อภัยภูเบศร อาจไม่คิดว่ากำลังทำธุรกิจอยู่ขณะนี้ แต่กำลังสร้างโรงเรียนขนาดใหญ่ เป็นต้นแบบเพื่อแบ่งปันความรู้ ช่วยเหลือสังคม และประเทศชาติ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สืบสานภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น และไม่ถูกกักขังให้องค์ความรู้อยู่แค่ในห้องสมุด
ห่างจากกรุงเทพไปไม่ไกล ที่ริมแม่น้ำปราจีนบุรี พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร อาคารสีเหลืองสดสถาปัตยกรรมยุโรปแบบบาโร้คตั้งตระหง่าน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียน ตึกเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกบูรณะดัดแปลงให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บองค์ความรู้แพทย์แผนไทยและสมุนไพร จากโรงพยาบาลประจำจังหวัด สร้างชุมชน ยึดเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนสมุนไพรที่คนไทยมองข้าม สร้างธุรกิจมูลค่ากว่า 400 ล้านบาทต่อปี และเป็นที่มาให้เราค้นหาว่า อะไรทำให้ภูมิปัญญาไทยหวนกลับมาแจ้งเกิดอย่างงดงามอีกครั้งภายใต้แบรนด์ อภัยภูเบศร
จุดเริ่มต้นแบรนด์ เพื่อชุมชน
ปี 2526 ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ออกเดินสำรวจป่า ศึกษาภูมิปัญญาดั้งเดิมเรื่องสมุนไพร รวบรวมข้อมูลเข้าสู่การวิจัยพัฒนา เป็นยาใช้ภายในโรงพยาบาล ปี 2529 พัฒนายาสมุนไพรรักษาเริมในปากสำหรับเด็ก จากพญายอ ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไทย ภูมิปัญญาที่ศึกษานำมาพัฒนากลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุบชีวิตชุมชน ปลุกกระแสสังคมให้เห็นคุณค่าสมุนไพร ได้มีการจัดตั้ง มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อพัฒนา วิจัย ผลิตและทำการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร อภัยภูเบศร ปี 2541 กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง จ.ปราจีนบุรี เกษตรกรกลุ่มแรกที่ร่วมกับมูลนิธิในการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอินทรีย์ คอยตรวจเยี่ยมฟาร์ม กำกับดูแลงานด้านผลิตวัตถุดิบ
สติ ปัญญา ความเพียร สร้างเศรษฐกิจพอเพียง
การพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชนต้องสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง โรงพยาบาลจึงผลักดันสร้างอาชีพให้ชุมชน ผ่านโครงการส่งเสริมอาชีพท้องถิ่น สอนการนวดแผนไทย สอนทำสินค้าสมุนไพรพื้นฐาน ชักชวนให้ชุมชนกลับมาใช้สมุนไพรท้องถิ่น ทำ contact farming กับเกษตรกร เพาะปลูกสิ่งที่เขามี ให้ความรู้ทดลองปลูกพืชใหม่ๆผ่านแปลงสาธิต แลกกับการไม่ใช้สารเคมี สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเติบโตจากหลักหมื่นเป็นหลักแสน อีกทั้งราคาพืชสมุนไพรก็ไม่ตกต่ำเหมือนสินค้าเกษตรทั่วไป เพราะความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นในขณะที่คู่แข่งเพาะปลูกยังน้อยรายอยู่ ชุมชนจึงมีรายได้ที่แน่นอน และพึ่งพาตนเองได้
ความน่าเชื่อถือ สร้างความแตกต่าง
ด้วยกระบวนการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณอย่างสมุนไพรไม่ยุ่งยาก แถมยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ จึงวางขายกันเกลื่อนตลาด อภัยภูเบศร สร้างความแตกต่างด้วยความน่าเชื่อถือ แบรนด์ที่เกิดจากโรงพยาบาล ควบคุมการผลิตด้วยทีมเภสัชกรผู้ชำนาญ การสื่อสารสรรพคุณผ่านนักวิชาการกับผลงานวิจัยที่อ้างอิงได้ ไม่โฆษณาเกินจริง สร้างมาตรฐานสูงตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี รักษาคุณค่าสมุนไพรจากขั้นตอนการผลิตถึงบรรจุ ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพ ผลคือได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สร้างกระแสให้คนหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ การใช้สมุนไพรรักษาโรค จึงไม่ใช่แค่แพทย์ทางเลือกที่จะใช้ เมื่อยาสมัยใหม่ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป
เรื่องท้าทาย อภัยภูเบศร
Euromonitor คาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรของไทยจะขยายตัวเป็น 5.69 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และปัจจุบันไทย ก็มีการส่งออกสมุนไพรและสารสกัดปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มากเลยสำหรับการขยายสู่ตลาดยาต่างประเทศ การเปิดตลาดสู่สากลจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับอภัยภูเบศร การสร้างแบรนด์ให้เป็นอินเตอร์ การสื่อสารด้วยชื่อพฤกษาศาสตร์แบบสากล การต่อยอดงานวิจัยให้สุด เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ่านงานวิจัย และการปกป้องสิทธิบัตรสมุนไพรไทย ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรสนับสนุน
สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก อภัยภูเบศร
1.ยิ่งให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ยิ่งได้มาก….ทวีคูณ
อภัยภูเบศร เริ่มต้นจากความตั้งใจช่วยเหลือชุมชนให้พึ่งพาตนเองจากสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่ กลับกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ สร้างชื่อเสียงและรายได้มหาศาลให้กับทางโรงพยาบาล จนต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด
2.จงสอนให้รู้จักหัดจับปลา
อภัยภูเบศรให้ความรู้แก่ชุมชนในการเพาะปลูกสมุนไพร ทดลองผ่านแปลงสาธิต ให้เรียนรู้จริงจากการลงมือทำด้วยตนเอง เมื่อมีความรู้ ความเข้าใจ ก็สามารถนำมาประกอบอาชีพได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร
“เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า”
พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 (4 ธันวาคม 2541)
3.อย่าปล่อยให้สมบัติล้ำค่าสูญหายไปกับกาลเวลา
สมุนไพรไทยมีมากมาย งานวิจัยบางครั้งจบที่วิทยานิพนธ์ ไม่ถูกพัฒนาต่อ การสานต่องานวิจัยแล้วพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง จึงเกิดประโยชน์ อภัยภูเบศร ต่อยอดจากตำรา เรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนาจนสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโต คืนกำไรกลับสู่ชุมชน
4.ของดี ต้องมีการันตี
จะเที่ยวบอกใครว่าของเราดี สู้ทำให้เห็นกับตา ให้คนอื่นยอมรับน่าจะดีกว่า การสร้างการยอมรับ สินค้าต้องได้มาตรฐาน อภัยภูเบศร ผ่านมาตรฐานการผลิตและการตรวจประเมิน GMP-PIC/S เทียบเท่ากับมาตรฐานของยุโรป รวมทั้งวัตถุดิบสมุนไพรที่นำมาใช้ผลิต ก็ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) เช่นกัน
5.อย่ามองข้ามภูมิปัญญาไทย
ทำไมสินค้า อภัยภูเบศร ไม่มีสมุนไพรยอดนิยมอย่าง เห็ดหลินจือ แต่กลับมีเพียงสมุนไพรพื้นๆที่เราคุ้นเคย
การเลือกสมุนไพรจากภูมิปัญญาไทย เป็นการสร้างงานให้กับเกษตรกรในประเทศ ใช้ของไทย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เมื่อเจ็บคอ ใช้ฟ้าทะลายโจรก่อนจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ เลือกใช้ขมิ้นชัน รักษาโรคทางเดินอาหาร รางจืด ทาแก้แพ้ แก้ลมพิษ มะขามป้อม อมแก้ไอ ใช้ผักเบี้ยให้ผิวกระจ่างใส ใช้สารสกัดจากบัว ไผ่ น้ำมันรำข้าว ลดฝ้า ร่วมกันสนับสนุนภูมิปัญญาไทยแทนการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ
6.เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อชุมชน
“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป” พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม 2542
วันนี้ อภัยภูเบศรน้อมรับพระราชดำรัส ลงเสาเข็มให้หลายชุมชนเรียบร้อยแล้ว
อภัยภูเบศร อาจไม่คิดว่ากำลังทำธุรกิจอยู่ขณะนี้ แต่กำลังสร้างโรงเรียนขนาดใหญ่ เป็นต้นแบบเพื่อแบ่งปันความรู้ ช่วยเหลือสังคม และประเทศชาติ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สืบสานภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น และไม่ถูกกักขังให้องค์ความรู้อยู่แค่ในห้องสมุด หรือแสดงโชว์ในพิพิธภัณฑ์ที่บ่งบอกว่า มันได้สูญหายไปตามกาลเวลาเสียแล้ว
บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนบทความสร้างรายได้ รุ่น 2”
คุณ สุวัฒน์ โปษยะวัฒนากุล (คุณวัฒน์) เภสัชกร นักวิเคราะห์ข้อมูล วิทยาศาสตร์การตลาดและการขาย พนักงานบริษัทเอกชน |
บทความเกี่ยวกับกรณีศึกษา
- กรณีศึกษา “มานี มีหม้อ” ชาบูร้อยล้าน อาร์ตตัวพ่อ แตกต่างตัวแม่
- กรณีศึกษา Café’ Amazon ร้านกาแฟในปั๊มน้ำมันสู่แฟรนไชส์พันล้าน
- กรณีศึกษาการทำการตลาดออนไลน์ของแฟรนไชส์ Mc Donal’s
- กรณีศึกษา Wongnai ศูนย์รวมร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ จาก Startup สู่ ตลาดหลักทรัพย์
- กรณีศึกษา เอ็มเค จาก“สุกี้เอ็มเค” ถึง“เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป” ร้านอาหารหมื่นล้าน
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME