ทำธุรกิจว่ายากแล้ว แต่การหาหุ้นส่วน Partner ในการทำธุรกิจยิ่งยากกว่าครับ ทำคนเดียวก็ดีไปอย่าง แต่ถ้าจะเติบโตมากยิ่งขึ้นจำเป็นอย่างยิ่งครับที่ต้องมีการดึงหุ้นส่วนเข้ามาช่วยเหลือขยายกิจการไปด้วยกัน

อย่าทำธุรกิจ กับเพื่อนเดี๋ยวมีปัญหากัน” อาจจะไม่จริงเสมอไปเสียทีเดียวนักนะครับ เราคงต้องแยกประเภทเพื่อนก่อน ที่จะร่วมทำธุรกิจด้วยกัน ไม่ใช่ว่าคบ ๆ กันมาแล้วเออออ มาทำธุรกิจ อย่างนี้ก็มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเป็นแบบ “ต้นดี ปลายร้าย” จบกันไม่ลงเพราะปัญหาเงินทอง

ผมเองก็พอมีประสบการณ์ทางด้านนี้อยู่บ้างทั้งในกิจการตัวเอง และจากการที่ให้คำปรึกษาเพื่อน ๆ ในการทำธุรกิจ ก็คงต้องบอกว่า ถ้าเริ่มทำด้วยกันแล้วหากเริ่มรู้สึกว่า หากเดินต่อแล้วทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนมันจางหายไป สิ่งที่ผมอยากแนะนำคือ มาคุยกัน แล้ว

หากเดินต่อไปด้วยกันได้ก็ต้องปรับจูน หากเดินไปแล้วสายสัมพันธ์ถดถอยผมแนะนำให้แยกทางกันด้วยดี ดีกว่าทะเลาะกันเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตนะครับ

วันนี้เรามาลองปรับจูนแนวคิด มองหาหุ้นส่วนธุรกิจกันแบบเริ่มด้วยดี เดินไปด้วยกันสะดวก จบกันด้วยมิตรภาพนะครับ

7 เคล็ดลับ หาหุ้นส่วนธุรกิจ SME

1.คุยกันถูกคอ

ประเด็นแรกเลยนะครับ ต้องคุยกันได้อย่างเปิดอก พร้อมที่จะบอกเล่าปัญหา พร้อมที่จะรับฟังซึ่งกันและกัน และร่วมกันหาทางออกไปด้วยกัน

ถูกคอไม่ใช่แค่เรื่องในวงเหล่านะครับ จำเป็นที่ต้องรู้จักนิสัยใจคอกันพอสมควร ไม่ใช่มาร่วมหุ้นลงขันกันเพียงแค่มีเงินแล้วรวม ๆ กัน ไม่ได้

พูดภาษาเดียวกันนะครับ แต่ไม่จำเป็นต้องเห็นคลอยไปด้วยกันเสียทุกอย่าง ทุกเรื่องอย่างนี้ก็สุ่มเสี่ยงที่ไม่ รุ่ง ก็ ร่วง เลยทีเดียว

2.มองตารู้ใจ มองไกลในทิศทางเดียวกัน

จะร่วมทำธุรกิจกัน ต้องมีวิสัยทัศน์ สายตายาวไกลพอ ๆ กันนะครับ รู้ว่าเพื่อนคิดอะไร เราคิดอะไร แล้วเราจะพากันไปไหน ต้องมีการกำหนดทิศทางที่จะเดินไปด้วยกัน

มันไม่ใช่เรื่องง่ายหาก มองเห็นจุดหมายปลายทางที่ต่างกัน (แต่แนวทางลงมือทำต่างกันได้)

ผมยกตัวอย่าง วิสัยทัศน์ ต้องมองเหมือนกันเช่น เราจะเดินทางไปเที่ยวบอกปลายปีเที่ยวญี่ปุ่น ก็ต้องชวนเพื่อนคนที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเพื่อนอยากไปแค่เชียงใหม่ อย่างนี้ไปด้วยกันไปได้นะครับ

ส่วนวิธีการเดินทางมาว่ากันอีกที จะขึ้นเครื่องแล้วบินตรง หรือ ต่อเครื่อง รูปแบบการเดินทางมากว่ากัน ธุรกิจก็เช่นกันครับ ต้องมองเห็นเหมือนกันก่อนว่าเราจะไปไหน จุดหมายอยู่ตรงไหน แล้วค่อยมาเลือกเครื่องมือที่จะพาเราไปให้ถึงเป้าหมาย

เพื่อนร่วมธุรกิจก็เช่นกันครับ….เป้าหมายต้องตรงกันก่อน

3.บทบาท หน้าที่ คุยกันตั้งแต่ต้น

เมื่อตกลงปลงใจว่าจะไปด้วยกันแล้ว คราวนี้ก็ต้องมาแบ่งปันหน้าที่ ความรับผิดชอบ ความถนัดของแต่ละคนนะครับ ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าเกี่ยงงานกัน โยนงานกัน ทำไมกูทำมึงไม่ทำ

ความถนัดของแต่ละคนแตกต่างกันควรที่จะแยกหน้าที่ความรับผิดชอบให้ชัดเจน คนถนัดการตลาดให้ดูการตลาด ผลิตให้ดูผลิต การเงินให้ดูการเงิน ทุกหน้าที่มีความสำคัญเสมอเหมือนกันครับ

หากไม่แบ่งไม่ตกลงกันให้ชัดเจนก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ผมว่ามา คือ กูทำมึงไม่ทำ คนผลิตก็ว่าคนทำการตลาดไม่ช่วยทำงาน คนการตลาดก็บอกตัวเองทำการตลาดไม่มีใครช่วยทำ อย่างนี้ไม่ได้ครับ เจ๊งตั้งแต่ต้นเลยทีเดียว

4.ลงเงิน ลงแรง ต้องชัดเจน

เมื่อแบ่งหน้าที่กันเรียบร้อยก็ต้องมาคุยกันเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กันครับ ใครลงเท่าไหร่ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องลงขันในจำนวนที่เท่ากัน คำตอบคือ ไม่จำเป็นนะครับ ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบ

รับผิดชอบมาก อาจลงเงินมาก ได้ผลตอบแทนมากกว่า คนที่รับผิดชอบในงานน้อย ส่วนนี้ต้องเคลียร์กันให้ชัดเลยทีเดียวครับ

เพราะไอ้ที่มีปัญหาทะเลาะกันก็เพราะเรื่องนี้หละครับ แรก ๆ ก็ลงขันเท่ากัน แต่อยู่ ๆ ไปเกี่ยงงานกัน สุดท้ายก็ทะเลาะกัน

ต้องเปิดใจที่จะคุยเรื่องนี้กันให้ชัดอย่าติดลูก “เกรงใจ” เพราะการเริ่มต้นด้วยเรื่องเกรงใจสุดท้ายก็กลายเป็นว่า “ไม่เกรงใจ” กันทุกทีเสียทั้งเงิน เสียทั้งเพื่อน

5.ร่างบันทึก สัญญา ตกลงทุกอย่างให้ชัดเจน

ที่ว่ามันหมด นี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหน้าที่ความรับผิดชอบ เงินทุนที่ลงไปทุกอย่างต้องมีการลงบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนะครับ ทำเป็นบันทึกข้อตกลง (MOU) หรือทำเป็นสัญญาอะไรก็ว่ากันไปนะครับ

จะได้นำมาไว้เป็นแนวทางการทำงานร่วมกัน ในวันที่อาจจะเกิดปัญหาในอนาคตเราจะได้คุยกันที่บันทึกความเข้าใจ ข้อตกลงต่าง ๆ

อย่าคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก ไม่ต้องบันทึกข้อตกลง หรือ สัญญาใด ๆ นะครับ เพราะตอนเริ่มน้ำผักก็ว่าหวาน แต่ตอนมีปัญหาอะไรมันก็ขมกันไปหมดนะครับ มีไว้ดีกว่าเยอะครับ

6.ประชุมสรุปงาน อย่างน้อยเป็นรายเดือน

ทำงานไปก็ต้องมีการมีการลงมือทำงานกันไป จำเป็นที่สุดที่จะต้องมีการสรุปงาน วางแผนงานกันเป็นระยะว่าเป้าหมายแต่ละจุด งานแต่ละเรื่องไปถึงไหนแล้ว คงต้องคุยกันบ่อย ประชุมกันบ่อย (แต่อย่าประชุมจนไม่ได้งานนะ)

อย่าใช้วิธีทำงานกันไม่เรื่อย ไม่มี milestone หรือจุดวัดผลว่าทำงานกันไปถึงไหนแล้ว อย่างที่บอกว่าหากเราจะไปเชียงไหม ขับรถไปถึงนครสวรรค์ เราก็ต้องรู้ว่าตอนนี้ถึงนครสวรรค์อีกกี่กิโลเมตรจึงจะถึงเชียงใหม่ จะพักที่ไหนอย่างไร นี่คือรูปแบบการทำงาน ทำธุรกิจครับ ต้องรู้ว่าทำอะไรไปถึงไหน

7.แยกธุรกิจออกจากความสัมพันธ์

สุดท้ายของประเด็นคือ ต้องแยกให้ได้นะครับ งานคืองาน เพื่อนคือเพื่อน จบงานก็คือจบ ที่เหลือคือความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เช่นกันครับ ตอนทำงานอย่าใช้ความเป็นเพื่อนมาทำงานต้องใช้ความเป็นมืออาชีพมาช่วยกันทำงานเพื่อให้ได้งาน

หากไม่ยากทั้งสองออกจากกัน จะกลายเป็นว่าเสียทั้งงาน เสียทั้งเพื่อนนะครับ

หุ้นส่วนธุรกิจ เปรียบเหมือนหุ้นส่วนชีวิต หากเลือกไม่ถูกก็มีแต่จะเจ็บตัวอยู่ไปด้วยกันก็ลำบาก แม้เลือกถูกแต่ก็อาจจะมีผิดใจ ทะเลาะกันบ้างเหมือนลิ้นกับฟัน แต่ถ้าเราอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ รู้บทบาทและหน้าที่ของตัวเอง ก็จะสามารถนำพาธุรกิจเดินไปข้างหน้าได้อย่างไม่ยากนัก แม้จะเจออุปสรรคมากบ้างน้อยบ้างนะครับ

ขอให้ทุกท่านได้ พันธมิตรที่ดีมาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจครับ