ธุรกิจรูปแบบ Startup (สตาร์ทอัพ) กำลังถูกพูดถึงและได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในขณะเดียวกันก็มีธุรกิจ SME เริ่มผันตัวเองสู่การเป็นสตาร์ทอัพ แต่ก็ยังมีหลายคนที่อาจสับสนระหว่างสองธุรกิจและมองว่าเป็นสิ่งเดียวกันอยู่บ่อยครั้ง จากบทสัมภาษณ์ คุณกิตตินันท์ อนุพันธ์ CEO บริษัท Anywhere 2 go และผู้ก่อตั้ง Claim Di  จะช่วยไขข้อสงสัยในส่วนนี้กันว่าธุรกิจ Startup กับ SME มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร แนวคิดแบบใดที่ช่วยให้ธุรกิจ SME เติบโตอย่าง Startup

SME กับ STARTUP ต่างกันอย่างไร ?

SME รูปแบบธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินทุนและจำนวนคนที่เยอะมาก ก็สามารถดำเนินธุรกิจได้ มักจะเริ่มต้นทำธุรกิจที่มีอยู่แล้วด้วยไอเดียที่แตกต่าง ใช้เงินทุนของตัวเองหรือกู้ผ่านธนาคาร ส่วน Startup เริ่มต้นธุรกิจจากไอเดีย เพื่อแก้ปัญหาความต้องการบางอย่างของผู้คน มีการระดมทุนจากนักลงทุน ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดได้จากเงินของนักลงทุน ในขณะที่ SME ต้องดึงเอากำไรที่ได้มาลงทุนเพิ่ม ส่วนอัตราการเติบโตของสตาร์ทอัพอยู่ที่ปีละ 300% การเติบโตของ Startup จะมีปริมาณที่สูงกว่า SME มาก การที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น ระบบหลังบ้านต้องมีทีมงานที่แข็งแกร่ง มีระบบ IT ซัพพอร์ตตลอดเวลา เพราะสตาร์ทอัพต้องคอยแก้ปัญหาในแต่ละวัน

Startup ทำไมต้องใช้เงินจากนักลงทุน?

ถ้าอยากให้ธุรกิจโต ก็ต้องทำโปรโมชั่น ตัวอย่างเช่น ธุรกิจ SME เดือนนี้ขายได้ 1 ล้านบาท กำไร 1 แสนบาท เดือนถัดไปขายได้ 1.2 ล้าน กำไร 1.2 แสนบาท กำไรที่ได้ก็จะเก็บเอาไว้หรือเดือนไหนที่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะได้มีเงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ  ในส่วนของ Startup นั้น ระดมทุนเพื่อมาจ่ายค่าดำเนินการทั้งหมด เช่น เงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าออฟฟิศ ค่าขนส่ง เป็นต้น สมมติว่า ต้นทุนการทำธุรกิจอยู่ที่ 9 แสนบาท ทำยอดขายได้ 1 ล้านบาท ธุรกิจจะระดมทุนให้พอต่อค่าใช้จ่าย 9 แสนบาท เป็นระยะเวลา 18 เดือน วิธีการของสตาร์ทอัพคือ ในเมื่อได้เงิน 9 แสนบาทในทุกๆ เดือนอยู่แล้ว สตาร์ทอัพก็จะเอาเงินที่มีอยู่ทั้งหมด 1 ล้านบาททุ่มไปกับการทำโปรโมชั่น หากทำต่อไปเรื่อยๆ แล้วยอดขายโตขึ้น เงินที่ทำโปรโมชั่นก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นกัน เอากำไรมาทำทุนต่อนั่นเอง แล้วทำไมต้องเป็น 18 เดือน? เหตุผล คือ นักลงทุนจะให้ทดลองทำธุรกิจตามรูปแบบที่กล่าวมาตั้งแต่เดือนแรกจนครบหนึ่งปี หากมียอดขายเติบโตขึ้น 300% เท่ากับว่าเหลือเวลาอีก 6 เดือน ในการที่จะหานักลงทุนรายใหม่มาลงทุนในจำนวนเงินที่มากกว่า

หลักการทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต่างจาก SME คือ เร่งสปีดเต็มที่ในช่วงแรก ทำให้ลูกค้าซื้อสินค้าจากเราให้ได้ โดยที่ไม่ไปซื้อกับรายอื่น ถึงแม้ว่าจะลดโปรโมชั่นลง ยอดขายอาจจะตกลงมา แต่ธุรกิจก็ยังอยู่ได้  เมื่อถึงเวลานั้นบริษัทอาจจะเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว นักลงทุนก็เข้าไปขายหุ้นในวันที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งนักลงทุนต้องเชื่อก่อนว่าบริษัทจะทำกำไร จึงจะกล้าลงทุน เชื่อในตัว CEO และตลาดใหญ่พอที่จะสามารถปั่นตัวเลขขึ้นไปได้ ส่วนธุรกิจที่ทำไม่สำเร็จ ก็จะเจ๊งตั้งแต่ระดมทุนรอบแรกแล้ว เพราะนักลงทุนไม่ได้หวังในผลกำไร หรือเงินปันผล แต่คาดว่าเงินที่ลงทุนไปนั้น เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

สำหรับ SME ที่มีเงินทุนอยู่แล้ว หากเทียบกันกับเงินลงทุนที่ได้จากนักลงทุน อย่างหลังจะรู้สึกว่ากล้าใช้เงินมากกว่า นี่ก็เป็นอีกความแตกต่างระหว่าง Startup กับ SME เพราะ SME ใช้เงินตัวเอง ต่อให้มีเงินเยอะ ก็ยังรู้สึกว่าไม่กล้าใช้อยู่ดี บางท่านก็ต้องไปกู้เงินมาทำธุรกิจ แต่ถ้าเข้าใจโมเดลนี้ กล้าที่จะเสี่ยง ก็กล้าที่จะใช้เช่นกัน แต่ต้องใช้เงินให้ถูกวิธี ไม่ใช่ว่าทุ่มเงินทั้งหมดไปกับการทำโปรโมชั่น

แนวคิดทำธุรกิจ SME อย่างไรให้โตไวอย่าง Startup ?

ถ้าพูดถึงการเติบโตในผลประกอบการ แน่นอนว่ามาตรฐานการเติบโตระหว่าง Startup และ SME ย่อมต่างกันอย่างมาก ด้วยความที่ SME มีข้อจำกัดด้านการเติบโต จึงไม่สามารถเติบโตได้รวดเร็วเท่าสตาร์ทอัพ การที่ธุรกิจ SME ไม่สามารถผลักดันให้ธุรกิจที่ทำอยู่มีรายได้เข้ามาแบบ Passive Income เท่ากับว่าเรายังต้องคิดเรื่องที่จะหาเงินเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ธุรกิจจึงเติบโตมากกว่าที่เป็นอยู่ไม่ได้ ต้องหาให้เจอว่าสินค้าหรือบริการใดของธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้แบบ Passive Income และมีจำนวนลูกค้าหรือผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น

อยากทำธุรกิจ SME ให้เติบโตไว ต้องคิดให้ได้อย่าง Startup  ต้องปรับตัวให้ไว อะไรที่คนอื่นทำไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้ แน่นอนว่าต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะ หากเจอไอเดียที่น่าสนใจ หรือสามารถต่อยอดจากธุรกิจที่ทำอยู่ได้ ลองศึกษาดูว่าจะทำอย่างไรต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการ SME ต้องกลับมาดูก่อนว่าในกลุ่มธุรกิจประเภทเดียวกัน เราเชี่ยวชาญในธุรกิจที่ทำอยู่แล้วหรือไม่ ในตลาดมีผู้เล่นกี่ราย ธุรกิจของเราอยู่อันดับที่เท่าไหร่ เข้าใจโมเดลในการเติบโตมากน้อยแค่ไหน หารูปแบบในการเติบโตเจอหรือยัง ต้องมี Business Model ที่แตกต่างไปจากเดิมที่เคยทำอยู่ เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้กลายเป็น Passive Income เพื่อมีรายได้เข้ามาตลอดเวลา จัดการในส่วนของ operation ให้ได้ก่อน ถ้ามองเห็นความเป็นไปได้ มีโอกาสที่ธุรกิจจะเติบโต ให้ลงมือทำไปก่อน แล้วค่อยๆ ปรับระบบหรือเทคนิคต่างๆ ส่วนด้านการลงทุนนั้น สามารถนำแนวคิดนี้ไปนำเสนอแก่นักลงทุนได้ หากนักลงทุนเล็งเห็นความสามารถว่า ถ้าบริษัทมีเงินลงทุนเยอะกว่านี้ ก็น่าจะเติบโตได้มากกว่านี้ ธุรกิจที่ทำอยู่ก็อาจมีโอกาสโตได้อย่างสตาร์ทอัพ ขอแค่กล้าที่จะคิดและลงมือทำอย่างถูกต้อง!

SME กับ STARTUP ต่างกันอย่างไร  ? ทั้ง ธุรกิจ Startup และ SME ต่างก็มีรูปแบบและความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด สำหรับผู้ประกอบการ SMEการรู้ถึงแนวทางที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจทั้งสองประเภทนั้น ก็เพื่อนำแนวคิดไปปรับใช้กับธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยให้การพัฒนาธุรกิจทำได้ง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น