การส่งเสริมผลักดันให้สินค้า OTOP  โดยใช้เครื่องมือทางด้านการตลาดออนไลน์จะช่วยให้ OTOPโชว์ความแข็งแกร่งให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างภาคภูมิใจและสง่างามบนเส้นทางธุรกิจที่เข้าถึงทุกการเชื่อมต่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์

โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือเรียกย่อว่า โอทอป (OTOP) เป็นโครงการกระตุ้นธุรกิจประกอบการท้องถิ่น ที่หยิบเอาภูมิปัญญาของแต่ละพื้นที่มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ แม้สินค้าจะมีความโดดเด่นแต่กลับไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก ส่วนหนึ่งมาจากการตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ สำหรับยุคที่การตลาดออนไลน์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ผู้ประกอบการเองควรนำเอาสิ่งนี้มาเป็นเครื่องมือในการเพิ่มยอดขาย มีกลยุทธ์ใดบ้างที่ควรรู้เพื่อผลักดันให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้อย่างมั่นคง

เชื่อมโลก Offline กับ Online เข้าด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าที่มีอยู่บนโลกความจริง หรือร้านค้าออนไลน์ ต่างก็สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปได้ไกลแค่ไหน แต่ข้อจำกัดบางอย่างสำหรับธุรกิจบางประเภทอาจไม่สามารถเลือกใช้ช่องทางใดช่องทางหนึ่งได้เพียงอย่างเดียว คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการนำเอาทั้งสองอย่างมาผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งในมุมของช่องทางออนไลน์นั้นเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการโปรโมทสินค้ารูปแบบเดิมๆ สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่าย และได้จำนวนที่มากกว่า

เรียนรู้การใช้ Social Media

สื่อสังคมออนไลน์ที่ผู้คนบนโลกนี้สามารถมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกัน เช่น Facebook, Instagram, Youtube, LINE@ และอื่นๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นเครื่องมือที่ดีในการที่จะประกาศให้โลกรับรู้ถึงธุรกิจของเรา แต่ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าช่องทางเหล่านี้ถูกออกแบบมาเพื่ออะไร และจะใช้งานอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตัวเด่นๆที่ควรรู้จักคือ

  • Line@

สำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาการตลาดออนไลน์หลายคนมักคุ้นเคยกับการส่งข้อความทักทายในช่วงเช้าผ่านทาง Line แต่รู้หรือไม่ว่ามีนวัตกรรมใหม่จากไลน์ที่สร้างมาเพื่อเอาใจพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์อย่าง Line@ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจ สามารถรองรับลูกค้าในการเข้ามาติดตามร้านค้าได้มากถึง 300,000 คน เป็นช่องทางติดต่อกับลูกค้าออนไลน์ที่ร้านค้านิยมกันมากที่สุด โดยเฉพาะการแชทขายของ และรับออเดอร์จากลูกค้าที่ทำได้สะดวกและรวดเร็ว

  • เลือกส่งข้อความแบบ 1 ต่อ 1 หรือส่งข้อความ Broadcast (ส่งทีเดียวหาหลายคน) ได้
  • ส่ง E-Coupon ไปให้ลูกค้าได้ เพื่อมอบสิทธิพิเศษ ส่วนลด และกิจกรรมส่งเสริมการขายอื่นๆ
  • สามารถส่ง Rich Message (ส่งภาพพร้อมลิ้งค์) ทำให้ผู้คนเข้ามาเยี่ยมเว็บไซต์ของเรามากขึ้น
  • Facebook Fanpage

สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของแบรนด์ เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การทำกิจกรรม เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาแสดงความคิดเห็น เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้าให้คนรับทราบ ไม่ใช่พื้นที่สำหรับขาย ซึ่งควรจะให้ไปที่เว็บไซต์มากกว่า ซึ่ง Facebook เป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายจึงควรที่จะมีการสร้างการรับรู้ถึงการมีอยู่ของแบรนด์ (Brand Awareness)  และเหมาะแก่การบริหารความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับลูกค้า (Customer relationship management) เนื่องจากเข้าถึงได้ง่าย สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นที่จะต้องมีการอัพเดตช่องทางนี้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ลูกค้าพลาดทุกการเคลื่อนไหว

  • Clip VDO 

การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านวิดีโอเป็นอีกรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย แค่มือถือเพียงเครื่องเดียวก็ทำเป็นคลิปวิดีโอได้ ช่วงแรกยังไม่จำเป็นต้องตัดต่อให้สมบูรณ์แบบมากนัก เน้นการนำเสนอเรื่องราวให้เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อเป็นการดึงผู้คนให้เข้ามารู้จักแบรนด์มากขึ้น ซึ่งหลายคนมักคิดว่าวิดีโอจะอยู่แค่บน Facebook หรือ Youtube เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ที่สามารถนำวิดีโอไปฝังได้ เป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ให้มีคนเห็นมากขึ้น

ช่องทางสื่อสารหลักอย่าง LINE@ และ Facebook มีข้อดีคือ สามารถเผยแพร่ Content ได้หลากหลายรูปแบบทั้ง ข้อความ รูปภาพ วีดีโอ หรือการ Live สด ในช่วงแรกสำหรับการเริ่มต้น แนะนำให้เลือกช่องทางหลักไม่เกิน 2 ช่องทาง จากนั้นจึงค่อยๆ ขยับขยายไปยังช่องทางอื่นๆเพิ่มขึ้น

ไม่มีอะไรที่ Search Engine ช่วยไม่ได้

  • Google

เมื่อคุณอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหนึ่งชิ้น จะหาอ่านได้จากที่ไหน แน่นอนว่าตามปกติทั่วไปต้องเป็นตัวอักษรที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ แต่หากสินค้านี้ไม่มีวางจำหน่ายแถวละแวกบ้าน หรือเป็นสินค้าใหม่ที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน เป็นธรรมดาที่ผู้บริโภคต้องใช้ตัวช่วยในการค้นหาข้อมูลสำคัญไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดสินค้าหรือการรีวิว แม้ Google ไม่ใช่ Search Engine ตัวเดียวที่มีบนโลก แต่ก็ได้รับความนิยมมากที่สุด สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจคือ ทำอย่างไรให้สินค้า OTOP ของเราถูกค้นพบ ซึ่ง Google จะทำหน้าที่แสดงผลการค้นหาที่เกี่ยวข้องหรือใกล้เคียงกับ Keyword ที่ป้อนเข้าไป ดังนั้นคุณภาพของ content จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการจัดอันดับผลการค้นหาของ Google และยังมีปัจจัยอื่นที่สำคัญเช่นกัน หน้าที่ของเราคือต้องทำให้เว็บไซต์หรือเพจติดอันดับต้นๆบนหน้าผลการค้นหา หากรักษาอันดับได้ดีและอยู่ได้นาน คุณค่าของหน้านั้นจะมีความแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นความน่าเชื่อถือตามมา ช่วยเปิดโอกาสให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นนั่นเอง

  • Website

เปรียบเสมือนร้านค้า หรือสำนักงานใหญ่ เพียงแต่ตั้งอยู่บนโลกออนไลน์ ในปัจจุบันการทำเว็บไซต์ของตัวเองนั้นง่าย มีความยืดหยุ่นสูง และมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการเปิดร้านค้าจริง เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบอกเล่ารายละเอียดต่างๆที่อยากนำเสนอเพื่อเป็นประโยชน์แก่ลูกค้า บอกถึงคุณสมบัติของสินค้าว่าเป็นอย่างไร ช่วยให้รู้จักสินค้าและแบรนด์มากขึ้น สิ่งที่ผู้ประกอบการควรใส่ใจคือ ความน่าสนใจของเว็บไซต์สามารถดึงดูดหรือกระตุ้นให้ผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมชม มีอารมณ์อยากซื้อสินค้าหรือไม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอารมณ์หรือความรู้สึกมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และยังบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพ ความพร้อมที่จะบริการ และสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาลูกค้าอีกด้วย

การสร้างเว็บไซต์ทำให้ลูกค้าค้นหาเราเจอ และเพิ่มโอกาสติด Search engine ถือเป็นการรองรับผู้คนที่มาจากช่องทางต่างๆ สามารถปิดการขาย ชำระเงินผ่านทางหน้าเว็บไซต์ได้ เมื่อพูดในแง่การค้นหาบทความ หากพึ่ง social media เพียงอย่างเดียวมักไม่เจอ และการกลับไปค้นข้อมูลเก่าอาจทำได้ไม่สะดวกเท่ากับเก็บบนเว็บไซต์ รวมถึงสามารถเชื่อมต่อกับแฟลตฟอร์มอื่นๆได้

อาศัยสื่อกลางอย่าง Marketplace

อีกหนึ่ง Platform ที่เป็นสื่อกลางในการติดต่อซื้อขายสินค้าออนไลน์ เปรียบเหมือนคลังสินค้า ข้อดีของการเลือกใช้ Marketplace คือ ตอบสนองพฤติกรรมการซื้อสินค้าของคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี เป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายมากขึ้น ไม่ต้องหาลูกค้าเอง เพราะ Marketplace จะทำหน้าที่หา Traffic จากลูกค้าใหม่ และลูกค้าเดิมให้มาซื้อของเรื่อยๆ ทั้งนี้การเติบโตของยอดขายนั้นขึ้นอยู่กับกลยุทธ์อื่นเช่นกัน เว็บไซต์ที่ได้รับความนิยม คือ

  • Lazada

เว็บไซต์ที่เปิดให้บริการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่มียอดขายและยอดเข้าชมสูง มีสินค้าให้เลือกหลากหลายมากที่สุดในบรรดาเว็บไซต์ช็อปปิ้งในไทย สินค้าใน Lazada มักราคาถูกกว่าที่อื่น แถมยังมีแบรนด์สินค้าชั้นนำเข้าร่วมแทบทุกแบรนด์ และยังมีบริการเก็บเงินปลายทางที่เป็นที่ชื่นชอบของนักช็อปออนไลน์อีกด้วย

  • Shopee

แพลต์ฟอร์มขายของออนไลน์ที่มีทั้งแบบเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น จุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้คือ ความสะดวกรวดเร็ว และมีความเป็นโซเชียลคล้ายกับ Instagram ที่ลูกค้าสามารถกดติดตามร้านค้าหรือกดถูกใจสินค้าได้ มีโปรโมชั่นและกิจกรรมมากมายจาก Shopee มาให้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เหมาะสำหรับพ่อค้าแม่ค้ามือใหม่ หรือร้านเล็กๆที่อยากจะสร้างฐานลูกค้าของตัวเอง

 ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อมสำหรับการมีตัวตนบนโลกออนไลน์ รู้จักเลือกใช้เครื่องมือออนไลน์ที่เหมาะสมกับธุรกิจในการเพิ่มยอดขาย อย่าลืมที่จะสร้างเรื่องราวให้กับสินค้าและบริการที่ทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกประทับใจ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้คือ ต้องรักษามาตรฐาน ไม่หยุดพัฒนา และนำเอานวัตกรรมใหม่มาปรับใช้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการส่งเสริมผลักดันให้สินค้า OTOP  โชว์ความแข็งแกร่งให้เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างภาคภูมิใจและสง่างามบนเส้นทางธุรกิจที่เข้าถึงทุกการเชื่อมต่อ