การทำธุรกิจไม่มีทางลัดต้องแลกด้วยแรงกาย กำลังความคิด และที่สำคัญพลังใจ ที่จะนำพาธุรกิจให้อยู่รอดและปิดประตูเจ๊งได้ ถ้าคุณเอาจริง ทำจริง เรื่องเจ๊งนั้นจะไม่มาเยือนธุรกิจของคุณอย่างแน่นอนครับ

ธุรกิจแฟรนไชน์ เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่หลายคนกระโดดเข้ามาทำ ด้วยเห็นว่าเพียงแค่มีเงินลงทุนก็สามารถเนรมิตรร้านได้ทันใจสามารถค้าขายทำกำไรได้เลย ซึ่งก็มีส่วนถูกอยู่บ้างแต่ไม่ทั้งหมด จึงเห็นว่ามีเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ปิดตัวลงไปหลังจากขายไม่นาน นั่นบ่งบอกถึงสัญญาณที่ไม่ค่อยดีหรือเรียกง่าย ๆ ว่าเจ๊ง นั่นเอง

อะไรคือเหตุผลที่ธุรกิจแฟรนส์ใชน์ส่วนใหญ่เจ๊ง เพื่อที่เราจะได้มองในด้านตรงข้ามอีกด้านแล้วเปลี่ยนจากเจ๊งให้เป็นแจ๋วหรือยอดเยี่ยมกันไปเลยครับ มาดู 15 เหตุผลทำธุรกิจแฟรนไชน์ที่ส่วนใหญ่เจ๊งกันครับ

1.วางแผนแต่ไม่ลงมือปฏิบัติ

แน่นอนว่าในการทำธุรกิจใด ๆ ก็ตามไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจแฟรนไชน์ก็ต้องมีการวางแผน ซึ่งการวางแผนเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าคิดแล้วคิดอีก วางแผนแต่บนกระดาษ แต่ไม่เคยลงมือปฏิบัติจริง ๆ จัง ๆ พอธุรกิจประสบปัญหาแทนที่จะลงไปแก้ปัญหากลับมัวแต่มานั่งทำแผนสาเหตุการเจ๊งมันจึงอยู่ตรงนี้ล่ะครับ คือมีแต่วางแผนแต่ไม่มีการนำไปปฏิบัตินั่นเอง

2.สินค้าและบริการไม่มีคุณภาพ

การทำธุรกิจคือการส่งมอบสิ่งดี ๆ ให้กับลูกค้า แต่ถ้าแฟรนไชน์ไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ ก็ต้องถือว่าพลาดมาก หากมัวแต่ไปเน้นโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ทำให้ความต้องการของลูกค้าสับสน เมื่อลูกค้ามีสติและมามองที่ตัวสินค้าและบริการว่าแท้จริงแล้วมีคุณภาพดังที่ลูกค้าต้องการหรือไม่ ถ้ามีก็ถือว่าผ่าน แต่ถ้าไม่มีก็ต้องเตรียมตัวรับโอกาสแห่งความเจ๊งได้เลย

3.กังวลแต่เรื่องต้นทุนและค่าใช้จ่าย

หลาย ๆ ธุรกิจแฟรนไชน์พอทำธุรกิจไปสักระยะหนึ่ง ก็เริ่มอยากได้กำไรมากขึ้น จึงพยายามลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย จริงอยู่การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายจะทำให้มีกำไรมากขึ้น แต่ถ้าลดจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้าและบริการ ย่อมมีผลต่อความพอใจของลูกค้าด้วย ท้ายสุดลูกค้ารับรู้ว่าสินค้าและบริการไม่ได้คุณภาพสิ่งที่ตามมาธุรกิจของคุณอาจเงียบเหงาไป

4.ไม่ฟังเสียงลูกค้า

เสียงหรือความต้องการของลูกค้า หากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชน์ไม่ฟังหรือไม่สังเกต ก็ทำให้เจ๊งได้เหมือนกัน เช่น ความต้องการของลูกค้าในละแวกนี้เป็นอย่างนี้ แต่คุณนำเสนอสินค้าอีกประเภท ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ต่อให้เป็นแฟรนไชน์ที่ดูมีอนาคตก็ตาม ความต้องการของลูกค้าจึงมาก่อนความต้องการของคนทำธุรกิจ

5.ชอบทำแบบเดิมไม่พัฒนา

เจ้าของแฟรนไชน์บางรายยึดติดกับแนวคิดเดิม ๆ ที่ว่าความสำเร็จสามารถลอกกันมาได้ โดยการทำแบบเดิมตามที่ทำมา ใช้กลยุทธ์แบบเดิม ๆ โปรโมชั่นเหมือนเดิม โดยไม่คิดจะเปลี่ยนหรือพัฒนาใด ๆ ด้วยเห็นว่าใคร ๆ เขาก็ทำกันแบบนี้  และถ้ามีเจ้าใหม่ที่เขามาพร้อมกับการพัฒนาคงไม่บอกก็รู้นะว่ากิจการของคุณจะเป็นอย่างไร

 6.ไม่เอาจริงเอาจัง

หลายคนทำธุรกิจแฟรนไชน์ตามใจฉัน ทำเล่น ๆ สนุก ๆ คิดว่าแค่ตั้งร้านแฟรนไชส์เดี๋ยวก็ได้กำไร นึกอยากจะหยุดก็หยุด ตอนแรก ๆ อาจจะจริงจัง แต่พอทำไปสักพักข้ออ้างก็เริ่มมา ผ่อนปรนให้กับธุรกิจตัวเอง คิดว่าไม่เป็นไรหรอกเปิด ๆ ปิด ๆ หยุดบ้างก็ได้ แนวคิดแบบนี้เจ๊งกันมาเยอะแล้วครับ

7.ไม่ให้ความสำคัญของการศึกษารู้ใหม่ๆ

หมายถึงการศึกษาทางด้านธุรกิจหรือการตลาดอย่างไม่เพียงพอ มีการตัดสินใจทำธุรกิจอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ศึกษาให้ครอบคลุมในตัวโครงสร้างหรือการตลาดให้ดีพอ อาจจะเห็นคนอื่นเขาทำธุรกิจกันแล้วมีกำไร จึงลงทุนทำบ้าง แล้วมาพบทีหลังว่ามีรายละเอียดปลีกย่อยในการจัดการธุรกิจ เช่น การสต๊อคสินค้า เงินทุนหมุนเวียน และความเสี่ยงต่าง ๆ เป็นต้น

8.คาดหวังสูงเกินไป

หลายคนซื้อแฟรนไชส์มาก็คาดหวังว่าซื้อมาแล้วก็รอรับผลกำไรอย่างเดียว นับว่าเป็นความคาดหวังที่เกินความจริง เพราะเมื่อซื้อแฟรนไชส์มาแล้ว การบริหารจัดการก็ต้องมีเหมือนกิจการอื่นทั่วไป เจ้าของแฟรนไชน์ต้องเอาใจใส่ร้านของตนให้ดี มีการบริหารในทุก ๆ จุดไม่ให้รั่วไหล เช่น การบริหารวัตถุดิบ การบริหารค่าใช้จ่าย เป็นต้น

9.ไม่รู้หน้าที่ของตน

หลายคนคิดว่าการซื้อแฟรนไชส์มาแล้วหน้าที่ต่าง ๆ เช่น การโฆษณา การทำบัญชี การอบรมพนักงาน รวมถึงเรื่องอื่นใด เป็นหน้าที่ของบริษัทแม่แต่เพียงอย่างเดียว คุณต้องศึกษาให้ดี มิใช่ลงพื้นที่แล้วมาโยนหน้าที่กันไปเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง ซึ่งนำความล้มเหลวมาให้ การเสียเวลาสักนิดได้การรู้ให้รอบจะทำให้ทำหน้าที่ของตนได้อย่างดีที่สุด

10.คิดว่าทำแฟรนไชส์มีแต่กำไร

จริงอยู่หลายคนไม่อยากเจ๊ง จึงมองว่าธุรกิจแฟรนไชส์นี่ล่ะที่ให้ผลกำไรกลับมาไม่มีวันเจ๊งอย่างแน่นอน ต้องขอบอกว่าอันตรายมาก คุณต้องถามตัวเองว่ามีร้านแฟรนไชส์ไหนที่ทำแล้วขาดทุนไหม แน่นอนว่าคำตอบคือมี คุณก็ต้องยอมรับความจริงก่อน แล้วมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุถ้าคุณทำขาดทุนคุณรับได้ไหม และมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้ธุรกิจของคุณไม่เจ๊งต้องปรับอะไรต้องหารายละเอียดอะไรเพิ่มเติม เช่น ทำเล กลุ่มเป้าหมาย ความต้องการของตลาด เป็นต้น

11.ไม่ได้ทำบัญชีรับจ่าย

ดูเหมือนว่าการไม่ทำบัญชีรับจ่ายไม่น่าจะเป็นเหตุผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของคุณเจ๊งได้ แต่ต้องบอกไว้ว่าบัญชีรับจ่ายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้คุณบริหารกิจการได้ ยิ่งทำรัดกุม รอบคอบ ตรงไปตรงมาเท่าไร คุณก็สามารถนำมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุและบริหารต้นทุนได้ ทำให้การรั่วไหลไม่มี ผลกำไรก็เพิ่มพูน แต่ถ้าคุณไม่สนใจทำบัญชีรับจ่าย มีจุดรั่วไหลตรงไหนไม่รู้เดินหน้าขายลูกเดียว ซื้ออะไรไปก็ไม่บันทึกไว้ ขอบอกว่าเสี่ยงมาก ๆ ครับ

12.ไม่สนใจเรื่องตัวเลข

ในการทำธุรกิจแฟรนไชส์จะมีเรื่องของตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ถ้าเป็นร้านเครื่องดื่มกาแฟ คุณอาจคำนวณว่าต้องขายได้วันละ 5,0000 บาท ต่อวันจึงจะคุ้มค่าใช้จ่าย ถ้ากาแฟแก้วละ 50 บาท ก็ต้องขายให้ได้มากกว่า 100 แก้ว แล้วเราทำได้ไหมมีการจดสถิติไว้หรือเปล่า เพราะถ้าน้อยกว่า 100 แก้วทุกวัน ๆ คุณคงทราบชะตากรรมแล้วนะ ถ้าไม่คิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะสามารถขายกาแฟได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ต้องใช้หลักการตลาดเข้ามาช่วย อย่างนี้เป็นต้น

13.ไม่ตั้งคำถามให้ธุรกิจ

หลายคนตกม้าตายกับการไม่ยอมตั้งคำถามเพื่อให้ได้รับคำตอบที่กระจ่างก่อนตัดสินใจ เช่นสถานะและความน่าเชื่อถือของบริษัทแม่ที่เป็นเจ้าของแฟรนไชส์ รายละเอียดของกิจการแฟรนไชส์เป็นอย่างไรบ้าง เมื่อซื้อแฟรนไชส์มาแล้วเราต้องเตรียมคนกี่คน และแต่ละคนต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง เราจะมองหาคนที่เหมาะสมในแต่ละตำแหน่งงานได้อย่างไร ซึ่งถ้าเราถามคำถามเหล่านี้เราจะได้คำตอบมีการเตรียมการ มีการวางแผน ปิดประตูเจ๊งไปได้มากเลยทีเดียว

14.ตอบให้ได้ใครคือลูกค้าของคุณ

ก่อนอื่นคุณต้องถามผู้ขายแฟรนไชน์ให้แน่ใจก่อนว่ากลุ่มลูกค้าของสินค้าและบริการนี้คือใคร ถ้าเขาบอกว่าทุกคนคุณเตรียมตัวเจ๊งได้เลย เพราะธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคุณต้องรู้ก่อนว่าลูกค้าเป้าหมายคือใคร เมื่อลงทุนไปแล้วใครจะมาซื้อของ ๆ คุณ ลูกค้าจะมีอายุประมาณเท่าไร เช่น กลุ่มนักศึกษา อายุ 18-25 ปี เป็นต้น ถามคำถามกับตัวเองให้ได้นะครับว่าลูกค้าของคุณคือใครอันนี้สำคัญมาก การทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายก็จะชัดเจนขึ้น

15.อะไรคือสินค้าขายดี

คุณต้องรู้ว่าในร้านของคุณมีเมนูไหนติดอันดับและเป็นที่นิยม ถ้าผู้ขายแฟรนไชส์บอกว่าสินค้าตัวดีขายดีมาก ๆ เลย คุณก็ต้องถามต่อว่า ขายดีในวันไหนของสัปดาห์แล้ววันหนึ่งขายได้เท่าไหร่ มีปัจจัยอะไรทำให้ขายดี การสืบค้นข้อมูลเพื่อทำความจริงให้ปรากฏจะช่วยให้คุณกล้าลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยเพื่อปิดประตูเจ๊งนั่นเอง

การทำธุรกิจใด ๆ ก็ตามมีองค์ประกอบของความสำเร็จมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งไม่สามารถประสบความสำเร็จแบบสำเร็จรูปดังที่หลายคนคิด เพียงแค่ซื้อแฟรนไชส์มาแล้วกำไรก็จะตามมาด้วย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด การทำธุรกิจไม่มีทางลัดต้องแลกด้วยแรงกาย กำลังความคิด และที่สำคัญพลังใจ ที่จะนำพาธุรกิจให้อยู่รอดและปิดประตูเจ๊งได้ ถ้าคุณเอาจริง ทำจริง เรื่องเจ๊งนั้นจะไม่มาเยือนธุรกิจของคุณอย่างแน่นอนครับ