การบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล ความสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนผ่านการค้ามาสู่โลกออนไลน์ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าอยู่ที่ความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับขององค์กรไปสู่โอกาสในการเพิ่มยอดขายและเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นหน้าที่ของทั้งองค์กรที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า

ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจมีความดุเดือดเลือดสาดชนิดที่ใครพลาดพลั้งคือความหายนะของธุรกิจเฉกเช่นในยุค Digital นี้ การแข่งขันไม่ได้ถูกจำกัดวงอยู่แต่ผู้เล่นเก่า ๆ อีกต่อไป ยุคดิจิทัลคือยุคที่เปิดกว้างให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามามีส่วนร่วมในส่วนแบ่งของธุรกิจเสมอ ๆ เพื่อความอยู่รอดไม่ว่าจะหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ล้วนต้องปรับตัวแทบทั้งสิ้น เพราะใครช้าล้าหลังย่อมหมายถึงธุรกิจที่สร้างมากับมืออาจพังทลายเพียงชั่วพริบตา แม้ว่าธุรกิจนั้นจะเป็นรายใหญ่หรือมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานก็ตาม การพังทลายที่ว่านี้จึงไม่ได้ถูกจำกัดแค่เพียงรายเล็กรายย่อยเท่านั้น

แต่กระนั้นโอกาสเจ๊งของรายย่อยทั้ง SMEs และธุรกิจขนาดเล็กอื่น ๆ ย่อมมีโอกาสสูงกว่าพวกรายใหญ่ นั่นก็เพราะประสบการณ์และสายป่านที่สั้นกว่า ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด SMEs จะต้องปรับโฉมตัวเองให้เข้าไปสู่การแข่งขันในยุคดิจิทัลให้ได้ ด้วยการใช้การค้าและการตลาดออนไลน์ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองให้มากที่สุด ในครั้งนี้เราจะพา SMEs ทุกท่านไปเรียนรู้กันครับว่าการเปลี่ยนแปลงยกระดับตนเองไปสู่โลกออนไลน์ SMEs จะต้องทำอย่างไรบ้าง ตามมาเลยครับ

4 ยุทธศาสตร์ยกระดับองค์กรจากการค้าออฟไลน์ไปสู่การค้าออนไลน์ : ปรับกองทัพอย่างไรเพื่อเตรียมสู้ศึกในสมรภูมิการค้าออนไลน์

ภายในองค์กรธุรกิจ หากเปรียบเทียบการแข่งขันในเชิงธุรกิจคือสมรภูมิรบ ตัวองค์กรเองก็ไม่ต่างจาก “กองทัพหนึ่ง” ซึ่งอาจมีขนาดใหญ่เล็กแตกต่างกันไป การยกระดับองค์กรก็จำเป็นจะต้องมีแผนยุทธศาสตร์ไม่ต่างอะไรจากกองทัพจริง ๆ ซึ่งเมื่อดำเนินการปฏิรูปไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ กองทัพหรือองค์กรนั้นย่อมสามารถสู้ศึกในสมรภูมิได้ และมีโอกาสพิชิตชัยชนะได้อีกด้วย 4 ยุทธศาสตร์ที่ว่ามีดังนี้ครับ

ยุทธศาสตร์ที่ 1 : แม่ทัพหรือผู้นำองค์กรต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดของตนเองเสียก่อน

แม่ทัพในกองทัพธุรกิจก็คือ CEO ในองค์กรครับ ตำแหน่งหัวเรือใหญ่นี้จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเสียก่อน ยุทธศาสตร์อื่น ๆ จึงจะได้ผลตามไปด้วย เพราะหากผู้นำองค์กรยังยึดติดในกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ไม่เปลี่ยนแปลงให้ทันกระแสโลก องค์กรย่อมไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แม่ทัพในกองทัพธุรกิจจึงจะต้องเปลี่ยนแนวคิดของตนเองดังนี้

– วิสัยทัศน์ : ต้องมีมุมมองและมองเห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับจากการค้าแบบ On Ground ไปสู่การค้าแบบ Online เสียก่อน รวมถึงต้องมีความเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะทำให้องค์กรพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

– วัตถุประสงค์ : แม่ทัพต้องเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงคือ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายและโอกาสในการอยู่รอดเท่านั้น โดยไม่ได้เป็นการทิ้งหน้าร้าน On Ground ไปเสียทั้งหมด แต่ยังคงต้องมีการผสมผสานระหว่างหน้าร้านและการค้าออนไลน์ควบคู่ไปด้วยกัน

– สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง : การเปลี่ยนแปลงนอกจากจะอาศัยความเข้าใจของแม่ทัพ หลายครั้งยังต้องอาศัยการสนับสนุนที่ดีอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงจึงจะเดินหน้าต่อไปได้ อย่าใช้แค่เงินในการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องอาศัยทุก ๆ องค์ประกอบมาบูรณาการร่วมกันครับ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 : กำลังพลต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน

กำลังพลที่ว่านี้คือบุคลากรทุกคนและทุกระดับในองค์กรที่ต้องพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงและผลักดันให้องค์กรเดินหน้าต่อไป การเตรียมความพร้อมของกำลังพลมีดังนี้

– ความรู้ : เมื่อใดที่องค์กรกำลังจะเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง หน้าที่ในการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว แต่มันคือหน้าที่ของทุก ๆ คน ทุกคนในองค์กรจึงต้องมีความรู้ในเรื่องการค้าออนไลน์ เพื่อทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปด้วยกันทั้งองค์กร

– ประสบการณ์ : การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือเรื่องใหม่ขององค์กร จึงไม่แปลกใจที่ในช่วงแรก ๆ ย่อมเกิดการติดขัดอยู่บ้าง ดังนั้นทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการจ้าง “กุนซือ” หรือที่ปรึกษาการตลาดออนไลน์เข้ามาช่วยให้ความรู้ ให้คำแนะนำและวางระบบให้สอดคล้องกับธุรกิจ ที่ปรึกษาการตลาดออนไลน์จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงแรกของการเปลี่ยนแปลง

– ความร่วมมือ : เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้วทุก ๆ ฝ่ายในองค์กรต้องผสานความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน และบูรณาการเป็นความร่วมมือกันทั้งองค์กร การเดินหน้าจึงจะเห็นผลและเป็นรูปธรรม องค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ไม่มีการร่วมมือกันองค์กรนั้นย่อมอยู่ไม่ได้

ยุทธศาสตร์ที่ 3 : เสริมความแข็งแกร่งทั้งภายในและภายนอกด้วยยุทโธปกรณ์

ยุทโธปกรณ์ที่ว่าก็คือเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการค้าและการตลาดออนไลน์ การจะสู้ศึกให้ชนะจำเป็นต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก เครื่องมือที่ว่ามีดังนี้

– เครื่องมือภายในองค์กร : คือระบบการบริหารจัดการภายในว่าในองค์กรของเรามีระบบการจัดการที่สะดวกรวดเร็วและเป็นดิจิทัลหรือยัง เช่น ระบบการเช็คสินค้า ระบบบัญชี การทำระบบลูกค้าสัมพันธ์ (CRM)  และยังรวมถึงการเก็บข้อมูลลูกค้าแบบดิจิทัล หากอยากเปลี่ยนแปลงองค์กรคุณต้องพัฒนาระบบภายในเหล่านี้ให้ดีเสียก่อน

– เครื่องมือภายนอกองค์กร : เครื่องมือที่ว่าก็คือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ใช้ในการค้าและการตลาดออนไลน์ เช่น เว็บไซต์, Facebook, YouTube หรือก็คือเครื่องมือในทางโซเชียลมีเดียนั่นเอง คุณต้องมีความรู้ความเข้าใจและศึกษาวิธีการใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ให้เป็น คุณจึงจะสามารถสู้ศึกในสมรภูมิรบได้อย่างทัดเทียมกับกองทัพอื่น ๆ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 : ลงมือทำและขยับขับเคลื่อนองค์กรไปตามแผนการที่วางไว้

การเปลี่ยนแปลงย่อมไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลยหากไม่มีการลงมือทำ เมื่อแผนการในการเปลี่ยนแปลงได้ถูกวางไว้อย่างเหมาะสมแล้ว ทั้งองค์กรจะต้องร่วมมือกันทำตามแผนการ การเปลี่ยนแปลงจึงจะประสบความสำเร็จได้ ในระหว่างนี้ควรมีการตรวจสอบผลการดำเนินการเป็นระยะ ๆ ว่าทุกสิ่งที่ดำเนินไปเป็นไปตามแผนการหรือไม่ ซึ่งอาจต้องมีการควบคุมให้มีการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในภายหลัง

การบริหารในยุคดิจิทัล สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “ข้อมูล” หรือ “Data”

การที่จะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลอยู่ที่ความร่วมมือกันของทุก ๆ ส่วนฝ่ายในองค์กร และสิ่งที่คอยเชื่อมโยงทุกฝ่ายเข้าด้วยกันก็คือ “ข้อมูล” เพราะข้อมูลคือสิ่งสำคัญในการช่วยตัดสินใจและวางแผนการผลิต การตลาดและบุคลากร การจัดเก็บและการเข้าถึงข้อมูลจึงไม่ได้อยู่แค่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเท่านั้น แต่มันคือศูนย์กลางที่ทุกส่วนฝ่ายต้องเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างระบบ “Center” เพื่อให้แต่ละแผนกส่งข้อมูลของตนเองมาเก็บไว้ที่ส่วนกลางและเพื่อง่ายต่อการส่งต่อข้อมูลนี้ไปยังแผนกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้วิเคราะห์และช่วยในการตัดสินใจในการดำเนินการต่าง ๆ ภายในแผนก และเป็นการวางแผนการทำงานของทั้งองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

การบริหารธุรกิจในยุคดิจิทัล ความสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนผ่านการค้ามาสู่โลกออนไลน์ แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าอยู่ที่ความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับขององค์กรไปสู่โอกาสในการเพิ่มยอดขายและเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นหน้าที่ของทั้งองค์กรที่จะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า องค์กรใดที่รู้จักการเปลี่ยนแปลง องค์กรนั้นย่อมมีโอกาสอยู่รอด แต่หากไม่ยอมเปลี่ยนแปลงในไม่ช้าธุรกิจนั้นย่อมตกกระแสและถูกกลืนหายไปอย่างโหดร้ายในที่สุด