พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เคยเสด็จพระราชดำเนินประพาสไปยังประเทศเดนมาร์ก และทรง    ศึกษาการทำฟาร์มโคนมเพื่อเตรียมสร้างอาชีพใหม่ให้แก่เกษตรกรไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พื้นที่ในพระตำหนักสวนจิตรลดาเพื่อเลี้ยงโคนมพันธุ์บราวน์สวิส ,โคพันธุ์เรดเดน, และพันธุ์ลูกผสมเรดซินดี้ ที่มีผู้น้อมเกล้าฯ สำหรับศึกษา ทดลอง วิจัย และพัฒนาและหาแนวทางในการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ตามแบบฉบับเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  140,000 บาท เป็นทุนในการก่อสร้าง“โรงนมผงสวนดุสิต” ซึ่งเป็นโรงนมผงแห่งแรกของประเทศไทย

my-love-king7

ในปีพ.ศ. 2503 เกษตรกรโคนมในประเทศไทย กลับประสบปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาดส่งผลให้เกษตรกรต้องนำน้ำนมดิบในปริมาณมากไปเททิ้งอย่างน่าเสียดาย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเกษตรกรขาดความรู้และความเข้าใจที่จะควบคุมคุณภาพและไม่ทราบถึงวิธีการเก็บรักษาน้ำนมดิบ  พระองค์จึงมีพระราชดำริทำการศึกษาค้นคว้าในการแปรรูปน้ำนมดิบให้เป็นนมผงเพื่อเก็บรักษาไว้ได้นาน  นอกนี้ยังทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ช่วยเหลือเกษตรกร ด้วยการเปิดรับซื้อนมสดเหล่านั้น แล้ว นำมาผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์  โดยจัดจำหน่ายในราคาย่อมเยา เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้ดื่มนมที่มีประโยชน์    ในปี  2527 เริ่มมีการผลิตนมอัดเม็ดซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์นมผง ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนชาวไทย จากการแปรรูปจากผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่ ทำให้นมอัดเม็ดจิตรลดา กลายเป็น สินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญมาจนทุกวันนี้

 

เดินตามรอยเท้าพ่อ : 15 แนวคิดที่ได้จากโครงการส่วนพระองค์ โรงนมจิตรลดา สู่นมอัดเม็ด

my-love-king1

1.ใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนานวัตกรรม

ไม่ว่าจะทำการเกษตร หรือ ธุรกิจ อุตสาหกรรม ควรใช้ความคิด และจะต้องมีการสร้างสรรค์ในการพัฒนาพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นการต่อยอดของการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์ สำหรับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง มองอนาคตเพื่อการป้องกันวิกฤตการณ์ที่ไม่คาดหมายในอนาคต

 

2.ใช้วัตถุดิบที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อน

การต่อยอดน้ำนมที่ล้นตลาดนั้น เป็นแบบอย่างของการ “หยิบใช้” วัตถุดิบที่เรามี มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การใช้วัตถุดิบนำเข้า หรือ ต่างท้องถิ่นเป็นการเพิ่มต้นทุน เราควรมองหาสิ่งใกล้ตัวมาพัฒนาเป็นสินค้าเป็นธุรกิจก่อน

 

3.คิดให้เป็นระบบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานความช่วยเหลือ ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม โดยพระองค์ทรงก่อตั้งโรงงานนมผงสวนดุสิตขนาดย่อมที่ได้มาตรฐานขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหานมสดล้นตลาด ด้วยการแปรรูปน้ำนมดิบให้เป็นนมผงคุณภาพดี เพื่อให้เก็บไว้ได้นานขึ้น  นี่เป็นแบบอย่างของการ “คิดเป็นระบบ” คือ ไม่ใช่ว่าแก้ปัญหาหนึ่งแล้วยังมีปัญหาอื่นโผ่ขึ้นมาอีก พระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการ “คิดเป็นระบบ” แก้ปัญหาให้จบแบบ เบ็ดเสร็จ

 

4.มีแผนสองรองรับแผนแรกหากล้มเหลว

my-love-king3

ทางโครง การส่วนพระองค์ฯ  ได้แปรรูปนมผงให้เป็นทอฟฟี่รสนมแต่กลับไม่เป็นที่นิยม  ต่อมามีการพัฒนาต่อยอดเพื่อปรับ เปลี่ยนวิธีการ โดยนำนมผงมาตอกเม็ดให้กลายเป็น “นมอัดเม็ด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก  เป็นแบบอย่างให้เห็นถึง ความมุมานะและการที่เราต้องมี “แผนสำรอง” ให้กับชีวิต และธุรกิจที่เราทำ หากแผนหนึ่งไม่สำเร็จ ก็อย่าเพิ่งย่อท้อ ให้นำแผนสองแผนสามมาดำเนินการทันที

 

5.คำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก พัฒนานมอัดเม็ดให้ใหญ่กว่าเม็ด”ยา”  

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาผลิตนมอัดเม็ดเพราะเล็งเห็นว่าสามารถเก็บรักษาได้ง่ายและมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงกว่าขนมหวานชนิดอื่น จึงได้มีการปรับเปลี่ยนขนาดของนมอัดเม็ดให้มีความทันสมัยด้วยการปรับขนาดให้มีเม็ดกลมๆ ขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้เด็กคิดว่า นมอัดเม็ดคือยา และนำน้ำตาลมาเป็นส่วนผสม นี่คือแบบอย่างของการคำนึงถึงผู้บริโภค หรือ ลูกค้าเป็นหลัก ไม่เพียงแค่คุณค่าของโภชนาการที่ได้ แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการบริโภค อุปโภคด้วย ดังเห็นได้จากการทำ นมอัดเม็ด ให้มีขนาดแตกต่างจากเม็ดยา

 

6.พัฒนาต้นแบบ ก่อนที่จะลงทุนขนาดใหญ่มากขึ้น

โรงนม สู่ นมอัดเม็ด เป็นต้นแบบของธุรกิจ เป็นแบบอย่างให้เราเห็นถึงการที่จะทำธุรกิจนั้น ก่อนที่ลงทุนขนาดใหญ่ สิ่งที่เราควรทำคือ Prove Of Concept เสียก่อนว่าสิ่งที่คิดนั้นมันเป็นไปได้จริง ๆ เริ่มจากจุดเล็กๆ ทำต้นแบบสินค้า ต้นแบบธุรกิจ ลองขายให้ได้ เมื่อขายดีขึ้นค่อยลงทุนต่อยอด

 

7.เมื่อได้ต้นแบบแล้วให้ขยายแนวคิด สู่การส่งเสริมและผลักดันกิจการโคนมไทย

เมื่อโครงการโรงนม พัฒนานมอัดเม็ดสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งเสริมและผลักดันกิจการโคนมไทยให้เติบโตและทำการต่อยอดให้กลายเป็นนมอัดเม็ดยอดนิยม จนพวกเราเรียกพระราชสมัญญาของพระองค์  ว่าทรงเป็นพระ”บิดาแห่งการโคนมไทย”  เดินตามรอยเท้าพ่อ เมื่อสร้างต้นแบบแล้ว ก็ควรนำแบบอย่างนั้นไปบอกต่อ หรือ พัฒนาต่อให้กับธุรกิจ มีตัวอย่างงานวิจัยในมหาวิทยาลัยอีกมากมายที่ได้รับการวิจัยและพัฒนาในรั้วมหาวิทยาลัยอีกมากมายที่ยังรอการนำมาพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจ หรือ ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้านอีกมากที่รอให้พวกเราไปช่วยพัฒนาให้เกิดคุณค่าเป็นธุรกิจเพื่อหล่อเลี้ยงสังคมทั้งในเมืองและชนบท ดั่งที่พ่อหลวงทรงทำให้ดูเป็นแบบอย่าง

 

8.พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

ถึงแม้จะเกิดภาวะนมล้นตลาดขึ้น แต่คนไทยก็ยังโชคดีที่ได้พระอัจฉริยะภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงคิดและทำเพื่อคนไทย โดยพระองค์ทรงพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสนำมาสู่การสร้างรายได้ให้กับคนไทย  ทำให้นมอัดเม็ดจิตรลดาเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สำคัญ  สิ่งที่เราควรน้อมนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตคือการ “จดจ่อที่โอกาส” หาใช่การ “จมดิ่งกับวิกฤต” ดั่งที่พระองค์ทรงทำให้เห็นเป็นแบบอย่างให้เราได้เดินตาม

 

9.สร้างโรงนมผงสวนดุสิต เพื่อศึกษาค้นคว้า   

my-love-king5

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงสร้าง “โรงนมผงสวนดุสิต” โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนิน การเพื่อศึกษาค้นคว้า และเป็นโรงงานตัวอย่าง สำหรับผู้สนใจให้มาศึกษาถึงวิธีการผลิตนมอัดเม็ด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ในการผลิตที่ไม่สูงมากจนเกินไป ทำให้สามารถนำไปใช้กับกิจการของตัวเองได้ รอยเท้าที่พระองค์ทรงวางไว้ให้คือการทำอะไรต้อง “ศึกษา” สิ่งนั้นให้ถ่องแท้ และที่สำคัญคือต้อง “แบ่งปัน” ความรู้ที่มี ยิ่งเรามีความรู้ ความเสี่ยงก็จะลดลง ยิ่งเราแบ่งปันเราก็จะได้ความรู้ และ มิตรภาพเพิ่มขึ้น

 

10.ประโยชน์ที่ให้มากกว่านมอัดเม็ด   

นมเม็ดที่แตกและไม่เข้ารูป จะถูกนำไปผลิตเป็นนมอัดเม็ดสำหรับสัตว์เลี้ยง น้ำจากการระเหยระหว่างกระบวนการผลิตนมอัดเม็ด นำไปผลิตเป็นน้ำกลั่นสำหรับเติมแบตเตอรี่รถยนต์ และต่อยอดให้กลายมาเป็นน้ำดื่มต่อได้ ทำให้โรงงานนมอัด เม็ดจิตรลดามีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพสูงสุดทุกขั้นตอน แบบอย่างของการรู้ “คุณค่า” ของทุกสิ่ง และไม่ทิ้งของสิ่งนั้นให้สูญเปล่าไร้ประโยชน์ เราควรน้อมนำ การรู้จักใช้ รู้จักคุณค่าสิ่งของที่เรามี เงินทุกบาททุกสตางค์มีคุณค่า วัตถุดิบทุกอย่างมีประโยชน์อย่าทิ้งไปให้ไร้ประโยชน์ แต่ควรนำกลับมาใช้ให้เกิดคุณค่ามากที่สุดเท่าที่จะมากได้

 

11.ทุกขั้นตอนการผลิตเต็มไปด้วยความใส่ใจ

พนักงานจะได้รับการย้ำเตือนว่า สิ่งที่ทำอยู่คือหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์จะต้องทำอย่างละเอียดอ่อน และเต็มไปด้วยความใส่ใจ เพราะพระองค์ทรงมุ่งเน้นความสำคัญไปยังประชาชนที่จะได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นการสร้างอาชีพหรือรายได้ให้กับคนไทย ทั้งในโรงงาน รวมถึงผู้ที่นำไปจำหน่ายในร้านค้าอีกด้วย “ชีวิตคือการใส่ใจผู้อื่น” หากเราปรารถนาให้คนอื่นได้ดี ได้ทานสิ่งที่ดี ก็ควรผลิตสินค้านั้นให้เหมือนกับทำให้ตัวเองทาน พ่อแม่ ญาติพี่น้องได้ใช้ อย่าทำอะไรแบบมักง่าย นี่เป็นสิ่งที่เราควรตระหนักในการทำธุรกิจ

 

12.ไม่ค้ากำไรเกินควร ทำแค่พอเลี้ยงธุรกิจตัวเองได้

แนวพระราชดำริที่ได้วางไว้ของพระองค์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะพระองค์ท่านทรงต้องการให้เป็นเสมือนโครงการทดลอง หากเห็นผลก็ให้นำไปปฏิบัติและกลายเป็นโครงการตัวอย่าง โดยโครงการนี้ไม่ได้หวังผลกำไรมากมาย หากเพียงแต่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ที่สนใจศึกษาก็สามารถนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อประโยชน์และต้องการให้ประชาชนได้บริโภคของดีมีคุณภาพและราคาถูก ทรงเป็นแบบอย่างเรื่องของการ “ค้าขาย” ที่ไม่ค้ากำไรเกินควร ทำธุรกิจอย่างคิดแต่เพียงการ “เอาเปรียบ” ทำทุกอย่างเพื่อหวังผลกำไรมหาศาล แต่ควรมองว่า “ธุรกิจอยู่ได้” นั้นอยู่ที่การถ่อยทีถ่อยอาศัยระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค ขายพอได้ทุน และ กำไรกลับมาพัฒนาสินค้าไปทีละก้าว เมื่อคนซื้อเราก็อยู่ได้ แต่หากขายแพง โก่งราคา คงขายได้ไม่นาน อยู่ไม่รอด เพราะไม่มีใครเขาอยากใช้ อยากซื้อ

 

13.ช่วยคนอื่นก่อนให้เขาได้ยืนได้ แล้วเขาจะกลับมาช่วยเรา

post2

โครงการส่วนพระองค์ นมอัดเม็ด เป็นเพียงหนึ่งในหลายพันโครงการ ที่พระองค์พระราชทานให้แก่ประชาชนได้นำไปปฏิบัติตาม   ที่พระองค์มีพระราชประสงค์อยากจะช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ให้มีอาชีพ และมีความสุขอย่างพอเพียง การทำธุรกิจต้องเริ่มจากการหัวใจที่ต้อง “หยิบยื่น” และ “ช่วยเหลือ” ผู้อื่นก่อน ไม่ใช่มองแค่เรื่องเงินทอง ทรัพย์สิน หรือ ทุนนิยมเป็นหลัก แต่ควรเริ่มที่ “หัวใจ” ที่ปรารถนาให้คนอื่นได้ดี เมื่อคนอื่นมีความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ว่าจะเป็น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ซัพพลายเออร์ ทั้งหมดนี้ก็จะส่งผลให้เราได้ดีเช่นกัน ความดีมันเป็นเรื่องของ “โดมิโน่” และความดีนั้นควรเริ่มที่ “ตัวเรา” ไม่ใช่หวังพึ่งจากใคร

 

14.เมื่อ “เจตนาดี” สินค้าก็ออกมาดีมีคุณภาพ

การนำนมผงมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นมอัดเม็ด เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกร เป็นการส่งเสริมด้านโภชนาการ บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี และราคาไม่แพง เพราะเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร ที่หาได้ในประเทศ  คุณภาพสินค้าไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณภาพวัตถุดิบเป็นที่จุดเริ่มต้น แต่ขึ้นอยู่กับ “เจตนา” ที่จะทำสินค้านั้นให้ดีมีคุณภาพหรือไม่ พ่อหลวงทรงเป็นแบบอย่างในเรื่องของการทำธุรกิจที่มุ่งเรื่องของ “คุณภาพ” โดยทั้งหมดเริ่มที่ “เจตนา” หรือ “จิตใจ” ที่หวังให้ผู้คนได้รับสิ่งดี ๆ มีคุณภาพ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอน การคัดเลือกวัตถุดิบ กระบวนการผลิต จัดจำหน่ายจึงออกมาอย่างมีคุณภาพ และสินค้าส่งถึงผู้ซื้อก็ได้รับคุณภาพอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและเต็มใจ

 

15.แบบอย่าง “เศรษฐกิจพอเพียง” พอประมาณ มีเหตุมีผล และมีภูมิคุ้มกัน

จาก “โรงนมผงสวนดุสิต” สู่ “โรงนมเม็ดสวนดุสิต” ทำให้เรียนรู้ว่าเมื่อตั้งใจทุ่มเทลงมือ และศึกษา ค้นคว้า หรือทำการทด ลองสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว จะทำให้งอกเงยได้ก็ต่อเมื่อมีการต่อยอดความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างคุณค่าเพิ่มขึ้น สามารถนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้เพื่อนำไปปฏิบัติโดยยึดหลัก“เศรษฐกิจพอเพียง” คือ ยืนอยู่บนความพอประมาณตน รู้ว่ากำลังตัวเองมีมากน้อยขนาดไหน มีเหตุมีผลที่จะแก้ไขปัญหาและต่อสู้กับอุปสรรค หาวิธีการใหม่เพื่อสร้างโอกาสที่ดีกว่า และ ท้ายสุดคือ นำปัญหาและความล้มเหลวในอดีตมาเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เราก้าวพลาดอีกในครั้งต่อไป

 

บทเรียนที่พ่อทรงทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง ทำให้เราเห็นว่า ทำไมผลิตภัณฑ์ของพระองค์ท่าน จึงได้รับการตอบรับมากมาย นับว่าโชคดีเหลือเกินที่เรามีโอกาสได้กินนมอัดเม็ดที่เปี่ยมคุณภาพ อีกทั้งยังได้รับแนวคิดดี ๆ จากพระองค์ท่าน อันนำไปสู่หัวใจแห่งการผลิตและวิธีการกระจายผลิตภัณฑ์ของตนที่ต้องดีและมีคุณภาพ อีกทั้งมีประโยชน์ต่อสุขภาพในราคาที่เหมาะสม

my-love-king8

จากภาพรวมของโครงการส่วนพระองค์ โรงนมจิตรลดา ทำให้เราได้เห็นจุดเริ่มต้นของที่มา ปัญหาที่เกิดขึ้น การทำอย่างไรให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาประหยัด ความมั่นคงที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การไม่ท้อถอยหรือเลิกราไปก่อนที่จะประสบความสำเร็จ และที่สำคัญหัวใจของผู้ให้ที่อยากให้ผู้รับได้ในสิ่งที่ดีที่สุด หากเราจับหลักตรงจุดนี้ได้ผมเชื่อว่าไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเป็นอะไรก็สามารถประสบความสำเร็จอย่างงดงามได้เช่นกันครับ

 

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมส่งเสด็จพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย

ข้าพระพุทธเจ้า ทีมงาน Taokaemai.com

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา,ไบรท์ทีวี,SiamUpdates.com , โรงนมผงสวนดุสิต และโรงนมเม็ดสวนดุสิตจาก  ,kanchanapisek.or.th,brandbuffet.in.th