การขอสินเชื่อธุรกิจเป็นการก่อหนี้ประเภทหนี้ดีหากสร้างโอกาสพัฒนาธุรกิจเจริญก้าวหน้า สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถจ่ายคืนสถาบันการเงินจนครบสัญญา ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก
หลายเหตุผลผู้ประกอบการใช้บริการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ อย่างเช่น
- จัดตั้งธุรกิจ
- ขยายธุรกิจ
- ปรับปรุงธุรกิจ
- ยกระดับมาตรฐานการจัดการธุรกิจ
- เพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ
- อื่น ๆ
ซึ่งเป็นการพัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้าโดยใช้เงินทุนจากสถาบันการเงินเป็นส่วนขับเคลื่อน โดยผู้ประกอบการจ่ายเงินต้นคืนเป็นงวดพร้อมดอกเบี้ยจนครบสัญญา
ในการอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงินพิจารณาข้อมูลหลายด้านประกอบกันเพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการจ่ายคืน ดังนั้นผู้ประกอบการควรเตรียมข้อมูลและเอกสารต่าง ๆ ให้พร้อมเพื่อยื่นให้กับสถาบันการเงิน ตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
ขั้นตอนในการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ
1. เตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อธุรกิจ
เป็นขั้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อเพื่อธุรกิจของสถาบันการเงินต่าง ๆ ว่ามีเงื่อนไขอย่างไร เพื่อนำมาพิจารณาตัดสินใจเลือกสถาบันการเงิน
- วงเงินสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ขอให้พอดีกับเป้าหมายในการขยายธุรกิจ
- ระยะเวลาผ่อนชำระ นำรายได้ ค่าใช้จ่ายมาคำนวณความสามารถในการผ่อนแต่ละเดือน ทำให้ทราบระยะเวลาผ่อนชัดเจน
- อัตราดอกเบี้ย เปรียบเทียบดอกเบี้ยของแต่ละสถาบันการเงิน จะได้ทราบดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้แต่ละสถาบันการเงินตลอดสัญญา
- หลักทรัพย์ประกัน สินเชื่อเพื่อธุรกิจส่วนใหญ่ใช้หลักทรัพย์ประกัน ผู้ประกอบการควรเลือกหลักทรัพย์ที่เหมาะสมกับสินเชื่อที่ยื่นขอ
- ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการปิดบัญชี ค่าธรรมเนียมติดตามทวงถามหนี้ ค่าธรรมเนียมชำระช้า เป็นต้น
ที่สำคัญ ผู้ประกอบการต้องเตรียมแผนธุรกิจประกอบด้วยจะทำให้สถาบันการเงินทราบลักษณะของธุรกิจ กลุ่มลูกค้าหลัก รายรับ รายจ่าย ผลกำไร แผนงานในอนาคต
แผนธุรกิจที่ดีต้องมีวิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย แผนดำเนินการ แผนบริหารจัดการ แผนการตลาดและแผนการเงิน มีเนื้อหาตรงประเด็น กระชับได้ใจความ บุคคลภายนอกเข้าใจอย่างชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ที่ธุรกิจต้องการประสบความสำเร็จในอนาคต โดยสถาบันการเงินใช้แผนธุรกิจพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของโครงการ มูลค่าการลงทุนทั้งหมด การจัดทำแผนสำรองเพื่อความยืดหยุ่น
ผู้ประกอบการควรจัดทำแบบจำลองเหตุการณ์ทางการเงินในกรณีเลวร้ายที่สุดไว้ด้วยเพื่อสถาบันการเงินพิจารณา หากธุรกิจประสบเหตุการณ์เลวร้ายที่สุด ยอดขายเป็นอย่างไร ผู้ประกอบการสามารถชำระเงินคืนสถาบันการเงินอย่างไร
2. กรอกแบบขอสินเชื่อและแบบธุรกิจ
เป็นขั้นตอนกรอกข้อมูลในแบบยื่นกู้ของสถาบันการเงินโดยผู้ประกอบการต้องใช้ข้อมูลเป็นจริง มีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจมากที่สุด
3. เจ้าหน้าที่พิจารณาอนุมัติสินเชื่อธุรกิจ
เป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการ สถานภาพธุรกิจ ราคาประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน ความถูกต้องของเอกสารเพื่อนำมาวิเคราะห์โอกาสอนุมัติสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
- เช็คเครดิตบูโร จากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติเพื่อตรวจสอบประวัติการขอสินเชื่อ การได้รับอนุมัติสินเชื่อ และการชำระเงินสินเชื่อย้อนหลังของผู้ประกอบการที่ยื่นกู้
- เยี่ยมชมกิจการ ดูภาพรวมการดำเนินงาน โอกาสแผนงานในอนาคตรวมทั้งปัญหาอุปสรรคที่เกิด
- ประเมินราคาหลักประกัน ทราบตำแหน่ง ขนาด สภาพของหลักประกันเพื่อเป็นข้อมูลประเมินราคาที่ถูกต้อง
- ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร เพื่อความถูกต้อง ครบถ้วน
- วิเคราะห์สินเชื่อและรับราคาหลักประกัน นำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อธุรกิจ
4. แจ้งผลการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อธุรกิจ
สถาบันการเงินจะติดต่อกลับเพื่อแจ้งผลการอนุมัติสินเชื่อเพื่อธุรกิจภายใน 1-3 เดือน และนัดวันทำสัญญา ประกอบด้วยสัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง
5. ทำสัญญาสินเชื่อเพื่อธุรกิจ
สถาบันการเงินและผู้ประกอบการร่วมทำสัญญากู้เงินและสัญญาจำนอง ณ สำนักงานที่ดินในเขตท้องที่ของหลักทรัพย์ประกันจดทะเบียน กรณีมีผู้ค้ำประกันต้องร่วมลงนามในสัญญาทุกฉบับ และผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามสถาบันการเงินแจ้ง
นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องเตรียมเอกสารสำคัญส่วนตัว ธุรกิจและรายได้ และผู้ค้ำประกัน ให้ครบถ้วนตามระเบียบของสถาบันการเงิน ดังนี้
เอกสารที่ต้องใช้ในการขอสินเชื่อธุรกิจ
1. กรณีบุคคลธรรมดา
- สำเนาทะเบียนการค้า หรือเอกสารทางการค้าอื่น ๆ
- สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้กู้ คู่สมรสผู้กู้ ผู้ค้ำประกัน และ คู่สมรสผู้ค้ำประกัน
- เอกสารสรุปรายการเดินบัญชี(Bank Statement) ของธนาคารหลักที่ใช้บริการย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน
- เอกสารแสดงรายได้กิจการ เช่น งบการเงินภายใน หรือเอกสารทางการค้าที่สามารถตรวจสอบได้อย่างน้อย 6 เดือน
- หนังสือยินยอมให้ธนาคารตรวจสอบข้อมูล เครดิตบูโร
- สำเนาเอกสารสิทธิหลักประกัน
2. กรณีนิติบุคคล
- หนังสือรับรองบริษัท ซึ่งออกโดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์และบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (ฉบับล่าสุด)
- สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ
- สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ถือหุ้น / กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม / ผู้ค้ำประกัน / ผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)
- งบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ย้อนหลัง 3 ปี
- เอกสารสรุปรายการเดินบัญชี(Bank Statement) ของธนาคารหลักที่ใช้บริการย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน
- หนังสือยินยอมให้ธนาคารตรวจสอบข้อมูล เครดิตบูโร
- สำเนาเอกสารสิทธิหลักประกัน
การขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจเป็นการก่อหนี้ประเภทหนี้ดีหากสร้างโอกาสพัฒนาธุรกิจเจริญก้าวหน้า สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สามารถจ่ายคืนสถาบันการเงินจนครบสัญญา ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก แต่หากไม่เป็นตามแผน หนี้ก็คือหนี้ สร้างภาระให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจแบกดอกเบี้ยเกินความจำเป็นส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อธุรกิจ ผู้ค้ำประกัน และทรัพย์ประกันได้
ดังนั้นผู้ประกอบการควรขอสินเชื่อธุรกิจด้วยวัตถุประสงค์ชัดเจน ทั้งจัดตั้งธุรกิจ ขยายธุรกิจปรับปรุงธุรกิจ ยกระดับมาตรฐานการจัดการธุรกิจหรือเพิ่มสภาพคล่องธุรกิจ ฯลฯ พร้อมชำระหนี้และสามารถพัฒนาธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย
อีกทั้งควรวางแผนการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจให้รอบคอบเพราะมีขั้นตอนซับซ้อน พิจารณาใช้เวลานาน 1-3 เดือน และเตรียมเอกสารต่าง ๆ แผนธุรกิจซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญให้ครบถ้วน ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ รายได้มั่นคง มีศักยภาพชำระเงินคืนในอนาคตและมีหลักทรัพย์ค้ำประกันจะช่วยให้สถาบันการเงินอนุมัติเร็วขึ้น
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME