ยุคที่เศรษฐกิจซบเซาในภาวะวิกฤติจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด – 19 ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีตลาดทั้งในและต่างประเทศต่างได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย แต่หากสถานการณ์คลี่คลายการรอคอยยอดสั่งซื้อแต่ในประเทศคงไม่ทันที่จะฟื้นตัว แล้วเราจะรุกสู่ตลาดต่างประเทศให้ธุรกิจของเราเติบโตอย่างรวดเร็วได้อย่างไร บทความนี้นำบทสัมภาษณ์ คุณสราวุฒิ สุวรรณรัตน์ นักธุรกิจรุ่นใหม่ส่งออกจิวเวอร์รี จากนครศรีธรรมราช ส่งออกทั่วโลก มาสรุปแบ่งปันให้กับทุกท่านได้นำ วิธีส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ไปประยุกต์ปรับใช้กัน

วิธีส่งออกสินค้าไปต่างประเทศไม่ใช่เรื่องยาก

เริ่มต้นกลยุทธ์เชิงรุกนำสินค้าออกไปหาลูกค้าด้วยการออกงานนิทรรศการ Exhibition ที่ในช่วงสถานการณ์ปกติจะมีการจัดขึ้นตามประเทศต่าง ๆ ซึ่งงานจะมีหลายขนาด ในการเริ่มต้นเราอาจไปยังประเทศที่มีค่าใช้จ่ายน้อยก่อน เช่น ฮ่องกง เป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่ง การเดินทาง และที่พักราคาถูก เหมาะแก่การเริ่มต้น

หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์จะมีภารกิจและงบประมาณในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ โดยที่เราสามารถไปร่วมเพื่อนำสินค้าออกงาน Exhibition ต่างประเทศ เช่น โครงการ SME Proactive เป็นต้น เป็นช่องทางและโอกาสที่อาจจะทำให้เราได้เจอกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่ที่สนใจสินค้าของเรา เพราะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง

Demand สินค้าไทยในต่างประเทศ

ความต้องการสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศมีจำนวน volume ที่มากกว่าในประเทศอยู่ในหลายหมวดหมู่สินค้า แต่ความต้องการหลัก ๆ ของตลาดต่างประเทศมีเพียง 2 เรื่องหลัก ๆ

  1. สินค้าราคาถูก สินค้าไทยไม่ใช่ผู้นำในตลาดนี้อีกต่อไป เรายังไม่สามารถแข่งขันราคาต้นทุนค่าแรงกับสินค้าจากจีนได้
  2. สินค้าคุณภาพดี สินค้าไทยอยู่ในจุดของคุณภาพดีได้ เรามีจุดแข็งในเรื่องของการบริการ Service mind ความกระตือรือร้น ความซื่อสัตย์ คนไทยได้เปรียบกว่าชนชาติอื่น เป็นสิ่งที่เราต้องรักษาไว้

หาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศอย่างไร

การใช้ Keyword Planner ใน Google สามารถทำให้เรารู้ว่าตอนนี้ตลาดต้องการสินค้าประเภทไหน แล้วสินค้าของเราเป็นที่ต้องการของประเทศไหนมากที่สุด แล้วจะได้คำตอบว่าตลาดหลักของเราอยู่ที่ไหน ให้ทำการบ้านหาข้อมูล ใช้กลยุทธ์เชิงรุกออกไปหาลูกค้าเลย

วิธีส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ เตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ธุรกิจที่ต้องการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ ควรจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล เพราะถ้าไม่ใช่นิติบุคคลจะมีข้อจำกัดในการส่งออกได้ไม่เกิน 500,000 บาท นอกจากนี้ ในกรณีที่ลูกค้าต้องการเอกสารต่าง ๆ อาจไม่สามารถออกให้ได้ เช่น Certificate of Origin ใบรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้า หรือเอกสารเกี่ยวกับ FTA – Free Trade Area form ที่จะทำให้สามารถซื้อขายต่างประเทศได้โดยได้รับการยกเว้นภาษี เป็นต้น

การออกงาน Exhibition ต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องออกในงานกลุ่มประเภทสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง เช่น การขายจิวเวอรี่ แล้วไปออกงานจิวเวอรี่ ในงานจะเป็นคู่แข่งของเราทั้งหมด แต่ถ้าเราขายจิวเวอรี่แล้วไปออกงานที่ใกล้เคียง เช่น Gift and Premium fair เราอาจเป็นเพียงรายเดียวที่ขายจิวเวอรี่ก็ได้

การปรับตัวในยุคของการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี

กลยุทธ์ที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เพียงแค่เป็นผู้ที่แข็งแกร่งเท่านั้น แต่สำคัญที่การปรับตัวอย่างรวดเร็ว ไม่ยึดติดกับการทำงานหรือความสำเร็จเดิม ๆ ต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอและหมั่นเปลี่ยนแปลงอาจต้องเป็นรายเดือนหรือรายวันเลย

โดยเฉพาะในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล อยู่ไม่ได้ถ้าไม่ปรับตัวเรื่องนี้ ปัจจุบันการขายของมีเพียงเว็บไซต์อย่างเดียวก็อาจไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค 90% ใช้มือถือ มีผู้ใช้คอมพิวเตอร์เพียง 10% เท่านั้น ในบางธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีแอพพิเคชั่นไว้รองรับเพื่อสื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น

eBay และ Amazon ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพสำหรับตลาดต่างประเทศ แต่หากธุรกิจที่เป็นการขายแบบ B2B แพลตฟอร์ม Alibaba ยังมีความน่าสนใจ แต่มีข้อเสียมาก เช่น ของเราไม่สามารถรับ – จ่ายเงินผ่านระบบของอาลีบาบาได้ ลูกค้าไม่สามารถให้คะแนนหรือรีวิวได้ ทำให้สินค้าเราไม่สามารถขึ้นไปอยู่หน้าแรก ๆ ได้ เพราะระบบจะไม่รู้ว่าเราขายของได้ และในอาลีบาบาก็มีกลุ่มที่หลอกลวงจำนวนมาก

HKTDC เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ที่รวม supplier ในฮ่องกงไว้ที่เดียว สามารถใช้ได้หลายประเทศ เป็นแพลตฟอร์มระดับ global ที่น่าสนใจ

เทคนิคและกลยุทธ์การขายของออนไลน์

สถานการณ์ในวันนี้การขายของออนไลน์ตลาดในประเทศยังมีความเป็นไปได้มาก ในปัจจุบันเฟสบุ๊คอาจขายได้แต่ไม่คุ้มค่าโฆษณา แต่ยังมีช่องทาง Marketplace เช่น Shopee และ Lazada ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเช่าที่ เราสามารถนำสินค้าไปฝากขายได้ แต่การวางสินค้าแล้วขายได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสินค้ามีจำนวนมากกว่า 10 ล้าน SKU – Stock Keeping Unit หรือมากกว่า 10 ล้านรายการสินค้านั่นเอง

แล้วจะทำอย่างไรให้สินค้าของเราเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ คำตอบคือเราต้องขยันอย่างมากในการขายสินค้าช่องทางนี้

Key Success คือการทำให้สินค้าของเราอยู่หน้าแรกให้ได้ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ 70% จะเลือกซื้อสินค้าที่อยู่ในหน้าแรก ๆ เท่านั้น จึงต้องทำให้อัลกอลึทึ่มของระบบตรวจพบว่าเพจของเรามีความขยัน จึงจะได้ถูกจัดอันดับในหน้าแรก ๆ ซึ่งทำได้ไม่ยากอีกต่อไป ดังนี้

  1. ต้องเข้ามาดูแลเพจบ่อย ๆ ต้องขยันเข้ามาดูแลเพจ อาจไม่ได้อัพเดตข้อมูลเพิ่ม แต่การลบรูปเดิม และลงรูปเดิมอีกครั้ง ก็เป็นการแสดงให้อัลกอลึทึมเห็นว่าเราเฝ้าร้านอยู่และขยันเข้ามาดูแลเพจแล้ว
  2. ทำให้มีคนเข้ามาดูเพจ อาจขอให้เพื่อนหรือคนรู้จักเปิดเข้ามาดูสินค้าในหน้าเพจของเราบ่อย ๆ ถึงแม้จะขายได้หรือไม่ก็ตาม เราจะได้คะแนนการมีส่วนร่วมในหน้าเพจ
  3. ตั้งเป็นหน้าแรกของคอมพิวเตอร์ ตั้งค่าหน้าสินค้าของเราเป็นหน้าแรกของคอมพิวเตอร์ ทุกวันที่มีการเปิดใช้งาน จะเป็นจำนวนครั้งที่เข้าไปเยี่ยมชมในหน้าเพจของเรา หากเป็นบริษัทที่มีพนักงานทำงานกับคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง ก็ให้ตั้งค่าแบบเดียวกันไว้ทุกเครื่อง
  4. ใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน ในกรณีที่แพลตฟอร์มมีพื้นที่ให้เราใส่ข้อมูลขายสินค้า เราต้องใส่ให้ครบเต็มพื้นที่ เช่น ชื่อสินค้าใส่ได้ 300 ตัวอักษร ก็ต้องพิมพ์อธิบายให้เต็ม 300 ตัวอักษร หรือให้ใส่รูปสินค้าได้ 9 รูป ก็ต้องใส่ให้ครบทั้ง 9 รูป เป็นต้น
  5. ซื้อของตัวเอง (ข้อนี้ผิดกฎแต่เป็นเทคนิคเฉพาะ) อาจบอกให้เพื่อนซื้อของในหน้าเพจให้ แล้วโอนเงินคืนเพื่อน ระบบก็จะเก็บข้อมูลว่าเราขายสินค้าได้ หน้าเพจของเราก็จะถูกจัดอันดับให้อยู่หน้าแรก ๆ ได้
  6. Google Ads โฆษณาให้น่าสนใจ เสิร์จค้นหาเข้ามาแล้วให้เจอลิ้งค์หน้าเพจที่คลิกเข้ามาหาเราได้ เป็นการดึงทราฟฟิคให้มีคนเข้ามาเยี่ยมชมได้

ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่จะทำให้ประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ความรู้หรือความสามารถ ไม่ใช่ต้นทุนทางการเงิน ไม่ใช่ความได้เปรียบในต้นทุนชีวิตหรือฐานะทางสังคมแต่อย่างใด แต่เป็นความตั้งใจ ต้องมี Self-motivation ในตัวเองสูง ตั้งใจในการลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมาผลักดันหรือโน้มน้าวให้ทำ ความตั้งใจจะเป็นตัวชี้นำเราให้ไปสู่ความสำเร็จ เพียงเรามีความตั้งใจเป็นพื้นฐานในการทำงาน ความสำเร็จก็ไม่ไกลเกินเอื้อม