“ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”

หนังสือที่ถ่ายทอดเรื่องราวการทำธุรกิจผ่านมุมมองของผู้ประกอบการระดับโลกอย่างเครือซีพี ใช้ระยะเวลาจัดทำนานถึง 8 ปี เจาะลึกเบื้องหลังความสำเร็จที่ทุกคนอยากรู้ อะไรที่ทำให้ธุรกิจผงาดขึ้นมาเป็นเบอร์ต้นๆ กว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องผ่านอะไรมาบ้าง นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของหนังสือที่อยากถ่ายทอดให้ผู้ประกอบการนำไปปรับใช้ ขอเชิญทุกท่านมาร่วมเดินทางบนเส้นทางธุรกิจที่ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ หากคนอื่นสำเร็จได้ เราเองก็สำเร็จได้เช่นกัน

  1. ธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ คือธุรกิจที่ยาก และมีอนาคต

บางเรื่องที่บางคนอาจจะมองว่าเป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับเจ้าสัวธนินท์นั้นกลับมองว่า “อะไรที่เป็นไปไม่ได้  ถ้าเราทำสำเร็จ เราก็เป็นคนเดียวที่ทำได้” หลายคนมักจะชอบทำเรื่องที่ง่าย นั่นไม่ได้แปลว่าผิด แต่การเลือกทำในสิ่งที่ยาก ก็ต้องดูด้วยว่าเป็นเรื่องที่ทำแล้วมีอนาคตหรือไม่ เช่น ธุรกิจเกษตรอย่างการเลี้ยงไก่ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่สหรัฐอเมริกาเกษตรกรหนึ่งคนสามารถเลี้ยงไก่ได้เป็นหมื่นตัว ในขณะที่เกษตรกรไทยเลี้ยงได้แค่ไม่กี่ร้อยตัว ในขณะที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเลี้ยงไก่ให้ได้จำนวนเท่านั้น ในมุมมองของคุณธนินท์คือ ในเมื่อเขาทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้  เมื่อได้ลองศึกษาดู จึงได้รู้ว่าไม่ใช่แค่เกษตรกรคนเดียวที่ทำทุกอย่างด้วยตัวเองทั้งหมด แต่มีทีมงานเข้ามาช่วยเหลือจึงทำได้สำเร็จ การที่สามารถผลิตไก่ได้มากขึ้น ส่งผลให้ราคาไก่ถูกลง เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ทุกระดับรายได้ เพราะราคาเนื้อไก่ในสมัยนั้นค่อนข้างแพง กระบวนการเช่นนี้สามารถผลิตไก่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้อีกด้วย เนื่องจากต้นทุนถูกลง ในขณะที่ได้คุณภาพสูงนั่นเอง

  1. เลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่ดีที่สุด

ความสำเร็จของเครือซีพีเกิดจากความพร้อมทุกขั้นตอน การเลือกใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน ยกตัวอย่าง การนำเทคโนโลยีมาใช้กับกลุ่มเกษตรกรต้องเป็นเทคโนโลยีระดับสูงสุด หลายคนมองข้ามเรื่องนี้และไม่เข้าใจว่ากลุ่มเกษตรกรจะนำไปใช้ได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิด คุณธนินท์มองว่าส่วนที่ยากคือ ส่วนของผู้ผลิตเทคโนโลยี ไม่ใช่ส่วนของผู้ใช้ เช่น เรื่องที่ยากปล่อยเป็นหน้าที่ของบริษัทใหญ่ เรื่องง่ายให้เกษตรกรเป็นคนทำ อย่างการฉีดวัคซีนให้ไก่ ก็จะมีทีมงานที่เชี่ยวชาญคอยช่วยเหลือจนเสร็จสิ้นกระบวนการให้วัคซีน เรื่องของการขายก็มีตลาดรองรับ ลำพังเลี้ยงไก่จำนวนเป็นหมื่นก็ถือว่ายากที่จะหาแหล่งรับซื้อได้  ในเรื่องการเก็บสถิติ ประสบการณ์ ความรู้ต่างๆที่คนอื่นสะสมมา เราก็นำความรู้เหล่านั้นมาปรับใช้ ไม่ได้หมายความว่าต้องทำตามทุกอย่าง  มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ท่านมีโอกาสได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ที่จีน การเลือกเทคโนโลยีจึงต่างจากธุรกิจเกษตร ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเทคโนโลยีที่ล้ำที่สุด ในยุคนั้นความต้องการของคนทั่วไปคือ อยากได้รถมอเตอร์ไซค์ที่มีความแข็งแรงทนทาน ซ่อมง่าย จึงเลือกนำเทคโนโลยีจาก Honda มาใช้ เพราะตอบโจทย์มากที่สุด

  1. ทำธุรกิจไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอด

ก่อนจะเข้าใจได้ จำเป็นต้องมีความรู้ให้มากพอ การทำธุรกิจต้องปรับตัวให้ทันต่อสถาณการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตามเทรนความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจยุคนี้กำลังเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ธุรกิจเกิดใหม่แซงหน้าธุรกิจเก่าแก่ได้ไม่ยากอีกต่อไป ธุรกิจดั้งเดิมจึงต้องเรียนรู้จากธุรกิจใหม่อยู่เสมอ “ทุกการเปลี่ยนแปลง นำมาซึ่งโอกาสมากมายมหาศาล” อยู่ที่ว่าเข้าใจหรือไม่ คนทำธุรกิจจะคว้าโอกาสจากตรงนั้นได้อย่างไร ต้องรู้จักใช้โอกาสที่ได้มาให้เกิดประโยชน์สูงสุด  อย่างการนำเทคโนโลยีชีวภาพในการสังเคราะห์เนื้อสัตว์เทียม แม้ตอนนี้ต้นทุนจะสูงมาก แต่ทางซีพีเองก็ไม่ละเลยที่จะศึกษาทดลอง ก่อนจะได้มาซึ่งความสำเร็จ ประเด็นอยู่ตรงที่ ปัญหาคืออะไรและมีวิธีแก้ไขอย่างไร ทำอะไรก็ตามแต่ ย่อมเจอกับปัญหาทั้งนั้น เว้นแต่ว่าไม่ยอมทำ ไม่พัฒนา ไม่เปลี่ยนแปลง การลงมือทำสิ่งใหม่ ย่อมเจอกับปัญหาใหม่เกิดขึ้น เพราะ“ปัญหา มาคู่กับการเปลี่ยนแปลง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

  1. ทำธุรกิจอย่าทำเกินตัว เกินความสามารถ

พัฒนาการของซีพีจากเกษตร ไปค้าปลีก สู่โทรคมนาคมนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร อาจไม่สำคัญเท่า ทำไมจึงกล้าเสี่ยง “เสี่ยง 30 ชนะ 70 ถ้าความเสี่ยงนั้นไม่ทำให้ล้มละลาย ผมพร้อมจะเสี่ยง” คำพูดของคุณธนินท์ สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าลงทุนอะไรก็ตาม ย่อมมีความเสี่ยง แต่ต้องเห็นแนวทางที่ถูกต้อง มีเป้าหมายชัดเจน เมื่อเจออุปสรรค เจอปัญหา ก็คิดหาทางแก้ไข อย่างธุรกิจใหญ่ ความเสี่ยงสูง ย่อมมีอันตรายสูง ในเมื่อหนีความเสี่ยงไม่พ้น ต้องมาพิจารณาว่าในเมื่อมีโอกาสได้ถึง 70%  ในขณะที่ความเสี่ยง 30%  แบบนี้ถึงจะกล้าลงทุน เพราะไม่มีอะไรที่ 100%  หรือถ้ามีโอกาส 50-50 อย่างนี้ก็ไม่ควร แม้ประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยงเพียงแค่ 10%  แต่หากเป็นโครงการที่สามารถทำให้ธุรกิจล้มละลายได้ อย่างนี้ก็ไม่เอาเช่นกัน ขนาดบริษัทใหญ่ยังล้มละลายมาแล้ว นับประสาอะไรกับบริษัทขนาดเล็ก ไม่มีอะไรการันตีได้ทั้งนั้น  “เสี่ยงได้ แต่ต้องไม่ให้ล้มละลาย”

  1. จำไว้ว่าเมื่อเกิดวิกฤต เราไม่สามารถรักษาทุกอย่างไว้ได้

ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ส่งผลให้ธุรกิจที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงนั้นเป็นหนี้ต่างประเทศ จึงตัดสินใจขายบางธุรกิจทิ้งไป ดูว่าอันไหนสำคัญก็ต้องรักษาไว้ เพื่อให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ เหมือนเวลาที่เรือกำลังจะอัปปาง ต้องโยนของที่ไม่จำเป็นทิ้งไปเพื่อไม่ให้เรือล่ม ซึ่งธุรกิจที่ขายก็เป็นธุรกิจที่ดี บางธุรกิจให้ฟรียังไม่มีใครเอา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมต้องทำธุรกิจที่โลกยอมรับ เป็นธุรกิจที่ทำแล้วมีอนาคต ในขณะเดียวกันก็ต้องมองหาลู่ทางขยับขยายเช่นกัน “ในช่วงที่เจอวิกฤต ก็ยังมองเห็นโอกาส ในขณะที่มีโอกาส ก็อาจเจอวิกฤต” สองสิ่งนี้มักจะคู่กันเสมอ แม้อยู่ในจุดที่รุ่งโรจน์ ธุรกิจเฟื่องฟู ก็ต้องคิดถึงเรื่องนี้เผื่อไว้บ้าง ถ้าเจอวิกฤติจะทำยังไง มีวิธีรับมือหรือไม่ จึงต้องศึกษาและทำการบ้านให้ดี เมื่อเจอวิกฤต อย่าเพิ่งท้อใจ และถ้าผ่านไปได้ ต้องคิดทันทีว่ามีโอกาสอะไรรออยู่บ้าง

  1. บุคลากร ผู้ขับเคลื่อนมูลค่าทางธุรกิจ

การพัฒนาคนที่ดีที่สุดคือ ปล่อยให้คนๆนั้นลงมือทำ ให้อำนาจกับเขา เขาจะรู้สึกสนุกในการทำงาน ให้คิดเองทำเอง เราเพียงแต่ให้ข้อเสนอแนะ อย่าไปชี้นำ อย่าไปกำกับ ให้คอยชี้แนะ อย่ากลัวว่าทำผิด เพราะนี่คือการเรียนรู้ ยังไงซะก็มีโอกาสที่จะแก้ไขหรือทำให้ถูกต้องได้ ที่น่ากลัวกว่าคือ “การทำผิดแต่ไม่รู้ว่าผิด” การสนับสนุนคนที่เก่ง ต้องให้อำนาจก่อน เพื่อให้เขามีโอกาสแสดงความสามารถ แล้วให้เกียรติ ซึ่งหมายถึงตำแหน่ง สุดท้ายตามด้วยผลตอบแทนที่สมเหตุสมผล ผู้นำที่ดีจะใส่จิตวิญญาณการทำงาน แม้แต่การทำธุรกิจส่วนตัว ก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อบริษัทเป็นอันดับแรก  ตามด้วยเพื่อนร่วมงาน และคำนึงถึงผลโยชน์ตัวเองเป็นลำดับสุดท้าย หากเป็นเรื่องใหม่ต้องใช้คนใหม่ เปรียบดั่ง “ลูกวัวไม่กลัวเสือ” หากให้พนักงานเดิมทำ ก็อาจจะช้า เพราะเขาชำนาญเรื่องเก่า ยิ่งรู้ลึก ยิ่งเปลี่ยนแปลงยาก เนื่องจากความเคยชิน เพราะนิสัยของคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมรับการเปลี่ยนแปลง การให้ความสำคัญกับบุคลากรจึงเป็นกลไกในการขับเคลื่อนความสำเร็จทางธุรกิจ การสร้างสินค้านั้นมีปริมาณและมูลค่าที่มองเห็นเป็นตัวเลขได้ แต่การสร้างคนไม่สามารถตีเป็นตัวเลขได้ เพราะคนเก่งจะสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้อย่างมากมายมหาศาล

ทุกคนล้วนมีโอกาส เพียงแต่โอกาสจะมาเร็วหรือช้าเท่านั้น การที่ใจสู้ ทุ่มเท ฝ่าฟัน ให้พ้นผ่านวิกฤติ ผ่านปัญหา ยิ่งผ่านมาก จะยิ่งทำให้เก่งมากขึ้น ประสบการณ์หล่อหลอมให้แข็งแกร่ง อย่าเสียเวลากับทฤษฎีมากจนเกินไป ความรู้จากการลงมือทำนั้นดีที่สุด ทางลัดในการทำธุรกิจคือเรียนรู้จากคนเก่ง บางอย่างอาจนำมาใช้กับสถาณการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ไม่ได้  เพียงแต่เป็นไกด์ไลน์ให้ได้เท่านั้น ต้องทำไป แก้ไขไป เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปเรื่อยๆไม่หยุดนิ่ง ไม่หยุดคิดที่จะมองหาโอกาสใหม่ๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ล้มเหลวเพราะอะไร เก็บเรื่องราวต่างๆไว้เป็นบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

สั่งซื้อหนังสือออนไลน์ >> คลิ๊กที่นี่