตัว
วิธีคิดแบบ Lean canvas
Lean Canvas คือ เครื่องมือที่เป็นตัวช่วยในการเขียนแผนธุรกิจฉบับย่อ และกระชับที่มีข้อมูลครบในหน้าเดียว ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ประกอบการ SME Startup โดยเฉพาะ ช่วยให้เข้าใจสินค้า เข้าใจตลาด ช่องทางการทำการตลาด และภาพรวมธุรกิจ วิธีคิดแบบนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ Food Truck ได้เช่นกัน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ
- ฝั่งเกี่ยวกับสินค้าและผลิตภัณฑ์ (Product)ได้แก่ Problem, Solution, Key Metrics และ Cost Structure
- ฝั่งเกี่ยวกับวางแผนทางการตลาด (Market) ได้แก่ Customer Segment, Channels, Revenue Streams และ Unfair Advantage
โดยมี Unique Value Proposition (คุณค่า จุดเด่นเฉพาะตัว) เป็นจุดเชื่อมโยงทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน
ฝั่งสินค้า ได้แก่
1.Problems (ปัญหา)
เพราะ Pain Point ของลูกค้าสำคัญที่สุด ความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมายจึงเป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ บางคนทำธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง โดยลืมคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าควบคู่ไปด้วย แค่เข้าใจปัญหา ความต้องการ ก็ถือว่าได้แก้ปัญหาของกลุ่มเป้าหมายไปครึ่งหนึ่งแล้ว
2.Solution (วิธีแก้ปัญหา)
สินค้าหรือบริการสามารถแก้ปัญหาให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างไร ลองนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาหลากหลายทางเลือก เพื่อเป็นแนวทางในการผลิตสินค้าหรือบริการให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
3.Key Metrics (ตัวชี้วัดสำคัญ)
กำหนดปัจจัย เพื่อประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ ตัวชี้วัดต้องสะท้อนได้ว่าธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จ พัฒนาต่อไปในอนาคตได้หรือไม่
4.Cost Structure (โครงสร้างต้นทุน)
สรุปค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเข้าใจโครงสร้างต้นทุนทั้งหมดของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าสถานที่ เงินเดือนพนักงาน ต้นทุนแปรผัน เช่น ค่าการตลาดออนไลน์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าจัดส่งสินค้า
ฝั่งการตลาด ได้แก่
1.Customer Segments (กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย)
สินค้าหรือบริการของเราสร้างคุณค่าเพื่อใคร ระบุกลุ่มที่มีโอกาสเป็นลูกค้า มีแค่กลุ่มเดียว หรือมีความหลากหลายตามเพศ อายุ พฤติกรรม ความสนใจ ไลฟ์สไตล์ เป็นต้น
2.Channels (ช่องทางติดต่อ)
ช่องทางใดบ้างที่จะนำเสนอสินค้าหรือบริการแก่กลุ่มเป้าหมาย ประชาสัมพันธ์ การตลาด ติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า เช่น Social Media เว็บไซต์
3.Revenue Stream (กระแสรายได้)
ประมาณการรายได้ต่อเดือนจากธุรกิจ และระยะเวลาในการคืนทุน กำหนดราคาสินค้าหรือบริการ ระบุแหล่งรายได้ให้ครบถ้วน ไม่ว่าจะมาจากการขายสินค้า ค่าสมาชิก ค่าธรรมเนียม
4.Unfair Advantage (ข้อได้เปรียบ)
อะไรคือข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่ง จุดเด่นของสินค้าหรือบริการคืออะไร ถ้าธุรกิจของเราเลียนแบบได้ง่ายก็จะยิ่งเผชิญความเสี่ยงในการแข่งขัน
เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันช่วยเอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจให้ง่ายกว่าในยุคก่อน สำหรับหลายๆ คน การทำธุรกิจไม่จำกัดอยู่แค่ธุรกิจเดียวเท่านั้น หากเข้าใจพื้นฐานของการทำธุรกิจ มีการวางแผนอย่างรอบคอบ แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่ารอให้ธุรกิจถูก Disrupt ต้องมองไปไกลถึงอนาคตว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นี้สามารถไปต่อได้หรือไม่ มีอะไรบ้างที่สามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ การทำธุรกิจในยุคดิจิทัล คนที่เสียโอกาสคือ คนที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการทำธุรกิจได้นั่นเอง
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME