เมื่อเป็นหนี้แล้วไม่ยอมจ่าย ท้ายที่สุดสิ่งที่คุณจะต้องเจอก็คือการฟ้องร้องเพื่อเป็นการบังคับให้คุณจำเป็นต้องใช้หนี้คืนแก่เจ้าหนี้ของคุณครับ และนอกจากจะถูกฟ้องบังคับคดีคุณก็จะเสียเครดิตในการขอสินเชื่ออื่น ๆหากหนี้ที่เกิดขึ้นนั้นคุณมีสัญญาไว้กับทางสถาบันการเงินครับ เมื่อคุณเป็นหนี้ มูลหนี้เท่าไหร่ที่จะทำให้คุณถูกฟ้องร้อง และคุณจะป้องกันและแก้ไขมันได้อย่างไรบทความนี้มีคำตอบครับ

เป็นหนี้เท่าไหร่ถึงโดนฟ้อง

เป็นหนี้เท่าไหร่ถึงโดนฟ้อง

ตามกฎหมายระบุเอาไว้ว่าไม่ว่ามูลหนี้จะมีมูลค่าเท่าใด หากมีการผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้ก็มีสิทธิ์ฟ้องร้องได้ครับ เพียงแต่ว่าหากมูลหนี้ที่เกิดขึ้นมีมูลค่าเกินกว่า 2,000 บาท การฟ้องร้องจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีสัญญาเงินกู้เป็นหลักฐาน เพราะหากการกู้ยืมนั้นไม่มีหลักฐานก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้ นอกจากนี้สิ่งที่จะกำหนดว่าเจ้าหนี้จะสามารถฟ้องร้องลูกหนี้ได้หรือไม่ก็คืออายุความครับ โดยหนี้บัตรเครดิตจะมีอายุความ 2 ปี หนี้ที่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลหรือหนี้ที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดจะมีอายุความ 5 ปี ส่วนในกรณีการกู้ยืมเงินทั่วไปจะมีอายุความ 10 ปีนับตั้งแต่มีการผิดนัดชำระครับ หากเกินจากอายุความไปแล้วเจ้าหนี้ก็ไม่มีโอกาสฟ้องร้องลูกหนี้ได้อีกต่อไป

เมื่อถูกฟ้องร้องเมื่อผิดนัดชำระหนี้ ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณควรจะทำ

เมื่อใดที่คุณถูกฟ้องร้องเมื่อผิดนัดชำระหนี้ การเงียบเฉยหรือหายไปเลยก็ไม่ต่างจากการที่คุณยอมรับสภาพการฟ้องร้องนั้นและยอมจำนนต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งมีกรณีตัวอย่างมาแล้วในเร็ว ๆนี้ครับที่เพียงแค่ผิดนัดชำระหนี้จากการซื้อโทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวและไม่สนใจที่ต่อหมายเรียกใด ๆ กลับทำให้ต้องสูญเสียบ้านและที่ดินไปกับการโดนขายทอดตลาดครับ ดังนั้นสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำเมื่อคุณรู้ตัวว่ามีการผิดนัดชำระหนี้นั่นก็คือ “การเจรจาเพื่อประนอมหนี้กับทางเจ้าหนี้” โดยการประนอมหนี้นั่นคุณสามารถทำได้ดังนี้

1.เจรจาประนอมหนี้ก่อนฟ้อง

ก่อนที่ทางเจ้าหนี้จะทำการฟ้องร้องนั้น มักจะมีการออกจดหมายเตือนแก่ลูกหนี้ก่อนเสมอเพื่อให้ลูกหนี้ทำการชำระหนี้ที่ค้างชำระนั้น สิ่งที่ลูกหนี้ควรทำก็คือการติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอปรับปรุงยอดหนี้หรือปรับเปลี่ยนวิธีการชำระหนี้เพื่อให้คุณสามารถกลับไปชำระหนี้ได้อีกครั้ง

2.เจรจาประนอมหนี้ชั้นศาล

แม้เมื่อการฟ้องร้องขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วก็ตาม คุณก็ยังสามารถที่จะเจรจาเพื่อขอประนอมหนี้ได้ครับ สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำก็คือต้องไปตามกำหนดนัดที่กำหนดทุกครั้ง ซึ่งในระหว่างนี้คุณจะต้องนำเอกสารทุกอย่างที่เก็บไว้ และทำการตรวจสอบเงินต้นที่เหลือ ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆว่าถูกต้องตรงกับความเป็นจริงหรือไม่ ในชั้นศาลนี้เองคุณยังสามารถเจรจาเพื่อขอปรับปรุงยอดหนี้หรือปรับลดเงินที่ต้องส่งในแต่ละงวด รวมไปถึงขอเจรจาเพื่อปรับแต่งจำนวนงวดหรือวิธีการชำระหนี้ได้เช่นกัน

3.เจรจาชั้นบังคับคดี

แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงของการบังคับคดีแล้วก็ตาม ลุกหนี้ก็ยังคงเจรจากับเจ้าหนี้ได้ทุกเวลาครับ เพียงแต่อำนาจการต่อรองอาจลดลงไป โดยลูกหนี้สามารถเจรจาประนอมหนี้เพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ทำการยึดทรัพย์ครับ นอกจากนี้หากมีการขายทอดตลาดสินทรัพย์ที่ถูกยึดไปแล้ว ลูกหนี้ก็สามารถเข้าสู้ราคาในการขายทอดตลาดได้เช่นกัน ซึ่งการยึดทรัพย์นั้นจะไม่ยึดทรัพย์ที่มีมูลค่าเกินไปกว่ามูลค่าหนี้มากเกินไป เว้นเสียแต่จะไม่มีทรัพย์สินอื่นใดให้ทำการยึดทรัพย์แล้ว

หากไม่อยากถูกฟ้องร้องเรื่องหนี้ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำ

การเป็นหนี้ไม่จำเป็นต้องมีจุดจบที่การฟ้องร้องเท่านั้นครับ เพราะมีลูกหนี้หลายรายที่สามารถผ่อนชำระใช้คืนหนี้สินได้จนจบโดยไม่มีปัญหาใด ๆ หากคุณไม่อยากมีปัญหาในเรื่องหนี้จนนำไปสู่การฟ้องร้อง นี่คือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำครับ

1. มีวินัยทางการเงินคือกุญแจสำคัญที่จะไม่ให้คุณมีปัญหาเรื่องหนี้

เมื่อเป็นหนี้ สิ่งแรกที่คุณจำเป็นต้องมีก็คือวินัยทางการเงินครับ เพราะวินัยทางการเงินจะทำให้คุณสามารถวางแผนจัดการค่าใช้จ่ายประจำและสามารถชำระหนี้สินที่มีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. หารายได้เสริมก็จะช่วยให้สภาพคล่องทางการเงินของคุณมั่นคงขึ้น

วิธีการหนึ่งที่จะทำให้สภาพคล่องทางการเงินของคุณดีขึ้นเมื่อมีภาระหนี้สินก็คือการหารายได้เพิ่มเติมเพื่อมาจุนเจือและแบ่งเบาภาระค่าใชจ่ายที่ส่วนหนึ่งต้องนำไปใช้หนี้ครับ การหารายได้เสริมสามารถทำได้หลายวิธีทั้งการหาเงินในช้องทางออนไลน์ ช่องทางออฟไลน์ตามแต่ที่คุณถนัดครับ

3. หยุดก่อหนี้เพิ่มเติมโดยเด็ดขาด

หากคุณมีภาระหนี้สินอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว การก่อหนี้เพิ่มเติมก้อนใหม่ขึ้นมาคือหายนะที่คุณไม่ควรทำอย่างเด็ดขาด เพราะมีโอกาสอย่างมากที่หนี้สินก้อนใหม่จะไปเพิ่มภาระและทำให้คุณตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเกี่ยวกับหนี้ครับ แต่ถ้าหากตคุณมีวินัยการเงินที่ดี มีรายได้ที่มั่นคงเพียงพอต่อการชำระหนี้สินที่มากกว่า 1 ก้อนได้ก็ไม่มีปัญหาหากคุณจะมีหนี้สินก้อนที่ 2 ครับ แต่หากคุณไม่มั่นใจก็อย่าได้ก่อหนี้เพิ่มเติมอย่างเด็ดขาด

4. อย่าก่อหนี้เพื่อมาโปะหนี้ยอดอื่นโดยเด็ดขาด

หากภาระหนี้สินของคุณเกินกำลังกว่าที่คุณจะขจัดการไหว การเจรจาประนอมหนี้คือสิ่งที่ต้องทำครับ อย่าไปก่อหนี้แหล่งอื่นเพื่อมาโปะหนี้ก้อนเดิมอย่างเด็ดขาดหากว่าอัตราดอกเบี้ยของแหล่งหนี้ก้อนใหม่เทียบเท่าหรือสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยก้อนเดิมของคุณ เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้คุณต้องถูกฟ้องร้องหนี้ได้ในที่สุด แต่หากแหล่งเงินกู้ใหม่มีอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่ามาก หรือสามารถขยายระยะเวลาใช้คืนหนี้ได้และมีจำนวนยอดการผ่อนชำระที่ลดลงกว่าหนี้ก้อนเดิมคุณก็สามารถเลือกการกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ใหม่ได้ครับ 

ไม่มีใครที่อยากถูกฟ้องร้องด้วยเรื่องของหนี้สินอย่างแน่นอน การจะรอดพ้นจากการถูกฟ้องร้องจากหนี้ที่ดีที่สุดคือการพยายามใช้คืนหนี้สินที่มีตามระยะเวลาที่กำหนดครับ ซึ่งคุณอาจต้องรักษาวินัยทางการเงินที่เข้มข้นเพื่อให้สภาพคล่องทางการเงินมีมากพอที่จะชำระหนี้สินที่มีได้ นอกจากนี้หากคุณเริ่มมีปัญหา ลองพยายามพูดคุยประนอมหนี้กับเจ้าหนี้เสียก่อน ดีกว่าการเงียบหายไปเสียดื้อ ๆเพราะนั่นเท่ากับว่าคุณกำลังพาตนเองไปสู่เส้นทางของศาลซึ่งมักจะจบลงด้วยการถูกฟ้องร้องได้ในที่สุดครับ