ในปี 1969 เมื่อ “รองเท้ากีฬา” ทำกำไรให้กับฟิลมากพอ ฟิลตัดสินใจที่จะลาออกจากการเป็นพนักงานบัญชีหันมาทำธุรกิจของเขาอย่างเต็มตัว กระทั่งในปี 1971 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อบริษัทมีปัญหากับบริษัท Onitsuka และยกเลิกการนำรองเท้าเข้ามาขาย ประกอบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ฟิล ไนท์ และ บิล โบเวอร์แมน ได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้ในเรื่องของรองเท้ากีฬามากพอ ทั้งคู่จึงตัดสินใจที่จะผลิตรองเท้าออกมาเองและเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น “ไนกี้”

หากพูดถึงแบรนด์รองเท้ากีฬาดังๆ สัก 1 ชื่อ แบรนด์ “ไนกี้” จะต้องเป็นแบรนด์ลำดับต้นๆ ที่ถูกพูดถึง ด้วยรูปลักษณ์สะดุดตา โลโก้ที่ดูเรียบแต่เก๋ไก๋ ราวกับต้องมนต์สะกดทำให้ “ไนกี้” เป็นแบรนด์ที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จมาก ๆ อีกแบรนด์หนึ่ง กว่าที่จะมีวันนี้ได้ไนกี้ก็ต้องฝ่าฝันและลองผิดลองถูกมาไม่น้อย

โดยชายผู้หนึ่งซึ่งอยู่เบื้องหลังและเป็นผู้ขับเคลื่อนให้แบรนด์นี้มาไกลดังเช่นปัจจุบัน ชายผู้นี้ก็คือ “Phil Knight” มหาเศรษฐีผู้อยู่เบื้องหลังรองเท้ากีฬาแบรนด์ดังไนกี้ 

Phil Knigt วิ่งไปทำงานร่วม 7 ไมล์ในช่วงหยุด Summer

Phil Knight (ฟิล ไนท์) เกิดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1938 บิดาของเขาคือ Bill Knight ทนายความผู้ผันตัวเองมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ มารดาของเขาคือ Lota Knight เขาจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ Cleveland High School และเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Oregon

เล่ากันว่า ในช่วง summer ฟิลต้องการเข้าทำงานที่สำนักพิมพ์หนังสือพิมพ์ของคุณพ่อ แต่พ่อไม่อนุญาต ดังนั้น ฟิล จึงไปสมัครทำงานที่หนังสือพิมพ์ Oregonian ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์คู่แข่ง ในตำแหน่งนักข่าวกีฬาในช่วงกลางคืน

นั่นทำให้เขาต้องวิ่งกลับบ้านเป็นระยะทางกว่า 7 ไมล์ ในทุกเช้า 

วิ่งไปวิ่งมาจนได้เป็นนักกีฬาวิ่งในขณะอยู่มหาวิทยาลัย

ฟิลเข้าเรียนใน “brother of Phi Gamma Delta” หรือ ฟิจิ และเป็นนักข่าวกีฬาให้กับหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัย “Oregon Daily Emerald” จนจบการศึกษาในปี 1959

ที่มหาวิทยาลัย ฟิล เป็นนักกีฬาวิ่งระยะกลางของมหาวิทยาลัย ที่นี่เองที่เขาได้รู้จักกับ Bill Bowerman โค้ชกรีฑาของมหาวิทยาลัย ผู้ซึ่งในภายหลังมาร่วมเป็นหุ้นส่วนบริษัทกับเขา

เขาได้รับรางวัล Varsity Letters จากความสามารถในการวิ่งในปี 1957 ,1958 และ 1959

ค้นพบความชอบของตัวเอง ตอบคำถามที่ค้างคาใจ

หลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ฟิลถูกเกณฑ์ทหารเป็นเวลา 1 ปี ภายหลังจากปลดประจำการเขาได้ศึกษาต่อที่ Stanford Graduate School of Business และที่นี่เองที่ทำให้เขาค้นพบตัวเองว่า “เขาสนใจอยากเป็นนักธุรกิจและทำอยากธุรกิจ” นอกเหนือจากความสนใจในด้านกีฬา

ในคลาสเรียน ฟิลวางแผนธุรกิจของเขาลงในกระดาษโดยดึงเอาความสนใจด้านกีฬาของเขามาใช้เป็นต้นว่า “รองเท้ากีฬาของญี่ปุ่นทำอะไรรองเท้าจากเยอรมันได้บ้าง” เขาจบปริญญาโทบริหารธุรกิจในปี 1962 

จากคนชอบวิ่งสู่การค้นพบ “รองเท้าวิ่ง” จุดเริ่มต้นของธุรกิจ

ภายหลังเรียนจบ เขาออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อค้นหาเป้าหมายของตนเองในเดือนพฤศจิกายน 1962 ระหว่างที่เขาอยู่ที่ญี่ปุ่นเขาพบรองเท้าวิ่งรุ่น tiger ที่ผลิตโดย บริษัท Onitsuka ฟิลประทับใจในคุณภาพและต้นทุนที่ต่ำนี้ เขาจึงขอเข้าพบและเจรจากับคุณ Onitsuka ท้ายที่สุดฟิลได้รับสิทธิ์ในการขายรองเท้า Onitsuka tiger ที่ตะวันตกของอเมริกา

ระหว่างที่รอตัวอย่างของรองเท้าต้นแบบ ฟิลเข้าทำงานเป็นนักบัญชีที่บริษัท Coopers & Lybrand (Price Waterhouse ในปัจจุบัน) 

เปิดบริษัทแรก Blue Ribbon Sports ต้นกำเนิดของไนกี้

1ปี ให้หลังจาการเจรจากับนาย Onitsuka รองเท้าต้นแบบ 2 คู่แรกก็มาถึง ฟิล ส่งรองเท้าทั้ง 2 คู่ ให้กับ Bowerman โค้ชสมัยมหาวิทยาลัยของเขา เพื่อหวังให้เขาช่วยรับรองและสั่งซื้อสินค้า

แต่กลายเป็นว่า Bowerman ไม่เพียงสนใจสั่งรองเท้า เขายังเสนอตัวเป็นพันธมิตรธุรกิจกับฟิล และช่วยออกแบบรองเท้ารุ่นใหม่ ๆ ให้ Phil และ Bowerman จึงร่วมกันก่อตั้ง บริษัท Blue Ribbon Sport ในวันที่ 25 มกราคม 1964 เป็นต้นกำเนิดของแบรนด์ไนกี้ในปัจจุบัน

แรกเริ่มการขาย ฟิล ไนท์ และ บิล โบเวอร์แมน จะเอารองเท้าใส่ในท้ายรถยนต์แล้วเอาไปตระเวนขายตามงานวิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีผู้ให้การตอบรับรองเท้าของพวกเขาเป็นอย่างดี อันเนื่องมาจากราคาที่ถูกและคุณภาพที่ดีนั่นเอง

สู่การเป็น “แบรนด์ไนกี้” ผู้นำรองเท้ากีฬาของโลก

ในปี 1969 เมื่อ “รองเท้ากีฬา” ทำกำไรให้กับฟิลมากพอ ฟิลตัดสินใจที่จะลาออกจากการเป็นพนักงานบัญชีหันมาทำธุรกิจของเขาอย่างเต็มตัว กระทั่งในปี 1971 ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เมื่อบริษัทมีปัญหากับบริษัท Onitsuka และยกเลิกการนำรองเท้าเข้ามาขาย ประกอบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ฟิล ไนท์ และ บิล โบเวอร์แมน ได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้ในเรื่องของรองเท้ากีฬามากพอ ทั้งคู่จึงตัดสินใจที่จะผลิตรองเท้าออกมาเองและเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น “ไนกี้” โดยมีโลโก้ดังที่เห็นในปัจจุบันจากฝีมือการออกแบบของ Carolyn Davidson ซึ่งมีราคาค่าลิขสิทธิ์เพียง 35 เหรียญ เท่านั้น

ฟิล ไนท์ กล่าวถึงโลโก้นี้ว่า “ผมไม่ชอบมัน แต่มันก็เติบโตไปพร้อมกับผม”

พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์และยอดเยี่ยมอยู่เสมอ

รองเท้าคู่แรกภายใต้แบรนด์ไนกี้ ถูกผลิตและวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1972 ปรากฎว่าได้รับความนิยมล้นหลามตลอดทศวรรษ เคล็ดลับสำคัญประการหนึ่งคือ ความมุ่งมั่นในการพัฒนาสินค้าเพราะตลอด 10 ปี แรก ไนกี้ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยสินค้ามากที่สุด 

สู่การเป็น Brand Sport Fashion

ในช่วงทศวรรษ 1980 ความนิยมในสินค้าไนกี้มีมากขึ้น โดยวัยรุ่นนิยมใส่รองเท้าไนกี้ออกมาเดินตามท้องถนน นอกจากการเล่นกีฬา ไนกี้รุกการโฆษณาด้วยการเซ็นสัญญากับนักกีฬาดังให้มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแบรนด์อาทิ ไมเคิล จอร์แดน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก จึงเป็นต้นแบบเซ็นสัญญากับนักกีฬาอาชีพคนอื่น ๆ ความนิยมในสินค้าไนกี้มีมากขึ้นจนภายหลังได้แตกไลน์ธุรกิจไปสู่สินค้าอื่นภายใต้คอนเซป “แบรนด์ สปอร์ต แฟชั่น”

แคมเปญ Just Do It ที่ติดหู ติดปาก หลายคนมาจนปัจจุบัน

เป็นแคมเปญโฆษณาของไนกี้ เกิดขึ้นในปี 1988 เมื่อไนกี้ประสบปัญหาแข่งขันกับคู่แข่ง จึงสร้างแคมเปญโฆษณานี้ขึ้นมา กลายเป็นว่าเมื่อโฆษณาถูกแพร่ภาพออกอากาศ กระแสของแคมเปญดีมากและกลายเป็นที่กล่าวถึงวลี “Just Do It” หรือแปลว่า “จงออกไปทำซะ” และกลายมาเป็นคำขวัญของไนกี้ในปัจจุบัน

ลดบทบาทตัวเอง

ในปี 2004 ฟิล ไนท์ ลงจากตำแหน่ง CEO ของไนกี้ ภายหลังการเสียชีวิตของบุตรชาย ภายหลังในปี 2016 ก็ยุติบทบาททั้งหมดกับไนกี้ เพื่อมาใช้ชีวิตบั้นปลายกับภรรยา

เคล็ดลับความสำเร็จของ Phil Knight : SMEs ควรเรียนรู้

1. ค้นหาความชอบของตัวเองให้พบ

ไม่มีใครค้นพบตัวเอง ถ้าไม่ค้นหามัน คนที่ประสบความสำเร็จล้วนมีแนวทางเช่นนี้ ค้นพบแล้วก็ลุยให้เต็มที่ ความสำเร็จรอคุณอยู่ แต่ก่อนที่คุณจะหาตัวเองเจอสิ่งที่คุณต้องทำคือเรียนรู้ให้กว้าง แล้ววันหนึ่งคุณจะเจอทางที่มันใช่สำหรับคุณดังเช่นที่ ฟิล ไนท์ ค้นพบตัวเอง

2. กล้าที่จะหาความแปลกใหม่

หลาย ๆ ครั้งที่เราเห็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก็เพราะความคิดนอกกรอบที่อยากจะฉีกแนวทางเดิม ๆ สินค้าหลาย ๆ ประเภทในตลาดที่เราคิดว่ามันดีอยู่แล้ว แต่เชื่อเถิดว่าย่อมต้องมีสิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอ อย่ายึดติดเรื่องเดิม ๆ จนเรากลมกลืนไปกับมัน ใครที่กล้าลุกขึ้นมายืนนอกกรอบ คนนั้นคือ “ผู้ประสบความสำเร็จ”

3. อย่าหยุดอยู่กับที่

ในโลกที่นวัตกรรมก้าวหน้าอยู่เสมอ เทรนด์ความนิยมก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ผู้ใดอยู่นิ่ง ผู้นั้นก็เตรียมตกรุ่นและเตรียมพับเสื่อรอเจ๊งได้เลย หลากหลายธุรกิจหากคุณไปศึกษาให้ดี เขาเหล่านั้นลงทุนในเรื่องการพัฒนาสินค้ามากพอ ๆ กับการลงทุนความรู้ หากคุณคือผู้ประกอบการที่พร้อมจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ คุณก็นอนรอรับเงินได้เลย

4. Just Do It

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าจะอะไรก็ตาม “จงลงมือทำ” เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าวาดทุกอย่างแล้วให้มันเสร็จในกระดาษ มันคงเป็นเพียงวิมานกลางอากาศที่คุณเพียงแต่วาดฝันมันเท่านั้น ลุกขึ้นมารทำสิ่งที่ฝันให้เป็นจริงอย่ากลัวที่จะเริ่ม แต่ให้กลัวที่จะไม่ทำ ค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ไม่ว่าคุณจะทำอย่างช้า ๆ แต่โอกาสแห่งความสำเร็จก็ยังเปิดกว้างสำหรับคุณ

Phil Knight จากนักบัญชีสู่เจ้าพ่อ Sport Fashion แบรนด์ดังระดับโลก จากความรักในกีฬาสู่ความกล้าที่จะหาสิ่งที่ต่างจากเดิม จึงเป็นต้นกำเนิดของไนกี้ ด้วยสโลแกน “Just Do It” นี้ ไม่ใช่เพียงแค่แคมเปญที่ช่วยให้ไนกี้กลับมาเป็นเจ้าตลาด แต่

“Just Do It” คือภาพสะท้อนตัวตนของ Phil Knight ได้เป็นอย่างดีว่าหากวันนั้น Phil Knight ไม่ลงมือทำ ก็คงไม่มีแบรนด์ไนกี้ในวันนี้

สั่งซื้อหนังสือออนไลน์ Shoe Dog ฟิลไนต์
SHOE DOG ฟิล ไนต์