1.โมเดลธุรกิจ Business Model Canvas

Business-Model-Canvas-Large

ภาพรวมของธุรกิจเราว่า จะต้องมีอะไรบ้างเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินไปข้างหน้า BMC มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 9 ส่วน ซึ่งเพียงพอให้เราได้เห็นภาพธุรกิจอย่างชัดเจนดังนี้

Cs: Customer segment กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

เราต้องตอบก่อนให้ได้ว่า ลูกค้าหลักของเราเป็นใคร ปัญหาเขาคืออะไร เพศ /อายุ/การศึกษา/ที่อยู่อาศัย/ความชอบ/ความไม่ชอบ/รูปแบบการใช้ชีวิต เป็นอย่างไร

VP: Value preposition คุณค่าที่มอบให้ลูกค้า

สินค้าหรือบริการของเราสามารถช่วยแก้ปัญหา หรือส่งมอบคุณค่าอะไรให้กับลูกค้าที่มากกว่าแค่การแก้ปัญหาเบื้องต้นที่เขามี สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้อย่างไร

CR: Customer relationships รูปแบบการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า

เรามีวิธีการที่จะรักษาลูกค้าเก่าให้อยู่กับเราไปนาน ๆ และสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้าใหม่ให้ตัดสินใจซื้อในตอนแรกได้อย่างไร เช่น ระบบสมาชิกรักษาลูกค้าเก่า ได้ราคาพิเศษ พร้อมข่าวสาร มีการสะสมแต้มรับรางวัลเป็นต้น

CH: Channels ช่องทางการเข้าถึงลูกค้า

ช่องทางในการนำสินค้าเราไปถึงมือลูกค้า ทำให้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าเรา มีช่องทางไหนบ้าง เช่น ออกบูตแสดงสินค้า มีร้านในห้าง ร้านสะดวกซื้อ หรือ ช่องทางออนไลน์ โซเชียลมีเดีย Facebook,Youtube,IG เป็นต้น

R$: Revenue Streams แหล่งที่มาของรายได้ ของธุรกิจ

รูปแบบรายได้จากธุรกิจมีมาจากช่องทางไหนบ้าง เช่น ขายปลีก ขายส่ง บริการหลังการขาย อาหาร ขนม สัมมนา ฯ สัดส่วนรายได้เป็นอย่างไรกี่ % เราจะได้โฟกัสช่องทางทำเงินได้ถูกต้องและมีทางเลือกมากขึ้น

KR: Key Resources ต้องมีทรัพยากรใดบ้าง

เครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็นในการทำธุรกิจมีอะไรบ้างเช่น  สำนักงาน บุคลากร เงินทุน เครื่องจักร เครื่องใช้สำนักงาน เหล่านี้ต้องเตรียม ต้องมีให้เพียงพอกับการดูแลลูกค้า และสร้างธุรกิจเราให้เกิด

KA: Key Activities กิจกรรมหลักๆที่ต้องทำเพื่อให้สามารถส่งมอบคุณค่าตามที่ออกแบบได้

งานหลัก ๆ ที่มีความสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจเราเดินไปข้างหน้ามีอะไรบ้าง เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การหาช่องทางกระจายสินค้า การขนส่ง บริการหลังการขาย เป็นต้น

KP: Key Partners การสร้างพันธมิตร เครือข่ายทางธุรกิจ

ต้องมีพันธมิตรทางด้านไหนบ้างเข้ามาช่วยเหลือธุรกิจ เช่น โรงงานผลิต ธนาคารด้านการเงิน บริษัทดูแลด้านการตลาดออนไลน์ หรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ

C$: Cost Structure ต้นทุนการสร้างและส่งมอบคุณค่าให้ถึงมือลูกค้า

ค่าใช้จ่ายต้นทุนที่ต้องใช้ในแต่ละกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าด้านการผลิต การตลาด หรือ สำนักงาน มีอะไรบ้าง เป็นต้นทุนคงที่หรือแปรผัน อัตราส่วนที่ใช้ในแต่ละกิจกรรมนั้นเป็นเท่าไหร่

2.จุดแข็งจุดอ่อน SWOT Model

swot

ลงลึกในส่วนของการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ปัจจัยภายใน และ ปัจจัยภายนอกที่มีผลกระทบกับธุรกิจของเรา เพื่อนำมาวางแผนแก้ไข

การวิเคราะห์ SWOT พิจารณา 4 ปัจจัยคือ

1.S หรือ Strengths

ธุรกิจหรือองค์กรเรามีจุดเด่นหรือจุดแข็งอะไรที่คู่แข่งอาจจะไม่มีเช่น ความรู้ประสบการของเจ้าของกิจการ สินค้าที่เป็นนวัตกรรม  ช่องทางการจัดจำหน่ายที่เรามีในมือ สิ่งที่เราควรคำนึง คือ 4Ps (Product,Price,Place,Promotion) เป็นพื้นฐานว่าจุดนี้เราดีแล้วหรือยัง

2.W หรือ Weaknesses

จุดด้อยของธุรกิจที่อาจจะทำให้ธุรกิจเรา ไม่สามารถขยับหรือสามารถต่อสู้กับคู่แข่งได้ เช่น เงินทุนเราอาจจะน้อย พนักงานที่มียังขาดความรู้ ทักษะ ฯ จุดอ่อนส่วนไหนที่ปรับปรุงพัฒนาได้ก็ควรจะทำการแก้ไขก่อนที่จะออกตลาด

3.O หรือ Opportunities

โอกาสในการที่จะแข่งขันในตลาด มีปัจจัยอะไรบ้างที่ช่วยให้เรา สามารถทำธุรกิจได้ เช่น เทคโนโลยีที่เอื้ออำนวย กฎหมายที่ยืดหยุ่น สภาพเศรษฐกิจกำลังขยายตัว ชุมชนสังคมที่กำลังให้ความสนใจกับเรื่องนั้น ๆ

4.T หรือ Threats

ความยากในการเข้าตลาดหรืออุปสรรคที่เราต้องเจอ เช่น จำนวนคู่แข่งในตลาด การต่อรองจากลูกค้า  ราคาจากซับพลายเออร์ที่สูง หรือแม้กระทั่ง สภาพทางการเมืองที่ตึงเครียด เหล่านี้มีผลกับการทำธุรกิจทั้งสิ้น

3.ความเป็นได้ทางการเงิน Finance analysis

A calculator, pen, and financial statement.

4 ตัวเลขเบื้องต้นในการวิเคราะห์

1.กำไรต่อหน่วยเบื้องต้น

เป็นตัวเลขง่าย ๆ ที่เราต้องรู้ก่อนเลยว่าขายครั้งนี้มีกำไรไหม สูตรเบื้องต้นที่ใช้คือ

กำไร/ขาดทุน  = รายได้ – ต้นทุน

ถ้าตั้งต้นขายแบบขาดทุนก็ยังไม่ต้องทำ ประเด็นสำคัญคือเราต้องดูเรื่องต้นทุนให้ครอบคลุมมากที่สุด อย่าให้ต้นทุนแฝงหลุดลอดสายตา ไม่อย่างนั้นกำไรที่ได้จะเป็น “กำไรหลอกตา” สุดท้ายก็จะทำให้เรา “ขาดทุน”

2.จุดคุ้มทุน

ขายไปเท่าไหร่จึงจะคุ้มกับทุนที่ลงไป เริ่มที่จะมีความยากในการวิเคราะห์ขึ้นมาสักหน่อยเพราะเราต้องแยก ต้นทุนให้ชัดเจน

ต้นทุนคงที่ เช่นค่าเช่าร้าน ค่าเงินเดือนพนักงาน

ต้นทุนแปรผัน  เป็นต้นทุนที่แปรผันตามยอดขาย เช่น หากขายข้าวแกงก็จะเป็น ค่าข้าวสาร กับข้าว ค่าน้ำแข็ง เป็นต้น

สูตรที่ใช้คำนวณ

จุดคุ้มทุน =   ต้นทุนคงที่รวม / (ราคาขายต่อหน่วย – ต้นทุนผันแปรต่อหน่วย)

3.ระยะเวลาคืนทุน

เงินที่ลงทุนไปนั้นสามารถได้รับกลับคืนมาภายในกี่เดือนกี่ปี หลักการพื้นฐานง่าย ๆ ในการคิดระยะเวลาคืนทุน ทำได้โดย

ระยะเวลาคืนทุน = เงินที่ลงทุน /เงินสดรับในแต่ละเดือน

เช่น เราลงทุน 100,000 บาท และคาดการว่ารายได้หลังหักค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ได้เดือนละ 10,000 บาท

ดังนั้น จากตัวอย่างนี้

ระยะเวลาคืนทุน = 100,000 / 10,000

= 10 เดือน

4.อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน

ดูสิว่าเงินที่เราลงทุนนั้นมันคุ้มค่าไหม ควรลงทุนหรือเปล่า หากลองเทียบกับการลงทุนในรูปแบบอื่นหรือโครงการอื่น เราควรลงทุนหรือ เก็บเงินฝากไว้เฉยๆ รอเก็บดอกเบี้ยธนาคารก็พอ

สูตรที่ใช้คำนวณ

ผลตอบแทนการลงทุน (ROI)  = (รายรับ – ต้นทุน)/ต้นทุน x 100

ตัวอย่างคาดการณ์รายได้ ตลอดทั้งปี 1 ล้านบาท และต้นทุนทั้งหมด 850,000 บาท

กำไรเบื้องต้น

1,000,000-850,000 = 150,000 บาท

ROI = 150,000/850,000 x 100

= 17.65%

ลองนำเครื่องมือทั้ง 3 ตัวเป็นแนวทางพื้นฐานในการตั้งต้นธุรกิจก่อนนะครับ ธุรกิจคิดให้ “เจ๊ง” ในกระดาษดีกว่าออกมา “เจ๊ง” ในสนามจริงครับ