“ความอยาก” ทำพิษ

อ้วนสุดประกาศตนเป็นเจ้า

บ่อยครั้งที่เราตัดสินใจทำสิ่งต่างๆบนความอยาก
อยากได้ อยากมี และอยากครอบครอง
มนุษย์มีความอยากอยู่ในใจ
แต่ไม่ได้หมายความต้องทำตามใจปรารถนาทุกอย่าง

ในวรรณกรรมสามก๊ก
อ้วนสุด ขุนศึกผู้ยิ่งใหญ่ในปลายราชวงศ์ฮั่น
นับเป็นกรณีศึกษาที่ดีในเรื่องการใช้อารมณ์
ในการตัดสินใจดำเนินนโนบายการเมือง

อุดมการณ์การเมืองของอ้วนสุดคือ
การตั้งตนเป็นจักรพรรดิ
สถาปนาราชวงศ์ใหม่แทนราชวงศ์ฮั่น

พูดง่ายๆคืออ้วนสุดอยากเป็นฮ่องเต้
การเคลื่อนไหวทุกย่างก้าวของเขามันจึงเต็มไปด้วยเป้าหมาย
กำหนดนโยบายทุกอย่างใช้ความอยากเป็นตัวนำ
เหล่ากุนซือคัดค้านก็จับเขาไปลงโทษ
ข้อหา “ขัดใจนาย” ซึ่งเป็นเรื่องของอารมณ์ล้วนๆ
(แม้เหล่าที่ปรึกษาจะใช้เหตุผลอธิบายตามความถูกต้อง)

เมื่อสบโอกาสเหมาะจึงสถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้
ตอบโจทย์ความมักใหญ่ใฝ่สูงของตนเอง
ทว่าสุดท้ายราชวงศ์ของเขาก็ไม่ได้ยั่งยืน
และจบสิ้นลงไปในเวลาสั้น

คุณผู้อ่านครับ

“ชีวิตที่มีแต่ความอยาก ย่อมปราศจากเหตุผล”

มนุษย์ไม่ผิดที่จะมีความฝันหรือความอยาก
นักการเมืองทุกคน ใครบ้างไม่อยากเป็นรัฐมนตรี
หรือหากมีโอกาสก็อยากเป็นนายกรัฐมนตรี
พ่อค้า นักธุรกิจ ท่านใดที่ไม่อยากมีเงินล้าน
มนุษย์เงินเดือนทุกคนใครบ้างไม่ยากได้โบนัสหลายเดือน

ทุกคนต่างก็มีความอยากครับ
แต่ลำพังความอยากอย่างเดียว
ย่อมไม่ได้ทำให้เราประสบความสำเร็จ
แต่ต้องรู้จักเล่นตามบทหรือสวมหน้ากากเข้าหากันบ้าง

เหมือนที่ขุนศึกหลายคนในสามก๊กทำกัน
แม้จะอยากเป็นฮ่องเต้ ก็ยังเก็บความรู้สึก
ไม่แสดงธาตุแท้ออกมา
พยายามดำเนินชีวิตบนหลักการแห่งคุณธรรม
ใส่หน้ากกากกันเต็มที่เพื่อปกป้องตนเอง

แต่อ้วนสุดกลับเลือกที่จะเป็นตัวของตนเอง
ใช้ความอยากในการดำเนินชีวิต
อย่างโจ่งแจ้งไม่ยอมใส่หน้ากากคุณธรรม
หรืออำพรางความรู้สึก เหมือนขุนศึกคนอื่นๆ

สุดท้ายการตัดสินใจภายใต้“ความอยาก”ของเขา
ก็นำมาซึ่งความเสื่อมถอยและดับสูญไปในที่สุด

บทความโดย : คิดถึงสามก๊ก นึกถึงเปี่ยมศักดิ์