ผู้ประกอบการมือใหม่ควรทำความเข้าใจในเรื่องภาษีมูลค่า  VAT ไม่สำคัญว่าขนาดของธุรกิจจะเป็นเช่นไร เพียงแค่จัดการทำทุกอย่างให้เข้าสู่ระบบ ก็ถือเป็นก้าวแรกสู่การรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับเจ้าของกิจการนอกจากงานบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่งคั่ง และมั่นคงแล้ว ภาษีเป็นอีกเรื่องที่ควรรู้และให้ความสำคัญเช่นกัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่พึงปฏิบัติ เมื่อพูดถึงภาษี สำหรับเถ้าแก่ใหม่หลายคน อาจรู้สึกหนักใจและสับสนกับการเรียนรู้ในช่วงแรก ด้วยความที่ภาษีมีหลายประเภท จึงต้องค่อยๆทำความเข้าใจ หนึ่งในภาษีที่จะมาพูดถึงนั่นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ในฐานะผู้บริโภคอาจจะได้ยินคำนี้อยู่บ่อย มีความเข้าใจมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ในฐานะคนทำธุรกิจ ภาษีนี้มีบทบาทอย่างไร และเมื่อไหร่ที่ควรจด

ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร มาทำความเข้าใจให้ตรงกัน

หากเข้าไปที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax) หรือ VAT เป็นการเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ  ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มมีตั้งแต่ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้ขาย ตลอดจนผู้บริโภคทั่วไป แต่เดิมเคยถูกกำหนดไว้ที่ 10% ต่อมาได้มีการปรับลดลงเหลือ 7%  ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจหรือนโยบายทางการเมืองก็เป็นได้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นภาษีทางอ้อม ที่สามารถผลักภาระไปยังผู้ซื้อให้เป็นผู้ชำระแทนได้ ท้ายสุดแล้วจะถูกผลักภาระไปยังผู้บริโภคขั้นสุดท้ายนั่นเอง ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ค่าใช้จ่ายทั่วไปในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อหน้าปากซอยไปจนถึงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ โดยปกติสินค้าที่วางจำหน่ายจะมีการบวกภาษีอยู่แล้ว และหากเป็นเพียงผู้บริโภคทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้อง ภาษีที่จ่ายไปนั้นจะไม่สามารถขอคืนได้

เมื่อไหร่ควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

1.กิจการของเรา อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

เช็คดูว่าเข้าข่ายหรือไม่ ถ้าได้รับสิทธิยกเว้น ก็ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น กลุ่มธุรกิจค่าเช่า พวกอพาร์ทเม้นต์ บ้านเช่า สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์กรมสรรพากร

2.ถ้าเมื่อไหร่ที่ธุรกิจมีรายได้เกินกว่า 1,800,000 บาทต่อปี

ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อให้ต้นทุนของการทำธุรกิจเป็นเวลาหรือความคิดก็ตาม เช่น เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท วิทยากร ติวเตอร์ ถ้ามีรายได้เกินตามเงื่อนไขที่กำหนด แม้ไม่ได้อยู่ในรูปแบบบริษัทก็ต้องจดให้ถูกต้อง เพราะสรรพากรดูจากรายได้ แล้วควรจดเมื่อไหร่ดี

จดตั้งแต่เริ่มเปิดบริษัท

ก่อนอื่นพิจารณาดูว่าธุรกิจของเรามีแนวโน้มที่จะมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทหรือไม่  (เฉลี่ยรายได้มากกว่า 150,000 บาทต่อเดือน) ไม่มีการสะสมข้ามปี การเลือกจดตั้งแต่แรกเป็นทางเลือกที่ดี เพราะมีเรื่องของภาษีซื้อเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น โรงงานที่ต้องซื้อวัตถุดิบในการผลิตสินค้า เวลาซื้อก็จะมีภาษีซื้อ เวลาขายก็ต้องมีภาษีขาย หากเป็นแบบนี้ทุกครั้งไป ก็ควรที่จะทำการจดตั้งแต่แรก แม้ว่ายังมีรายได้น้อย และภาษีขายยังน้อยอยู่ก็ตาม เพื่อจะได้มีสิทธิในการเก็บภาษีซื้อมาไว้ล่วงหน้า ซึ่งมีผลในการนำส่งภาษีให้สรรพากร และอาจมีความต้องการใช้สิทธิขอคืนภาษีซื้อในช่วงแรกของการดำเนินกิจการก็เป็นได้

จดตอนรายได้ใกล้ถึง 1.8 ล้าน

ถ้าธุรกิจนั้นแทบจะไม่มีเรื่องของภาษีซื้อเลย

หากจะให้ตอบว่าช่วงเวลาใดเหมาะสมที่สุดในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คงไม่มีคำตอบที่ตายตัวว่าจะจดเมื่อไหร่ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ

จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ได้อะไร

เมื่อทำการจดเรียบร้อยแล้ว ทางกรมสรรพากรจะออกใบ ภ.พ. 20 เป็นหลักฐานว่ากิจการมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ในครั้งแรกที่ทำธุรกิจระหว่างองค์กรด้วยกันจะมีการขอดูใบ ภ.พ. 20

ถ้าไม่เข้าระบบนอกจากธุรกิจจะขยับขยายได้ลำบากแล้วยังทำให้เสียเปรียบอีกด้วย เช่น การที่เราซื้อวัตถุดิบจากบริษัท A ซึ่งอยู่ในระบบถูกต้อง เราจะเสียภาษีซื้อ แต่พอเราขายออกไป เมื่อไม่อยู่ในระบบ ก็ไม่สามารถที่จะเก็บภาษีจากลูกค้าได้  และสิ่งที่ต้องทำหลังจดทะเบียนแล้วคือ

1.จัดทำรายงาน เตรียมเอกสารนำส่งภาษีซื้อ และภาษีขาย

ภาษีซื้อ คือ  ภาษีที่ผู้ประกอบการจ่ายให้กับผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ เช่น สินทรัพย์ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต

ภาษีขาย คือ  ภาษีที่ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

ทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือบริการจะเกิดภาษีขาย เป็นยอดที่ต้องนำส่งสรรพากร เช่น บริษัท Aจดทะเบียนภาษีถูกต้อง ค่าสินค้าราคา 1,000 บาท เมื่อนำไปขาย ลูกค้าซื้อสินค้าในราคา 1,070 บาท จำนวนเงิน 70 บาทตรงนี้คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%  นั่นเอง และให้นึกเสมอว่าเงินตรงนี้ไม่ใช่ของเรา คือ ไม่ใช่ทั้งรายได้และรายจ่ายของเรา แต่เป็นเงินของลูกค้าเราในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากผู้บริโภค เรามีหน้าที่แค่ยื่นให้สรรพากรเท่านั้น ส่วนกิจการใดที่ไม่มีการจดทะเบียนภาษี จู่ๆจะไปบวกค่าภาษีเพิ่มจากราคาขาย การทำเช่นนี้ไม่สมควรอย่างยิ่ง

2.จัดทำใบกำกับภาษี

ใบกำกับภาษี (Tax Invoice)  เป็นหลักฐานแสดงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คำนวณได้จากมูลค่าสินค้าหรือบริการ ซึ่งผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ

  • กรณีที่เราเป็นผู้ขายหรือให้บริการหน้าที่คือ ออกใบกำกับภาษีขาย
  • กรณีที่เราเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือบริการสิ่งที่ต้องทำคือ ขอใบกำกับภาษีซื้อ

ซึ่งความท้าทายของเจ้าของกิจการอยู่ที่ความเข้าใจในเรื่องของเอกสาร เอกสารที่ฝั่งเราเป็นคนออกให้(ภาษีขาย)อาจไม่ใช่เรื่องยาก ที่ต้องเข้าใจเรื่องเอกสารภาษีซื้อ ต้องรู้ว่าจ่ายอะไรไปบ้าง ใบเสร็จแบบไหนที่นำมาใช้ได้ เพราะต้องคุมทั้งค่าใช้จ่ายและภาษีซื้อเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3.นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรทุกเดือน

ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

วิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่ง = ภาษีขาย (ที่เก็บมา) – ภาษีซื้อ (ที่จ่ายไป)

ตัวอย่างเช่น ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาบริษัท X จัดเก็บภาษีจากการขายและให้บริการลูกค้าจำนวน 9,000 บาท มีการจ่ายภาษีซื้อจากการซื้อสินค้าและค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นจำนวน 4,000 บาท เมื่อนำมาลบกันจะได้ 9,000 – 4,000 = 5,000 บาท ดังนั้นภาษีที่ต้องนำส่งสรรพากรคือ 5,000 บาทนั่นเอง

มาถึงตรงนี้แล้วคิดว่าผู้ประกอบการมือใหม่น่าจะเข้าใจในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มพอสมควร ไม่สำคัญว่าขนาดของธุรกิจจะเป็นเช่นไร เพียงแค่จัดการทำทุกอย่างให้เข้าสู่ระบบ ก็ถือเป็นก้าวแรกสู่การรองรับการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต บางครั้งอาจเจอกับข้อผิดพลาดบางอย่าง ซึ่งอาจมาจากการที่ไม่รู้ ไม่มีข้อมูล ไม่เคยเจอสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน แต่หากได้ศึกษาและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น เชื่อว่าการทำธุรกิจจะกลายเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่าสนุกมากขึ้น

บทความเกี่ยวกับการเสียภาษี