หลายคนทำธุรกิจ แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง กลับพบว่ายิ่งทำยิ่งเหนื่อย ยิ่งทำกำไรยิ่งหด ที่แย่ไปกว่านั้นคือไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่นั้นเกิดจากอะไร จะจับต้นชนปลายก็ไม่ถูก เอาเป็นว่าใครที่อยากทำหรือกำลังทำธุรกิจทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ต้องเริ่มต้นวางแผนอย่างไร มาหาคำตอบกัน

เริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ ต้องคิดอย่างไร

1.มีวิสัยทัศน์ชัดเจน

วิสัยทัศน์จะเป็นตัวกำหนดสิ่งที่เราจะเป็น ถ้าผู้ประกอบการเองมองภาพของธุรกิจที่กำลังทำอยู่ไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก ส่งผลให้บุคลากรในองค์กรมีมุมมองแตกต่างกันไป แต่ถ้าผู้ประกอบการมีวิสัยทัศน์ว่าอยากเห็นธุรกิจเป็นไปไหนทิศทางไหน ทุกคนก็จะเข้าใจและมีเป้าหมายเดียวกัน นั่นหมายความว่า การทำงานจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

2.กำหนดเป้าหมาย

การกำหนดเป้าหมายขององค์กรเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ช่วงแรกควรแบ่งเป้าหมายออกเป็นระยะสั้นและ ระยะกลาง ระยะสั้นจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จอันรวดเร็วให้กับทุกคน เมื่อบรรลุเป้าหมาย ทุกคนก็จะเกิดกำลังใจ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่กำลังทำนั้นมาถูกทางแล้ว ส่วนระยะกลางก็เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพรวมที่ใหญ่ขึ้นอีกหน่อย  เป้าหมายนั้นสามารถกำหนดได้หลายมิติ สำหรับผู้ประกอบการที่เริ่มต้นทำธุรกิจ ควรกำหนดเป้าหมายง่ายๆจากยอดขายและการรับรู้ของแบรนด์ต่อกลุ่มผู้บริโภค แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าแบรนด์ของเราเป็นที่รู้จัก โดยทั่วไปการรับรู้จะสัมพันธ์กับยอดขาย ถ้าเป้าหมายมุ่งไปที่ยอดขายเพียงอย่างเดียว การทำธุรกิจก็ไม่ต่างจากการเป็นนักล่า ท้ายที่สุดก็จะละเลยในส่วนของการสร้างแบรนด์อย่างน่าเสียดาย

เริ่มต้นธุรกิจออนไลน์ เริ่มจากสินค้าอะไรดี

1.เลือกที่ชอบ

ใครๆก็พูดว่าควรเลือกจากสิ่งที่ชอบ อย่าลืมว่าทุกธุรกิจนั้นไม่ง่าย ไม่ว่าจะขายอะไรก็ตาม ถ้าเริ่มต้นจากความชอบ เราจะอดทนทำได้นาน

2.ลงแข่งในสนามที่ใช่

คนที่ทำธุรกิจสำเร็จ  จะเล่นในเกมส์ที่ตนเองเก่งและถนัดเท่านั้น นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมต้องเลือกลงสนามที่มองเห็นโอกาสที่จะชนะ

3.เก่งแล้ว เจ๋งแค่ไหน

เมื่อรู้แล้วว่าเราเก่งอะไร แค่นี้ยังไม่พอ ต้องคิดต่อว่าเราเจ๋งกว่าคนอื่นอย่างไร ลองคิดให้ได้สัก 4-5 ข้อ คำตอบเหล่านี้จะเป็นการย้อนกลับไปสู่คำถามแรกที่ว่า เราชอบอะไร ถนัดอะไร ทีนี้ก็จะรู้แล้วว่า เราควรทำอะไร

ระบบหน้าบ้าน – หลังบ้าน ของการทำธุรกิจ คืออะไร

1.ระบบหน้าบ้าน

เปรียบเสมือนด้านแรกที่เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้า บุคคลากรคือส่วนสำคัญของระบบนี้ ถือว่าเป็นส่วนที่ยากที่สุด สำหรับการขายของออนไลน์ บุคคลากรต้องมีความพร้อมเรื่องของทักษะ (Skill)  และแนวความคิด  (Mind Set) เพราะเป็นส่วนที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตไปได้

2.ระบบหลังบ้าน

เป็นส่วนที่ผู้ประกอบการ SME ไม่ค่อยให้ความสนใจ ถือเป็นส่วนที่สำคัญมากในการที่ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน องค์ประกอบที่ต้องมี คือ

3.การจัดการข้อมูลต่างๆ

นอกจากข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับลูกค้า ประวัติการสั่งซื้อจะช่วยให้รู้ว่า ลูกค้าคนนั้นมีการซื้อซ้ำหรือไม่ อัตราการซื้อซ้ำเป็นอย่างไร แม้กระทั่งความพึงพอใจในสินค้าและบริการ ข้อมูลพวกนี้ช่วยให้รู้ว่าธุรกิจที่กำลังทำอยู่นั้นมาถูกทางหรือไม่ ควรจะปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างไร หรือลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าแล้วหายไป เราจะทำอย่างไร ซึ่งลูกค้าในแต่ละกลุ่มมีวิธีการพูดคุยที่ไม่เหมือนกัน

4.ความคล่องตัวของข้อมูล

หลายคนอาจจะงงว่าคืออะไร ความคล่องตัวในที่นี้ก็คือ เราสามารถหยิบเอาข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ได้รวดเร็วมากแค่ไหน หลายคนเก็บข้อมูลก็จริง แต่เก็บแล้วสามารถดึงมาใช้ได้ทันทีหรือไม่ เช่น สินค้าคงคลังที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเมื่อ 6 เดือนที่แล้วคืออะไร พอเจอคำถามแบบนี้แล้ว หลายคนไปต่อไม่เป็นเลย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นปัญหาของผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ ทำให้ไม่รู้ว่าจะต้องแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญ สมมติว่า มีสินค้าที่เหลือค้างเยอะ หรือใกล้หมดอายุ เราก็สามารถจัดโปรโมชั่น เพื่อเป็นการระบายสินค้าออก เมื่อต้นทุนถูกระบาย ย่อมหมายถึงกำไรที่ได้กลับมา

5.ระบบบัญชีภายใน

เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการ SME มักไม่ค่อยให้ความสนใจ เน้นแค่ว่าขายของให้ได้ก็พอ แต่บัญชีเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งที่ทำมาทั้งหมดภายในปีนั้น มาถูกทางหรือไม่ ระบบบัญชีภายใน อย่างแรกเลยคือ ควรรู้ว่าต้นทุนของสินค้าหนึ่งชิ้น มีองค์ประกอบอะไรบ้าง เช่น ต้นทุนสินค้าจริง ต้นทุนการดำเนินการ ต้นทุนค่าการตลาด ต้นทุนค่าคอมมิชชั่น พอเราแยกต้นทุนสินค้าออกมาได้หมด เราก็จะรู้กำไร เช่น เดือนนี้อยากมีกำไร 150,000 บาท ก็สามารถคำนวณย้อนกลับไปได้ว่าควรจะขายของทั้งหมดกี่ชิ้น แถมยังช่วยในการคำนวณค่าการตลาดจำนวนพนักงาน เพื่อที่จะสร้างกำไรจำนวนเท่านี้ ไม่เพียงแต่ตัวเลขที่แสดงเท่านั้น ระบบบัญชีภายในยังสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ประกอบการเช่นกัน อย่างน้อยก็รู้ว่าขายของชิ้นนี้ได้กำไรเท่าไหร่  ช่วยให้ง่ายต่อการกำหนดเป้าหมายระยะสั้น เป็นไปตามเส้นทางที่วางไว้

6.การคำนวณราคาสินค้า

ในยุคปัจจุบันบอกได้เลยว่าการที่จะขายสินค้าให้ได้กำไรขั้นต้นหนึ่งเท่าได้นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก สำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจ ต้นทุนสินค้าควรจะอยู่ที่ประมาณ 20% ของราคาขาย อย่าลืมว่ายังมีต้นทุนแฝงอื่นๆ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้ประกอบการต้องจัดการระบบบัญชีภายใน บางครั้งยอดขายเท่าเดิม แต่กำไรเพิ่มขึ้น เพราะสามารถจัดการต้นทุนแฝงบางอย่างได้ เนื่องจากเห็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นกับบัญชีนั่นเอง

7.การจัดการสต็อกสินค้า

กำไรจะมีหรือไม่มี นี้คือตัวกำหนด ขายของดี เงินไปไหนหมด กระแสเงินสดสะดุด เพราะไปจมอยู่กับสต็อกสินค้า ถ้ามัวแต่มุ่งไปข้างหน้า แต่ลืมย้อนกลับมาดูระบบหลังบ้าน ทำงานมาทั้งปี เงินเข้าตลอด แต่มีสินค้าค้างสต็อก เจอของหมดอายุ  ไม่เคยคิดจะเอาออกมาทำโปรโมชั่นเลย เท่ากับว่าที่ผ่านมาเหนื่อยฟรี การที่จะมีกำไร สินค้าคงเหลือต้องเป็นศูนย์เท่านั้น สั่งของมาปุ๊บ ต้องรีบขายออกไปให้หมด

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจออฟไลน์หรือออนไลน์ ต่างประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น เพราะโลกออนไลน์ไม่ใช่ทุกอย่างในธุรกิจ ช่องทางออนไลน์เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยให้การรับรู้ขยายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ท้ายที่สุดแล้วการทำธุรกิจต้องเริ่มจากกฎขั้นพื้นฐาน ที่สำคัญคือการวางแผนให้ถูกต้องตั้งแต่แรก แม้จะสะดุดระหว่างทาง ก็แค่เสียการทรงตัว แต่ไม่ถึงกับล้ม จนไปต่อไม่ได้นั่นเอง

บริการอบรม ให้คำปรึกษา Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัวเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์