ธุรกิจเกิดใหม่มีให้เห็นทุกวัน แต่ก็มีธุรกิจที่ปิดตัวลงไปทุกวันเช่นกัน เรียกว่า เปิด 100 รอด 10 รุ่ง 1 สรุปคือ 90 เจ๊งปิดตัว อีก 9 อาการเหมือนคนจะจบน้ำแหล่ไม่จมน้ำแหล่ ขวนขวายเอาตัวรอดตลอดเวลา

โจทย์ใหญ่สำหรับการทำธุรกิจ ไม่ใช่พูดถึงแค่คำว่าทำไงให้ “รุ่ง” ทำอย่างไรให้ “รวย” แล้วหละครับ เพราะสิ่งที่เราต้องโฟกัสคือ “ทำอย่างไรให้รอด” เพราะหาก

“รอด” ได้มันก็ “รุ่ง” ได้

แต่ถ้า

“รอด” ไม่ได้มันก็ “ร่วง” อย่างเดียว

จะทำอย่างไรให้รอด วันนี้เรามาช่วยกันคิดถึงต้นตอที่เราจะทำแล้ว “ร่วง” ปิดจุดอ่อนนั้น เพื่อทำให้ธุรกิจเรา “รอด” ให้ได้

1.รู้จักตนเองดีหรือยัง

                ทำธุรกิจรู้จักตัวเองดีหรือยัง หรือว่าทำตามเพื่อน คิดตามเพื่อน เห็นใครทำอะไรแล้วรวย ใครทำอะไรแล้วรุ่งอยากจะทำธุรกิจนั้นด้วย ขอรวยด้วยคน !!!

ถ้าเป็นในรูปแบบนี้คุณกำลังมาผิดเลน….แล้วหละครับ !!!

กลับไปหาจุดแข็งของตัวเอง กลับไปหาสิ่งที่ตัวเองถนัด กลับไปสู่เลนของตัวเองให้ไวที่สุด เพราะหากขืนวิ่งผิดเลนไปอย่างนี้ นอกจากธุรกิจคุณจะ “ไม่รุ่ง” แล้วชีวิตคุณก็จะยัง “ไม่มีความสุข” อีกด้วย

2.รู้จักลูกค้ามากแค่ไหน

                ลูกค้าเราเป็นใคร…กันแน่ ? เรารู้จัก รู้จริง รู้ใจ ลูกค้าเราดีพอหรือยัง หรือว่ารู้เพียงว่า เขาเพศอะไร อายุเท่าไหร่ เงินเดือนเท่าไหร่ ….

คนที่จะชนะและอยู่รอดในธุรกิจไม่ใช่คนที่แค่เพียง “ขาย” สินค้าได้นะครับ แต่เป็นคนที่สามารถ “ซื้อ” ใจลูกค้าได้นะครับ

ถ้าเราไม่รู้จักลูกค้าเราจริง ๆ ก็ยากที่จะ “ได้ใจ” ลูกค้านะครับ ลองตั้งหลักจริง ๆ จัง ๆ กับเรื่องลูกค้าดูสักรอบสิครับ หาตะแกรงมาร่อนว่าแท้จริงแล้วลูกค้าเราเป็นใคร ชอบอะไร นิสัยอย่างไร มีความฝันอะไร มีปัญหาอะไร …และ เราช่วยตอบโจทย์อะไรให้เขาได้

3.เริ่มที่รอดไม่ใช่รวย

อย่าตกอยู่ภายใต้ของ “ความโลภ” ที่มักจะชักจูงให้เราไปหลงกับ “ความรวย” เพียงแค่มีใครกวักมือว่า “มาทางนี้สิ !! รวย”

ทำธุรกิจประกอบด้วย 2 สิ่งสำคัญคือ

1.ความฝันและเป้าหมายที่ชัดเจน

2.หลักการ เหตุและผล

โดยส่วนใหญ่เรามักจะขาด “เหตุและผล” ในการทำธุรกิจ เรามักจะโดนล่อไปเข้าเป้าด้วย “ความฝัน” ที่ขาด “เหตุ” สนับสนุน

เริ่มที่โจทย์ว่า “ทำอย่างไรให้รอด (ปากเหยี่ยว ปากกา)” น่าจะเป็นสิ่งที่เราควรโฟกัส เพราะหากรอดมันก็รวย…แต่ถ้าไม่รอด…รวยก็คงเป็นรวยแต่เขือ แล้วหละครับ

4.มองไกลแต่ทำใกล้

ทำธุรกิจมันต้องมีวิสัยทัศน์ แล้วคำว่า “วิสัยทัศน์” นี่มันยังไง คำตอบง่าย ๆ สำหรับผมคือ ต้องรู้ว่าจะเป็นอะไรในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เท่านั้นยังไม่พอต้องคาดคะเนบริบทสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยในอีก 3-5 ปีข้างหน้า

ไม่ใช่เห็นเพียงแค่ว่า “เราจะไปถึงไหน” แต่ต้องคำนึงด้วยว่า เทคโนโลยีตอนนั้นมันจะเป็นอย่างไร พฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไปอย่างไร นี่แหละครับ “วิสัยทัศน์”

มองเห็นให้ไกล แต่ต้องทำให้ใกล้ คือทำในวันนี้ให้ดีที่สุด ทำเวลานี้ให้ดีที่สุด เพราะหากทำวันนี้ไม่ดี ไม่เข้าท่า จะมีวิสัยทัศน์ดีขนาดไหน แหลมคมขนาดไหน แต่วันนี้ยังเอาดีไม่ได้ มีวิสัยทัศน์ดีไปก็แค่นั้นครับ

สิ่งที่เป็นปัญหาหลักที่ทำให้เรา “ร่วง” คือเราเป็นประเภท “มองใกล้แต่ทำไกล” คือมันกลับหัวกลับหางกันทำ คิดอะไรแบบสั้น ๆ แต่ดังทำอะไรให้มัน “เว่อร์” เกินพอดี ทำอะไรเกินตัว เกินกำลัง ไปมาก

ผมยกตัวอย่างให้เห็นภาพการ “มองไกล แต่ ทำใกล้” ให้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้น เราน่าจะเคยดูการยกน้ำหนักโอลิมปิคกันบ้างนะครับ

คุณว่ามันเป็นไปได้ไหมที่อยู่ดี ๆ จะมีใครลุกขึ้นมาแล้วยกลูกเหล็กหนักเป็นร้อยกิโลแบบสบาย ๆ ?

คงไม่มี ฝันไปเถอะ !! เออใช่ครับ….

นักยกน้ำหนักเขาต้องฝึกยกตั้งแต่หลัก 10 กิโลกรัม พออยู่ตัวก็ค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักขึ้นไป ค่อย ๆ เอาชนะขีดจำกัดตัวเองไปทีละนิด

แต่การทำธุรกิจหลายคนพยายามเอาชนะขีดจำกัดตัวเองแบบ…เว่อร์เกินไป ตัวเองยกน้ำหนักได้ 20 กิโลกรัมแล้วลงแข่งยก 80 กิโลกรัม อย่างนี้มันจะสู้กันได้ที่ไหน ยิ่งขาดการฝึกซ้อมอีก มันก็สู้ไม่ได้

จะให้รอด มันต้อง “ทำใกล้” ค่อย ๆ ยกน้ำหนักไปทีละ “กิโล” ไม่ต้องเร่งรีบจนเจ็บตัว

 

5.เพื่อนช่วยเพื่อน

เราไม่สามารถที่จะ “เอาตัวรอดคนเดียว” ได้ครับอย่างคิดเพียงว่า “กูรอด” แล้ว “มึงร่วง” ช่างหัวมัน ทำอย่างนี้รับรองครับไม่มีใครรอดอย่างถาวรอย่าง แน่นอน

ผมยังจำเรื่องราวครั้งตอนสมัยเรียนมหาลัยได้เป็นอย่างดี ตอนนั้นอยู่ที่ลาดกระบัง เช่าบ้านเดือนละ 7,000 บาท ถ้าผมบอกแค่นี้เพื่อนคงคิดว่าเฮ่ย !! ผมมีตังก์อะดิ เปล่าเลยครับ บ้านหลังนี้อยู่กัน 10-12 คนเลยทีเดียวมี 3 ห้องนอน 1 ห้องครัว และห้องนั่งเล่นซึ่งก็เป็นห้องนอนได้อีกห้องเลย

ลองดีดตัวเลขดูสิครับ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ตกเดือนไม่เกิน 8,500 แล้วช่วยกันแชร์เท่ากับว่าจ่ายค่าบ้านเพียงเดือนละ 700 กว่าบาทต่อคนเท่านั้นเอง และพวกเราก็พากันรอดจบมหาลัยมาด้วยกัน

ทำธุรกิจหากจะรอดมันต้องช่วยกันแบบ “เพื่อนช่วยเพื่อน” ครับ เองมีดีอะไร ข้ามีดีอะไรพอช่วยกันได้ไหม มาช่วยกันปิดจุดบอด จุดอ่อนของกันและกันได้ไหม ช่วยกันทำตลาดได้ไหม

แต่เงื่อนไขนี้จะสำเร็จได้ต้องเข้าใจคำว่า “เพื่อน” อย่างชัดเจนนะครับ เพราะบ่อยครั้งการช่วยที่เจือด้วยผลประโยชน์มักจบลงไม่สวยเท่าไหร่ แต่ถ้าช่วยแบบเพื่อนเดือดร้อน ผมว่าสุดท้ายธุรกิจมันจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งอย่างแน่นอน

ผมยกตัวอย่างช่องทางช่วยกัน “รอด” ของธุรกิจขนาดเล็กในยุคที่เทคโนโลยีไล่ฆ่าธุรกิจ ไว้ 5 ประเด็นก่อนนะครับ ยังมีแนวทางที่เราสามารถช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อให้ธุรกิจพวกเรารอดไปด้วยกันได้ครับ

อยากเชิญชวนเพื่อน ๆ ครับ วันอาทิตย์ 22 ม.ค 59 เวลา 13.00-17.00 น. มาร่วมเสวนา พูดคุยช่วยกันคิดช่วยกันเสนอเพื่อหาทางออกให้กับ SMEs เล็ก ๆ อย่างพวกเราครับ

ค่าใช้จ่าย 750 บาทถือเป็นค่าอาหารสักมื้อร่วมกันแชร์ที่จะมีโอกาสได้รู้จักกับเพื่อนร่วม “หัวอกเดียวกัน”  ครับ

มาตั้งต้นสร้างธุรกิจแบบพึ่งพาอาศัยกันและกัน สร้างชุมชนของคนทำธุรกิจตามแนวทางของพ่อหลวงของพวกเราไปด้วยกันครับ