ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งจากมาตรการปิดเมืองรวมไปถึงความกลัวของประชาชนที่ไม่กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยกันตามปกติ หลายธุรกิจจึงต้องปิดธุรกิจไปอย่างไม่มีกำหนด บางธุรกิจต้องให้พนักงานหยุดทำงานเพื่อลดรายจ่าย และอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอดได้ชนิดที่เรียกว่าเลือดตาแทบกระเด็น ธุรกิจร้านอาหารก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น แม้ว่าอาหารจะเป็น1 ในปัจจัย 4 ก็ตามแต่ผลสืบเนื่องจากนโยบายที่ต้องการลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคจึงทำให้ธุรกิจร้านอาหารมียอดขายที่ตกลงไปอย่างชัดเจน ทำให้หลายร้านจึงต้องหวังพึ่งพาบริการจัดส่งอาหารจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการเดลิเวอรี่มาช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอด แต่กระนั้นผลจากการที่ร้านอาหารไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้หลาย ๆร้านแม้จะพึ่งพาบริการจากแพลตฟอร์มต่าง ๆแล้วก็ไม่สามารถสร้างยอดขายให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ และยิ่งต้องจ่ายค่าส่วนแบ่งยอดขายหรือ GP อีกซึ่งพวกเขาไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือก็ทำให้ธุรกิจร้านอาหารโดยเฉพาะร้านเล็ก ๆต้องสั่นคลอนขึ้นไปอีก เหตุใด GP หรือค่าส่วนแบ่งยอดขายจึงทำร้ายร้านอาหารขนาดเล็กบทความนี้มีคำตอบครับ

ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ต้องหมุนเวียนเงินสดในแต่ละวัน

ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่ต้องหมุนเวียนเงินสดในการดำเนินธุรกิจครับ ต้นทุนส่วนใหญ่มาจากค่าวัตถุดิบซึ่งสำหรับร้านอาหารเล็ก ๆโดยมากรายจ่ายในจุดนี้มักจะเป็นแบบวันต่อวัน เช่นเดียวกับรายได้ที่เข้ามาเป็นเงินสด ทำให้ร้านอาหารมักจะรับรู้ผลกำไรของตนเมื่อสิ้นสุดในแต่ละวันครับ ในขณะที่ช่องทางรายได้ส่วนใหญ่ของร้านอาหารมาจาก 2 แหล่งนั้นก็คือ “การขายหน้าร้าน” หรือก็คือการที่ลูกค้ามาซื้ออาหารและนำกลับไปรับประทานที่บ้านกับ “การขายในร้าน” หรือก็คือการที่ลูกค้าเลือกที่จะรับประทานอาหารภายในร้านนั่นเอง รายได้ 2 ทางนี้ก็คือแหล่งรายได้หลักของร้านอาหารขนาดเล็กทั่ว ๆไปครับ

เมื่อวิกฤติเกิดขึ้นรายได้หลักของร้านจึงหายไปมากกว่าครึ่ง

ทันทีที่โรคโควิด -19 ระบาดจนทางการต้องออกมาตรการเพื่อควบคุมโรคระบาดไม่ให้กระจายตัว ไม่ว่าจะเป็น Social Distancing หรือการปิดเมือง ปิดกิจการบางอย่างเพื่อควบคุมโรคระบาด ร้านอาหารก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้เช่นกัน แม้ว่าทางการจะยังอนุญาติให้ร้านอาหารสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้แต่กระนั้นทางการได้ออกกฎให้ร้านอาหารสามารถขายอาหารให้แก่ลูกค้าได้เพียงแค่การซื้อกลับไปที่บ้านเท่านั้น ทำให้ช่องทางรายได้ของร้านอาหารหายไป 1 ช่องทางในทันทีซึ่งสำหรับหลาย ๆร้านนั้นเท่ากับว่ารายได้หายไปมากกว่าครึ่งครับ

ร้านอาหารสู้ไม่ถอย ทุกร้านต้องพยายามเอาตัวรอดในภาวะวิกฤตินี้

หากติดตามข่าวสารเกี่ยวกับร้านอาหารในช่วงนี้ เราจะเห็นร้านอาหารขนาดใหญ่หลายร้านที่ปรับโปรโมชั่นเรียกยอดขายเพื่อพยุงธุรกิจครับ รวมถึงอีกหลายร้านก็ต้องระบายวัตถุดิบออกมาจำหน่ายแก่ผู้ที่สนใจ เพราะร้านอาหารบางรูปแบบไม่สามารถที่จะจำหน่ายในช่องทางหน้าร้านได้เลย การต่อสู้ของบางร้านก็เพียงแค่ต้องการพยุงธุรกิจหรือดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดแบบเสมอตัวเท่านั้นเช่นธุรกิจร้านอาหารบางประเภทเช่นบุฟเฟต์ต่าง ๆต้องพยายามปรับเมนูในร้านเพื่อให้สามารถขายในรูปแบบของการซื้อกลับบ้านได้ นี่คือความพยายามในการต่อสู้เพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤติของร้านอาหารขนาดใหญ่หลาย ๆร้าน สำหรับร้านอาหารขนาดเล็ก หลายร้านเลือกที่จะเข้าระบบของแพลตฟอร์ม Food Delivery เพื่อสร้างยอดขายทดแทนกับรายได้หลักการขายในร้านที่ตัวเองเสียยอดขายไป ในขณะที่บางร้านอาจจะอยู่ในแพลตฟอร์มต่าง ๆอยู่แล้วก็ต้องพยายามสร้างยอดขายในส่วนของการ delivery เพื่อทดแทนรายได้เช่นกัน

ค่าส่วนแบ่งยอดขาย (GP Food Delivery) คือค่าใช้จ่ายที่อาจทำให้ร้านอาหารหลายร้านต้องปิดตัวลง

แม้แพลตฟอร์ม Food Delivery อาจช่วยสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมก็จริง แต่ค่าใช้จ่ายที่ทางร้านอาหารต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มต่าง ๆนั้นถูกเรียกว่า GP Food Delivery หรือค่าส่วนแบ่งยอดขายซึ่งทุก ๆแพลตฟอร์มจะเรียกเก็บที่ประมาณ 30 -35 % ครับ ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็คือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ของร้านอาหารที่เข้าแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ และเมื่อนำข้อมูลของร้านอาหารที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มก่อนเกิดวิกฤติขึ้นมาเปรียบเทียบเราจะพบว่ามีร้านอาหารจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม ในขณะที่ยังมีร้านอาหารอีกจำนวนมากที่ไม่ได้อยู่ในแพลตฟอร์ม ทำให้ในช่วงนี้ร้านอาหารที่เข้ามาในแพลตฟอร์มใหม่ ๆ พวกเขาไม่ได้เตรียมตัวที่จะรับมือกับค่าส่วนแบ่งยอดขายที่ต้องจ่ายให้กับทางแพลตฟอร์มเลย นั่นเพราะพวกเขายังไม่มีประสบการณ์จึงยังไม่เคยต้องทำโครงสร้างต้นทุนเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ครับผลที่ตามมาก็คือแม้ทางร้านจะมียอดขายมากขึ้นแต่เมื่อหักค่าส่วนแบ่งยอดขายแล้วก็อาจจะไม่เหลือกำไรมากพอที่จะครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมด

ใช่ว่าจะมีแต่ร้านอาหารใหม่ที่เข้าแพลตฟอร์มเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แต่ร้านที่อยู่ก่อนแล้วก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ รายได้จากช่องทางเดลิเวอรี่ถือเป็นรายได้ในช่องทางที่ 3 ที่เข้ามาเพิ่มยอดขายให้กับทางร้าน แต่ในช่วงวิกฤติที่รายได้หลักหายไปมากกว่าครึ่ง ค่า GP ก็อาจจะย้อนกลับมาทำร้ายร้านอาหารที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มอยู่ก่อนแล้วเช่นกัน ยอดขายที่ลดลงแต่ค่าใช้จ่ายประจำที่ยังคงอยู่จึงกลายเป็นภาระหนักของทางร้านอาหารไปโดยปริยายครับ

หนทางที่จะผ่านพ้นวิกฤตินี้ร่วมกันคือการแสดงน้ำใจเพื่อช่วยเหลือกันและกัน

ปัญหาค่า GP เป็นปัญหาที่มีการพูดคุยและถกเถียงกันมาตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ครับแต่เมื่อเกิดวิกฤติขึ้นมายิ่งเป็นการตอกย้ำมากขึ้นว่าค่าใช้จ่ายส่วนนี้ส่งผลกระทบต่อร้านอาหารมากยิ่งขึ้น วิธีการแก้ปัญหาจึงอาจอยู่ที่การหันหน้าเข้าหากันเพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้ทางแพลตฟอร์มต่าง ๆช่วยเหลือโดยอาจช่วยลดค่า GP นี้เฉพาะในห้วงที่เกิดวิกฤติลงเพื่อช่วยเหลือร้านอาหารขนาดเล็กหรือร้าน stand alone ให้มีทางรอดครับ และเมื่อผ่านพ้นวิกฤติไปแล้วจึงค่อยปรับกลับไปใช้อัตราเดิม

ในขณะที่ตัวแพลตฟอร์มเองก็เริ่มมีคนไทยเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ออกมาใช้งานมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเรียกเก็บค่า GP ในอัตราที่สูงนี้ แต่หลายแพลตฟอร์มยังเป็นที่นิยมในบางพื้นที่เท่านั้นและอีกหลายแพลตฟอร์มเองก็ยังต้องได้รับการพัฒนาต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเสียก่อน

วิกฤติโรคโควิด-19 ที่กระทบต่อทุก ๆภาคส่วนเป็นสิ่งที่เราเองก็ไม่คาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นครับ แต่เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วสิ่งที่ทำได้ก็คือการแสดงน้ำใจเพื่อช่วยเหลือกันและกันในทุกภาคส่วนของสังคม ผู้ที่ยังพอมีกำลังก็อาจช่วยเหลือและแบ่งปันให้กับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจจนกว่าวิกฤตินี้จะคลี่คลาย การแสดงน้ำใจและการให้มิตรไมตรีนี้เองคือหนทางเดียวที่จะทำให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปด้วยกันครับ

บริการอบรม ให้คำปรึกษา Digital Marketing & Brand Storytelling ทั้งแบบรูปแบบองค์กร กลุ่ม และ ตัวต่อตัวมาตรการประกันสังคม