ว่ากันว่าช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น มักเป็นช่วงเวลาที่ยาก หากเป็นเรื่องของการทำธุรกิจ ความยากอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าจะทำได้หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร จึงทำให้มองอะไรก็กลายเป็นเรื่องยากไปเสียหมด แต่หากทำด้วยความเข้าใจ ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้ ก็จะพบว่ามีหลายหนทางในการเริ่มธุรกิจ อยู่ที่มุมมองความคิดและการวางแผนอย่างถูกต้องตั้งแต่ก่อนลงมือทำ บทสัมภาษณ์จากคุณครูอัส เจ้าของเพจบัญชีอย่างง่าย เพื่อเจ้าของกิจการ ช่วยให้เห็นแนวคิดในการเริ่มธุรกิจอย่างง่ายสำหรับมือใหม่ ทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอด วางแผนอย่างไรให้รุ่ง

การเริ่มต้นทําธุรกิจส่วนตัวให้รอด

1.ปรับเปลี่ยนความคิด เพื่อมองหาโอกาส

หนึ่งในความโชคดีของการทำธุรกิจในยุคนี้คือ ช่องทางในการขาย การทำการตลาดที่หลากหลาย มีเครื่องมือให้ใช้มากมายทั้งแบบฟรี และมีค่าใช้จ่าย อย่างไรนั้นนี่อาจทำให้มือใหม่ที่สนใจอยากธุรกิจรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ เพราะคิดว่าช่องทางขายล้วนมีผู้เล่นอยู่ก่อนแล้ว สินค้าที่จะนำมาจำหน่ายก็มีคนขายอยู่ก่อนหน้าเช่นกัน ก่อนที่จัคิดไปไกลกว่านั้น อยากให้ลองตั้ง Mindset ใหม่ว่า โอกาสทางธุรกิจยังคงมีอยู่รอบตัว เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบออกไปเรื่อยๆ อย่างวิธีการขายสินค้าแบบเดิม ผ่านช่องทางเดิมเหมือนอย่างในอดีต อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป หากมีทุนจำกัด ก็ให้ใช้ความถนัดเข้าสู้ มีทุนน้อย คิดให้มาก ใช้แรงให้เยอะ ใช้แรงเป็นทุน อย่าไปจำกัดความสามารถของตัวเอง เมื่อมีโอกาสเข้ามาให้คว้าไว้ก่อน ไม่ต้องรอให้พร้อม เพราะโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ มีหลายไอเดียธุรกิจที่มาจากการฟังปัญหาของลูกค้า หากสามารถสร้างสินค้าหรือบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้ นั่นหมายถึงการสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ ถ้ามีไอเดียให้รีบตั้งต้นลงมือทำทันที

2.ต้องรู้ต้นทุนที่แท้จริงของสินค้า

สำหรับมือใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป ควรเลือกขายสินค้าที่มีกำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP)  เกินกว่า 50% อย่าลืมว่าการทำธุรกิจมีต้นทุนแฝง ต้นทุนบริหารจัดการค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่คนส่วนใหญ่มักจะมองข้าม เช่น ค่าแรงตัวเอง ค่าขนส่ง ภาษี และยังต้องคิดเผื่อในเรื่องการทำโปรโมชั่น การตลาด แม้แต่ขายสินค้าออนไลน์ ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่างการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม E-commerce ก็จะมีการเก็บค่าธรรมเนียมการขายคิดเป็น%  จึงต้องรู้ว่ากำไรที่ได้จากการขายสินค้าหรือบริการนั้นครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือไม่ และต้องเหลือกำไรเข้ากระเป๋าตัวเองด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าขายดีแต่ไม่มีกำไร อีกเรื่องที่สำคัญคือ อย่าลงไปแข่งขันกับสงครามราคา เพราะผลลัพธ์ที่ได้มีแต่เสียกับเสีย

3.บริหารกระแสเงินสดให้ดี

หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยสำหรับมือใหม่ที่เริ่มทำธุรกิจคือ ยอดขายเยอะ แต่ไม่มีเงินสดในมือ ขายดีแต่ไม่มีเงินหมุนเวียน บางคนขายดีจนเจ๊ง! ก็มีให้เห็นไม่น้อย แล้วแบบนี้จะทำอย่างไร อาจเป็นเพราะว่าทำธุรกิจโดยให้มีเครดิตเทอมที่ยาวนาน จนไม่มีเงินไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ เมื่อมีเงินสดเข้ามาก็นำไปสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อมาผลิตมากขึ้น หรือสั่งซื้อสินค้ามาเพื่อขายมากขึ้น เพราะคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่มีสายป่านยาว อาจไม่มีปัญหา แต่สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก หากขายของแล้วเก็บเงินสดไม่ได้ซักที แถมรายจ่ายก็จ่อรออยู่เรื่อยๆ ไม่สามารถหมุนเงินได้ทัน กลายเป็นว่าต้องไปกู้เงิน ก็เท่ากับว่ายิ่งขายก็ยิ่งจน!

การเริ่มต้นทําธุรกิจส่วนตัว วางแผนธุรกิจอย่างไรให้รุ่ง

การทำธุรกิจต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน การที่จะไปสู่เป้าหมายได้นั้นก็ต้องมีการวางแผนอย่างถูกต้องและเหมาะสม ซึ่งต้องดูว่าในตอนนี้ธุรกิจของเราอยู่ขั้นไหน เช่น เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน ทำมาสักระยะแล้ว แต่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะรุ่งสักที หรือมีความมั่นคงประมาณหนึ่ง ธุรกิจที่มีความมั่นนี้คงดูได้จากรายได้ที่ไม่ถอยหลัง เงินเก็บมีมากขึ้น อย่างช่วงวิกฤตโควิด-19 หลายธุรกิจพากันทยอยเข้าสู่โลกออนไลน์ ผู้ประกอบการก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ด้วยเช่นกัน

แต่ยังคงยึดมั่นในเป้าหมายเดิม เพราะในทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเสมอ พร้อมทั้งวางแผนรับมือสำหรับอนาคตควบคู่กันไปด้วย ทำธุรกิจจะหวังแค่รอดอย่างเดียวไม่ได้ ทำแล้วต้องรุ่งด้วย ต้องรู้จักกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าธุรกิจของเราจะไปได้ไกลแค่ไหน อาจไม่จำเป็นต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด แค่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบเดิม

อย่างการต่อยอดจากธุรกิจที่ทำอยู่ สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้หรือไม่ บางทีสินค้าดีอยู่แล้ว แต่อาจจะนำเสนอไม่เป็น ลองสร้างคอนเทนต์ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ดึงเอาจุดเด่นของสินค้าออกมา เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกอยากที่จะซื้อสินค้า บางครั้งแค่รู้จักพลิกแพลงเล็กน้อย ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาอาจเกินกว่าที่คาดคิดไว้

แค่เริ่มต้นธุรกิจก็ถือว่าท้าทายมากพออยู่แล้ว แต่การทำให้ธุรกิจอยู่อย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า บางสิ่งที่คิดว่ายาก นั่นอาจเป็นเพราะไม่เข้าใจในกระบวนการ ไม่ได้ศึกษาหาข้อมูลมากพอ หรือเห็นคนอื่นทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เลยพาลให้คิดว่าการทำธุรกิจเป็นเรื่องที่ยากเกินไป แต่หากได้ลงมือทำสักครั้ง  ก็จะเรียนรู้ได้เองว่าควรไปต่อทางไหน ขั้นตอนต่อไปต้องทำอย่างไร เมื่อเจอปัญหาค่อยๆ แก้ไขไปทีละเรื่อง ทุกประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้เมื่อถึงคราวที่ต้องเลือกเส้นทางใหม่เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด