อภัยภูเบศร อาจไม่คิดว่ากำลังทำธุรกิจอยู่ขณะนี้ แต่กำลังสร้างโรงเรียนขนาดใหญ่ เป็นต้นแบบเพื่อแบ่งปันความรู้ ช่วยเหลือสังคม และประเทศชาติ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สืบสานภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น และไม่ถูกกักขังให้องค์ความรู้อยู่แค่ในห้องสมุด

ห่างจากกรุงเทพไปไม่ไกล ที่ริมแม่น้ำปราจีนบุรี พิพิธภัณฑ์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร อาคารสีเหลืองสดสถาปัตยกรรมยุโรปแบบบาโร้คตั้งตระหง่าน ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียน ตึกเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ถูกบูรณะดัดแปลงให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บองค์ความรู้แพทย์แผนไทยและสมุนไพร จากโรงพยาบาลประจำจังหวัด สร้างชุมชน ยึดเศรษฐกิจพอเพียง เปลี่ยนสมุนไพรที่คนไทยมองข้าม สร้างธุรกิจมูลค่ากว่า 400 ล้านบาทต่อปี  และเป็นที่มาให้เราค้นหาว่า อะไรทำให้ภูมิปัญญาไทยหวนกลับมาแจ้งเกิดอย่างงดงามอีกครั้งภายใต้แบรนด์ อภัยภูเบศร

จุดเริ่มต้นแบรนด์ เพื่อชุมชน

Lightning Talk กับ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง
ขอบคุณภาพ จาก Lightning Talk กับ สายสวรรค์ ขยันยิ่ง

ปี 2526 ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ออกเดินสำรวจป่า ศึกษาภูมิปัญญาดั้งเดิมเรื่องสมุนไพร รวบรวมข้อมูลเข้าสู่การวิจัยพัฒนา เป็นยาใช้ภายในโรงพยาบาล  ปี 2529 พัฒนายาสมุนไพรรักษาเริมในปากสำหรับเด็ก จากพญายอ  ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไทย ภูมิปัญญาที่ศึกษานำมาพัฒนากลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุบชีวิตชุมชน ปลุกกระแสสังคมให้เห็นคุณค่าสมุนไพร ได้มีการจัดตั้ง มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เพื่อพัฒนา วิจัย ผลิตและทำการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร อภัยภูเบศร ปี 2541 กลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง จ.ปราจีนบุรี เกษตรกรกลุ่มแรกที่ร่วมกับมูลนิธิในการผลิตวัตถุดิบสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอินทรีย์ คอยตรวจเยี่ยมฟาร์ม กำกับดูแลงานด้านผลิตวัตถุดิบ

สติ ปัญญา ความเพียร สร้างเศรษฐกิจพอเพียง

การพัฒนาอย่างยั่งยืน ชุมชนต้องสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง โรงพยาบาลจึงผลักดันสร้างอาชีพให้ชุมชน ผ่านโครงการส่งเสริมอาชีพท้องถิ่น สอนการนวดแผนไทย สอนทำสินค้าสมุนไพรพื้นฐาน ชักชวนให้ชุมชนกลับมาใช้สมุนไพรท้องถิ่น ทำ contact farming กับเกษตรกร  เพาะปลูกสิ่งที่เขามี ให้ความรู้ทดลองปลูกพืชใหม่ๆผ่านแปลงสาธิต แลกกับการไม่ใช้สารเคมี สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านเติบโตจากหลักหมื่นเป็นหลักแสน อีกทั้งราคาพืชสมุนไพรก็ไม่ตกต่ำเหมือนสินค้าเกษตรทั่วไป เพราะความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นในขณะที่คู่แข่งเพาะปลูกยังน้อยรายอยู่ ชุมชนจึงมีรายได้ที่แน่นอน และพึ่งพาตนเองได้

ความน่าเชื่อถือ สร้างความแตกต่าง

ด้วยกระบวนการขึ้นทะเบียนยาแผนโบราณอย่างสมุนไพรไม่ยุ่งยาก แถมยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ จึงวางขายกันเกลื่อนตลาด อภัยภูเบศร สร้างความแตกต่างด้วยความน่าเชื่อถือ แบรนด์ที่เกิดจากโรงพยาบาล ควบคุมการผลิตด้วยทีมเภสัชกรผู้ชำนาญ การสื่อสารสรรพคุณผ่านนักวิชาการกับผลงานวิจัยที่อ้างอิงได้ ไม่โฆษณาเกินจริง สร้างมาตรฐานสูงตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกที่ไม่ใช้สารเคมี รักษาคุณค่าสมุนไพรจากขั้นตอนการผลิตถึงบรรจุ  ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพ ผลคือได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สร้างกระแสให้คนหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ การใช้สมุนไพรรักษาโรค จึงไม่ใช่แค่แพทย์ทางเลือกที่จะใช้ เมื่อยาสมัยใหม่ใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

เรื่องท้าทาย อภัยภูเบศร 

Euromonitor คาดการณ์ว่าตลาดผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรของไทยจะขยายตัวเป็น 5.69 หมื่นล้านบาทในปี 2564 และปัจจุบันไทย ก็มีการส่งออกสมุนไพรและสารสกัดปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มากเลยสำหรับการขยายสู่ตลาดยาต่างประเทศ การเปิดตลาดสู่สากลจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับอภัยภูเบศร การสร้างแบรนด์ให้เป็นอินเตอร์ การสื่อสารด้วยชื่อพฤกษาศาสตร์แบบสากล การต่อยอดงานวิจัยให้สุด เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ่านงานวิจัย และการปกป้องสิทธิบัตรสมุนไพรไทย ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรสนับสนุน

สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก อภัยภูเบศร 

1.ยิ่งให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ยิ่งได้มาก….ทวีคูณ

อภัยภูเบศร เริ่มต้นจากความตั้งใจช่วยเหลือชุมชนให้พึ่งพาตนเองจากสมุนไพรพื้นบ้านที่มีอยู่ กลับกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ  สร้างชื่อเสียงและรายได้มหาศาลให้กับทางโรงพยาบาล จนต้องลงทุนเพิ่ม เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด

2.จงสอนให้รู้จักหัดจับปลา

อภัยภูเบศรให้ความรู้แก่ชุมชนในการเพาะปลูกสมุนไพร ทดลองผ่านแปลงสาธิต ให้เรียนรู้จริงจากการลงมือทำด้วยตนเอง เมื่อมีความรู้ ความเข้าใจ ก็สามารถนำมาประกอบอาชีพได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร

“เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลา และสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า”

พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 (4 ธันวาคม 2541)

3.อย่าปล่อยให้สมบัติล้ำค่าสูญหายไปกับกาลเวลา

สมุนไพรไทยมีมากมาย งานวิจัยบางครั้งจบที่วิทยานิพนธ์ ไม่ถูกพัฒนาต่อ การสานต่องานวิจัยแล้วพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง จึงเกิดประโยชน์ อภัยภูเบศร ต่อยอดจากตำรา เรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน พัฒนาจนสามารถสร้างธุรกิจให้เติบโต คืนกำไรกลับสู่ชุมชน

4.ของดี ต้องมีการันตี

จะเที่ยวบอกใครว่าของเราดี สู้ทำให้เห็นกับตา ให้คนอื่นยอมรับน่าจะดีกว่า การสร้างการยอมรับ สินค้าต้องได้มาตรฐาน อภัยภูเบศร ผ่านมาตรฐานการผลิตและการตรวจประเมิน GMP-PIC/S เทียบเท่ากับมาตรฐานของยุโรป รวมทั้งวัตถุดิบสมุนไพรที่นำมาใช้ผลิต ก็ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) เช่นกัน

5.อย่ามองข้ามภูมิปัญญาไทย

ทำไมสินค้า อภัยภูเบศร ไม่มีสมุนไพรยอดนิยมอย่าง เห็ดหลินจือ แต่กลับมีเพียงสมุนไพรพื้นๆที่เราคุ้นเคย

การเลือกสมุนไพรจากภูมิปัญญาไทย เป็นการสร้างงานให้กับเกษตรกรในประเทศ  ใช้ของไทย ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ เมื่อเจ็บคอ ใช้ฟ้าทะลายโจรก่อนจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ เลือกใช้ขมิ้นชัน รักษาโรคทางเดินอาหาร รางจืด ทาแก้แพ้ แก้ลมพิษ มะขามป้อม อมแก้ไอ ใช้ผักเบี้ยให้ผิวกระจ่างใส ใช้สารสกัดจากบัว ไผ่ น้ำมันรำข้าว ลดฝ้า ร่วมกันสนับสนุนภูมิปัญญาไทยแทนการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ

6.เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อชุมชน

“เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต รากฐานความมั่นคงของแผ่นดิน เปรียบเสมือนเสาเข็ม ที่ถูกตอกรองรับบ้านเรือนตัวอาคารไว้นั่นเอง สิ่งก่อสร้างจะมั่นคงได้ก็อยู่ที่เสาเข็ม แต่คนส่วนมากมองไม่เห็นเสาเข็มและลืมเสาเข็มเสียด้วยซ้ำไป” พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 จากวารสารชัยพัฒนาประจำเดือนสิงหาคม 2542

วันนี้ อภัยภูเบศรน้อมรับพระราชดำรัส ลงเสาเข็มให้หลายชุมชนเรียบร้อยแล้ว

อภัยภูเบศร อาจไม่คิดว่ากำลังทำธุรกิจอยู่ขณะนี้ แต่กำลังสร้างโรงเรียนขนาดใหญ่ เป็นต้นแบบเพื่อแบ่งปันความรู้ ช่วยเหลือสังคม และประเทศชาติ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ สืบสานภูมิปัญญาไทยให้คงอยู่ส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น และไม่ถูกกักขังให้องค์ความรู้อยู่แค่ในห้องสมุด หรือแสดงโชว์ในพิพิธภัณฑ์ที่บ่งบอกว่า มันได้สูญหายไปตามกาลเวลาเสียแล้ว

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนบทความสร้างรายได้ รุ่น 2”