การเป็นนักสร้างคอนเทนต์สำคัญที่สุดอยู่ที่การฝึกฝน ในช่วงแรกของการเข้ามาในวงการนี้ เรื่องรายได้เป็นสิ่งที่คุณลืมไปได้เลย ผลงานในช่วงแรก ๆไม่มีทางที่จะมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่รายได้จะเพิ่มสูงขึ้นตามทักษะที่เพิ่มขึ้นของตัวคุณเอง   

อาชีพนักเขียนเป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องอาศัยทักษะในการเรียบเรียงข้อมูลและบรรจงกลั่นมันออกมาเป็นตัวอักษรเพื่อส่งต่อเนื้อหาเหล่านั้นออกสู่สายตานักอ่าน กว่าจะมาเป็นนักเขียนที่มีความเชี่ยวชาญและออกผลงานที่โดนใจสักเรื่องมันไม่ได้ง่ายเลย เพราะต้องใช้เวลาในการฝึกฝน พัฒนาทักษะของตนเองสม่ำเสมอ นอกเหนือจากเวลาที่ต้องใช้เพื่อพัฒนาความสามารถ ยังต้องอาศัยความอดทนและแรงกายแรงใจอยู่ไม่น้อย การเป็นนักเขียนไม่ใช่ว่าใคร ๆก็หยิบปากกาจับสมุดขึ้นมาแล้วจะเขียนเป็น เพราะการจะเขียนสิ่งใดขึ้นมาสักเรื่องใคร ๆก็เขียนได้ แต่การเขียนเป็นคือเขียนแล้วให้คนอ่านชอบ หรือเขียนแล้วกินใจคนอ่านให้คล้อยตามไปกับสิ่งที่เราเขียนมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น หลายคนที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นนักเขียนมักจะท้อถอย ล้มเลิกความตั้งใจและออกจากวงการนี้ไปไม่น้อยทีเดียว บทความนี้เราจะมาดูกันว่าการเป็นนักเขียนที่เขียนเป็น การเป็นนักเขียนที่มีงานอยู่เรื่อย ๆพอเลี้ยงตัวเองได้ไม่ให้ต้องกลายเป็นนักเขียนไส้แห้ง เขาทำกันอย่างไร ตามมาดูกันเลยครับ

นักเขียนคือนักเล่าเรื่อง

นักเขียนแท้ที่จริงแล้วก็คือนักเล่าเรื่องดี ๆนี่เอง หากคุณเป็นคนที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวให้แก่คนอื่น ๆ หรือชอบหาข้อมูลแล้วเอาไปเล่าต่อให้แก่ผู้อื่นฟัง คุณก็มีคุณสมบัติขั้นแรกของการเป็นนักเขียนที่ดีได้ ทักษะของนักเขียนที่เป็นนักเล่าเรื่องคือ จะทำอย่างไรให้เรื่องราวที่เราจะเล่านั้นมีความน่าสนใจ สนุก น่าติดตามและมีเนื้อหาสาระที่ครบถ้วน อย่ามองว่านักเขียนเป็นแค่นักเขียน เพราะในมุมมองนี้มันดูเป็นทางการมากเกินไป นักเขียนที่มองว่าตนเองเป็นนักเขียนผลงานการเขียนมักจะดูแข็งและไม่ค่อยมีลูกล่อลูกชน ผลงานที่ออกมาแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็ขาดเสน่ห์ มันดูคล้าย ๆกับเราอ่านตำราวิชาการที่แสนจะง่วงเหงาและชวนให้หลับเพราะมันตรงและทื่อเกินไป แต่หากคุณเปลี่ยนมุมมองเสียใหม่โดยมองว่าคุณเองเป็นนักเล่าเรื่อง และวิธีการเล่าเรื่องของคุณมันบอกเล่าผ่านตัวอักษร เมื่อนั้นคุณจะใส่ความเป็นตัวเองลงในผลงาน งานของคุณก็จะมีความน่าสนใจและน่าติดตาม

10 เคล็ดลับความสำเร็จสู่การเป็นนักเขียนมืออาชีพ

        1. ฝึกฝนพัฒนาทักษะการเขียนของตนเองอยู่เสมอ

อยากเป็นนักเขียนก็ต้องฝึกฝน ใช่ว่าแค่อยากเป็นอย่างเดียวแล้วจะเก่งได้โดยไม่ลงมือทำ การเขียนเป็นทักษะหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝน การทำซ้ำบ่อย ๆ ยิ่งคุณเขียนมากเท่าไหร่ทักษะในการเรียบเรียงและถ่ายทอดของคุณจะยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่านั้นโดยคุณเองแทบจะไม่รู้ตัว เมื่อลองขีด ๆเขียน ๆไปสักพักแล้วกลับไปอ่านงานชิ้นแรก ๆของคุณ คุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงชนิดที่ว่าคุณเองยังทึ่งในการเปลี่ยนแปลงของตัวคุณเอง

        2. เป็นนักเขียนที่ดีต้องหมั่นอ่านหนังสือ และศึกษาผลงานคนอื่น ๆอยู่เสมอ

หากคิดจะเป็นนักเขียนโดยไม่คิดจะอ่านหนังสืออะไรเพิ่มเติมเลย เชื่อเถิดในวันหนึ่งคุณจะเริ่มไอเดียตีบตันและหมดมุก แม้ทักษะทางการเขียน การใช้สำนวนภาษาจะเป็นเอกลักษณ์ของใครของมันที่ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ แต่เมื่อคุณอ่านหนังสือ บทความ หรือผลงานของนักเขียนท่านอื่น ๆ คุณจะพบว่า เรื่องเดียวกันนั้น มันมีวิธีตีความและเล่าเรื่องออกมาได้มากมาย ถ้าคุณอ่านให้มากศึกษาให้มากแล้วคุณจะพบว่า “เฮ้ เรื่องแบบนี้ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบนี้ก็ได้เหมือนกันเหรอ” เชื่อเถอะว่ายิ่งอ่านมากมุมมองคุณก็ยิ่งกว้าง โลกทัศน์คุณก็จะยิ่งกว้างตามขึ้นไปอีก

        3. ลงเรียนด้านการเขียนบ้าง เพื่ออัพเดตข้อมูลจากนักเขียนเก่ง ๆ

การแสวงหาความรู้บางครั้งเราอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายบ้างเพื่อต่อยอดพัฒนาความรู้ของตนเอง หากคุณอยากจะเป็นนักเขียนที่พัฒนาทักษะของตนเองให้เจ๋งแล้วล่ะก็ การลงเรียนการเขียนบ้างจะช่วยให้คุณได้เคล็ดลับหลาย ๆอย่างจากวิทยากรเพิ่มเติมขึ้นอีกมาก ความรู้ที่ดีที่สุดและใช้ได้จริงคือการฟังประสบการณ์ของคนอื่นที่เขากลั่นออกมาเป็นเคล็ดลับให้แก่คุณแล้ว การไปเรียนหลาย ๆ ครั้งจะช่วยร่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูกได้มากทีเดียว

        4. เมื่อรับงานเขียนแล้ว สิ่งสำคัญคือความรับผิดชอบ

เมื่อใดที่มีคนจ้างงานคุณ สิ่งนั้นคือโอกาสที่คุณได้รับ เมื่อได้รับมันมาแล้วคุณควรจะมีความรับผิดชอบสูงสุดเท่านั้น เพราะงานทุกชิ้นที่มีผู้ว่าจ้างจ้างเข้ามา เขาต้องการผลงานเพื่อนำไปใช้ต่อ หากคุณไร้ซึ่งความรับผิดชอบ ทำงานส่งล่าช้าไม่ตรงตามเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ คุณอาจจะแค่เสียชื่อแต่ผู้ว่าจ้างของคุณเสียหายและเสียโอกาสมากกว่าคุณเสียอีก และพึงระลึกไว้เสมอว่า วงการนักเขียนเป็นวงการที่ไม่ได้กว้างมาก แม้ผลงานการเขียนคุณจะดีเพียงใดแต่ถ้าคุณทำไม่ดีเอาไว้คุณจะไม่มีโอกาสได้แก้ตัวอีกเลย

        5. อย่าทำอะไรเกินกำลัง บริหารจัดการเวลาในการทำงานให้ดี

การทำงานทุก ๆอย่างคือการวางแผนและการบริหารจัดการ การเป็นนักเขียนก็เช่นกัน คุณควรจะต้องวางแผนการทำงาน วางตารางการทำงานให้ดีและยิ่งหากคุณมีงานประจำอยู่ด้วยแล้วยิ่งต้องจัดเวลาไม่ให้กระทบกับงานประจำครับ ยิ่งคุณเป็นนักเขียนมือใหม่งานแต่ละชิ้นที่ทำมันต้องใช้เวลามากกว่านักเขียนเก๋า ๆ ฉะนั้นจงทำอะไรอย่าให้เกินกำลังของตน และอย่า “งก”จนเกินพอดี เพราะการรับงานมากเกินกว่าที่ตนเองจะทำได้ทัน สุดท้ายก็จะเร่งจนเหมือนไฟลนก้นและมีโอกาสส่งงานไม่ทันตามกำหนดสูงมาก หรือแม้ว่าจะทำงานเสร็จตามกำหนดก็ตาม แต่สุดท้ายงานที่เร่งให้เสร็จมักไม่มีคุณภาพ และคุณก็จะเสียงานอยู่ดี

        6. อย่าเลือกงานจนเกินไป เพราะทุก ๆงานคือการพัฒนาความสามารถตนเอง เว้นเสียแต่ว่าคุณไม่ถนัดจริง ๆ

การเป็นนักเขียนที่เก่งกาจ คุณต้องมีความสามารถในการเขียนที่หลากหลายแนว ไม่ว่าผู้จ้างจะส่งงานอะไรมาให้คุณ คุณก็ควรจะทำได้เว้นเสียว่ามันนอกเหนือจากความสามารถคุณจริง ๆ เพราะงานที่หลากหลายมันจะยิ่งทำให้ตัวคุณเองเก่งขึ้นเรื่อย ๆ การเลือกงานจนเกินไปนั้นเท่ากับว่าคุณกำลังปิดกั้นการพัฒนาตนเองอยู่ และอีกประการสำคัญการเขียนได้อย่างหลากหลายคุณจะมีโอกาสได้งานมากกว่าคนที่เขียนเป็นอยู่แนวเดียว

        7. ใส่ใจในการทำงาน ทำงานทุกชิ้นด้วยความสนุกสนานแล้วผลงานจะออกมาดีเอง

จริง ๆแล้วไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ถ้าเราใส่ใจไปกับมัน ทำมันด้วยความสนุกสนาน ผลงานที่ออกมามันจะดีเอง การเขียนก็เช่นกัน ถ้าเราเขียนไปด้วยอารมณ์ที่สนุกสนานเต็มที่กับทุก ๆงาน นอกจากการเขียนจะไหลลื่นเหมือนองค์ลงแล้ว ความรู้สึกสนุกสนานมันจะถูกถ่ายทอดลงไปผ่านตัวอักษรและสำนวน เชื่อหรือไม่ว่าสิ่งเหล่านี้มันถ่ายทอดไปสู่ผู้อ่านได้

        8. ใส่ความเป็นตัวตนของคุณลงไปผ่านสำนวน เพราะมันคือลายเซ็นเฉพาะตัวของคุณ

เคยไหมที่เราได้อ่านผลงานของนักเขียนที่ชื่นชอบแล้วรู้เลยว่าเป็นผลงานของเขา นักเขียนแต่ละคนมีสไตล์ สำนวนและลูกเล่นที่ไม่เหมือนกัน หากคุณต้องการเอาดีทางด้านการเขียน เอกลักษณ์เฉพาะตัวเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นตัวคุณได้ดีที่สุด หามันให้พบและพัฒนามันให้ได้โดยไว งานเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่ชื่นชอบของผู้ว่าจ้างที่สุด

        9. รับฟังคำวิจารณ์ติชมและนำมาพัฒนาตนเอง

ในทุก ๆการทำงานย่อมมีการถูกวิจารณ์ ในฐานะนักเขียนย่อมหนีไม่พ้นคำวิจารณ์เช่นกัน หนึ่งในคำวิจารณ์นั้นก็มาจากลูกค้าที่จ้างเรานี่แหละ การรับฟังคำวิจารณ์และนำมาปรับปรุงพัฒนาตนเองเป็นสิ่งที่นักเขียนควรทำ แต่ก็อย่าให้คำวิจารณ์มากลืนกินตัวตนและเอกลักษณ์ของเราไป มองโลกในแง่ดีคำวิจารณ์ที่ได้รับจะทำให้มุมมองการทำงานและการตีความสิ่งที่เขียนของเราหลากหลายมากขึ้น

        10. สิ่งที่ฆ่าตัวตายอย่างถาวรคือ “การลอกงานคนอื่น”

ต้องย้ำกันอีกครั้งว่า สำนวนการเขียนเป็นเสมือนลายเซ็นเฉพาะตัวของนักเขียน การกระทำที่งี่เง่าที่สุดคือการลอกงานคนอื่นมาทั้งกะบิ ในยุคปัจจุบันแค่เพียงนำส่วนใดส่วนหนึ่งของงานเขียนมา search หาใน Google ก็รู้แล้วว่างานนี้คุณเขียนเองหรือไปลอกงานเขามา สิ่งที่คุณทำได้คือการนำข้อมูลมาใช้เท่านั้น แต่สำนวนการเรียบเรียงและเล่าเรื่องคุณต้องเขียนในสำนวนคุณเอง งานชิ้นนั้นจึงจะมีคุณค่า การลอกงานของคนอื่นโดยเอามาทั้งบทความโดยไม่มีการกล่าวอ้างถึง นอกจากจะไม่เป็นการเคารพเจ้าของผลงาน ยังถือว่าคุณไม่มีความเคารพต่อตัวเองเช่นกัน และวงการนี้ก็ไม่มีที่ยืนให้คนที่คิดสั้นครับ

การเป็นนักเขียนสำคัญที่สุดอยู่ที่การฝึกฝน ในช่วงแรกของการเข้ามาในวงการนี้ เรื่องรายได้เป็นสิ่งที่คุณลืมไปได้เลย ผลงานในช่วงแรก ๆไม่มีทางที่จะมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย แต่รายได้จะเพิ่มสูงขึ้นตามทักษะที่เพิ่มขึ้นของตัวคุณเอง และการฝึกฝนทักษะการเขียนคือสิ่งที่จะทำให้คุณไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ จำไว้ว่าถ้าอยากมีรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อคุณก็ต้องสร้างตัวเอง ทำตัวเองให้มีคุณค่ามากพอที่จะมีคนกล้าจ่ายในราคาที่คุณพอใจ เพื่อแลกกับผลงานของคุณ

บทความสำหรับนักสร้างคอนเทนต์