นี่คือบทวิเคราะห์ธุรกิจข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ของคุณ Biley Swanz ครับ

ต้องออกตัวก่อนว่าธุรกิจนี้ผมมีความรู้ค่อนข้างจำกัด และเป็นธุรกิจที่เพิ่งจะถูกกล่าวถึงประมาณ 2-3 ปีมานี้เอง

โดยคอนเซ็ปต์คงเป็นการเพิ่ม Added Value ให้กับสินค้าประเภท ข้าว ซึ่งเป็นสินค้า Commodity

โดยตัวสินค้าเองผมเชื่อว่า เป็นพัฒนาการที่ดี และมีคุณประโยชน์เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน แถมตลาดข้าว สำหรับเมืองไทยแล้ว ต้องถือว่าใหญ่มาก เพราะคนทั่วไป ยังนิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักอยู่

แต่การทำธุรกิจต้องเข้าใจก่อนว่า ใครคือตลาดกลุ่มเป้าหมาย และคนเหล่านั้นมีพฤติกรรมในการซื้อ และบริโภคสินค้านี้อย่างไร ไม่งั้นจะตกม้าตายเอาง่ายๆ เพราะมัวแต่ไปมองตลาดโดยรวมที่ใหญ่มาก แล้วคาดหวังว่า ธุรกิจเรามันจะต้องไปได้ดี และไกลมากๆ แต่พอทำจริงๆ กลับไปได้ช้า

และน้อย ซะงั้น… ผมถึงเคยบอกวไว้หลายครั้งแล้วว่า ก่อนทำธุรกิจต้องมีความชัดเจนก่อนว่า สินค้าที่เราจะทำออกมา เพื่อขายให้ “ใคร” ..

สำหรับสินค้าข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่ ผมมองว่ากลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นคนวัยกลางคนถึงสูงอายุ ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความสนใจในสินค้าเพื่อสุขภาพ และสินค้านี้ก็จัดอยู่ในหมวดเพื่อสุขภาพ ด้วยเช่นกัน

แต่เพียงแค่กลุ่มเป้าหมายชัดเจน คงไม่เพียงพอ เพราะสินค้าข้าวที่มีขนาดใหญ่มาก เอาเข้าจริงแล้ว พฤติกรรมการซื้อ และทานข้าวเป็นอย่างไร เช่น

– หุงเพื่อทานเอง มากน้อยแค่ไหน

– ทานข้าวโดยใส่ใจคุณภาพข้าว มากน้อยแค่ไหน เช่น ทานข้าวหอมมะลิ ทานข้าวกล้อง ทานข้าวเพื่อให้อิ่ม..

– ทานที่บ้านหรือ ทานนอกบ้าน (ซื้อทาน) มากน้อยแค่ไหน

– ราคาข้าว มีผลต่อการซื้อมาหุงทานเอง มากน้อยแค่ไหน

– แหล่งซื้อข้าวคือที่ไหนเป็นหลัก เช่น ซื้อจากตลาดสด ซื้อจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซื้อจากร้านขายข้าวทั่วไป

เป็นต้น

ข้อมูลพวกนี้ ทำให้สามารถวางกลยุทธ์เพื่อกระจายสินค้า และทำตลาดข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

สิ่งที่ต้องนำมาคิดต่อก็คือ ..

1. เราจะสื่อสารอย่างไรให้ถึงกลุ่มเป้าหมายนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ว่าทำไมเราจึงควรบริโภคข้าวไรซ์เบอร์รี่ คุณประโยชน์ของข้าวไรซ์เบอร์รี่มีอะไรบ้าง สามารถหาสินค้าอื่นมาทดแทนคุณประโยชน์นั้นได้มากน้อยแค่ไหน (การตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ตัวสินค้าและแบรนด์)

2. เราจะทำอย่างไรเพื่อให้กลุ่มเป้าหมาย ตระหนัก เข้าใจ เห็นประโยชน์ และสนใจ ข้าวไรซ์เบอร์รี่นี้ได้ในวงกว้าง (การให้ความรู้ ความเข้าใจแก่กลุ่มเป้าหมาย)

3. เราจะทำอย่างไรให้ร้านค้าในช่องทางเหล่านี้ วางจำหน่ายข้าวไรซ์เบอร์รี่ของเรา และขายได้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ (การตลาดไปยังช่องทางการขาย)

4. เราจะทำอย่างไรมีผู้บริโภคมาหาซื้อข้าวไรซ์เบอร์รี่จากร้านค้าในช่องทางเหล่านี้ (การตลาดไปยังผู้บริโภค)

ส่วนที่ว่าจะขายข้าวไรซ์เบอร์รี่ผ่านโลกโซเชียล ผมบอกเลยว่ายาก และไม่น่าจะเวิร์ค เพราะ

– ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ต่อให้มีจุดเด่นยังไง ก็ยังคงเป็นสินค้า Commodity อยู่ดี แต่ราคาแพงกว่าประมาณ 20-35% ซึ่งนับว่ามากกับสินค้าที่เป็นสินค้าพื้นฐาน ทานทุกวันแบบข้าว ต้องอาศัยคนให้ความรู้ พูดเชียร์สินค้า ที่มากและหลากหลาย มากกว่าที่เราจะพูดเองคนเดียวผ่านโลกโซเชียล

– ข้าวยังเป็นสินค้าที่ยากต่อการจัดส่งในแง่ของ น้ำหนัก (Bulky) และขนาด (Pack Size) โดยตัวสินค้าก็แพงกว่าข้าวทั่วไปมากอยู่แล้ว มาเจอค่าใช้จ่ายในการจัดส่งที่สูงอีก ธุรกิจอาจจบได้ง่ายๆ เลย จะขายเป็นขนาดเล็กๆ เช่น 1 kg. อาจขายเพื่อให้ลองไม่ยาก แต่ถ้าจะซื้อทานประจำ ขนาด 1 kg. ทานแปปเดียวก็หมด (ถ้าไม่หุงผสมกับข้าวปกตินะ) ทำให้การมี จุดพักสินค้าเพื่อสะดวกในการกระจายสินค้า และเข้าถึงลูกค้าได้เร็ว มีส่วนสำคัญอย่างมาก ดังนั้นช่องทางร้านค้า นับเป็นจุดพักสินค้าที่เหมาะสมในการขายสินค้า Bulky แบบข้าว เพราะอยู่ใกล้และสะดวกกับลูกค้า

– การซื้อข้าวนั้น ปัจจัยราคายังคงมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ดังนั้น ถ้าขายผ่านออนไลน์ ลูกค้าเจอราคาขาย (ที่แพงกว่าข้าวปกติมาก) บวกด้วยค่าขนส่ง (ที่ยิ่งสั่งเยอะ ค่าขนส่งยิ่งแพง เพราะหนัก และมีขนาดใหญ่) ราคาที่ลูกค้าซื้อจะยิ่งแพง และไม่จูงใจเลย แต่ถ้าขายผ่านช่องทางร้านค้า ทางร้านสามารถซื้อข้าวไรซ์เบอร์รี่เราไปสต็อก (จะได้ราคาถูก เพราะสั่งปริมาณเยอะ) แล้วไปขายปลีก (ได้กำไรจากการขายปลีก) อีกทั้งร้านค้าเหล่านี้จะขายสินค้าหลากหลาย ดังนั้นถ้าต้องจัดส่งให้กับลูกค้า ย่อมทำได้สะดวกและคุ้มค่ากว่า ที่เราจะขายข้าวเพียงอย่างเดียวและจัดส่งให้ด้วย เพราะไม่คุ้ม

สรุป ธุรกิจไรซ์เบอร์รี่ เป็นธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มสุขภาพ ที่มีแนวโน้มดีในอนาคตก็จริง แต่ด้วยตัวสินค้ามีจุดอ่อนอยู่บางประการ ทำให้การทำธุรกิจนี้เพียงอย่างเดียว จะไม่ง่ายเลย

ปัจจัยสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายของธุรกิจนี้ก็คือ

1. ทำอย่างไรคนจึงหันมาทานข้าวไรซ์เบอร์รี่กันมากขึ้นในวงกว้าง เพราะอุปสรรค ด้านราคาก็มีผลเยอะอยู่ อุปสรรคด้านพฤติกรรมการกินข้าวนอกบ้าน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่เยอะมาก ก็นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ไม่น้อย ในการทำให้คนหันมากินข้าวไรซ์เบอร์รี่อย่างจริงจัง

2. การวางช่องทางการจัดจำหน่ายที่มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้อข้าว

3. การแข่งขันด้านราคาระหว่างผู้จำหน่ายข้าวไรซ์เบอร์รี่ด้วยกันเอง ก็นับว่าเป็นโจทย์ใหญ่อีกประการ โดยเฉพาะเมื่องข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นที่นิยมและติดตลาดแล้ว

ผมกลัวอย่างเดียว กลัวว่าธุรกิจข้าวไรซ์เบอร์รี่จะเป็นเพียงธุรกิจกระแส ที่ชูประเด็นว่า สินค้าดี มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ก็ทำกันยกใหญ่ แต่พอเจอปัญหาหลายๆ ประการอย่างที่บอก ทั้งคนทำ ทั้งคนขาย ทั้งคนทาน หนีหายไปกันหมดซะมากกว่าน่ะสิ @@

ขอบคุณรูปภาพและบทวิเคราะห์จาก ชื่อพล แต่คนชอบ เรียกพอล