Xiaomi  บริษัท start up ในวันนั้น กลายมาเป็นสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ ที่มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดดสูงถึง102.6%  (ข้อมูลปี 2017) มีส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกของครึ่งปีแรก ปี 2018 อยู่ที่ 9.3%  ถือเป็นอันดับ 4 ของโลก เรากำลังพูดถึง  “Xiaomi  (เสียวหมี่)”  สมาร์ทโฟนที่น่าจับตามากที่สุดในเวลานี้

จุดกำเนิด Xiaomi   แม่ทัพสุดยอด กุนซือสุดเยี่ยม การฟอร์มทีมที่ดีที่สุดใน 3 โลก

Xiaomi ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ในเดือนเมษายน ปี 2010 โดยมี Lei Jun (เหลย จุน) อดีตซีอีโอของ Kingsoft (บริษัทที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นทางด้านเอกสารออฟฟิศ Word, Excel และ PowerPoint )  เป็นแม่ทัพใหญ่ พร้อมด้วยกุนซือระดับหัวกะทิอีก 8 คน ซึ่งอดีตเคยเป็นทีมงานจากองค์กรชั้นนำระดับโลกทั้งนั้น อาทิเช่น  Motorola , Google , Yahoo และ Microsoft  มารวมตัวกันในมี่นี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

Lei Jun (เหลย จุน) เคยได้รับตำแหน่ง Businessman of the Year ประจำปี 2014 โดยนิตยสาร FORBES ASIA นับเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในจีนลำดับที่ 8  มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ล่าสุด ได้รับฉายาว่า สตีฟ จ๊อบ แห่งแดนมังกรด้วยรางวัล Phone of the Year 2016

แจ้งเกิดด้วย Software ก่อนจะมาถึง Hardware และก้าวออกสู่ตลาดโลก

เริ่มต้นจากการเป็นทีมที่ทำรอมให้โทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ ในนาม MIUI (อ่านว่า Me You I)  ก่อนที่จะขยับมาเป็นการผลิตฮาร์ดแวร์ของตัวเอง จุดเด่นของรอม MIUI อยู่ที่ความเรียบง่ายและสวยงาม มีการเพิ่มเติมการใช้งานพื้นฐานจากระบบแอนดรอยด์ทั่วๆไป

ในปี 2011 มีการเปิดตัวมือถือ  Mi One (หมี่ วัน) มือถือซึ่งใช้ระบบการทำงานของตัวเอง MIUI  ในราคาที่ไม่แพง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก มียอดขายกว่า 7 ล้านเครื่อง ปัจจุบัน Xiaomi ได้เดินทางมาถึงสมาร์ทโฟน Mi8 แล้ว  และแนวโน้มยอดขายก็ทำท่าพุ่งทะยานสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย

ปี 2014 Xiaomi  ได้เริ่มทำการตลาดนอกประเทศ  โดยเลือกประเทศสิงคโปร์เป็นที่แรก ซึ่งผลตอบรับเกินคาดหมาย  สร้างประวัติศาสตร์การขายโทรศัพท์มือถือบน E-commerce หมดใน 2 นาทีแรก ตอกย้ำ ภาพลักษณ์สินค้าจากจีน มีคุณภาพในระดับสากล เป็นที่ยอมรับระดับโลก

9 กรกฎาคม  2018  ที่ผ่านมา  Xiaomi  ได้ IPO ก้าวเข้าสู่ตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นที่เรียบร้อย ถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งของบริษัท

ขยายไลน์สินค้าเพิ่มมูลค่า  คิดให้ไกล  แล้วไปให้สุด

Xiaomi มีความคิดไปไกลกว่าสมาร์ทโฟน, แท็บเล็ต จึงได้เริ่มทยอยเปิดตัวอุปกรณ์อัจฉริยะอีกหลายตัวตามมา  ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 100 ชนิด เช่น smart TV,  อุปกรณ์วัดข้อมูลสุขภาพขณะสวมใส่, เครื่องชั่งน้ำหนัก, รถสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ ในปี 2560 Xiaomi  มีรายได้จากการดำเนินงานมากถึง 1.146 แสนล้านหยวน (1.76 หมื่นล้านดอลลาร์) ซึ่งกำไรส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากยอดขายสมาร์ทโฟน

กระบวนท่ากำลังภายในของ Xiaomi

กลยุทธ์อันล้ำลึกของ Xiaomi  คือ ดำเนินธุรกิจในแบบ “กังฟูจีน”  กระบวนท่าสุดยอดและรวดเร็ว   Xiaomi เร่งสร้าง product  และบริการที่สุดยอดขึ้นมาในเวลาอันสั้น สำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ราคาต้องถูก เพื่อเข้ามาจับตลาดขนาดใหญ่และเข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

จุดเด่นของแบรนด์ คือ  สเปคของ Hardware ที่คุ้มค่ามากเกินราคา Xiaomi มีการตั้งธงไว้สูง อยากไปให้ถึง Global brand  อีกหนึ่งกระบวนท่าที่ถูกนำมาใช้  คือ การตัดต้นทุนด้วยการขายทาง online ล้วนๆ ทำให้สามารถลดราคาได้มากกว่า 10%    ส่วนการจะไปบุกตลาดยุโรป จะใช้วิธีการค่อยๆ ขายอุปกรณ์เสริมและสินค้า Life style ผ่านหน้า website  ไปก่อน นับว่าเป็นการแทรกซึมโดยการอาศัยเทคโนโลยีโดยแท้

8 ปี กับการเดินทางของเสียวหมี่  แรงเสียดทาน & เสียงจากภายนอก ปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม

ถูกกระแสมองว่าเป็น  “Apple of China”   แบรนด์ที่เหมือนจะลอกเลียนแบบแบรนด์ยักษ์ใหญ่ ทั้งดีไซน์และการเปิดตัว  แต่ Xiaomi เลือกที่จะมองว่า หากทั้งคู่มีทักษะ ความสามารถ และกระบวนการคิดที่เหมือนกัน ก็อาจมีทางเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์ทั้งสองจะออกมาใกล้เคียงกัน ส่วนเรื่องวิธีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ วิธีการเช่นนี้บริษัททั่วโลกก็ใช้กันทั่วไป  นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่เรื่องที่ลอกเลียนแบบ   …  ทำการใหญ่  ใจต้องนิ่ง

บอกเล่า ปัจจัยความสำเร็จของ Xiaomi

กว่าจะมีวันที่สำเร็จ ใช่ว่าจะไม่พบเจออุปสรรค … ปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยให้ Xiaomi  ผงาดง้ำล้ำโลกได้แบบนี้

1.การมีบุคลากรที่ดี

เห็นได้ว่าเมื่อเริ่มต้น  Xiaomi ก่อตั้งขึ้นด้วยทีมงานผู้มีประสบการณ์ทั้งสิ้น เริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง  คำนี้พูดกี่ครั้งก็ถูกต้องเสมอ  นี่คือจุดที่แข็งแรงอย่างแรกของ Xiaomi

2.Model ธุรกิจ แบบเข้าใจโลก

Model ธุรกิจแบบไม่ได้ถือครองเทคโนโลยี, สิทธิบัตรใดเป็นของตัวเอง แต่อาศัยการมีพาร์ทเนอร์ ที่ทำในสิ่งที่เค้า     ถนัด ทำให้ Xiaomi ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีออกมา ในราคาไม่แพง  ซึ่งอาจจะเป็นข้อดี คือ จะปรับตัวได้ไว ถ้าหากมีการปรับเปลี่ยนเทรนของโลก

3.ใกล้ชิดกับผู้ใช้ผ่านหน้า web site

เพราะ Xiaomi  ช่วงแรกช่องทางการขาย คือ online เท่านั้น การเปิดรับ Feedback จากผู้ใช้งานเพื่อไปปรับปรุงและออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จึงผ่านมาทาง web site  ซึ่งถือเป็นการรับข้อมูลโดยตรงจากผู้ใช้เลยทีเดียว

4.ทำทุกอย่างด้วยความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งาน

สัญลักษณ์ “MI” ในโลโก้ มีหมายความว่า   Mobile Internet   แต่อีกมุมอาจจะมองได้ว่า หมายถึง  Mission Impossible  ก็เป็นได้ เพราะกว่าจะถึงวันนี้ได้ Xiaomi  ก็พบเจอกระแสความท้าทายมากมาย  ซึ่งดูเหมือนจะไปต่อได้ยากในช่วงแรกๆ แต่ด้วยความอดทน และเข้าใจเข้าถึงความต้องการของผู้ใช้งานทุกระดับ ทำให้ Xiaomi ฝ่าฟัน เดินทางมาถึงวันนี้ได้

ALWAYS BELIEVE

THAT SOMETHING WONDERFUL

IS ABOUT TO HAPPEN

…  Xiaomi บอก เชื่อเสมอว่า สิ่งที่น่าอัศจรรย์กำลังจะเกิดขึ้น  …

แล้ววันนี้ คุณก็ทำได้จริงๆ  เราเชื่อคุณ Xiaomi

บทความโดย ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร “เขียนบทความสร้างรายได้ รุ่น 2”

คุณ ดาริกา กลัดณรงค์ (ปุย)

ปริญญาตรีเภสัชศาสตร์บัณฑิต จากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากร

ปัจจุบัน  เภสัชกร part time ของโรงพยาบาลเอกชน

บทความเกี่ยวกับกรณีศึกษา