ถ้าชอบทำอาหารทานกินกันเองอยู่แล้ว ทำไมไม่ลองทำแล้วแบ่งขายให้เพื่อนๆ ได้ลองชิมบ้างหละ !!

การทำอาหารถือเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่มีเสน่ห์ ชวนน่าหลงใหล สำหรับคนที่รักในการทำอาหารนั้นคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีต่างๆนั้นช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น ทำให้การปรุงอาหารง่ายขึ้นกว่าเดิม ไม่จำเป็นต้องพลิกดูตำราหลายตลบให้มึนงง  ไม่ต้องจดจ่อเฝ้ารอดูรายการทำอาหารหน้าทีวี แค่คลิ๊กเดียวก็สามารถเปลี่ยนการทำอาหารให้เป็นเรื่องที่สนุกขึ้น

สิ่งสำคัญที่ทำให้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้คือการฝึกฝน หากมีเสียงตอบรับว่าอร่อย ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่อย่าลืมว่าทุกอย่างมีต้นทุน จะดีกว่าหรือไม่หากสามารถเปลี่ยนจากแค่ทำกินเป็นทำขาย สนุกด้วย อร่อยด้วย ที่สำคัญคือรายได้เพิ่ม เผลอๆอาจจะรวย  แต่เดี๋ยวก่อน…. มันไม่ง่ายอย่างที่คิดใช่หรือไม่ ถ้า…….

  • ไม่มีทุนเปิดร้านอาหารทำไงดี
  • ต้องหาทำเลที่ไหน
  • ระบบการจัดการเป็นอย่างไร
  • ต้องจ้างพนักงานเท่าไหร่

หากที่กล่าวมาข้างต้นนั้นไม่มีสิ่งใดพร้อมเลย มีแค่ใจรัก ความเอาใจใส่ บวกกับฝีมือที่ดี ความมั่นใจที่เต็มเปี่ยม เจอปัญหาแค่ไหนก็ไม่หวั่น ลองมาดูกันว่ามีช่องทางใดบ้างที่สามารถทำเงินจากการขายอาหารได้

1.ช่องทางออนไลน์

ปัจจุบันรูปแบบการค้าส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่ระบบออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงในการเช่าพื้นที่ ค่าตกแต่งร้าน ค่าจ้างพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถ

เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย สะดวก รวดเร็วแล้วสำหรับการขายอาหาร

นั้นจะทำได้จริงหรือ หลักๆที่ต้องคำนึงถึงคือ

  • ประเภทของอาหาร เนื่องจากอาหารบางชนิดมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา อุณหภูมิ ที่อาจส่งผลให้รสชาติอาหารเกิดการเปลี่ยนแปลง หากอาหารสามารถจัดเก็บได้เป็นเวลาหลายวัน ควรแจ้งให้ทราบถึงวิธีการนำมาอุ่นรับประทาน
  • ช่องทางการจัดส่ง ควรเลือกให้เข้ากับชนิดของอาหาร บางชนิดสามารถส่งในรูปแบบของพัสดุได้ บางชนิดต้องควบคุมอุณหภูมิระหว่างขนส่ง และต้องคำนึงในเรื่องของการบรรจุสินค้า เพื่อลดอัตราความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการขนส่ง สามารถใช้บริการง่ายๆผ่านทางแอพพลิเคชั่น ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาในการจัดการได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Lalamove, Line Man, Grab Bike, SCG Express, SKOOTAR, Food Panda
  • การทำการตลาด หากทำอาหารอร่อยแต่ขายไม่เป็น ก็ยากที่จะเข้าถึงผู้บริโภค ต้องประกาศให้รู้ว่าขายอะไร สั่งซื้อจากช่องทางออนไลน์ใดได้บ้าง
  • บริการหลังการขาย เนื่องจากไม่มีโอกาสได้เจอลูกค้าโดยตรง อาจทำให้พลาดข้อมูลหรือคำแนะนำบางอย่าง ซึ่งหากเกิดข้อสงสัยหรือข้อผิดพลาด ต้องรีบดำเนินการแก้ให้เร็วที่สุด เผื่อรักษามาตรฐานไว้

2.เปิดหน้าบ้าน เป็นร้านอาหารขนาดย่อม

สำหรับใครที่มีพื้นที่บริเวณบ้านพอสมควร ชอบวิถีแนวสโลว์ ไลฟ์ ชิลๆ ชิคๆ คูลๆ อยากมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกค้า การเปิดหน้าบ้านเป็นร้านอาหารขนาดย่อม เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ใช้วัตถุดิบที่หาไม่ยากในการประกอบอาหาร เน้นความสดใหม่ สร้างจุดขายโดยมีความเป็นเอกลักษณ์ บริการเป็นกันเอง

ให้ลูกค้ารู้สึกเสมือนทานอาหารกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง

ส่วนใครที่ถนัดแนวเบเกอรี่และเครื่องดื่ม สามารถจัดเป็นมุมเล็กๆ เน้นการตกแต่งง่ายๆบรรยากาศสบายๆ ถือเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้กับร้านอีกทางหนี่ง

3.รับทำอาหารกล่อง

ขึ้นชื่อว่าอาหารกล่อง รูปแบบในการทำอาหารต้องเน้นการตกแต่งบรรจุภัณฑ์ที่ดูโดดเด่นเป็นที่สะดุดตา เห็นแล้วชวนให้เกิดความอยากรับประทาน มีตั้งแต่อาหารว่าง ข้าวกล่องมื้อกลางวัน งานจัดเลี้ยงขนาดเล็ก หรือแม้แต่การรับออเดอร์จากเพื่อนร่วมงาน การจัดส่งตามแหล่งที่พักอาศัยต่างๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน เริ่มจากทำในปริมาณที่ไม่เยอะมาก ไม่ยุ่งยาก เน้นความรวดเร็ว

4.ตลาดนัด

สำหรับขาโหด ขาลุย และมีเวลาเหลือเฟือ ตลาดนัดเป็นบททดสอบหนึ่งที่ฝึกทักษะความแข็งแกร่งได้ ต้องใช้แรงกายแรงใจอย่างสูงในการเรียกลูกค้า หน้าต้องยิ้ม จิตต้องนิ่ง สามารถทนต่อสภาพอากาศ และต้องเผชิญกับปัจจัยต่างๆที่คาดไม่ถึง

ช่วยเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่ต้องคำนึงคือ

  • อาหารที่จำหน่ายต้องทำง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากจำนวนลูกค้าค่อนข้างเยอะ พื้นที่ในการยืนคอยหน้าร้านหรือเดินเลือกซื้อสินค้าไม่กว้างมากนัก หากต้องรอนานอาจทำให้เสียโอกาสในการขายได้
  • ต้องขายได้ในปริมาณที่เยอะ เพราะมีเรื่องของต้นทุนค่าที่ ค่าไฟ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
  • ระวังในเรื่องของการเก็บรักษาวัตถุดิบ โดยเฉพาะอาหารสด และอาหารที่เสียได้ง่าย

5.การฝากวางจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆ

อีกช่องทางหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก การฝากวางอาหารจำหน่ายตามร้านค้าต่างๆก็สามารถทำได้เช่นกัน อาหารส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเบเกอรี่ เครื่องดื่มสมุนไพร ขนมขบเคี้ยว ของแห้ง เน้นสินค้าที่ซื้อง่าย ขายคล่อง เป็นที่นิยมในการบริโภค มีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ

  • อายุของอาหาร ควรเลือกอาหารที่มีอายุการเก็บค่อนข้างนาน เพื่อลดการสูญเสียให้มากที่สุด
  • การเก็บรักษาต้องง่าย ใช้พื้นที่น้อย อาหารที่จำหน่ายต้องสามารถทนต่อสภาพอากาศได้พอสมควร ไม่ควรเลือกจำหน่ายอาหารที่ต้องเก็บในตู้แช่ตลอด หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโอกาสเสียได้ง่าย
  • ปริมาณที่ผลิตในแต่ละครั้ง ต้องสอดคล้องกับจำนวนลูกค้าที่เข้าร้าน
  • บรรจุภัณฑ์ก็เป็นส่วนหนี่งในการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ต้องดูสะอาด สวยงาม สะดุดตา
  • วันหมดอายุ ต้องระบุให้ชัดเจน วิธีการเก็บรักษา รวมถึงรายละเอียดสำคัญที่ลูกค้าควรทราบ

ช่องทางจัดจำหน่ายที่ยกมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง

ใครชอบแบบไหนสามารถเลือกให้เหมาะสมกับตนเอง ในช่วงแรกอาจเริ่มทำแบบเล็กๆก่อนแล้วค่อยขยับขยาย หรือใครที่ทำช่องทางใดแล้วรู้สึกว่ายังไม่ตอบโจทย์ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจ

ขนาดกิจการจะเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ แค่ทำด้วยความชอบ ความสนุก เรียนรู้ในทุกสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำมีเป้าหมายที่ชัดเจน

อย่าลืมว่าหัวใจหลักในการทำอาหารนั้นไม่ใช่แค่ทำให้อร่อยเพียงอย่างเดียว ความสุขที่คนทานได้รับนั้นมีค่ามากเกินบรรยาย ยิ่งใส่ใจเข้าไปในอาหารที่ทำมากเท่าไหร่ ก็จะได้ใจมากขึ้นเป็นอีกเท่าตัว

“รักที่จะทำกิน รักที่จะทำทาน ลองเปลี่ยนมาเป็นงานที่ทำรายได้กันดูนะคะ”

 

บทความโดย

ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”

คุณ  มาลินี เพ็ชรอุไร

แม่บ้าน

ครูสอนพิเศษวิชาวิทยาศาสตร์