มีหลายเหตุผลที่ลูกค้าเข้าสู่เว็บไซต์แล้ว แต่ไม่ซื้อสินค้า นั่นคืออะไรบ้าง เรามาดูกันว่าใช่หรือไม่

จะว่าไปแล้วในสมัยนี้ แทบจะไม่มีใครที่ไม่รู้จักการช้อปปิ้งออนไลน์เลยก็ว่าได้ ช้อปออนไลน์ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ของการช้อปที่กำลังเป็นที่นิยมในตอนนี้  ซึ่งสิ่งที่พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ทั้งหลายจะดึงดูดให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าของพวกเขาได้ก็คือเว็บไซต์  แต่มันก็ไม่ได้สำเร็จเสมอไปว่าไหม มีหลายเหตุผลที่ลูกค้าเข้าสู่เว็บไซต์แล้ว แต่ไม่ซื้อสินค้า นั่นคืออะไรบ้าง เรามาดูกันว่าใช่หรือไม่ แล้วเราจะรับมือกับลูกค้าเหล่านี้อย่างไรดี

1.ราคาไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้

“ว้า…เห็นโปรโมชั่นแรง คูปองส่วนลดก็เยอะ แต่หักส่วนลดแล้วราคายังไม่โดนใจเราเลย ไปดูเว็บอื่นก่อนดีกว่าเรา” นี่อาจเป็นหนึ่งความคิดในใจของลูกค้าที่ผ่านเข้ามาในเว็บขายสินค้าของคุณแล้วคลิ๊กออกไปด้วยเหตุผลที่ราคาไม่เป็นตามที่คาดหวังไว้  การกำหนดราคาขายลงในเว็บควรให้ความชัดเจนกับลูกค้า ยิ่งนำเสนอราคาตั้งต้นแล้วระบุราคาหลังลดให้เห็นความต่างกันไปเลยนี่ยิ่งเป็นการเพิ่มความคุ้มสุดคุ้มให้กับลูกค้าได้ดีทีเดียว

2.แค่เข้ามาดูเฉยๆ

เห็นคอนเท้นต์โดนใจ จึงกดเข้ามาสู่หน้าเว็บไซต์ เมื่ออ่านจบก็สดชื่น ก็ไม่ได้เตรียมกะตังค์มาช้อปนี่นา กลุ่มคนเหล่านี้จึงแค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่นี่ก็เป็นโอกาสอันดีไม่ใช่หรือ ที่มีผู้ชมได้เข้ามาสู่เว็บไซต์ของคุณ วันนี้ยังไม่อยากซื้อ วันหน้าอาจต้องการและเข้าตาพวกเขาสักวัน ฉะนั้นหมั่นสร้างคอนเท้นต์เจ๋งๆ เรียกจำนวนคนเข้ามาเยี่ยมเยียนกันให้มากเข้าไว้ แล้วพวกเขาอาจจะกลายเป็นลูกค้าใหม่ของคุณในสักวันก็เป็นได้

3.เปลี่ยนใจไม่ซื้อ

บ้างเข้ามาก็รีบๆร้อนๆ ถูกใจก็รีบซื้อ แต่มีบางประเภท อันนี้จะใช้เงินไม่ค่อยเป็นเท่าไหร่ค่ะ คุณเธอจะคิดแล้วคิดอีก มันจะคุ้มค่าไหม มันจำเป็นไหม แล้วเรามีแล้วหรือยัง ไม่มีจะเป็นไรไหม อ่อ ไม่เป็นไร งั้นไม่เอาล่ะ อย่าปล่อยให้ลูกค้าต้องคิดนาน มากมายขนาดนี้ อาจเพิ่มคอนเท้นต์ที่เข้าใจง่ายและรวดเร็ว เช่น พวกรูปภาพ วีดิโอ เน้นถึงประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ และอาจสร้างความต่างด้านบริการของร้านคุณเข้าไปอีก เช่น บริการส่งฟรี  ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้านั่นเอง

4.เว็บไซต์ใช้ยาก

บางเว็บไซต์อาจง่ายสำหรับวัยรุ่นหนุ่ม สาว มนุษย์ไอที แต่อาจยากไปสำหรับ ลุง ป้า น้า อาทั้งหลาย ก็ต้องมีการพึ่งให้ลูกๆหลานๆ เข้าช่วย หากลูกหลานไม่อยู่ละก็ ขาดลูกค้ากระเป๋าใบโตเหล่านี้ไปเลยนะ ฉะนั้นทำเว็บไซต์ให้มันเข้าใจง่ายๆ เน้นจุดสังเกตเด่นๆ จัดระเบียบหมวดหมู่ให้สวยงาม คลิ๊กปุ๊บ! เจอปั๊บ! แบบนี้สิ อาม่า อากงก็มาช้อป

5.ERROR บ่อยเหลือเกิน

ลำพังโปรโมชั่นอินเตอร์เน็ตที่มีอยู่ก็อ่อนแรงปวกเปียกเหลือเกิน นั่งจ้องหมุนติ้ว ติ้ว อยู่นานสองนาน สุดท้าย หลุด! ความพยายามคนเรามันก็มีจำกัดซะด้วยสิ หากปล่อยให้ลูกค้าจับจ้องอยู่สามถึงสี่นาทีแล้วยังไม่เกิดความคืบหน้า ภาพสินค้ายังไม่โชว์ละก็ ลูกค้าคุณก็จะหนีไปเว็บไซต์อื่นซะนะ โอกาสขายก็หมดกันดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ เจ้าของร้านต้องหมั่นแปลงร่างเป็นลูกค้าของคุณเอง คลิ๊กเข้าไปดูร้านเพื่อตรวจสอบความคล่องตัวของเว็บไซต์คุณ และปรับปรุงให้ดีงามอย่างสม่ำเสมอนะคะ

6.ขั้นตอนการซื้อเยอะ

เริ่มจากขั้นที่ 1 ตามด้วยขั้นที่ 2 และ 3 ก็แล้ว 4, 5, 6 ลูกค้ายังไม่ได้การตอบรับการสั่งซื้อ ท้อซะแล้วค่ะ อย่าลืมนะคะว่าที่ลูกค้าของคุณเลือกที่จะเข้ามาใช้บริการช้อปออนไลน์ ก็เนื่องจากว่า เขาเหล่านั้นต้องการประหยัดเวลาในการช้อป ฉะนั้นโปรดระวังอย่าสร้างขั้นตอนอันยืดยาว สร้างความเบื่อหน่ายให้กับคุณลูกค้านะคะ

7.ขั้นตอนการจ่ายก็เยอะ

ตราบใดที่ลูกค้ายังไม่เสียเงิน เค้าสามารถออกจากเว็บไซต์ได้ตลอดเวลานะเออ  โดยที่คุณไม่มีโอกาสได้ยื้อไว้เลย ฉะนั้นสร้างเว็บไซต์ที่ทำให้ลูกค้าได้จ่ายไวๆ เข้าไว้ อย่ามากมายขั้นตอนในการจ่ายให้มากนัก เพราะเดี๋ยวเค้าจะไม่ใช่ลูกค้าคุณ กลายเป็นแค่คนแวะมาเยี่ยมเยียนเว็บไซต์คุณนะ

8.ระบบความปลอดภัยไม่น่าเชื่อถือ

การซื้อขายก็ต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วการซื้อขายทางออนไลน์ก็ไม่ได้เป็นแบบยื่นหมูยื่นแมว แบบเงินมาของไปในทันทีซะด้วยสิ ลูกค้าทั้งหลายจึงต้องการความมั่นใจในร้านค้าออนไลน์ของคุณ ว่าเค้าจะไม่เสียเงินไปฟรีๆ ฉะนั้นภาพรวมของเว็บไซต์คุณต้องมีครบ มีการเคลื่อนไหว มีการตอบโต้กับลูกค้าอย่างรวดเร็ว อัพเดทข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ คอมเม้นท์จากลูกค้าที่ได้รับความพอใจจากบริการคุณก็มีส่วนช่วยนะเออ จัดมาให้ครบ นึกถึงใจเขาใจเราเข้าไว้ แล้วคุณจะเข้าถึงใจลูกค้าได้ดี

9.ไม่มีของที่ต้องการ

คิดจะขายอะไรก็ต้องเอาให้มีหลากหลายรายการเข้าไว้ เพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้ามากๆ กลุ่มเป้าหมายเป็นคนชอบสินค้าประเภทไหนก็จัดมาให้ครบฟังก์ชั่นไปเลย ยิ่งครอบคลุมได้เท่าไหร่ โอกาสที่ลูกค้าซื้อสินค้าของคุณก็ยิ่งมากเท่านั้น

10.อ่านคอมเม้นท์แล้วถอยดีกว่า

“ส่งช้ามาก”   “สินค้าแย่ไม่เหมือนในภาพ”   “คุณภาพไม่ดีอย่างที่บอกไว้”   “ได้ของไม่ตรงกับที่สั่ง”     เหล่านี้ล่ะ ตัวอย่างคอมเม้นท์ของลูกค้าที่จะทำให้ขาจรมาใหม่ต้องถอยไปตามๆกัน จะว่าไปแล้วมันก็คือคำเตือนสำหรับลูกค้ารายใหม่นั่นเอง  เว็บไซต์ขายของอื่นๆก็มีตั้งมากมาย คงไม่มีใครที่จะมากล้าเสี่ยงกับร้านเหล่านี้  คุณๆ เจ้าของร้านจึงต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดข้อผิดพลาด ที่จะก่อให้เกิดคอมเม้นท์ลบๆเหล่านี้ในเว็บไซต์ของคุณนะคะ หากสุดวิสัยจริงๆ อาจมีการกล่าวแสดงคำขอโทษตอบกลับไปในคอมเม้นท์เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าใจ และรับผิดชอบกับปัญหาดังกล่าว ทีนี้วิกฤตก็อาจกลายเป็นโอกาสขึ้นมาได้ค่ะ

รู้กันอย่างนี้แล้วจะช้าอยู่ไย ใครมีร้านออนไลน์รีบกลับไปทบทวนกันดูนะคะ คงไม่มีใครที่สำเร็จได้ด้วยการนิ่งเฉย มีอยู่หลากหลาย

ปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจออนไลน์ของคุณนั้นสำเร็จได้ และการเข้าถึงลูกค้าก็เป็นหนึ่งในนั้น  …อย่าปล่อยให้ยอดขายต้องกลายเป็นแค่ยอด Veiw ในเว็บไซต์ของคุณนะคะ

บทความโดย

ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”

คุณ รุ่งฤทัย กมลพันธ์ทิพย์ (เจี๊ยบ)

พนักงานบริษัท / Garment Merchandiser