ธุรกิจ SME หลายแห่งมีผลประกอบการที่ดี มียอดขายที่เติบโต แต่ในขณะเดียวกันก็อาจกำลังประสบปัญหาในระบบหลังบ้านที่ไม่รู้จะเริ่มต้นเข้าสู่ระบบบัญชีและภาษีอย่างไรให้ถูกต้องเหมาะสมและไม่กระทบต่อผลกำไรของธุรกิจ บทความนี้เป็นสรุปคำแนะนำจากการสัมภาษณ์ คุณราชิต ไชยรัตน์ CEO AccRevo กรรมการสมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพ มาแบ่งปันให้กับผู้ประกอบการ ได้นำไปปรับใช้ในการวางแผนบัญชีและภาษีกันครับ

ธุรกิจ SME กับการเข้าสู่ระบบบัญชีและภาษี

ธุรกิจออนไลน์เกิดขึ้นใหม่มากมาย เริ่มแรกอาจเป็นธุรกิจระดับเล็กที่เป็นเพียงรายได้เสริม แต่ไม่นานธุรกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดมีผลกำไรหลักล้าน ประกอบกับเป็นมือใหม่ไม่เคยทำธุรกิจ ไม่รู้ว่าต้องทำบัญชีและจ่ายภาษีอย่างไร และอาจมีความลังเลว่าจะเข้าระบบภาษีดีหรือไม่

ในการทำธุรกิจที่ไม่ได้เป็นข้อยกเว้นให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีขาย หากไม่ดำเนินการเสียภาษีให้ถูกต้อง หากถูกตรวจสอบพบจะต้องจ่ายเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งจะเป็นต้นทุนแฝงที่มีอัตราสูงมาก ดังนั้น ธุรกิจ SME จึงควรวางแผนภาษี เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน  และจะได้ประโยชน์กว่าการที่จะหลบเลี่ยงภาษี ไม่ว่าจะเป็นมาตรการภาษีหรือมาตรการอื่น ๆ ของรัฐ ที่จะออกมาสนับสนุนให้กับผู้ที่เข้าระบบภาษีอย่างถูกต้อง

การวางแผนโครงสร้างรูปแบบของธุรกิจเพื่อป้องกันโดนภาษีย้อนหลัง

ก่อนที่จะวางแผนภาษีให้มีการวางแผนโครงสร้างรูปแบบของธุรกิจ กล่าวคือ เราต้องดูว่าธุรกิจที่เราทำอยู่นั้นมีประเภทที่ยกเว้น VAT กับประเภทที่ไม่ยกเว้น VAT อยู่ด้วยกันหรือไม่ โดยอาจต้องปรึกษานักบัญชีให้วางรูปแบบบัญชีของธุรกิจ เพื่อเราจะสามารถวัดผลทางธุรกิจได้อย่างชัดเจน และเพื่อสิทธิประโยชน์จากการใช้ภาษีซื้อที่เราต้องจ่ายไปกับต้นทุนการซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการลงทุน เป็นเครดิตภาษีได้ในช่วงแรก และสามารถนำมาหักภาษีขายได้ ธุรกิจก็จะสามารถประหยัดต้นทุนไปได้ ซึ่งหากเราไม่วางแผนโครงสร้างธุรกิจที่มี VAT และไม่มี VAT ออกจากกัน อาจทำให้เสียสิทธิประโยชน์ในการประหยัดต้นทุนจากภาษีซื้อไปได้

ธุรกิจ SME จ่ายภาษีอย่างไรให้ถูกต้องและคุ้มค่า ไม่ต้องกังวล โดนภาษีย้อนหลัง

การจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มจากการประกอบธุรกิจ สามารถคำนวณจ่ายได้ทั้งแบบประเภทบุคคลธรรมดาและประเภทนิติบุคคลที่จดทะเบียนในรูปแบบของบริษัท แต่ทั้ง 2 ประเภท มีความแตกต่างกัน ดังนี้

  1. ประเภทบุคคลธรรมดา คำนวณภาษีจากฐานรายได้แล้วหักค่าใช้จ่าย 60% จ่ายภาษีฐานก้าวหน้า สูงสุดที่ 35% หากมีรายได้จากธุรกิจมาก จะทำให้เสียภาษีแพง
  2. ประเภทนิติบุคคล ถ้าเป็นบริษัททั่วไป คำนวณจากฐานกำไรสุทธิที่คำนวณตามเงื่อนไขที่กำหนด เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 20% แต่ถ้าเป็น SME รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบ้าน จะได้รับการยกเว้นภาษี 300,000 บาทแรก โดยจะคำนวณภาษีจากยอดเงิน 3 แสน – 3 ล้านบาท เสียภาษี 15% และถ้าเกินกว่า 3 ล้านบาท เสียภาษี 20%

ในส่วนของการหักค่าใช้จ่าย ถ้าจดทะเบียนบริษัทสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง เช่น ต้นทุนมีค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่บริษัทต้องเสียภาษีซื้อ (VAT) 7% ให้กับผู้ขาย ก็จะสามารถทำเป็นเครดิตภาษี เมื่อบริษัทดำเนินธุรกิจมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็สามารถนำมาหักภาษีขายได้ ทำให้ประหยัดต้นทุนไปได้ถึง 7% ดังนั้นการจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจจึงคุ้มกว่าการเสียภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดา

การจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลมีข้อดีอย่างไร

  1. มีความน่าเชื่อถือ เมื่อต้องติดต่อหรือเป็นคู่ค้ากับบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ส่วนมากต้องการทำธุรกรรมกับบริษัทที่มีจดทะเบียน VAT และสามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทได้ในเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ ส่งผลให้ธุรกิจของเราเติบโตได้ง่ายกว่า
  2. หาผู้ร่วมทุนได้ง่าย รวมถึงการขอสินเชื่อกับธนาคาร ทำให้ระบบการเงินและสภาพคล่องดี ถ้าเราสามารถขอสินเชื่อเพื่อนำมาลงทุนได้ จะทำให้ทุ่นแรงของการประกอบธุรกิจที่ไม่ต้องรอได้ผลกำไรจึงจะสามารถขยายธุรกิจได้
  3. มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ การขอสินเชื่อในรูปแบบบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ ความเสี่ยงของธนาคารก็จะต่ำ ดอกเบี้ยสินเชื่อก็จะถูกลง ส่งผลให้ต้นทุนรวมต่ำ จึงสามารถตั้งราคาสินค้าและบริการที่สามารถแข่งขันในตลาดได้
  4. มีการจำกัดความรับผิด กรณีหากมีการกระทำความผิดเกิดการฟ้องร้อง จะฟ้องร้องที่บริษัทก่อน สามารถแยกความผิดออกจากบุคคลได้
  5. ปีที่ขาดทุนไม่ต้องเสียภาษี ในกรณีที่บริษัทดำเนินธุรกิจขาดทุนในปีนั้น ๆ เช่น ปีนี้ขาดทุน 100 บาท แต่ปีหน้าได้กำไร 80 บาท เมื่อคำนวณเปรียบเทียบแล้วยังติดลบ 20 บาท ปีหน้าก็ไม่ต้องเสียภาษี สามารถยกยอดไปได้ 5 ปี โดยที่บริษัทมีการทำบัญชีแสดงงบกำไรขาดทุนได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ที่คิดฐานภาษีจากรายได้ ไม่ว่าจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ต้องจ่ายภาษีในปีนั้น

การวางแผนภาษีจ่ายภาษีที่เหมาะสม ไม่ใช่เลี่ยงภาษี แต่ถ้าวางแผนไม่ดีก็มีสิทธิ์โดนภาษีย้อนหลัง

เมื่อบริษัทจดทะเบียนเข้าระบบบัญชีและภาษีพื้นฐานแล้ว ต้องมีการวางแผนภาษี เพื่อให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้องและเหมาะสม

ปัญหาที่พบบ่อยของบริษัท SME คือส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งเงินเดือนของตัวเอง และมีการเบิกจ่ายเงินที่ไม่มีที่มาที่ไปในระบบบัญชี ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีการกำหนดเงินเดือนของเจ้าของในวงเงินที่เหมาะสม เมื่อตั้งเป็นเงินเดือนก็ต้องมีการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยปกติเงินเดือนไม่เกิน 25,000 บาท ต่อเดือน จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีเงินเดือนที่สูงกว่านี้ ก็สามารถยื่นขอลดหย่อนส่วนตัวได้เช่นกัน

ทุกวันนี้กรมสรรพากรมีระบบในการตรวจสอบภาษีที่มีการใช้เทคโนโลยีและ AI เข้ามาตรวจสอบ ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น สถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร จะต้องมีการส่งข้อมูลธุรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะไปให้สรรพากร ยกตัวอย่างเช่น ใน 1 ปี เรามีเงินรับเข้าในบัญชี 4,000 – 5,000 รายการ และเราไปยื่นเสียภาษี 1.7 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินไม่ถึงฐานที่จะคำนวณภาษี แต่ปรากฏว่าในรายการของธนาคาร มียอดรวมรายรับ 10 ล้านบาท จากรายการรับเข้า 4,000 – 5,000 บาท ดังกล่าว เมื่อข้อมูลไม่ตรงกัน ทางสรรพากรจะมีหนังสือเชิญให้เราไปชี้แจง ถ้าชี้แจงไม่ได้ ก็จะมีการประเมินให้ต้องเสียภาษีเพิ่มพร้อมทั้งเบี้ยปรับ จะทำให้มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก

การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ SME นอกจากจะคำนึงถึงกลยุทธ์ของแผนงานแล้ว ควรมีแผนเงินที่ดี การเงินมีสภาพคล่อง สามารถหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมได้ การรู้ข้อมูลทางการเงิน ก็เปรียบเหมือนเรารู้สุขภาพของธุรกิจที่ต้องมีสัญญาณชีพทางการเงินที่ดี เพื่อดำเนินธุรกิจและขยายได้เติบโตต่อไป