ในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ แน่นอนว่าเจ้าของกิจการส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าสินค้าที่ขายมีต้นทุนกี่บาท กำไรต่อชิ้นเท่าไหร่ สินค้าตัวไหนขายแล้วได้กำไรดีที่สุด เมื่อกิจการขยายใหญ่โตขึ้น จำนวนสินค้าเยอะขึ้น จำเป็นจะต้องมีระบบบัญชีที่ดี แต่พอพูดถึงบัญชี กลับกลายเป็นเรื่องที่ทำเอาผู้ประกอบการปวดหัวไม่น้อย แต่อย่าลืมว่าบัญชีเป็นเรื่องที่สำคัญมากไม่แพ้องค์ประกอบอื่นในการทำธุรกิจ ทำให้รู้ว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจเป็นอย่างไร บทสัมภาษณ์คุณภีม เพชรเกต CEO และ Founder PEAK  จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านบัญชี สามารถเข้าใจบัญชีได้ง่ายขึ้น มาดูกันว่า มีบัญชีพื้นฐานอะไรบ้างที่ผู้ประกอบการต้องรู้

การทําบัญชีสําหรับ SMEs  ต้องรู้

ผู้ประกอบการบางท่านไม่สนใจเรื่องบัญชี มักจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักบัญชี ก่อนที่จะเรียนรู้เรื่องบัญชีพื้นฐาน อยากให้ลองเปลี่ยนทัศนคติต่อบัญชีเสียใหม่ เพราะท้ายที่สุดแล้วตามกฎหมาย ผู้ที่ต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับงบบัญชีของกิจการก็คือ ผู้ประกอบการนั่นเอง การที่ไม่รู้บัญชี ไม่ใส่ใจ ปล่อยปละละเลย ถือเป็นอันตรายต่อธุรกิจ เช่น จ่ายภาษีผ่านทางสำนักงานบัญชี โดยที่ไม่ได้สนใจรายละเอียดสักเท่าไหร่ บางครั้งก็อาจไม่ได้รับใบเสร็จรับเงิน จึงควรที่จะติดตามเอกสารเหล่านี้ทุกครั้ง บางกรณีที่นักบัญชีรับเงินจากเราไปแล้ว แต่ไม่ได้นำไปยื่นเสียภาษีให้ มารู้ตัวอีกทีตอนที่สรรพากรเรียกสอบ เรื่องบัญชีพื้นฐานจำเป็นต้องรู้ไว้บ้างเพื่อไม่ให้ใครมาเอาเปรียบ

การทําบัญชีสําหรับ SMEs สามารถแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. บัญชีบริหาร เป็นการทำบัญชีเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับธุรกิจ ซึ่งไม่ได้มีกฏเกณฑ์อะไรมาควบคุม เพื่อที่เจ้าของกิจการใช้ดูผลประกอบการ รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร-ขาดทุน
  2. บัญชีการเงิน ธุรกิจที่มีการกู้ยืมเงิน บัญชีส่วนนี้ใช้สำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร ถ้าธุรกิจเรามีนักลงทุน ข้อมูลนี้จะใช้ในการสื่อสารผลประกอบการต่างๆ กับนักลงทุน เพื่อเจ้าหนี้ (ธนาคาร) หรือนักลงทุน (ผู้ถือหุ้น) พิจารณาการลงทุน
  3. บัญชีภาษีอากร จัดทำเพื่อใช้สำหรับเสียภาษี เพื่อสรรพากรเก็บภาษี

หลักคิดสำคัญเกี่ยวกับการจัดทำบัญชี คือ เงินบริษัท ไม่ใช่เงินส่วนตัว ผู้ประกอบการบางคนนำเงินจากการทำธุรกิจมาใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่ควร เพราะเป็นเงินคนละส่วนกัน ควรแยกเงินส่วนตัวออกจากเงินบริษัทให้ชัดเจน แยกจัดการในแต่ละบัญชีกัน เพื่อความชัดเจนทั้งในเรื่องกฎหมาย และความรับผิดชอบ ผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มธุรกิจ แนะนำว่าควรตั้งเงินเดือนให้ตัวเองด้วยตามความเหมาะสม แม้ไม่อยากให้เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่าย แต่อย่าลืมว่าการทำงานต้องลงแรง ลงเงิน และเวลา ถ้าใช้บ้านเป็นออฟฟิศก็ควรคิดค่าเช่าเช่นกัน

เพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ ผู้ประกอบการมักจะจ้างสำนักงานบัญชี จึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เจ้าของกิจการกับสำนักงานบัญชีนั้นมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน บ่อยครั้งที่ทำให้มีความเห็นต่างกัน พอคุยกับนักบัญชีแล้วรู้สึกว่าทำไมไม่เป็นไปตามที่คิด สำนักงานบัญชีบางแห่งก็ไม่รู้จักภาษีบางตัว ก่อนอื่นผู้ประกอบการต้องเข้าใจความต้องการของตัวเองก่อน เช่น อยากให้ทำบัญชีพื้นฐานทั่วไป อยากให้ตรวจสอบความถูกต้องของบัญชี อยากให้ตรวจสอบความถูกต้องของภาษี ถ้าเกิดข้อผิดพลาดด้านภาษีให้ใครรับผิดชอบ? หรือมีความต้องการอะไรเป็นพิเศษ อย่างการจด BOI  ต้องการใช้โปรแกรมอะไรเป็นพิเศษ ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ คือ ผู้ประกอบการไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง กลายเป็นว่าเมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ ค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีก็เพิ่มขึ้นด้วย จึงต้องคุยกันให้เข้าใจกันในเรื่องของราคา และความต้องการของเจ้าของกิจการตั้งแต่แรกก่อนที่จะเซ็นสัญญา เพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาผิดใจกันในภายหลัง

สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ที่ยังไม่มีความพร้อมหรือความต้องการในการจ้างนักบัญชี โปรแกรมหรือแอปพลิเคชั่นสำหรับทำบัญชี ก็เป็นอีกทางเลือกที่ควรนำมาใช้กับธุรกิจ อย่างน้อยๆ ก็ไว้บันทึกข้อมูลการเงินต่างๆ แต่ละโปรแกรมอาจไม่ได้เหมาะกับทุกธุรกิจ ควรเลือกฟังก์ชั่นการทำงานที่ตอบโจทย์ธุรกิจของเรา พิจารณาในเรื่องของแนวคิดการพัฒนา การบริการ และราคา ซึ่งค่าใช้จ่ายในการทำบัญชีสำหรับธุรกิจ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการมีความพร้อมในการลงทุนมากน้อยเท่าไหร่

หากทำผิด จะโดนปรับอะไรบ้าง

กรณีที่เกิดความผิดพลาดในการชำระค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจเกิดจากความไม่รู้ การละเลย หรืออะไรก็ตามแต่หากทำผิดพลาด จะโดนปรับอะไรบ้าง

ภาษี เป็นเรื่องสำคัญที่คนทำธุรกิจต้องรู้

1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT)

สำหรับธุรกิจที่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม การที่จะจดภาษีมูลค่าเพิ่ม มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้าน/ปี โดยปกติจะถูกบังคับให้จดทะเบียน VAT  และจดเองโดยสมัครใจ ส่วนจะจดหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายของกิจการ ส่วนใหญ่มี VAT หรือไม่  ถ้าต้นทุนมี VAT แล้วจดทะเบียน สามารถขอคืนภาษีได้ หากกระทำผิด จะโดนปรับดังนี้

  • เบี้ยปรับอาญา 300 – 500 บาท
  • เบี้ยปรับ 2% – 200% ของมูลค่า VAT ตรงนี้มีค่าปรับสูงมาก
  • เงินเพิ่ม5% กรณีที่ยื่นภาษีช้า

2.ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย

  • เบี้ยปรับอาญา 100 – 200 บาท
  • เงินเพิ่ม5%

ภาษีบางตัวที่นักบัญชีบางท่านไม่คุ้นเคย เช่น ภาษีการค่าระหว่างประเทศ อย่างนี้ก็ต้องระวัง ไม่งั้นอาจเสียค่าปรับได้

งบการเงิน

หากไม่ได้ยื่นงบการเงิน หรือยื่นงบการเงินล่าช้า กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดอัตราค่าปรับตามระยะเวลาที่ยื่นงบการเงิน หากยื่นงบการเงินล่าช้า อัตราค่าปรับก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

บัญชีพื้นฐานเป็นเรื่องที่เจ้าของกิจการควรเรียนรู้เอาไว้ การทำบัญชีคือ สิ่งที่สำคัญมากต่อธุรกิจ ช่วยให้บริหารจัดการเงินได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เห็นสัญญาณความผิดปกติ ก่อนที่ปัญหาบัญชีรายจ่ายจะเกิดขึ้น ระบบบัญชีที่ดี ข้อมูลถูกต้อง และครบถ้วน ช่วยให้วางแผนการตลาดเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยประกอบการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนหรือเจ้าของกิจการเอง แม้เจ้าของธุรกิจไม่มีพื้นฐานความรู้ทางบัญชีมาก่อน แต่การที่พยายามทำความเข้าใจ และไม่ได้ละเลยเรื่องบัญชีนั้น ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง