เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนา “เพิ่มยอดขาย ขยายตลาด”  มีวิทยากรหลักทั้งหมด 3 ท่านคือ

1.อาจารย์ ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย  : กลยุทธ์การแข่งขันเพื่อความอยู่รอด Competitive Strategy

2.คุณชาคริต จันทร์รุ่งสกุล :เทคนิคการสร้าง Vision & Business Model

3.คุณณัฐพัชญ์  วงษ์เหรียญทอง :เทคนิคการสร้าง Content Strategy & Brand Story

ในรายชื่อวิทยากรไม่มีชื่อคุณ ป้อม ภาวุธ อยู่เลยครับ สัมมนาเริ่มจริง ๆ ประมาณ 13.30 พิธีกรเปิดดำเนินรายการ แต่งานนี้ผมโผล่ไปตั้งแต่ช่วง 10.30 เพื่อไปดูการออกบูธของธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่าง ๆ ทางด้านการทำการตลาดออนไลน์ และบริการในการเพิ่มความคล่องตัวของการทำธุรกิจ

ไม่ว่าจะเป็นบริการเว็บไซต์ การทำโฆษณา หรือการขนส่ง ทั้งหมดรวมมาอยู่ในงานนี้ ได้พูดคุยกับหลายบูธทีเดียว

สัมมนา “เพิ่มยอดขาย ขยายตลาด” วิทยากร เซอร์ไพรส์ (ตัวแถม คุณป้อม บอกอย่างนี้) เป็นคุณป้อม ภาวุธ ผู้ก่อตั้ง Tarad.com ซึ่งปัจจุบันเป็นบริษัทในเครือของ E-frastructure บริษัทแม่ที่มีบริษัทลูกอีกหลายบริษัท รวมทั้ง Compare.asia ผู้จัดงานในครั้งนี้ด้วย เรียกว่าคุณป้อม เป็น Big Boss ของบริษัทในเครือ

ประเด็นที่คุณป้อม บรรยาย ผมจับประเด็นได้2  เรื่องหลัก ๆ ดังนี้ครับ

1.ผลกระทบของการซื้อ Lazada จาก alibaba

PomPawoot4

การเข้ามาของรุกคืบตลาดค้าปลีกออนไลน์ในไทย รวมถึงเอเชียผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ของ Lazada จากยักษ์ใหญ่แดนมังกร Alibaba เป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ค้าในประเทศจีนมีโอกาสนำสินค้าต่าง ๆ เข้ามาขายในไทยมากยิ่งขึ้น  (ปัจจุบันก็มากอยู่แล้ว) ส่งผลให้ผู้ที่ทำธุรกิจประเภท Dropship หรือ นำเข้าจากจีนต้องปรับเปลี่ยนวิธีการขายหากเปลี่ยนไม่ได้ก็ตายสถานเดียว

ความเห็นส่วนตัวผม เรื่องนี้คงไม่ใช่แค่สินค้าที่จะทะลักเข้ามานะครับ ยังมีมิติในเรื่องของ ระบบการจ่ายเงินอย่าง alipay อีกซึ่งตอนนี้ก็เริ่มเข้ามาบ้างแล้วตามแหล่งท่องเที่ยว

ใครจะไปรู้อนาคตใครจะซื้อสินค้าบน Lazada ต้องจ่ายเงินผ่าน Alipay แล้วเงินเราที่จ่ายมันไปอยู่ที่ไหนกันหว่า ? ภาษีจะเข้ารัฐไหมเอ่ย ?

มีเรื่องให้สนุกกันอีกเยอะเลยทีเดียวครับกับเรื่องของ Alibaba ในหน้าตาของ Lazada

2.ทางรอดของ SME ไทยในช่วงการเปลี่ยนแปลงนี้..!!!

PomPawoot1

จะทำอย่างไรสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้ จะทำอย่างไรในสภาพการแข่งขันที่หนักหน่วงทั้ง ภายในประเทศและจากต่างประเทศ

1.เพิ่มช่องทางการขาย

  • ต้องนำธุรกิจขึ้นออนไลน์ทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์,Market place,Social Commerce ฯ
  • ทำตลาดให้คนเข้ามาหาไม่ใช่แค่รอให้ลูกค้ามาหา ต้องทำทั้งรุกและรับ
  • เปิดหูเปิดตา ไปดูงานต่างประเทศบ้าง ไปดูโลกภายนอกบ้างว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว

     2.เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

  • นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ Mobile Phone,Application หรือ เทคโนโลยีช่วยการผลิต ,ระบบบริหารจัดการต้นทุน บัญชีต่าง ๆ
  • ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ลดวิธีการที่อืดอาด ไม่เกิดประโยชน์ ลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก เพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกิจ
  • หาคนรุ่นใหม่เข้ามาในองค์กรบ้าง อย่ายึดติดอยู่กับคนเดิม ๆ หรือคนในครอบครัวหัวเก่า เพราะอาจจะทำให้ล่มกันทั้งขบวน ต้องทำใจรับคนใหม่ ปรับสมดุลเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้
  • ต้องมีการตั้งเป้าหมายกำหนด KPI เพื่อนำมาวัดผลการดำเงินการ ในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าการผลิต การขาย การบริการลูกค้า เหล่านี้ต้องเริ่มทำให้เป็นระบบ

     3.เพิ่มความรู้ให้กับตัวเองและทีม

  • อ่านให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ ebook หรือ e-magazine ความรู้ทั้งในและต่างประเทศ
  • ส่งตัวเองและทีมไปหาความรู้จากสัมมนา ฝึกอบรมเฉพาะด้านที่จำเป็น
  • ถ้าไม่มี input ความรู้ใหม่ เราก็ไม่สามารถผลิต output ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือทางรอดธุรกิจได้

     4.ลงมือทำ

เป็นหัวใจสำคัญของทุกสิ่งอย่าง จะเจอปัญหาอุปสรรคบ้าง ก็ยังดีว่ามัวแต่นั่งมโนว่าจะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ไม่ได้ทำได้แก้ สุดท้ายเมื่อภัยคุกคามเข้ามาถึงตัว ก็เอาตัวไม่รอด ธุรกิจก็เจ๊งไปในที่สุด

บทสรุปความเห็นเถ้าแก่ใหม่

PomPawoot3

ผมว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเรามักจะบ่นกันว่าเศรษฐกิจไม่ดี สินค้าขายออกยาก เงินทองเริ่มไม่ค่อยคล่องเหมือนเก่า

แต่เชื่อไหมครับมีคนบางกลุ่มที่ยังขายดิบขายดี และที่สำคัญมีในทุกวงการนะครับ รู้ไหมทำไมเขาขายดี คำตอบหนึ่งคือเขาค้นพบช่องทาง และวิธีการใหม่ ๆ รวมถึงเขาผลิตสินค้าใหม่ ๆ เพื่อให้สอดรับสภาพเศรษฐกิจ และรูปแบบการใช้ชีวิตของคนปัจจุบัน

ข้าวราดแกงทั่วไปอาจจะเริ่มขายไม่ดีนัก แต่กลุ่มอาหารสุขภาพ ข้าวเพื่อสุขภาพ กลับขายกันจนผลิตไม่ทัน เป็นไงหละครับ โลกมันปรับเปลี่ยนขืนเรายังดื้อด้านไม่ปรับปรุงก็มีแต่จะเจ๊ง

รถ Taxi บ่นกับอุ๊ปไม่ค่อยมีคนใช้บริการ แต่กลับกัน Uber กลับมียอดขายเติบโตอย่างมากมาย แล้วจะทำกันอย่างไรต่อไป

ไม่ว่ายุคเศรษฐกิจแบบไหน สิ่งที่คนที่ต้องแพ้ออกไปจากสนามธุรกิจ คือคนที่ไม่รู้จักปรับตัว หรือปรับตัวไม่ทัน  จะมาบ่น มัวพร่ามเรียกหารูปแบบอะไรเดิม ๆ มันคงไม่ได้เสียแล้วหละครับ โลกมันวิ่งไปเร็วเกินกว่าที่เราจะกลับไปอยู่ในเรื่องวันวาน

4 ข้อที่คุณป้อม นำมาพูดผมเข้าใจว่าทุกก็ทราบอยู่ว่าต้องทำอะไรแต่ประเด็นคือ “รู้แล้วไง” หรือ “รู้ไปงั้น ๆ “

จริง ๆ นะครับ

หลายคนได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง หลายคนได้ฟังแต่ไม่ได้คิด หลายคนได้คิดแต่ไม่ได้ลงมือทำ หลายคนลงมือทำแต่แล้วก็ไม่ทันกาล

ผมฝาก 4 แนวคิดนี้เป็นแนวทางให้พวกเราเรียนรู้และนำมาปรับใช้กับธุรกิจนะครับ

ขอบคุณป้อม ภาวุธ ที่ขุดประเด็นเหล่านี้มาตอกย้ำให้กับ SME ได้ตระหนักกันครับ