ประกันสังคม ไม่ได้เป็นสวัสดิการสังคมสำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการเท่านั้น  บุคคลธรรมดาที่ไม่ใช่ลูกจ้างในสถานประกอบการ ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนเพื่อขอรับสิทธิ์ประกันสังคมได้ โดยประกันสังคมได้กำหนดรูปแบบและให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกันกับผู้ประกันตนภาคบังคับ (ทำงานในสถานประกอบการในฐานะลูกจ้าง) เรียกว่า ‘ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ

สวัสดิการประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตนโดยสมัครใจ มาตรา 39 และ มาตรา 40 นั้นเป็นสวัสดิการของรัฐที่ช่วยในการแบ่งเบาภาระบางส่วนสำหรับบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้มีสวัสดิการใด ๆ โดยรัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินสมทบส่วนหนึ่ง เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองอย่างเหมาะสม

ประเภทและคุณสมบัติของผู้ประกันตน 3 ประเภท คือ

  1. ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ภาคบังคับตามกฎหมาย) คือ ลูกจ้างในสถานประกอบการ มีนายจ้างเป็นผู้ดูแลในการสมัครและลาออกจากการประกันตน และมีหน้าที่นำส่งเงินสมทบประกันสังคมให้ จะต้องมีคุณสมบัติ คือ
  • มีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ และ ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
  • ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
  • ไม่ใช่บุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม
  1. ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 (ภาคสมัครใจ) คือ ลูกจ้างที่ลาออกจากงานทำให้สิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และไม่ได้เข้าทำงานในฐานะของลูกจ้างอีกต่อไป มีความประสงค์จะขอสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจ จะต้องมีคุณสมบัติคือ
    • สมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 ภายใน 6 เดือน หลังจากพ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33
    • จ่ายเงินสมทบในฐานะของผู้ประกันตนมาตรา 33 มาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน
    • ไม่เป็นผู้รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพกับประกันสังคมมาก่อน
  2. ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (ภาคสมัครใจ) คือ ผู้ประกันตนที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า รับจ้างทั่วไป ฯลฯ โดยมีคุณสมบัติ คือ
  • มีสัญชาติไทย หรือชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและมีบัตรประจำตัวคนไม่ใช่สัญชาติไทย (รหัสประจำตัวขึ้นต้นด้วย 6 และ 7)
    • มีอายุ 15 – 60 ปีบริบูรณ์
    • ไม่ใช่ข้าราชการ หรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม
    • ไม่ใช่ผู้ประกันตนในมาตรา 33 และมาตรา 39
    • เป็นผู้พิการที่ยังมีความสามารถในการรับรู้สิทธิประกันสังคมได้

ในกรณีที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นั้น ได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่จากประกันสังคม เพราะเป็นแบบประกันที่มีการจ่ายเงินสมทบสูงที่สุด โดยมีทั้งในส่วนของลูกจ้างที่จะต้องส่งในอัตราสูงสุดที่เดือนละ 750 บาท และส่วนของนายจ้างในอัตราเดียวกัน

แล้วผู้ที่สมัครประกันตนเองโดยสมัครใจ ที่ไม่มีเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง จะได้รับสวัสดิการความคุ้มครองอะไรบ้าง

ความคุ้มครองสำหรับผู้ประกันตนเอง มาตรา 39

  1. ค่ารักษาพยาบาล ในการเจ็บป่วยที่ไม่ใช่การเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยให้ความคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ของประกันสังคม โดยจะไม่ได้รับการคุ้มครองในบางกรณี เช่น การตัดแว่น  การบำบัดอันเนื่องมาจากยาเสพติด  การปลูกถ่ายไขกระดูก ภาวะมีบุตรยาก  เป็นต้น
  2. เงินชดเชยการคลอดบุตร โดยประกันสังคมจะจ่ายเงินค่าคลอดบุตรจำนวน 13,000 บาท ต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง และจะจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีหยุดงานเนื่องจากการคลอดบุตรในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างเฉลี่ยเป็นเวลา 90 วัน
  3. เงินสงเคราะห์บุตร โดยประกันสังคมจะจ่ายเงินเคราะห์บุตรเดือนละ 400 บาท สำหรับบุตรที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ โดยประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรให้ได้ไม่เกินรายละ 3 คน
  4. เงินชดเชยกรณีทุพลภาพ ประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้ตามหลักเกณฑ์ของประกันสังคม
  5. เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต ประกันสังคมจะจ่ายค่าทำศพ จำนวน 40,000 บาท และจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับสามี หรือภรรยา และบุตร ในอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน สำหรับผู้ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36 เดือน แต่ไม่เกิน 120 เดือน และจ่ายเงินสงเคราะห์ในอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน สำหรับผู้ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วเกิน 120 เดือน
  6. เงินชดเชยกรณีชราภาพ ประกันสังคมจะจ่ายเงินบำเหน็จและเงินบำนาญให้ตามเกณฑ์ที่กำหนดของประกันสังคม  โดยพิจารณาตามระยะเวลาที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบกับสำนักงานประกันสังคมเป็นหลัก

ความคุ้มครองสำหรับผู้ประกันตนเอง มาตรา 40

ประกันสังคมจะให้ความคุ้มครอง 3 ระดับ ตามจำนวนเงินสมทบที่นำส่งในแต่ละเดือน ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 อัตราเช่นเดียวกัน คือ 70 บาทต่อเดือน ,  100 บาทต่อเดือน และ 300 บาทต่อเดือน ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองพื้นฐานไม่เท่ากัน ดังนี้

  1. เงินชดเชยรายได้กรณีเจ็บป่วย

จะได้รับเงินชดเชยเท่ากันทั้ง 3 ระดับ  คือชดเชยรายได้กรณีนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ได้รับค่าชดเชยรายได้วันละ 300 บาท และชดเชยรายได้กรณีไม่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลแต่มีใบรับรองแพทย์ ได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท

  1. เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีทุพลภาพ จะได้รับเงินชดเชยเดือนละ 500 – 1,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จ่ายเงินสมทบ
  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเดือนละ 70 และ 100 บาท จะได้รับเงินชดเชยเป็นระยะเวลา 15 ปี
  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 300 บาท จะได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้ไปตลอดชีวิต
  1. เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต จะได้รับความคุ้มครองไม่เท่ากันตามอัตราเงินสมทบที่จ่ายให้กับประกันสังคม
  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 70 บาทและ 100 บาท จะได้รับเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต จำนวน 20,000 บาท
  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 300 บาท จะได้รับค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต จำนวน 40,000 บาท
  1. เงินสงเคราะห์บุตร จะได้รับความคุ้มครองไม่เท่ากันตามอัตราเงินสมทบที่จ่ายให้กับประกันสังคม
  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 70 บาทและ 100 บาท จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 300 บาท จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 200 บาท สำหรับบุตรที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี บริบูรณ์ โดยประกันสังคมจะจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรให้ได้ไม่เกินรายละ 2 คน
  1. เงินชดเชยกรณีชราภาพ จะได้รับความคุ้มครองไม่เท่ากันในตามอัตราเงินสมทบที่จ่ายให้กับประกันสังคม
  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 70 บาท จะไม่ได้รับความคุ้มครอง
  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 100 บาท จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามเกณฑ์ของประกันสังคม
  • ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตราเดือนละ 300 บาท จะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามเกณฑ์ของประกันสังคม และได้รับเงินเพิ่ม 10,000 บาท กรณีที่จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนขึ้นไป

สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ควรตรวจสอบคุณสมบัติของตนเอง และตรวจสอบสิทธิที่จะได้รับในการสมัครเป็นผู้ประกันตนในแต่ละประเภท เพื่อรับทราบสิทธิและศึกษาวิธีการปฏิบัติสำหรับการแจ้งขอรับสิทธิต่าง ๆ กับประกันสังคม เพราะสิทธิบางอย่างมีระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอใช้สิทธิ เช่น การขอสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องยื่นใบสมัครภายใน 6 เดือนหลังจากลาออกจากงาน หากเกิน 6 เดือนไปแล้ว จะสามารถสมัครได้ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่ามาตรา 39 เป็นต้น

หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นขอรับสิทธิประกันสังคมต่าง ๆ สามารถสอบถามเจ้าหน้าที่ประกันสังคมโดยตรง หรือ ใช้บริการ Call Center  1506 หรือ สามารถสอบถามผ่านทางเว็ปไซต์ของสำนักงานประกันสังคม  www.sso.go.th  ได้เช่นกัน