บ่อยครั้งมากเลยทีเดียวครับ ที่เพื่อน ๆ เริ่มทำธุรกิจมีเงินทุนอยู่หนึ่งก้อน ไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่นะครับ ไม่มีการวางแผนการใช้จ่ายเงินให้รอบคอบ ทำให้ธุรกิจสะดุดตั้งแต่ก้าวแรกที่เริ่มเดิน

ทำไปเป็นอย่างนั้น เหตุผลเพราะเรา “โฟกัส” เงินทุนไปแค่ส่วนของ สินค้าหรือ บริการ เสียเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีเงินเหลือที่จะไปทำอย่างอื่นสิครับ กลายเป็นว่า ได้สินค้า แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อให้สินค้าขายได้ สุดท้ายก็จม และก็ “เจ๊ง” ในที่สุด

ผมขอแนะนำเพื่อน ๆ ที่ต้องการทำธุรกิจแบ่งเงินทุนให้ชัดเจนดังนี้นะครับ

เงินทุน 4 ส่วน สำหรับเริ่มต้นธุรกิจ มีอะไรบ้าง?

1.ทุนสำหรับสินค้า/บริการ

เป็นก้อนแรกที่ต้องวางไว้เลยนะครับ สำรวจดูว่าสินค้าหรือบริการของเราที่จะผลิตออกมาสู่ตลาดนั้นต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่ จะมากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจที่เราจะทำ

คำแนะนำจากผมคือให้เริ่มจากเล็กที่สุด น้อยที่สุด ทดลองตลาดให้เร็ว และนำมาปรับปรุงเพื่อให้เหมาะกับตลาดก่อนที่จะออกขายจริง

องค์กรใหญ่ ๆ ก่อนที่เขาจะทำการผลิตเขาต้องทำการวิจัยตลาดมีแบบสำรวจต่าง ๆ ต่อมามีการผลิตสินค้ามาให้ทดลองใช้ เพื่อนำไปปรับก่อนที่จะขายจริง

อะไรที่เราพอจะทำได้ในเรื่องการวิจัย หรือ ทำสินค้าทดลองใช้ก่อนควรทำครับ จะได้ไม่กลายเป็นประเภท “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” นะครับ

2.ทุนด้านการตลาด

แทบจะไม่มีคนไหนคิดถึงเงินก้อนนี้เลยแม้แต่น้อยครับ เป็นทุนที่สำคัญเอามาก ๆ นะครับสำหรับความเห็นผม เราต้องคิดให้ได้นะครับว่านี่เรากำลังทำธุรกิจ ไม่ใช่เล่นขายของตอนเด็ก ๆ

สินค้าจะเดินได้ไม่ใช่แค่คุณภาพของมันเอง แต่มันต้องมีการตลาดที่ดีด้วยนะครับ เป็นเรื่องที่ “ยากมาก” หากไม่ใช้เงินเข้ามาเกี่ยวข้องกับการสร้างการรับรู้ นั่นมันก็เป็นหน้าที่ของงบการตลาดครับ

แม้ทุกวันนี้เราจะอยู่ในยุคของออนไลน์ ทุกอย่างดูเหมือนต้นทุนจะต่ำลงมาก แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าจะจริงจังยังไงก็ต้องมีเงินเข้ามาช่วยนะครับ

การเปิดตัวสินค้าใหม่ ทำธุรกิจใหม่ เงินทุนด้านการตลาดในช่วงแรก ผมบอกเลยใช้มากโขเลยทีเดียวนะครับ เป็นไปได้มากเลยครับที่สินค้าผลิต 1-2 ล็อตแรกแทบจะไม่มีกำไรนะครับ หมดไปกับค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์

ดังนั้น “อย่านิ่งนอนใจ” ว่า มีสินค้า บริการแล้วทุกอย่างจบ….หากไม่มีงบการตลาด ผมบอกเลยชาติหน้าตอนบ่าย ๆ ธุรกิจก็ไม่เกิดครับ

3.ทุนด้านการดำเนินการ

ขึ้นรถ ลงเรื่อ ค่าเช่าที่ น้ำมัน ค่าเงินเดือนตัวเอง เงินเดือนพนักงาน ค่าขนส่ง ฯ เหล่านี้ต้องใช้เงินนะครับ อย่าทำเป็นประเภทขายได้แล้วเอามาแปะกับค่าใช้จ่ายพวกนี้นะครับ เพราะตอนแรกมันยังขายไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรหละครับ

ต้นทุนพวกนี้เป็นต้นทุนแฝง ที่พวกเราไม่ค่อยใส่ใจ คิดถึงนะครับ ไม่มีก็ลำบาก ไม่จดไม่จำก็ทำกำไรหายนะครับ มันไม่คุ้มกันนะครับ

ต้นทุนนี้ผมมองว่าเหมือน “น้ำมันรถ” คือ เครื่องชนจะมีประสิทธิ์ภาพดีอย่างไรหากไม่มีน้ำมัน รถก็ขับไม่ได้ ไปไม่ได้ การดำเนินการจึงเป็นเหมือนฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่จะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะ “อยู่” หรือ “ไป” ในธุรกิจนะครับ

4.เงินทุนสำรอง ในการเพิ่มสภาพคล่องอื่น ๆ

สุดท้ายเลย ปรากฏการที่เรียวว่า “ช๊อต” คือเจอเหตุการณ์ไม่คาดคิดทำให้เงินทุนที่เตรียมไว้หมด คือทุกอย่างพอดีแบบขยับอะไรแทบไม่ได้

เมื่อ “ช๊อต” ก็ลำบาก เดินต่อก็ไม่ได้ ถอยก็ลำบาก ประมาณพะอืด พะอม ขมอยู่ในคอ ปล่อยไว้นานยิ่งปานปลาย จุดท้ายก็ต้องปิดกิจการเพราะหางว่าวมันสั้นเกินไป

ต้องเตรียมเงินส่วนนี้ไว้บ้างนะครับ ไม่ใช้ก็ดีไป แต่ถ้ามีโอกาสใช้ก็ถือว่าเป็น “ก๊อกสุดท้าย” ของการสู้นะครับ เรานี้เป็นเงินก้อนสุดท้ายที่เราจะ “สู้” หรือ “ถอย” นะครับ

หากไม่มีก็ จบเห่เลยนะครับ !!!

เงินทุน ทั้ง 4 ก้อน ผมบอกด้วยความจริงใจครับ ว่ายังไงก็ต้องเตรียมครับ แม้เงินเรามีจำกัดแต่ต้องแบ่งสันปันส่วนให้ได้ หรือไม่ก็ต้องมีแผนสำรองทางด้านการเงินให้เรียบร้อยก่อนที่จะลงมือลุยในสนามธุรกิจอย่างจริงจัง

อย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้น เราไม่ได้เล่นขายของเหมือนตอนเด็ก ๆ นี่คือ เกมส์ธุรกิจ ความเสียหายไม่เพียงแค่เงินทองที่เราลงไป มั่นอาจหมายถึงอนาคตของคนที่อยู่ข้างหลังเราอีกหลายชีวิตนะครับ

อย่าทำเป็นเล่นกับเรื่องการ “ลงทุน” เพราะผิดพลาดขึ้นมามันไม่คุ้มเลยนะครับ