ในขณะทีประเทศไทยซึ่งมีประชากรที่เป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 38 ล้านคน คิดเป็น 56% ของประชากร ทั้งประเทศ ซึ่ง 38 ล้านคนนี้ล้วนแล้วแต่ใช้งานโซเชียลมีเดียทั้งสิ้น ทั้งยังมีผลสำรวจระบุว่าคนไทยคลั่งการซื้อของบนโลกออนไลน์เข้าเส้น เพราะเราใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตในแต่ละวัน ถือเป็นอันดับที่ 4 ของโลก

ซึ่งการจัดอับดับนี้ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำของโลก ที่ประชากรมีความสุขกับการช้อปปิ้งบนโลกออนไลน์สุดๆ

นี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์คึกคักและเต็มไปด้วยสีสัน แม้แต่ธุรกิจที่ไม่น่าเชื่อว่าจะค้าขายบนโลกออนไลน์ได้ ต่างก็งัดกลยุทธ์สารพัดรูปแบบมาทำควบคู่กันไปกับการค้าขายแบบออฟไลน์ที่เคยทำมาแต่ดั้งแต่เดิม ทั้งยังประสบความสำเร็จได้อย่างน่าทึ่งอีกด้วย

ซึ่งหากคุณเองเป็นอีกคนหนึ่งที่ยังนั่งจับเจ่าเฝ้าร้าน หรือดีลธุรกิจด้วยวิธีการเก่าๆ และได้มองเห็นโอกาสทำเงินบนโลกออนไลน์กับเขาบ้าง แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

บทความนี้จะเป็นกุญแจนำพาคุณไปพบกับขั้นตอนในการเริ่มต้นบุกตลาดออนไลน์  ขายให้รวย เพื่อให้คุณมาร่วมสร้างสีสันบนตลาดออนไลน์ร่วมกับอีกหลายๆ ธุรกิจดูบ้าง ส่วนขั้นตอนจะมีอะไรกันบ้างนั้น ไปเรียนรู้กันได้เลยครับ

5 ขั้นตอนเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์

1.ทำเว็บไซต์

แม้จะมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในโลกดิจิตอล แต่เชื่อหรือไม่ว่า สิ่งที่ยังถือเป็นยานแม่เหนือทุกแพลตฟอร์มบนการทำงานบนอินเทอร์เน็ตก็ยังคงเป็น “เว็บไซต์” อยู่ดี และที่น่าเสียดายคือ ผู้ประกอบการ SMEs มักจะมองข้ามยานแม่ลำนี้ไป ทั้งๆ ที่เว็บไซต์คือหน้าร้านที่สมบูรณ์แบบและมีความเสถียรมากที่สุด

อาจจะด้วยต้นทุนในการทำที่สูงกว่า การบริหารจัดการที่ต้องใช้คำเชี่ยวชาญมากกว่า หรือสารพัดเหตุผลที่ทำให้หลายคนคิดว่าเว็บไซต์ไม่จำเป็นเท่าช่องทางอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี หากคุณมีธุรกิจบนโลกออฟไลน์อยู่แล้ว และอยากจะเริ่มต้นการทำธุรกิจบนโลกออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ คุณต้องให้ความสำคัญกับการทำเว็บไซต์มาเป็นอับดับ 1 ซึ่งจะว่าไปแล้ว ปัจจุบันการทำเว็บไซต์ก็มีทางเลือกที่หลากหลาย และใช้เวลาในการศึกษาเพียงไม่นาน ผู้ประกอบการก็สามารถทำด้วยตัวเองได้

ความสำคัญของการมีเว็บไซต์นอกเหนือไปจากการทำหน้าที่เป็นหน้าร้านและแสดงตัวตนที่น่าเชื่อถือบนโลกออนไลน์แล้ว หากทำ SEO จนเว็บไซต์สามารถติดอันดับต้นๆ บน Search engine ได้ โอกาสที่ลูกค้าจะเข้าถึงธุรกิจของคุณก็ยิ่งมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการได้เปรียบทางการแข่งขันที่คุณไม่ควรละเลยแม้แต่น้อย

2. สื่อสารแบรนด์ผ่านแพลตฟอร์มที่เหมาะกับธุรกิจ

การทำธุรกิจ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้แน่ๆ คือลูกค้าเป้าหมายเป็นใคร และเขากระจุกตัวกันอยู่ที่ไหน บนโลกของโซเชียลมีเดียก็เช่นเดียวกัน แม้จะมีแพลตฟอร์มยอดนิยมมากมายที่ผู้คนทั่วโลกรู้จัก แต่ไม่ได้หมายความว่า ธุรกิจของคุณจะต้องเข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกๆ แพลตฟอร์มเหล่านั้น หากแต่คุณต้องวิเคราะห์ออกมาให้ได้ว่า แพลตฟอร์มไหนที่จะเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายของคุณได้มากและมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อการสร้างการรับรู้ของแบรนด์อันจะนำไปสู่ยอดขายซึ่งเป็นความปรารถนาสูงสุดของทุกๆ ธุรกิจนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในนาทีนี้แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดคงไม่หนีไม่พ้น Facebook ตามมาด้วย  LINE, Google+, Instagram และTwitter คราวนี้มาดูกันว่าโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มไหนที่เหมาะกับธุรกิจของคุณที่สุด

  • Facebook เป็นช่องทางที่ฮอตฮิตที่สุดในการติดต่อสื่อสาร อายุของคนไทยที่ใช้ Facebook มากที่สุดคือช่วงอายุ 20-29 ปี โดยมีจำนวนถึง 14 ล้านคน
  • Google+ (กูเกิลพลัส) เครือข่ายสังคมที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 90 ล้านคนทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต มีฟีเจอร์ค่อนข้างคล้ายกับ Facebook และถือเป็นแพลตฟอร์มที่มาแรงจนหลายคนคาดการณ์ว่าน่าจะคว่ำ Facebook ให้ราบคาบได้เลยทีเดียว
  • LINE แอพลิเคชั่นเพื่อการติดต่อสื่อสารที่คนไทยนิยมใช้มาก (อยู่ที่อันดับ 14 ของโลก) โดยกลุ่ม Baby Boomer จะเป็นกลุ่มที่นิยมใช้ LINE มากที่สุด
  • Instagram เน้นการสื่อสารด้วยภาพและวิดีโอสั้นๆ ผู้ใช้ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 18-29 ปี และเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (เพศที่ 3 นิยมใช้แพลตฟอร์มนี้มากกว่าผู้หญิงและผู้ชาย)
  • Twitter กลุ่มอายุ 25-34 ปีจะนิยมใช้แพลตฟอร์มนี้มากที่สุด โดยใช้เพื่อสื่อสารระหว่างบุคคลหนึ่งถึงอีกหลายๆ บุคคล ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลากหลายธุรกิจที่ใช้แพลตฟอร์มนี้ในการมอบประสบการณ์ดีๆ ไปสู่ลูกค้า
  • YouTube กลุ่มคนไทยที่นิยมดูคอนเทนท์ต่างๆ ผ่านยูทูบ จะมีอายุระหว่าง 18-34 ปี ซึ่งยูทูบถือเป็นสื่ออันดับ 1 ในเรื่องของคลิปวีดิโอ ที่เฉพาะในไทยมีจำนวนผู้ใช้บริการที่สร้างคอนเทนต์ทั้งหมด 1.3 ล้านราย มีช่องที่เป็น Youtube Creators กว่า 1 แสนช่อง และในจำนวนนี้มี 6 ช่องที่อยู่ในระดับ Gold (มีผู้ติดตามเกิน 1 ล้านราย) และระดับ Silver 300 ช่อง (มีผู้ติดตามเกิน 1 แสนราย)

3. เรียนรู้การทำ Content Marketing

            เมื่อผ่านการจัดทำเว็บไซต์และพินิจพิเคราะห์แล้วว่าจะนำแบรนด์ลงไปเล่นในแพลตฟอร์มในบ้าง สิ่งที่คุณจะทำให้ทุกๆ ช่องทางบนโลกออนไลน์ถูกสื่อสารออกไปอย่างมีศักยภาพก็คือเรื่องของ Content เพราะในทุกช่องทางที่คุณเลือก เป็นไปไม่ได้ที่จะเอาไว้โฆษณาขายของ แล้วจะทำให้เกิดยอดขายได้ในทันที แต่คุณต้องใช้สื่อเหล่านั้นสำหรับการทำการตลาด เพื่อสร้างการรับรู้ สร้างการเรียนรู้ สร้างทัศคติที่ดีแก่สินค้าและตราสินค้า ทำให้ผู้คนเห็นและรู้จักสินค้าและตราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างยอดขายได้ในที่สุด

อย่างไรก็ดี Content ที่คุณจะทำการนำเสนอออกไป สามารถสร้างให้ออกมาได้ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น คลิปวิดีโอ ภาพอินโฟกราฟิก หรือบทความ ซึ่งการทำ Content Marketing จะต้องเป็นการให้ความรู้ หรือเป็นการนำความเชี่ยวชาญด้านสินค้าหรือบริการของคุณมาให้ความรู้แก่ลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วเป้าหมายลึกๆ ของ Content Marketing ก็คือการนำพาลูกค้าไปสู่การซื้อขาย เพียงแต่จะเน้นไปที่การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของผู้บริโภคให้ได้ก่อน แล้วเมื่อนั้นผู้บริโภคก็จะเลือกใช้สินค้าหรือบริการเอง โดยที่ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องไปจูงใจอะไรมากนัก

4. สร้างความน่าเชื่อถือจากระบบออฟไลน์สู่ออนไลน์

การขายสินค้าหรือบริการบนโลกออนไลน์เพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับลูกค้าเสมอไป เพราะลูกค้าจะรู้สึกถึงความเสี่ยง โดยเฉพาะในกรณีที่สินค้ามีมูลค่าสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีหากผู้ประกอบการสามารถยืนยันความมีตัวตนบนโลกออฟไลน์เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ดังนั้น การมีหน้าร้านหรือสถานประกอบการที่แน่นอนจึงเป็นตัวช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การยืนยันการมีตัวตนนอกเหนือไปจากทำให้ลูกค้าได้เห็นถึงหน้าร้านหรือสถานประกอบการแล้ว อาจเป็นการใช้เอกสารที่มีเกี่ยวข้องมาเป็นตัวช่วยสำคัญในการให้น้ำหนักความน่าเชื่อถือก็ได้ เช่น เอกสารจดทะเบียนการค้า/นิติบุคคล รวมไปถึงหมายเลขเจ้าของบัญชีที่หากเป็นชื่อของนิติบุคคลหรือชื่อสถานประกอบการ จะได้รับความน่าเชื่อถือมากกว่าชื่อของบุคคลทั่วไป

5. กำหนดกลยุทธ์ 4p’s ควบคู่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

การทำตลาดเพื่อการขายสินค้านั้น ดีที่สุดคือต้องทำแบบลูกผสมควบคู่กันไปทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพราะจะเป็นการเปิดช่องทางทางการขายแบบเดิมและแบบใหม่ ทำให้เพิ่มยอดขายและมีโอกาสเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ๆ ได้มากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่คุณจะต้องวางแผนให้เฉียบขาดที่สุดก็คือ กลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาดหรือ 4P’s ได้แก่

  • Product – กลยุทธ์ด้านการสร้างความแตกต่างหรือข้อได้เปรียบในตัวสินค้าหรือบริการ เมื่อเทียบกับของคู่แข่ง
  • Price – กลยุทธ์การวางแผนและกำหนดราคา
  • Place – กลยุทธ์ด้านการวางแผนการช่องทางจำหน่าย
  • Promotion –กลยุทธ์ของการส่งเสริมการตลาดให้เหมาะสมและได้เปรียบคู่แข่ง

การทำธุรกิจบนโลกออฟไลน์และออนไลน์ ให้ความรู้สึกถึงมิติของสินค้าและบริการในมุมที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมองให้ขาดว่ากลยุทธ์ใดที่ต้องใช้ในการทำตลาดแบบออฟไลน์ และกลยุทธ์ใดต้องนำมาใช้ให้เกิดขึ้นในตลาดออนไลน์ แต่เชื่อแน่ว่า หากคุณมองเห็นโอกาสดีๆ ในการทำตลาดอย่างครอบคลุม โอกาสแจ้งเกิดทั้งในโลกออฟไลน์และออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย