เป็นที่ทราบกันดีว่า วิกฤตโควิด 19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงอย่างน่าใจหาย แต่ยังมีธุรกิจ (ที่ปรับตัวทัน) สามารถเติบโตท่านกลางวิกฤตนี้ได้ คือธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ จากการที่ร้านอาหารถูกปิด ทางรอดเดียวคือต้องขายแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น ประกอบกับผู้ให้บริการรับส่งอาหารหลายๆ เจ้า ไม่ว่าจะเป็น Lineman, Grabfood , Foodpanda เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ทำให้ค่าจัดส่งถูกลงมาก และยังมีอาหารให้เลือกสั่งได้สารพัดตั้งแต่อาหารสตรีทฟู้ด อาหารทะเล อาหารอีสาน จนถึงของสุดโปรดอย่างชานมไข่มุก ทำให้ปรากฎการณ์สั่งอาหารออนไลน์ยังเติบโตแม้หลังโควิดแล้วก็ตาม ธุรกิจนี้จึงเป็นที่หมายตาของคนรุ่นใหม่ค่ะ นอกจากนี้โควิดยังทำให้คนรักสุขภาพมากขึ้น คนเข้าไปค้นในกูเกิลมากขึ้นเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้นถ้าเอากระแสรักสุขภาพมาผนวกกับกระแสเดลิเวอรี่…เราก็เห็นโอกาสของธุรกิจหนึ่งเกิดขึ้นมา นั่นคือ ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพแบบเดลิเวอรี่ เรามาดูกันค่ะ ถ้าจะลงทุนเข้าไปทำธุรกิจนี้ จะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง
ทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเดลิเวอรี่ เตรียมตัวอะไรบ้าง
- เริ่มต้นคงต้องสำรวจกันก่อนว่าคนรักสุขภาพแต่ละกลุ่มมีความต้องการอย่างไร เช่น กลุ่มวีแกนที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ กลุ่มคีโตที่รับประทานไขมันสูง หรือกลุ่มคนชอบออกกำลังกายที่เน้นโปรตีน การเข้าใจจะทำให้เรากำหนดเมนูและสื่อสารการตลาดได้ตรงความต้องการค่ะ
- ต้องหาโลเคชั่น แต่ไม่ใช่เพื่อเปิดหน้าร้านนะคะ แต่เป็นโลเคชั่นสำหรับทำเป็นออฟฟิศและครัว อาจเช่าสถานที่ที่อนุญาตให้ทำเป็นครัวได้ ควรอยู่ในบริเวณที่กลุ่มเป้าหมายอยู่หนาแน่น จะทำให้ค่าจัดส่งไม่สูง
- สถานที่ต้องจัดแบ่งพื้นที่เป็นโซน ตามกิจกรรมการทำงาน เช่น พื้นที่รับคำสั่งซื้อ จัดเตรียมและปรุงอาหาร และพื้นที่เก็บ สต๊อกวัตถุดิบ ทั้งแห้ง แช่เย็น แช่แข็ง
- หาแหล่งค้าส่งในการหาซื้อวัตถุดิบ เพื่อให้ได้ของที่สะอาด ปลอดภัย สดใหม่ อาจดีลกับบริษัทที่จัดหาเนื้อสัตว์อนามัยโดยตรง ส่วน ผัก ผลไม้ อาจต้องไปรับซื้อจากตลาดไท ถ้าของแห้งก็ซื้อจากแมคโครได้เลย
- หาเชฟที่มีทักษะความรู้ด้านอาหารสุขภาพ และนักโภชนาการ คอยปรุงอาหาร พัฒนาสูตรเมนูให้ครบตามหลักโภชนาการ โดย key Success ของธุรกิจนี้อยู่ที่สองคนนี้เลยค่ะ
- เปิดโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, Instagram และหน้าร้านในแพลตฟอร์ม Food Delivery อย่าง Grab, Line, Food Panda เตรียมพร้อมพนักงานรับมือกับการสื่อสารกับลูกค้า รับคำสั่งซื้อ ทั้งแบบดั้งเดิมอย่างโทรศัพท์และผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหลาย
ทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเดลิเวอรี่
ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ที่เป็นรายกลางและเล็ก ส่วนใหญ่ใช้เงินลงทุนเริ่มแรกไม่มากนัก คือประมาณ 700,000 บาท แต่ธุรกิจนี้มีลักษณะเฉพาะคือต้องใส่ใจการบริหารสต๊อกและต้องลงทุนกับส่วนนี้เพื่อจัดเก็บวัตถุดิบให้สดใหม่และต้องมีระบบจัดการลดของเสียให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการลงทุนอาจเป็นเงินเก็บของเจ้าของ เนื่องจากไม่ต้องลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมากนักและไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน สัดส่วนต้นทุนมีดังนี้
- ต้นทุนผลิตสินค้า 50% ประกอบด้วย วัตถุดิบเนื้อสัตว์ ผัก ข้าว เครื่องปรุงรสต่างๆ วัสดุสิ้นเปลือง เช่น ช้อนส้อม กล่อง ถุง และค่าขนส่งวัตถุดิบ เป็นต้น
- ต้นทุนดำเนินการ 40% ประกอบด้วย เงินเดือนเจ้าของ เชฟ นักโภชนาการ พนักงานการตลาดที่ดูแลด้านโซเชียลมีเดีย ค่าใช้จ่ายในส่วนออฟฟิศอย่างค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินสดหมุนเวียนแต่ละวัน
- ต้นทุนการตลาด 10% คือค่าจัดทำเว็บไซต์ ค่าโฆษณาสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักจดจำ เช่น Google Ads และ Facebook Ad ค่าการตลาดแพลตฟอร์มผ่าน Food Delivery โปรโมชั่นเปิดตัวและเทศกาลต่างๆ
ทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเดลิเวอรี่ คืนทุนเมื่อไหร่?
จากการที่เงินลงทุนเริ่มต้นในระดับพอเพียงคือ 700,000 บาท จึงสามารถมาจากเงินทุนของตัวเองทั้ง 100%โดยมีสมมุติฐานด้านแผนการเงิน ดังนี้
- ปีแรก จะขายได้ 21,600 กล่อง โดยเน้นเฉพาะพื้นที่ใกล้เคียง และยอดขายจะเพิ่มขึ้นเป็น 64,800 กล่องในปีที่ 3
- ราคาขายอาหารเพื่อสุขภาพ กล่องละ 120 บาท ต้นทุนกล่องละ 45-60 บาท
- เริ่มธุรกิจโดยมีผู้บริหารและพนักงาน 5 คน ประกอบด้วย เชฟ 1 คน นักโภชนาการ 1 คน พนักงานจัดซื้อ 1 คน พนักงานการตลาดด้านโซเชียลมีเดีย 1 คน และผู้บริหาร 1 คน
สำหรับการวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุน พบว่า ธุรกิจนี้คืนทุนเร็วมากค่ะ โดยระยะเวลาคืนทุน 2.64 ปี มูลค่าปัจจุบันสุทธิอยู่ที่ 196,278.78 บาท และอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 14% แต่หากเราสามารถขยายฐานลูกค้าขาประจำได้ หรือ ลดค่าเช่าสถานที่ไปตั้งออฟฟิศและใช้ครัวที่บ้านแทน ก็จะสามารถคืนทุนได้เร็วกว่านี้ค่ะ
แผนการตลาดกลยุทธ์ทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพเดลิเวอรี่
แม้ว่าแนวโน้มตลาดจะเติบโตได้ดีจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หากมองสภาพการแข่งขันใน กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยแล้วนับว่าสูงมากเลยค่ะ และมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาตลอดเวลา เนื่องจากใช้เงินลงทุน ไม่สูง ดังนั้นเป้าหมายธุรกิจจึงต้องสร้างลูกค้าขาประจำแบบผูกปิ่นโตหรือ Subscription ให้มากที่สุด จุดที่ต้องคำนึงคือเมนูต้องสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้ไม่ซ้ำภายใน 1 เดือน เพราะจากการวิจัย คนที่ไม่บอกรับประจำมักเกรงเมนูจะซ้ำและจะทำให้เบื่อ นอกจากนี้การจะทำการตลาดคนรักสุขภาพให้ไปได้สวยนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือพฤติกรรม คนกลุ่มนี้ยินดีจ่ายในราคาที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยอาหารทั่วไป เราจึงต้องหาวัตถุดิบที่มีความเป็นพรีเมี่ยม ทั้งสด สะอาด แตกต่างจากร้านอาหารทั่วไปอย่างชัดเจนและสอดคล้องวิถีสุขภาพด้วย เช่น การใช้ข้าวกล้องผสม คีนัว เน้นการปรุงแบบย่างหรือทอดไร้น้ำมัน การใช้เม็ดมะม่วงหิมพานต์แทนถั่วลิสง การมีผักหลากหลายมาแนมกับทุกเมนู นอกจากนี้ต้องให้นักโภชนาการกำกับคุณค่าโภชนาการในทุกๆ เมนูเพื่อสร้างจุดเด่นทางธุรกิจ
ด้านกลยุทธ์ ควรทำ Pre-order ทุกเดือน เช่น เมนูลด 20% เปิดให้สั่งก่อนล่วงหน้า จะทำให้ประมาณการซื้อวัตถุดิบได้แม่นยำขึ้น บริหารของเสียได้ดีขึ้น และควรร่วมโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการสั่งซื้อตลอดทั้งปีกับแพลตฟอร์ม Food Delivery ต่างๆ เพื่อให้คนได้ทดลองชิมอาหารของเรา ส่วนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ต้องเข้าร่วมกับ Wongnai ทั้งยิงแอด Facebook, Google ด้วย ถ้าสะสมแต้มในไลน์ได้จะยิ่งดีค่ะ ที่สำคัญจัดโปรเมนูตามเทศกาล เช่น อาหารเจ อาหารคลีน เป็นต้น
ที่สุดแล้วธุรกิจบริการแบบนี้ต้องรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าให้กลับมาซื้อซ้ำค่ะ เราต้องมีคนดูแลโซเชียลมีเดียที่รักในการบริการ และหากเกิดความผิดพลาดขึ้น เช่น ได้รับอาหารล่าช้า อาหารผิดออร์เดอร์ อาหารไม่ครบ อาหารเสียหายการจากขนส่งไม่ดี อาหารเสียก่อนกำหนด ควรมีบริการหลังการขาย ยินดีเปลี่ยนใหม่ให้ไม่มีเงื่อนไข ถ้าทำได้อย่างนี้จะได้ใจลูกค้าและเค้าจะไม่หนีไปไหนแน่นอนค่ะ
ผลงาน ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรเขียนบทความสร้างรายได้รุ่นสู้โควิด 2020
คุณ Jinalyst
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME