กลโกงของแชร์ลูกโซ่ที่แอบอ้างเป็นธุรกิจแฟรนไชส์จะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ แบบดั้งเดิมและแบบออนไลน์

แชร์ลูกโซ่ คำนี้มีมาช้านานแล้ว โดยทุกคนทราบกันดีว่า แชร์ลูกโซ่นั้นเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่หลายคนก็ยอมที่จะลงทุน เพราะหวังผลประโยชน์และค่าตอบแทนที่สูง และยิ่งเศรษฐกิจแย่มากเท่าไร คนก็จะยิ่งเสาะหาหนทางหารายได้ที่ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ซึ่งในระยะแรกคุณอาจได้ค่าตอบแทนตามที่คุณต้องการ ต่อเมื่อมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้น การบริหารจัดการเงินก็เริ่มติดขัด สุดท้ายก็ไม่สามารถจ่ายเงินให้คุณได้ และนั่นคือ เหตุผลที่หลายคนต้องสูญเสียเงินทองไปเป็นจำนวนมาก และเกิดคดีฟ้องร้องกันมากมาย และเนื่องจากว่าระบบแชร์ลูกโซ่นั้นมักถูกนำไปเปรียบเทียบกับธุรกิจแฟรนไชส์อยู่เสมอ และหลายคนยังแยกไม่ออกด้วยว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องนี้กัน

       กลโกงของแชร์ลูกโซ่ที่แอบอ้างเป็นธุรกิจแฟรนไชส์จะแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ แบบดั้งเดิมและแบบออนไลน์

        แบบดั้งเดิม จะมีลักษณะ ดังนี้

– มีรูปแบบเหมือนสหกรณ์ คือการชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกและมีการระดมทุนเพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น โดยการคืนเงินปันผลให้กับสมาชิกตามที่ได้ลงเงินตามเงื่อนไข เป็นต้น

-นำเสนอสิทธิพิเศษต่างๆ รวมถึงเม็ดเงินมหาศาลเพื่อจูงใจให้คนเข้ามาร่วมลงทุนมากๆ

– โดยจะมีระบบจ่ายเป็นแบบธุรกิจขายตรงและพัฒนาต่อยอดจนกลายมาเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ในที่สุด

-พวกแชร์น้ำมัน แชร์ทอง แชร์หุ้น แชร์ยาบำรุง แชร์ด้านเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ และมักมีการหลอกล่อให้คนเข้าร่วมทุนมากขึ้น อย่างเช่น การแอบอ้างว่ามีการขออนุญาตที่ถูกต้อง หรือแอบอ้างว่ามีคนยศใหญ่เป็นคนควบคุมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้มากที่สุด เป็นต้น

-เมื่อคนเข้ามาเป็นสมาชิกในเว็บมากขึ้น การจ่ายเงินก็จะล่าช้าหรือจ่ายไม่ได้ ทำให้ปิดตัวลงไป และทิ้งระยะห่างไปพอสมควร ก็จะเปิดเว็บในลักษณะเดียวกันมาอีก

        แบบออนไลน์ มีลักษณะ ดังนี้

– เป็นธุรกิจอีมันนี่ แบบให้ทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต โดยการเปิดเป็นเว็บทั่วไป และชวนเชื่อให้คนมาลงทุนในเว็บ โดยอ้างว่านำไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ เช่น การลงทุนในตราสารหุ้น ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์  รวมถึงการแลกเปลี่ยนเงินตรา

– เมื่อมีสมาชิกเยอะกัน ก็จะมีเงินสะพัดมากขึ้น เมื่อถึงระยะหนึ่งก็จะปิดตัวลง และเปิดธุรกิจในรูปแบบใหม่มาอีก

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นแบบดั้งเดิมหรือแบบออนไลน์ สิ่งที่เหมือนกันคือ เมื่อไม่มีเงินหมุนเวียนจ่ายให้สมาชิกก็จะปิดตัวลงทุกครั้ง และจะหาทางเปิดใหม่โดยเปลี่ยนชื่อบริษัทหรือเปลี่ยนวิธีการใหม่ ซึ่งเราเองก็ต้องศึกษารายละเอียดต่างๆให้ดีก่อนที่จะลงทุนด้วย เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองอีกทางหนึ่ง

กลโกงของแชร์ลูกโซ่ มีอะไรบ้าง รู้เท่าทันจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ

จากคดีดังๆหลายคดีที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่า เป็นแชร์ลูกโซ่ ซึ่งรูปแบบของแชร์ลูกโซ่ไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยกลโกงก็ยังคงเหมือนเดิม เพื่อให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อ ทาง DSI (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) จึงต้องมีข้อสังเกตเกี่ยวกับ กลโกงของแชร์ลูกโซ่ ดังนี้

  1. คนใกล้ตัวเรามักเป็นคนชวนให้ร่วมลงทุน เขาจะหว่านล้อมและทำตัวน่าเชื่อถือ เพื่อให้เราไว้วางใจว่าจะไม่โดนโกงแน่นอน
  2. ได้มีการกล่าวอ้างถึงคนที่มีชื่อเสียง หรือผู้มีอำนาจในบ้านเมืองเข้าร่วมลงทุนด้วย เช่น ดารานักแสดง นักการเมือง เป็นต้น สร้างภาพว่า การลงทุนครั้งนี้มีความน่าเชื่อถือ และได้เงินจริง เพราะขนาดคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองยังกล้าลงทุนด้วย
  3. พูดถึงผลประโยชน์และเม็ดเงินมหาศาลที่จะได้รับ ซึ่งในห้วงความคิดของเรา จะรู้สึกว่า โอ้โห ได้มากขนาดนั้นเลยหรอ ลงทุนแค่นี้เอง มันจะได้จริงๆหรือ แต่ฟังแล้วน่าสนใจมาก ไหนลองลงทุนน้อยๆดูก่อน นี่แหละจุดที่ทำให้เราหลวมตัวลงทุนด้วย
  4. โฆษณาชวนเชื่อ จูงใจให้คนเห็นผลประโยชน์มหาศาลที่คุณต้องได้หากมาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเงิน บ้าน รถ ท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น
  5. จัดสัมมนายิ่งใหญ่ งานหรูหรา โรงแรมดัง โชว์ให้เห็นถึงความสำเร็จของผู้ที่ร่วมลงทุน แบบเว่อร์สุดๆ
  6. พูดถึงการลงทุนน้อย แต่ได้รับผลประโยชน์มากในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งถ้าเป็นการลงทุนโดยทั่วไป จะใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการคืนทุน เห็นกำไร ซึ่งเป็นไปตามกลไกที่ควรเป็น
  7. หว่านล้อมกดดันให้ตัดสินใจลงทุน โดยบอกว่าให้รีบลงทุน ลงทุนวันนี้ได้รับโปรโมชั่นแบบนั้นแบบนี้ เป็นต้น

หากมีคนมาชวนให้คุณลงทุนในลักษณะที่กล่าวมานี้ ให้คุณคิดไว้เลยว่า เป็นแชร์ลูกโซ่

ความแตกต่างระหว่างแชร์ลูกโซ่และแฟรนไชส์

แชร์ลูกโซ่ขายของเก๋

– เน้นการระดุมทุน เน้นจำนวนผู้สมัครให้เข้ามามากๆ ลงเงินเพียงอย่างเดียว

– ไม่มีการทำธุรกิจจริงๆ ไม่มีหน้าร้าน และอาจมีเพียงแผนการตลาดหลอกๆ ให้คนเชื่อเท่านั้น

– ให้ผลตอบแทนที่สูงเกินความเป็นจริงมาก ทำให้คนหลงเชื่อในช่วงแรก ระยะหลังก็เริ่มไม่มีเงินจ่ายให้สมาชิกจนเกิดปัญหาการฟ้องร้องตามมา และเกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก

–  เน้นการหาสมาชิกให้มากเข้าไว้ เพื่อสร้างเครือข่ายและเพิ่มเงินในระบบ เมื่อหาคนเข้าระบบได้มาก ไม่มีเงินที่จะหมุนเวียนและจ่ายให้กับสมาชิก สุดท้ายก็ปิดตัวลง และค่อยไปเปิดเว็บหากินในรูปแบบใหม่ๆ

ธุรกิจแฟรนไชส์ของจริง

– ขายระบบการจัดการ ก่อนที่จะเปิดขายแฟรนไชส์ แฟรนไชส์ซอร์ ต้องเซ็ตระบบในธุรกิจอย่างดี เพื่อให้ลูกค้าหรือแฟรนไชส์ซีที่ซื้อไปสามารถนำไปบริหารจัดการ จนเกิดผลกำไรทางธุรกิจ

– มีหน้าร้านและการดำเนินธุรกิจ เป็นแบรนด์ของตัวเองอย่างชัดเจน มีแผนการบริหารธุรกิจตามที่แฟรนไชส์พึงมี เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อแฟรนไชส์นั้นสามารถดำเนินธุรกิจตามแบบแผนที่ได้รับการอบรมจากทางแฟรนไชส์

– กำไรที่ได้จากการขาย คือ ผลตอบแทน ซึ่งการที่จะได้กำไรดีนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ทำเลที่ตั้ง การบริหารจัดการของแต่ละคน ภาวะเศรษฐกิจ เป็นต้น

ขายแฟรนไชส์ให้เฉพาะคนที่สนใจ โดยไม่ได้สนใจที่จะหาคนซื้อหรือสมาชิกมากๆ อย่างแชร์ลูกโซ่ ซึ่งนี่คือข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า แชร์ลูกโซ่และแฟรนไชส์เมื่อเทียบกันแล้ว มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งใครที่จะทำธุรกิจต้องเรียนรู้เสมอว่า ไม่มีธุรกิจใดที่ให้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาอันสั้นได้ เราไม่สามารถดำเนินธุรกิจด้วยวิธีการที่ง่ายดายและฉาบฉวย และถึงแม้ว่าจะเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีคนวางแผนทุกอย่างให้แล้ว แต่การที่เราจะดำเนินธุรกิจไปได้ด้วยดี ก็ต้องรู้จักการคิดค้นพัฒนาแบบไม่หยุดยั้ง จะช่วยให้แฟรนไชส์สาขาเราขายดี และอนาคตเราอาจมีธุรกิจเป็นของตัวเองเลยก็ได้