อุตสาหกรรมสิ่งทออย่างการแปรรูปผ้าพื้นเมืองซึ่งมีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ นอกจากเป็นการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านหัตถกรรมแล้ว ยังเป็นการต่อยอดภาคเกษตรอีกทางหนึ่งเช่นกัน จากเส้นใยธรรมชาติถูกนำมาถักทอให้เป็นผืนผ้าที่สะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรมและอารยธรรม จากงานหัตถกรรมพื้นบ้านสู่งานผ้าแฟชั่นทันสมัยที่ส่งออกไปต่างประเทศ หนึ่งในความภาคภูมิใจของแขกรับเชิญที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์ ทำแบรนด์ผ้าพื้นเมืองอย่างไรให้แตกต่างและสร้างรายได้ คุณ วัชราภรณ์ ปุณณบุตร วิสาหกิจชุมชนแปรรูปผ้า และโรงงานผลิตเสื้อผ้า จ.หนองบัวลำภู

เกษตรต่อยอด สร้างโรงงานผลิตเสื้อผ้ากับการสืบสานผ้าฝ้ายทอมือ

คุณวัชราภรณ์ ทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจเสื้อผ้ากว่า 30 ปี หลังจากเรียนจบทางด้านเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ได้ทำงานเป็น Pattern designer ออกแบบเสื้อผ้าให้กับนางแบบ-นายแบบของนิตยสารวัยน่ารัก ต่อมาอีก 10 ปีได้เปิดโรงงานผลิตเสื้อผ้าแถวบางนา รับผลิตเสื้อยืด เสื้อโปโล ชุดยูนิฟอร์ม เสื้อปักลายสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไทย ดำเนินกิจการกว่า 20 ปี ส่งออกเสื้อผ้าไทยประยุกต์ไปยังญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส จากนั้นตัดสินใจย้ายมาเปิดโรงงานผลิตเสื้อผ้า หจก. ปทุมมาศ 2015 จ.หนองบัวลำภู ด้วยเหตุผลที่ว่าลูกหลานชาวหนองบัวลำภูไม่ต้องทำงานไกลบ้านอยู่ห่างไกลครอบครัว มีหลายครอบครัวที่สมาชิกในบ้านต้องไปหางานทำที่กรุงเทพ นอกจากเสื้อผ้าที่ทำอยู่แล้วได้มีการผลิตผ้าฝ้ายเพิ่มเติม

เนื่องจากคุณวัชราภรณ์มีตำแหน่งเป็นรองประธานหอการค้า จ.หนองบัวลำภู จึงมีโอกาสคลุกคลีกับชาวบ้านที่ทอผ้าฝ้าย ในช่วงแรกซื้อผ้าฝ้ายมาออกแบบตัดเย็บใส่เอง จนลูกค้าและเพื่อนได้เห็นต่างก็ชื่นชม จึงเปิดรับออเดอร์ตั้งแต่นั้นมา กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผ้าฝ้าย คือ หน่วยงานราชการ เนื่องจากภาครัฐมีการรณรงค์ให้ข้าราชการใส่ชุดไทยไปทำงานสัปดาห์ละ 2 วัน มีบางท่านที่ใส่ทำงานแทบทุกวัน ซึ่งการดีไซน์เสื้อผ้าของหน่วยงานราชการต้องสุภาพเรียบร้อย ไม่สั้นหรือยาวจนเกินไป

คุณวัชราภรณ์ได้ตั้งโจทย์เพิ่มเติมว่า จะทำอย่างไรให้ชุดดูแตกต่าง ดูเรียบเก๋ สำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ใช่ข้าราชการ ดีไซน์เสื้อผ้าจะเน้นที่การใช้งานในชีวิตประจำวัน ใส่แล้วดูดี ไม่เชย ไม่ดูเป็นทางการจนเกินไป จับมามิกซ์แอนด์แมทซ์กับเสื้อผ้าอื่นๆ ได้ เนื่องจากผ้าฝ้ายหนองบัวลำภูที่ใช้ตัดเย็บมีลวดลายที่งดงามอยู่แล้ว จึงอยากที่จะโชว์ลายผ้าให้โดดเด่น คุณวัชราภรณ์เข้าใจดีว่ากว่าจะได้ผ้าฝ้ายทอมือแต่ละเมตรใช้เวลาเป็นวัน จึงอยากจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าฝ้ายด้วยการติดต่อขอซื้อจากชาวบ้านโดยตรงแล้วนำมาดีไซน์ในแบบที่ต้องการ

อีกหนึ่งบทบาทของคุณวัชราภรณ์ คือ วิทยากรสอนด้านการดีไซน์แก่ชาวบ้าน ด้วยความที่ลวดลายของผ้าสวยอยู่แล้ว และชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีจักรเย็บผ้า จึงไม่เน้นรูปแบบการตัดเย็บที่ต้องใช้เทคนิคอะไรมากมาย งานส่วนใหญ่จึงเป็นงานแฮนเมด เช่น ผ้าถุงป้ายที่โชว์ลายผ้าให้เห็นทั้งผืน เสื้อคอจีน กระเป๋าสานจากวัตถุธรรมชาติ กระเป๋าผ้า หมวก และตุ๊กตา สินค้าจากผ้าฝ้ายจึงไม่ได้ยึดติดอยู่แค่เสื้อผ้าเพียงอย่างเดียว

เกษตรต่อยอดพัฒนาผ้าฝ้า ฝ้าไหมส่งออกสินค้าผ้าพื้นเมืองไทยไปต่างประเทศ

ในส่วนของตลาดต่างประเทศ คุณวัชราภรณ์ เล่าว่า ลูกค้าต่างชาติมีความชื่นชอบผ้าพื้นเมืองมาก เพราะถือว่าเป็นสินค้าที่ล้ำค่า มีคุณค่ามาก อย่างลูกค้าชาวออสเตรเลียและฝรั่งเศสจะชื่นชอบผ้าฝ้าย ผ้าไหมของไทย ลูกค้าชาวญี่ปุ่นชื่นชอบกระเป๋าสานที่ทำจากต้นคล้า จากไม้ไผ่  คุณวัชราภรณ์จะนำกระเป๋าสานมาประยุกต์โดยการนำผ้าฝ้ายมาบุด้านในและตกแต่งเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้า จากราคาขายหลักร้อยกลายเป็นหลักพัน

คุณวัชราภรณ์ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากทาง สํานักงานพาณิชย์จังหวัดหนองบัวลําภู มีเจ้าหน้าที่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการที่มีความต้องการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ส่งออกสินค้าไปยังประเทศไหน? ส่งออกอย่างไร? ผู้ประกอบการสามารถติดต่อสอบถามไปยังสํานักงานพาณิชย์จังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่ ปรึกษาฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับสินค้าผ้าไทย กลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ ประเทศกัมพูชา (Cambodia) สปป.ลาว (Lao PDR) เมียนมา (Myanmar) และเวียดนาม (Vietnam) เป็นอีกโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย หากมีความต้องการส่งออกสินค้าผ้าพื้นเมืองไปต่างประเทศ ต้องศึกษาวัฒนธรรมของประเทศที่เป็นกลุ่มเป้าหมายว่า ต้องการสินค้าแบบไหน? ชื่นชอบผ้าชนิดใด?

อย่างญี่ปุ่นมีความต้องการผ้าฝ้าย 100% Cotton สีแนวเอิร์ธโทน ผ้าย้อมจากสีธรรมชาติ เน้นการตัดเย็บฝีมือประณีต ส่วนออสเตรเลียต้องการความเป็นแฟชั่นทันสมัยที่ผสานความเป็นไทย

ผ้าพื้นเมืองไทยปรับตัวให้อยู่รอดในวิกฤตโควิด-19

สินค้าเกี่ยวกับผ้าพื้นเมืองส่วนใหญ่มักจะนิยมออกบูธตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ช่วงวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ต้องงดจัดงานกิจกรรม แน่นอนว่าผู้ประกอบการย่อมได้รับผลกระทบเต็มๆ ในส่วนของโรงงานผลิตเสื้อผ้าของคุณวัชราภรณ์ มีกลุ่มลูกค้าเป็นแม่ค้าพ่อค้าที่ขายเสื้อผ้าออนไลน์ บางคนซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปในราคาส่งแล้วนำไปขายต่อ บางคนอยากสั่งผลิตเป็นแบรนด์ของตัวเอง ทางโรงงานจะทำแพทเทิร์นตามที่ลูกค้าต้องการแล้วผลิตตามจำนวนออเดอร์ที่ตกลง นอกจากเสื้อผ้าแล้วยังรับผลิตสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวกับผ้าอีกด้วย คุณวัชราภรณ์ แนะนำว่าในช่วงนี้ควรทำตามออเดอร์ ไม่ต้องสต็อกผ้าเกินจำเป็น รอให้มีออเดอร์เข้ามาก่อนจึงค่อยซื้อผ้ามาผลิต

สำหรับผ้าไทยนั้นคุณวัชราภรณ์ให้ความเห็นว่า กลุ่มลูกค้าหลักที่เป็นข้าราชการยังพอมีกำลังซื้อ แต่ลูกค้าในสายอาชีพอื่นนั้นมีกำลังซื้อลดลง อย่างที่หลายท่านทราบกันว่าผ้าพื้นเมืองมีราคาค่อนข้างสูง เนื่องจากการผลิตเป็นรูปแบบโรงงาน จึงตัดเย็บได้ในปริมาณมากทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ถูกกว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการที่ไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง สามารถที่จะปรับในเรื่องของราคาขายให้ถูกลงได้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในสถานการณ์ช่วงนี้ มีทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ สร้างเพจเพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อและสั่งซื้อสินค้า รวมถึงการนำเสนอผ้าไทยบนโลกออนไลน์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

เกษตรต่อยอด

ความคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ ประสบการณ์ และการตลาด สามารถเปลี่ยนจากผืนผ้าทอมือให้กลายเป็นงานแฟชั่นที่ทันสมัย โดยที่ยังคงรักษาความงดงามของลายผ้าเอาไว้ได้ สินค้าจากผ้าทอพื้นบ้านไม่เพียงเป็นการสืบสานมรดกอันล้ำค่าเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้ที่ดีขึ้น ส่งเสริมภาคการเกษตรให้มีการเติบโตต่อเนื่องอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนอีกด้วย