ในช่วงภาวะวิกฤตที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ผู้ประกอบการ SME หลายท่านปรับตัวไม่ทัน กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เสียหายไปมากแล้ว หลายธุรกิจจึงต้องโบกมือลาไปอย่างน่าเสียดาย แต่ในภาวะเช่นนี้ใช่ว่าจะไม่มีทางรอด บทความนี้มีคำแนะนำดีๆ จาก ดร. วศิน อาจารย์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษาการตลาดออนไลน์ธุรกิจ SME มาดูกันว่า ธุรกิจของคุณกำลังเผชิญกับ 10 สาเหตุธุรกิจล้มเหลวหรือไม่ กลยุทธ์ใดที่ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและไปต่อได้ในภาะวิกฤต

10 สาเหตุธุรกิจล้มเหลว

1.ขาดการวางแผนทางการเงิน

สาเหตุธุรกิจล้มเหลวที่สำคัญอย่างแรกคือ ขาดการวางแผนด้านการเงิน มีผู้ประกอบการหลายราย เริ่มต้นธุรกิจด้วยการใช้บัตรกดเงินสด รูดบัตรเครดิต โดยปราศจากการวางแผน เมื่อเกิดปัญหาทางการเงินขึ้น หนี้เก่ายังเคลียร์ไม่หมด หนี้ใหม่ก็เพิ่มเข้ามา กลายเป็นปัญหาที่ดูเหมือนไม่สิ้นสุด แม้แต่บางรายที่เน้นการทำโปรโมชั่น โดยไม่วิเคราะห์ต้นทุนให้ดีเสียก่อน กลายเป็นว่ายิ่งขายดี ยิ่งขาดทุน

2.ไม่สนใจทำการตลาด

ทุ่มไปกับกระบวนการทางธุรกิจมากเกินไป เช่น งบการผลิต แรงงาน โดยไม่สนใจการตลาด ขาดการโปรโมทอย่างเหมาะสม เพราะเชื่อมั่นว่ายังไงสินค้าก็ต้องขายได้

3.เลือกขายสินค้าตามคนอื่น

สำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ บางคนทำธุรกิจตามกระแส สินค้าอะไรที่ว่าดัง เห็นคนอื่นขายดี ก็อยากขายสินค้านั้นบ้าง เมื่อเจอกับคู่แข่งจำนวนมาก ก็ไปไม่รอด ถ้าจะเข้าตลาดที่มีการแข่งขันสูง ต้องศึกษาให้เยอะ  และต้องมีศักยภาพทางการเงินที่ดีมาก

4.ขาดการตั้งเป้าหมายทางธุรกิจ

หลายคนที่ทำธุรกิจมักจะโฟกัสไปที่อยากรวย อยากประสบความสำเร็จเร็ว จริงๆ แล้วควรตั้งเป้าหมายไปที่ยอดขาย อยากได้ยอดขายเท่าไหร่ ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ให้กำหนดเป้าหมายเป็นตัวเลขไปเลย เป้าหมายที่ชัดเจนจะนำมาซึ่งกลยุทธ์ และนำไปสู่แผนธุรกิจ

5.เลือกกลุ่มเป้าหมายผิด

หากเลือกกลุ่มเป้าหมายผิดตั้งแต่แรก ย่อมส่งผลต่อการกำหนดทิศทางการตลาดผิดไปด้วย เช่น ขายของเล่นส่งเสริมพัฒนาการเด็ก แน่นอนว่าผู้ใช้คือเด็ก แต่ลูกค้าคือผู้ปกครองที่มีกำลังซื้อ มีฐานะค่อนข้างดี ก็ต้องทำการตลาดให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

6.เลือกใช้เครื่องมือทำการตลาดออนไลน์โดยไม่มีความรู้

ยุคสมัยเปลี่ยน แนวทางการตลาดเปลี่ยน ผู้ประกอบการต้องรู้จักปรับตัว เมื่อก่อนหลายคนขายดีในFacebook  แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว ที่ขายไม่ได้เพราะไม่เข้าใจในวิธีการ หลายคนเน้นยิง Ads เพียงอย่างเดียว แต่ละเลยการสร้างแบรนด์ ทำ Storytelling

7.ไม่ทำ CSR

เมื่อพูดถึง “CSR” หรือ Corporate Social Responsibility ผู้ประกอบการหลายคนมักจะเข้าใจว่าเหมาะกับองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งการทำกิจกรรมบางอย่างเพื่อสังคม แบรนด์เล็กๆ สามารถทำได้เช่นกัน เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารทางการตลาด การทำ CSR ไม่ใช่เพื่อยอดขาย แต่คือ การสร้างแบรนด์อย่างหนึ่ง

8.มองไปที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว

ผู้ประกอบการบางคน พอเริ่มทำธุรกิจมักจะโฟกัสไปที่กำไรก่อน คิดว่าทำอย่างไรจึงจะมีกำไรมากที่สุด อย่าลืมว่าในปัจุบันลูกค้ามีตัวเลือกเยอะขึ้น สินค้าและแบรนด์มีหลากหลายขึ้น การทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว จนละเลยคุณภาพและบริการที่ดี ส่งผลให้ลูกค้าเลือกที่จะเมินสินค้าของเรา

9.ทำคนเดียว ลุยคนเดียว โดยปราศจากทีม

เป็นเรื่องยากที่ธุรกิจจะดำเนินและเติบโตไปได้ด้วยคนเพียงคนเดียว เพราะเมื่อถึงจุดที่งานเยอะ ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ก็จะทำไม่ไหว ส่งผลให้ธุรกิจติดขัด บางเรื่องก็ต้องยอมใช้เงินเพื่อสร้างทีมงานขึ้นมา เพื่อธุรกิจจะได้เติบโต ในส่วนนี้ก็ต้องมองกลับไปที่โมเดลธุรกิจ การตั้งราคาขายเหมาะสมหรือไม่ เพราะถ้าตั้งราคาต่ำเกินไป กำไรที่ได้มาก็จะพอสำหรับเราคนเดียว ไม่เหลือไปจ้างใคร

10.ไม่ปรับตัว

สาเหตุธุรกิจล้มเหลวที่สำคัญที่สุดคือ การไม่ปรับตัว เรากำลังทำการตลาดเพื่อเข้าถึงคนจำนวนมาก ภายใต้การแข่งขันที่สูงขึ้น  Ecommerce Marketing จึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ต้องใช้กลวิธีทางการตลาดออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้ธุรกิจ ในส่วนของ Digital Transformation ก็มีความสำคัญเช่นกัน  หากผู้ประกอบการ SME ไม่ยอมปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ก็ยากที่จะแข่งขันในยุคที่มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดได้

กลยุทธ์ทำธุรกิจให้สำเร็จในภาวะวิกฤต

1.อย่ายึดติดกับวิธีการเดิมๆ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสำหรับการทำธุรกิจนั้น คนที่มีเงินย่อมได้เปรียบกว่า ส่วนคนที่ทุนน้อย ในช่วงเริ่มต้น มักจะเหนื่อยหน่อย ต้องคิดให้เยอะ ออกแรงให้มาก สินค้าที่ผลิตเองหรือนำมาขาย ต้องมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ถ้ายังไม่มีต้องหาให้เจอ ในขณะเดียวกันก็ต้องนำเสนอคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักและขายได้ อย่าจำกัดอยู่แค่การยิง Ads เพียงอย่างเดียว ให้ลองทำอย่างอื่นบ้าง อย่างการไลฟ์ขายของ ในช่วงแรกอาจจะมีคนดูน้อย แต่หากทำอย่างสม่ำเสมอยอดเข้าชมก็จะเพิ่มขึ้น ถ้า Content ในไลฟ์น่าติดตามก็สามารถเพิ่มฐานคนดูได้มากขึ้นเช่นกัน

2.ใช้แพลตฟอร์มให้หลากหลาย

พยายามโปรโมทสินค้าในหลากหลายช่องทาง เช่น Fanpage เพื่อใช้สำหรับสร้างแบรนด์ ใช้ Line OA เพื่อขายและช่วยดูแลลูกค้าง่ายขึ้น แม้แต่ใน TikTok ก็ไม่ควรพลาด ส่วนจะเน้นการโปรโมทผ่านแพลตฟอร์มใด ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่ใช้ช่องทางออนไลน์ไหน ถ้าสินค้าเน้นขาย E-commerce  ช่วงแรกอาจใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ก่อน แล้วค่อยสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองอย่างเช่นเว็บไซต์

3.สร้าง Brand Story ให้กับธุรกิจ

การทำธุรกิจในยุคนี้จะมาขายกันตรงๆ คงไม่โดนใจ แถมยังดูน่าเบื่อ ลองเปลี่ยนวิธีการนำเสนอให้ธุรกิจดูมีความน่าสนใจมากขึ้น เริ่มสร้าง Brand Story อย่างจริงจัง บอกเล่าที่มาของสินค้า มีคุณค่าอย่างไร อะไรคือความโดดเด่น อะไรคือสิ่งที่ลูกค้าจะได้รับจากแบรนด์ การบอกเล่าเรื่องราวก็เพื่อให้ผู้คนจดจำแบรนด์ได้

4.ใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ Personalization

อีกหนึ่งกลยุทธ์ของการทำการตลาด ที่แบรนด์สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นรายบุคคลเพื่อเพิ่มโอกาสในการซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ สินค้า บริการ ราคา ที่เหมาะกับคนๆ นั้น การที่จะสื่อสารกับลูกค้าได้นั้น ต้องมีข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือก่อน การเก็บ Data จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องเก็บให้ครบหรือให้ได้มากที่สุด

การทำธุรกิจในช่วงวิกฤต จะให้รอดอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องวางแผนเพื่อให้เติบโตไปด้วย หากธุรกิจกำลังประสบปัญหาอยู่ ให้ถอยออกมาหนึ่งก้าว ดูว่าธุรกิจตอนนี้เป็นอย่างไร สำคัญคือ ต้องยอมรับความจริง แล้วค่อยๆ ปรับตัว หากปัญหาอยู่ที่ตัวสินค้า อันไหนขายไม่ดีให้ตัดทิ้งไป สินค้าไหนมีแนวโน้มขายได้ให้ดูว่าจะทำให้ดีขึ้นได้หรือไม่ หากระบบการจัดการมีปัญหาก็ให้รีบแก้ไข ทางเลือกในการแก้ไขปัญหามีเยอะ เลือกทางให้เหมาะกับธุรกิจ เรียนรู้ให้มาก ลงมือทำให้มากกว่า เพื่อช่วยให้ผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้