แม้เงิน 20,000 บาทไม่ได้เป็นจำนวนที่มากนัก แต่ก็ต้องมีการจัดสรรปันส่วนตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นที่จะต้องทุ่มลงทุนจนหมดในครั้งเดียว หรือลงทุนแค่เรื่องเดียว

เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธว่ารายได้จากช่องทางเดียวคงไม่เพียงพอสำหรับยุคที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก และการทำงานในยุคนี้ไม่สามารถการันตีความมั่นคงได้อีกต่อไป หลายคนพยายามที่จะหาช่องทางการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเองแต่ติดตรงที่มีเงินลงทุนไม่มาก แต่การแข่งขันทางการตลาดที่สูงนั้นกลับช่วยเอื้อประโยชน์ตรงที่การทำธุรกิจบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ เพียงแค่มีเงินหลักหมื่นก็สามารถที่จะเริ่มอาชีพใหม่ได้ มาดูกันว่าหากมีเงินจำนวน 20,000 บาท จะเอาไปลงทุนทำอะไรได้บ้าง

เงินน้อยใช่ว่าจะลงทุนไม่ได้ เมื่อจำนวนเงินไม่ใช่ประเด็นสำคัญเสมอไป

รูปแบบของการลงทุนไม่ได้มีข้อจำกัดที่แน่นอนขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ต้องการ บางครั้งต้องมีการลงทุนในหลายๆส่วนประกอบกันเพื่อให้บรรลุสู่เป้าหมายที่วางไว้ แม้เงิน 20,000 บาทไม่ได้เป็นจำนวนที่มากนัก แต่ก็ต้องมีการจัดสรรปันส่วนตามความเหมาะสม ไม่จำเป็นที่จะต้องทุ่มลงทุนจนหมดในครั้งเดียว หรือลงทุนแค่เรื่องเดียว วิธีที่อยากแนะนำสำหรับการลงทุนด้วยจำนวนเงินเพียงเท่านี้คือ ควรแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1.หาความรู้ใส่หัว แล้วเอาตัวพาธุรกิจให้รอด

เมื่อเราไม่รู้ในสิ่งใด ก็ควรที่จะศึกษาสิ่งนั้นเป็นอันดับแรก เพราะการลงทุนในตัวเองเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสร้างมูลค่าได้มากที่สุด สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดได้หลายทิศทาง  วิธีง่ายๆที่จะหาความรู้เพิ่มเติมคือ การลงคอร์สเรียนต่างๆ ซึ่งมีให้เลือกหลายหมวดหมู่ตามความสนใจ เช่น เรียนทำขนม เรียนเขียนบทความ เรียนทำเว็บไซต์ เรียนขายของออนไลน์ เป็นต้น มีทั้งการสอนที่ต้องไปเรียนตามสถานที่ต่างๆ หรือเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีข้อดีตรงที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า ส่วนใหญ่เริ่มต้นที่หลักพัน ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ทั้งสะดวกและช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง  สามารถย้อนกลับไปดูการสอนได้บ่อยครั้งตามที่ต้องการ ซึ่งความรู้เหล่านั้นจะตอบแทนกลับมาเป็นรายได้หลายเท่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความตั้งใจเป็นหลัก หรืออาจจะหยิบเอาความชื่นชอบส่วนตัวออกมาถ่ายทอดเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น การทำคลิปสอนทำอาหาร การทำคลิปเกี่ยวกับการท่องเที่ยวผ่านทาง Youtube นับเป็นช่องทางการทำเงินที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว เพียงแค่ลงทุนในอุปกรณ์สำหรับการถ่ายทำ และการใช้เครื่องมือในการตัดต่อ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สามารถควบคุมให้อยู่ในงบตามต้องการได้ เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วจึงค่อยๆขยับขยายลงทุนเพิ่ม เพื่อให้ผลงานออกมาดูดีและมีความน่าสนใจในการดึงดูดผู้คนให้เข้าไปชมมากที่สุด

2.เริ่มจับสินค้า จับธุรกิจ จากเล็กพอประมาณตัว ลงแรงให้มาก ลงเงินเท่าที่พอมี

เป็นรูปแบบการลงทุนที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกัน เพราะการผลิตสินค้าและบริการเป็นสิ่งแรกที่ผู้คนนึกถึง ขึ้นอยู่กับว่างบประมาณที่มีอยู่สามารถครอบคลุมความต้องการได้มากน้อยเพียงใด ตัวอย่างของการลงทุนในลักษณะนี้ เช่น

2.1 ธุรกิจแฟรนไชส์

หนึ่งในการลงทุนยอดนิยม ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ได้ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก ไม่จำเป็นต้องลงมือทำเองทุกขั้นตอน เพราะเป็นธุรกิจสำเร็จรูปที่ถูกวางระบบมาให้เรียบร้อยแล้ว เพียงแค่จ้างพนักงานประจำร้าน ที่เหลือก็แค่ดูแลอยู่ห่างๆ ทำให้มีเวลาไปทำอย่างอื่นได้อีก สามารถทำควบคู่กับงานอื่นได้ เป็นการลงทุนที่เหมาะสำหรับคนที่ทำงานประจำ หรือหากมีเงินเหลืออาจจะซื้อแฟรนไชส์ที่สนใจอื่นๆเพิ่มเติมได้เช่นกัน แต่อาจต้องคำนวณดูว่าในส่วนของค่าจ้างพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆคุ้มค่ากับการลงทุนเพิ่มหรือไม่

หมวดหมู่ของธุรกิจประเภทนี้มีหลากหลายทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค ราคาเริ่มต้นในการซื้อแฟรนไชส์มีตั้งแต่หลักพัน ถือเป็นการใช้เงินลงทุนที่น้อย ในส่วนของค่าตอบแทนต้องดูปัจจัยอื่นควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะทำเลที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพราะนั่นหมายถึงยอดขายที่จะได้ในแต่ละวัน ชื่อเสียงของแบรนด์ที่ติดตลาดย่อมมีความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สินค้าขายง่าย สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจ และศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจในการเลือกซื้อธุรกิจ

2.2 ขายของตลาดนัด

การขายของที่ตลาดนัดนับเป็นช่องทางการลงทุนที่สุดแสนจะคลาสสิก เพราะตลาดนัดอยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน แม้กระแสของธุรกิจ E-commerce จะมาแรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการหาซื้อสินค้าบางอย่างหรือร้านค้าเจ้าเด็ดเจ้าดังบางแห่งตั้งอยู่ที่ตลาดนัดเท่านั้น จะมีอะไรดีไปกว่าการเดินสัมผัสบรรยากาศของตลาดนัดที่ทั้งได้เดินดูสินค้าและทานอาหารได้อย่างเพลิดเพลิน สำหรับมือใหม่ที่อยากลองสนาม ต้องตอบโจทย์ให้ได้ก่อนว่าจะขายสินค้าอะไร ขายให้ใคร ตลาดนัดที่สนใจมีกลุ่มลูกค้าของเราหรือไม่ ในช่วงแรกของการลงทุนส่วนใหญ่จะหมดไปกับการซื้อวัตถุดิบอุปกรณ์ ต้องมีการเตรียมเงินทุนหมุนเวียนไว้ด้วย ส่วนค่าเช่าที่มีราคาต่างกันตามทำเลที่ตั้ง ยังไม่นับรวมค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ข้อดีของการขายของลักษณะนี้คือ เห็นสินค้าจริง มีโอกาสได้ลองสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ สามารถปิดการขายได้ทันที ลูกค้าได้รับสินค้า ส่วนพ่อค้าแม่ค้าได้รับเงิน ไม่ต้องรอส่งสินค้า สามารถเชียร์ขายได้เต็มที่ หมุนเวียนเปลี่ยนตลาดได้ตามความสะดวก หากสินค้าโดนใจลูกค้า สามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ และมีโอกาสต่อยอดไปยังช่องทางการจำหน่ายอื่นๆได้อีกด้วย

2.3 ตัวแทนจำหน่ายสินค้า

มักจะใช้เงินลงทุนไม่มาก สินค้าที่จำหน่ายส่วนใหญ่เกี่ยวกับสุขภาพและความงาม มีให้เลือกเป็นตัวแทนแบบไม่สต๊อกสินค้าและสต๊อกสินค้าตามความสะดวก แต่ต้องเลือกแบรนด์ที่มีความน่าเชื่อถือ การตลาดแข็งแกร่ง และมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค การลงทุนในลักษณะนี้มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องวุ่นวายกับการจัดการมากนัก  สามารถเลือกขายสินค้าได้หลากหลายตามความชอบโดยไม่จำกัดอยู่ที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเท่านั้น อีกอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ เรื่องของเวลาว่ามีมากพอที่จะขายของออนไลน์หรือไม่ ปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอคือการตอบแชทลูกค้า บางครั้งหากเราตอบแชทช้า ลูกค้าจะไปเลือกเจ้าอื่นแทน ซึ่งตรงนี้จะต้องเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ควรแจ้งในเพจหรือหน้าร้านเว็บไซต์ให้ชัดเจนถึงช่วงเวลาทำการ

3. ทำตลาดต้องใช้เงิน เตรียมส่วนนี้ไว้ ไม่อย่างนั้นลงทุนเจ๊งแน่นอน

ไม่ว่าจะลงทุนในรูปแบบใดก็ตาม ต้องมีการเตรียมเงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายทางการตลาดเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่ขายของออนไลน์ เนื่องจากช่องทางนี้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้เป็นจำนวนมาก ทำให้เจ้าของธุรกิจต่างพากันให้ความสนใจกับช่องทางการจัดจำหน่ายนี้มากขึ้น การลงทุนสำหรับการขายของออนไลน์นั้นขึ้นอยู่กับว่าจะขายสินค้าอะไร จะผลิตเองหรือไม่ เช่น มีความสามารถในการทำอาหารและขนม ไม่จำเป็นที่จะต้องมีหน้าร้านเสมอไป เลือกใช้ช่องทางนี้ในการประชาสัมพันธ์สินค้าของเราให้เป็นที่รู้จัก ใช้เป็นพื้นที่ในการติดต่อซื้อขายกับลูกค้า เพียงแค่ต้องรู้จักเลือกใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์ให้เป็น แต่ต้องทำความเข้าใจว่าการแข่งขันมักจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และทุกตลาดก็ย่อมมีกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน การทำการตลาดที่ดีนั้นจะช่วยสร้างยอดขายและผลักดันให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น

เมื่อพูดถึงการลงทุนหลายคนมักจะโฟกัสไปที่จำนวนเงินเป็นหลัก บางครั้งการลงทุนที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะเสมอไป ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจส่วนบุคคลและความเหมาะสมมากกว่า สิ่งสำคัญคือหาความต้องการของตนเองให้เจอ ยิ่งคาดหวังกับรายได้มากเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นการกดดันตัวเองมากเท่านั้น หลากหลายช่องทางในการสร้างรายได้ ใช่ว่าทุกคนสามารถทำออกมาได้ดีเท่ากัน เพียงแค่ต้องพาตัวเองไปอยู่ให้ถูกที่และถูกเวลา เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการสร้างโอกาสที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต