ทุกวันนี้เราทิ้ง “เงิน” ใส่ถังขยะทุกวัน แต่มีอีกหลายคนที่สร้าง “รายได้” จากขยะที่เราทิ้งไป

ธุรกิจรับซื้อขยะ  เป็นอีก 1 ธุรกิจที่สร้าง “เงิน” จากสิ่งของที่ “ไร้ค่า” เป็นธุรกิจที่น่าสนใจทีเดียว

รับซื้อของเก่า เป็นธุรกิจที่รับซื้อสิ่งของทุกอย่างที่ไม่ใช้แล้ว อาจเป็นของชำรุด ขยะ หรือของที่ไร้ประโยชน์ จากนั้นผู้ค้าของเก่าก็จะนำไปคัดแยกประเภทให้เป็นหมวดหมู่ จากนั้นก็จัดการส่งต่อไปยังผู้รับซื้อรายใหญ่หรือโรงงานที่รับซื้อวัสดุนั้นๆเพื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการรีไซเคิล

ซึ่งนับว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่นอกจากเป็นการทำธุรกิจที่สร้างรายได้แล้วยังเป็นธุรกิจที่ช่วยแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ได้อีกด้วย

ผู้ที่ทำอาชีพค้าของเก่าเป็นอาชีพหลักส่วนใหญ่แล้วจะมี 2 แบบ คือ

  • กลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ตระเวนเก็บขยะตามถังขยะริมถนน หรือถังขยะตามแหล่งชุมชนและบ้านจัดสรร ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไม่ต้องลงทุนเป็นตัวเงินหรือเรียกว่ากลุ่มต้นทุนมือเปล่า แต่จะใช้แรงกายในการคุ้ยเขี่ยหาขยะ เป็นหลัก
  • ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มที่ใช้รถตระเวนรับซื้อขยะ สิ่งของเหลือใช้จากบ้านเรือน ร้านค้า และสำนักงานทั่วๆไป คนกลุ่มนี้ อาจต้องใช้เงินทุนบ้างแต่ไม่มากนัก ในการรับซื้อขยะจากที่ต่างๆ รายได้เกิดมาจากส่วนต่างของราคาขยะที่รับซื้อมาซึ่งเป็นสินค้า

ถ้าจะมองให้ดีคนทั้งสองกลุ่มใหญ่นี้ก็ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางนั่นเอง   คนทั้ง 2 กลุ่มจะทำหน้าที่รวบรวมขยะสิ่งของเหลือใช้ จากที่ต่างๆ มาแยกประเภท และนำไปขายต่อให้กับผู้รับซื้อรายใหญ่ต่อไป

Junk2

คนที่ประกอบอาชีพค้าของเก่าเป็นอาชีพหลัก จะมองเห็นศักยภาพ ของอาชีพนี้ ว่ามันสามารถทำเงินเพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัวได้อย่างสบาย  อาศัยความขยัน และประหยัด ก็มีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัวได้เหมือนกับอาชีพอื่นๆ แม้กระทั่งคนกินเงินเดือน  อาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำไป

เพราะช่องทางและโอกาสที่เราจะมีรายได้เพิ่ม มันมีมากมายหลายช่องทาง ขึ้นอยู่กับกำลังและแรงกายของเรา  ที่มองเห็นชัดที่สุดเลย คือ ขยะมีอยู่ทุกที่ มีเงินตกอยู่ทุกที่ อยู่ที่ว่าใครจะเก็บหรือไม่เก็บ ไม่ว่าในบ้านหรือนอกบ้าน มันอยู่ที่ว่า เราจะมีแนวคิดอย่างไรที่จะนำเอาขยะพวกนั้นมาบริหารจัดการให้เกิดเป็นรายได้ขึ้นมา

มุมมองใหม่ๆ ที่ผู้ค้าของเก่าที่ทำจนเป็นอาชีพหลักกำลังให้ความสนใจคือ  รูปแบบของสินค้าในท้องตลาดที่สามารถทำเงินได้มากยิ่งขึ้นกว่าสินค้าที่ซื้อขายกันทั่วไป  แต่ถ้ามองกันให้ดีๆ ของเสียของชำรุด หรือของเหลือใช้ที่มาจากบ้านเรือน ห้างร้าน สำนักงานทั่วไป ก็สามารถเปลี่ยนเป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ค้าของเก่าได้ไม่ยาก

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การชำแหละอุปกรณ์ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์เก่า เครื่องปรับอากาศเก่า  ที่ชำรุด เสียหาย หรือเป็นขยะที่ไม่มีสถานที่รับทิ้งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว  เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในเรื่องการจัดการกับขยะพวกนี้  อีกทั้งยังกลัวว่าจะกลายเป็นขยะอันตราย ทำให้เกิดสารพิษกับสิ่งแวดล้อมได้  จึงมักจะกลายเป็นว่า สินค้าดังกล่าวถูกนำมาวางทิ้งอยู่นอกบ้าน

แต่ถ้าในมุมของผู้ค้าของเก่า สำหรับในคอมพิวเตอร์ที่กลายเป็นขยะอิเล็คทรอนิคจำนวนมากในยุคนี้  นอกจากเราจะได้เศษวัสดุประเภทโลหะและพลาสติกทั่วไปแล้ว ในตัวแผงวงจรจะมีทองคำแท้เป็นส่วนประกอบอยู่ มีผู้ค้าของเก่าที่รู้เรื่องนี้เพียงไม่กี่คน ในช่วงแรก แยกเอาทองคำมันออกมารวบรวมเอาไว้ แล้วนำไปขายต่อ เป็นเรื่องเป็นราวสร้างรายได้อย่างงามให้กับตัวเองมาแล้ว   แต่ก็ต้องอาศัยความชำนาญในการทำ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ไม่รู้จบ นับเป็นช่องทางที่เพิ่มรายได้ให้กับคนค้าของเก่าที่สนใจวิวัฒนาการใหม่ๆที่เกิดกับสินค้าที่กลายเป็นขยะรูปแบบใหม่ตามโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้อย่างดี

หรืออย่างกรณี การรับซื้อ โครงคอมพิวเตอร์มาในราคาถูก ๆ จากนั้นก็นำมาแยกส่วนที่ใช้งานได้ เช่นพัดลมระบายอากาศ แรม หรือ อะไหล่อื่น ๆที่ยังใช้งานได้

ในมุมมองนี้ ก็มีผู้ค้าของเก่าหลาย ๆรายดัดแปลงนำไปใช้ หรือบางท่าน ค้าของเก่าจำพวกพลาสติก จนวันหนึ่งผันตัวเองไปเป็นเจ้าของโรงงานทำถุงพลาสติกจาก พลาสติกรีไซเคิลก็มี

แม้ในปัจจุบันนี้ อาชีพคนค้าของเก่าจะมีมากจนแทบเรียกได้ว่า มีขาประจำทุกซอย  แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาหลักของคนที่ทำอาชีพค้าของเก่าแต่อย่างใด  เพราะตราบใดที่จำนวนมนุษย์ยังคงเพิ่มขึ้น  ขยะจากบ้านเรือนจะไม่มีวันลดลงอย่างเด็ดขาด  ยิ่งเทคโนโลยีสูงขึ้นเท่าไหร่ ขยะก็จะยิ่งมากตาม

อีกทั้งยังสามารถเกิดสินค้าตัวใหม่ๆขึ้นมาได้อีกหลายอย่าง เพราะเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับการรีไซเคิล มักจะพัฒนาเพื่อให้การรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถทดแทนสินค้าบางกลุ่มได้เกือบ 100 % เช่นกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจพลาสติก ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

ฉะนั้นคำยืนยันจากผู้ค้าของเก่าตัวจริง  แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาชีพนี้ ไม่มีทางตัน เรามีขยะที่ทิ้งกันทุกวันคนละประมาณ เกือบ ๆ สองกิโลต่อคน อาชีพค้าของเก่าจึงทำได้ตลอดชั่วชีวิตตราบเท่าที่คนยังซื้อสินค้าใช้กันอยู่ และจะสร้างรายได้อย่างเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายที่พอดี ไม่ฟุ้งเฟ้อสำหรับผู้ค้าของเก่า  หรืออาจจะก่อให้เกิดรายได้สูงขึ้นตามมา

ถ้าเราจับสินค้าตัวใดได้จริงๆ หรือเจอกับผู้รับซื้อที่เป็นตัวจริง ของสินค้านั้น รับรองได้ว่าอยู่สบาย  รายได้งาม  ปัญหาที่เจอก็มีอยู่เรื่องเดียวคือ ผู้รับซื้อรายใหญ่ทั่วไปมักกดราคา ฉะนั้นหากพื้นที่ใกล้ๆมีโรงงานหลอม หรือโรงงานแปรรูปขยะรีไซเคิล ชีวิตความเป็นอยู่ของคนค้าของเก่าจะดีขึ้นแบบพลิกชีวิตเลยก็ว่าได้

สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำหน้าที่ “รับซื้อขยะ” ลองจัดแบ่งแยกขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ส่วนนี้ทิ้งไปได้เลย แต่ขยะกลุ่มที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เช่น กระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว ฯ พวกนี้เก็บไว้แล้วนำไปขาย สร้างรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มันก็ดีกว่าเราทิ้งมันไปเสียเฉย ๆ เผลอ ๆ อาจจะได้มากกว่า “ดอกเบี้ย” ฝากธนาคาร