ส่วนใหญ่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เมื่อเริ่มธุรกิจ มักทำควบคู่ไปกับงานประจำ และมักทำแบบซื้อมาขายไป ซึ่งไม่ได้คำนึงเรื่องการจ่ายภาษีใดๆ ทั้งสิ้น คิดเพียงแต่ว่า จะหาสินค้าอะไรมาขายดี เขียนคอนเทนต์ยังไงให้คนสนใจ ทำอย่างไรให้ยิงแอดเจอลูกค้าได้ และเมื่อเจอ Winning Product สินค้าเริ่มติด ยอดโต ก็สาระวนไปกับการสั่งสินค้ามาขาย ตอบเมสเสจวุ่นกับการส่งสินค้า มารู้ตัวอีกทีก็เจอสรรพากรมาเคาะประตูบ้านเสียแล้ว

ผู้มีรายได้ทุกคนต้องเสียภาษีอันนี้เป็นหน้าที่ของเราเหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ซึ่งเราก็ไม่ตั้งใจจะหลีกเลี่ยงภาษีหรอกนะ แต่เชื่อว่าทุกคนไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ทีนี้พอไม่รู้ ก็จะกลัวและอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ กัน วันนี้ผู้เขียนได้จัดทำ Checklists ง่ายๆ 9 ข้อจากประสบการณ์จริงของตัวเอง ไว้ให้คนที่เพิ่งเริ่มขายออนไลน์และยังงงๆ ว่าจะไปต่ออย่างไรค่ะ

  1. ต้องทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายทุกเดือน

อาจทำอย่างง่ายๆ ด้วยโปรแกรม Excel แต่ถ้ามี “ขายเชื่อ” หรือ “ซื้อเชื่อ” อาจจะสะดวกกว่าถ้าใช้โปรแกรมบันทึกบัญชี งานนี้เป็นงานที่เจ้าของธุรกิจออนไลน์ จำเป็นต้องจัดทำอย่างสม่ำเสมอ ตามประสบการณ์ ผู้เขียนทำรายงานเองทุกอาทิตย์ค่ะ ตั้งเวลาไว้เลย เช่น ทำทุกวันจันทร์ช่วงครึ่งเช้า เพราะถ้ากองดองไว้หนึ่งเดือนจะทำไม่ไหวน่ะ

  1. ต้องมีหลักฐานประกอบการลงรายงานทุกครั้ง

เช่น ใบเสร็จรับเงินในการขายสินค้า ใบกำกับภาษีที่มาจากการซื้อสินค้า เอกสารที่สรรพากรยอมรับให้ใช้ประกอบค่าใช้จ่ายในกรณีที่หลักฐานไม่เพียงพอ เช่น ใบรับเงิน ใบสำคัญรับเงิน ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน หรือใบสำคัญจ่าย ถ้าแยกไม่ออกว่าอะไรใช้อย่างไร แนะนำไปอบรมหาความรู้เพิ่มเติม มันสำคัญมาก!

  1. การลงรายจ่ายเพื่อให้ไม่มีปัญหากับสรรพากร ต้องเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบธุรกิจ

เช่น การให้เช่าพระเครื่องก็ต้องเป็นรายจ่ายค่าเช่าพระ ทำกรอบพระ สร้อยคอ เป็นต้น และต้องไม่มีรายจ่ายส่วนตัวปะปนอยู่ในใบเสร็จเดียวกัน เช่น ถ้าซื้ออุปกรณ์สำหรับแพ็ค เช่น กล่อง เชือก จากร้านค้าก็ต้องขอใบกำกับภาษีแยกบิลออกจากของใช้ส่วนตัวทุกครั้ง ระวังด้วยค่ะ มันกลับไปขอย้อนหลังไม่ได้น่ะ

  1. การลงรายรับต้องลงตามบัญชีธนาคารที่โพสต์บนเว็บไซต์หรือเฟสบุ๊ครับโอนเงินตามกฎหมายอีเพย์เม้นต์ (e-payment)

ถ้าเข้าเงื่อนไข 3,000 รายการ หรือ 400 รายการและเกิน 2 ล้าน ธุรกิจออนไลน์ต้องแสดงให้สรรพากรเห็นว่าตัวเลขไหนไม่ใช่รายรับแต่ (พลาด) ผ่านบัญชีนี้มา ให้หาเอกสารประกอบการชี้แจงเตรียมไว้ เมื่อสรรพากรมาขอตรวจสมุดบัญชีธนาคาร รายการเหล่านี้จะถูกตัดออกและไม่คำนวณภาษี อย่าตกใจ มันชี้แจงได้ค่ะ

  1. คัดแยกเอกสารที่เป็นใบกำกับภาษีทั้งแบบเต็ม แบบย่อ และ ใบเสร็จประเภทบิลเงินสดที่เขียนด้วยลายมือ ออกจากกัน

ทั้งค่าสินค้า ค่าขนส่ง ค่าวัสดุ-อุปกรณ์ ค่าแรง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยวิธีนี้จะทำให้เราจำแนกได้ว่าใบเสร็จของธุรกิจเรามีลักษณะอย่างไร ใช้อ้างอิงและมีผลตามกฎหมายได้แค่ไหน ทำให้เราสามารถวางแผนภาษีได้

  1. พิจารณาการเสียภาษีเหมาจ่าย 60% ถ้าธุรกิจเราหาใบกำกับภาษีไม่ได้

(ส่วนใหญ่ขายออนไลน์มักเป็นเช่นนี้!) เช่น ซื้อผ้าพันคอจากสำเพ็ง โจงกระเบนจากพาหุรัดมาขาย หรือ เราจ่ายเงินสดให้พี่วินหน้าบ้านวิ่งไปส่งของ พี่วินก็ไม่สะดวกจะเซ็นต์นู้นนี่ตลอดเวลา จากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ธุรกิจออนไลน์สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ว่าจะเป็น อัตราเหมา หรือหักตามจริง ซึ่งถ้าไม่มีใบกำกับภาษี หลักฐานการรับเงินก็ใช้อัตราเหมาไปเลย

  1. แสดงความพร้อมในการเสียภาษีด้วยการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ถ้าเป็นกรุงเทพให้ไปจดที่สำนักงานเขตใกล้บ้าน ถ้าเป็นต่างจังหวัดก็ไปที่เทศบาล หรือ อบต.และไม่ว่าจะขายผ่านเว็บไซต์ตัวเอง หรือ เฟสบุ๊ค ก็ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งนั้น ขั้นแรกเพิ่งเริ่มธุรกิจออนไลน์ แนะนำให้จดแบบบุคคลธรรมดาไปก่อน การมีเครื่องหมาย DBD Registered เป็นการแสดงให้รู้ว่าเราพร้อมจะทำธุรกิจให้ถูกกฎหมายรวมถึงการเสียภาษีด้วยค่ะ อย่ากังวลกับการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มันไม่ได้ทำให้สรรพากรทราบถึงรายได้ของเรา ผู้ดูแลก็เป็นคนละหน่วยงานกันค่ะ

  1. ถ้าเรามีรายได้หลายประเภท เวลายื่นก็ต้องคำนวณภาษีรวมกันทั้งหมด

เช่น ตอนนี้ยังเป็นมนุษย์เงินเดือนด้วย ขายของออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ก็จะต้องยื่นรายได้จากเงินเดือน คือรายได้ 40(1) ส่วนรายได้จากการขายของออนไลน์ คือรายได้ 40(8) ตามกฎหมายระบุไว้ว่ารายได้ประเภทนี้จะต้องเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง นั่นคือภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 94) และ ภาษีทั้งปี (ภ.ง.ด. 90) ซึ่งหากรายได้รวมยังไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะยังไม่เสียภาษี แค่ต้องยื่นแบบเปล่าไว้

9.ทำธุรกิจออนไลน์ถ้ารายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ก็เตรียมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเสียภาษี

เนื่องจากรายได้เงินเดือนได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่รายได้จากการขายของออนไลน์ ถ้าเกิน 1.8 ล้านบาท เราจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถูกต้องภายใน 30 วัน ที่นี่ก็ถึงเวลาต้องตัดสินใจต่อแล้วค่ะว่าจะเปลี่ยนจากการเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคล หรือ ยังคงเป็นบุคคลธรรมดาแต่จดเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ถึงขั้นนี้อาจได้เวลา (รวย) ที่เราต้องลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจออนไลน์เต็มตัวแล้ว ก็คงต้องหาสำนักบัญชีมืออาชีพเข้ามาทำบัญชีและให้คำแนะนำในการวางแผนภาษีเต็มรูปแบบแล้วค่ะ

เชื่อว่าถ้าทำตาม Checklists 9 ข้อนี้ เมื่อสรรพากรมาเรียก เราจะสามารถชี้แจงได้ทุกข้อคำถามพร้อมหลักฐานที่ใช้ได้ผลทางกฎหมาย ไม่ต้องกลัว… ไม่ต้องกังวล… เราไม่ได้ขายของผิดกฎหมาย เท่าแต่โลกการค้าเปลี่ยนไปเร็วมาก กฎหมายธุรกิจออนไลน์ก็ออกใหม่ๆ มาทุกปี เราแค่ต้องเตรียมตัว จะได้ไม่ต้องอยู่กันมัวๆ แบบสายเทาอีกต่อไปค่ะ!

ผลงาน ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรเขียนบทความสร้างรายได้รุ่นสู้โควิด 2020

ทำธุรกิจออนไลน์

คุณ Jinalyst


บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์  ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ  Content  Marketing,การโฆษณา  Facebook,การโฆษณา  Tiktok,การตลาด  Line  OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google

บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ 
คอร์สเรียนออนไลน์ผ่าน Facebook Group