Road Map สร้างธุรกิจ MSME  สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ ได้รายงานเรื่อง เจาะแผนยกระดับ “ธุรกิจ MSME” สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยมีรายละเอียดดังนี้

คุณวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ สสว. กล่าวว่า สสว. เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและสนับสนุน MSME ด้วยการใช้โมเดล BCG โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อยกระดับธุรกิจมากกว่า 2,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ตัวของ สสว. ยังมีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูงซึ่งได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาแรงงานทักษะขั้นสูงให้มีความรู้ความสามารถที่จะนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขั้นสูงมาประยุกต์ใช้กับสิ่งเดิมที่มีอยู่

สำหรับปี 2566 สสว. มีแผนงานพัฒนาผู้ประกอบการ MSME จำนวน 1,000 คน โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. แผนการพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยการใช้คลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา รวมถึงการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์
  2. สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG
  3. ยกระดับรายได้ด้วยการสร้างมูลค่าผ่านการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าโดยใช้นวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ มาตรฐานผลิตที่ยั่งยืนและเป็นสากล รวมถึงการสร้างและพัฒนากำลังคนให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีขั้นสูง

            ดั้งเดิมนั้นประเทศไทยเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบส่งออกแต่ขาดความรู้ในเรื่องของการนำเอาวัตถุดิบที่ผลิตได้ไปพัฒนาเป็นสินค้านวัตกรรม โดยหากสินค้าเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นมาจริง ๆ จะมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าภายในประเทศได้อีกมาก เช่นการสกัดสารต่าง ๆ ในพืชพรรณที่เราปลูกได้เป็นสารสกัดบริสุทธิ์เพื่อให้นักลงทุนนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้มากมายและหากสำเร็จเราจะพัฒนาไปในตลาดโลกได้อีกมาก

ทางด้านคุณกิติพงค์ พร้อมวงค์ผู้อำนวยการ สอวช.กล่าวว่าที่ผ่านมาทาง สสว.และ สอวช.มีความร่วมมือกันมาโดยตลอดเช่นการทำวิจัยนโยบายร่วมกับเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ของคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์และสมาคมเครือข่าย Global Compact Network Thailand: GCNT ในการออกแบบการใช้ตัวชี้วัด ใช้กรอบการประเมิน กรอบเชิงโครงสร้างหน่วยงาน และการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในลักษณะขั้นบันไดการพัฒนา ซึ่งการทำงานจะครอบคลุมทั้งการกระตุ้นผู้ประกอบการที่จะปรับตัวธุรกิจ การดำเนินงาน BCG และการสร้างความสามารถในการปรับตัวรับโอกาสได้

ในขณะที่คุณปริวรรตน์ คณากัมพลสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรบริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัดซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเรื่องการนำระบบนิเวศมาพัฒนาให้เกิดเป็นนวัตกรรมสร้างมูลค่ามหาศาล โดยการนำมะเขือเทศมาแปรรูปเป็นน้ำมะเขือเทศหลากหลายรสชาติเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและสามารถส่งออกไปทั่วโลกได้

MSME คือห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญและช่วยเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจดังกล่าวเพื่อให้เกิดการจ้างงานและเกิดเม็ดเงินไหลเวียนภายในประเทศ

ด้วยการให้เงินงบประมาณ เงินจากกองทุนต่าง ๆ และการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรภายในประเทศ ให้มีองค์ความรู้ ไอเดียใหม่ ๆ พร้อมอัปธุรกิจของตนเองสู่ตลาดโดยโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG ในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก ๆ เพราะจะเป็นแรงสนับสนุนทำให้ผู้ประกอบการนั้นเดินหน้าต่อไปได้

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1055699

ประเด็นที่น่าสนใจใน Road Map สร้างธุรกิจ MSME  สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

SMEs คือสายเลือดหลักของระบบเศรษฐกิจ แต่กลายเป็นว่าเส้นเลือดเส้นนี้กลับอ่อนแอกว่าที่ควรจะเป็นจนไม่สามารถต่อสู้ในเวทีโลกได้ สาเหตุหลักของการที่ SMEs ไม่สามารถต่อสู้ในระดับที่เป็นสากลได้มีอยู่ด้วยกันหลายปัจจัย และหนึ่งในนั้นก็คือการไม่สามารถยกระดับสินค้าหรือบริการของตนเองให้เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ เมื่อไม่สามารถเป็นนวัตกรรมได้มูลค่าก็ไม่เกิดจึงไม่สามารถแข่งขันกับใครได้เลยแม้แต่ในประเทศเองก็ตาม SMEs เกิดใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะสูญหายไปจากระบบเมื่อเวลาผ่านไปนั่นเอง

นอกเหนือจากเรื่องของการพัฒนาจนไปสู่ระดับนวัตกรรมใหม่ ๆ SMEs ยังขาดความรู้ในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาระบบการผลิตหรือแม้กระทั่งการทำการตลาดซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ SMEs ประสบความสำเร็จและสามารถแข่งขันในเวทีต่าง ๆ ได้

ด้วยเหตุนี้ SMEs เองจึงต้องพยายามหาความรู้หรือเข้าหาหน่วยงานของภาครัฐเพื่อขอความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องบอกว่าจริง ๆ แล้วหน่วยงานต่าง ๆ มีทุนสนับสนุนให้กับ SMEs มากมายรวมถึงเป็นแหล่งความรู้ที่ดีให้กับ SMEs เพื่อใช้ในการต่อยอดธุรกิจซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากที่มีไม่กี่ผู้ประกอบการที่เข้าไปขอคำปรึกษากับหน่วยงานภาครัฐเหล่านี้

ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จึงพร้อมใจกันช่วยประชาสัมพันธ์โครงการดี ๆ เพื่อยกระดับ SMEs ในด้านต่าง ๆ มากมายตัวอย่างเช่น โมเดล Bio-Circular-Green’ Economy หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า BCG ซึ่งเป็นการนำเอาเศรษฐกิจชีวภาพมาใช้ยกระดับ SMEs ผสานเข้ากับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อยกระดับ SMEs ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจเพื่อยกระดับสินค้าของตนเองให้ขึ้นสู่ระดับนวัตกรรมที่มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในเรื่องการผลิตและแปรรูป

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของความพยายามภาครัฐที่ต้องการยกระดับ SMEs เท่านั้นและสามารถขยายไปสู่ภาคส่วนธุรกิจอื่น ๆ ได้เช่นกัน หากเจ้าของกิจการต้องการที่จะพัฒนาธุรกิจของตนเองให้สามารถแข่งขันกับตลาดได้ หน่วยงานภาครัฐก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทุนวิจัย ความรู้และทุนในการดำเนินการให้กับคุณเพียงแค่คุณมองหาความช่วยเหลือเหล่านั้นจากภาครัฐอย่างจริงจัง