ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของวิกฤติโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ซึ่งมีความรุนแรงกว่าการระบาดทั้ง 2 รอบอย่างเทียบไม่ติดนั้น สถานการณ์การติดเชื้อซึ่งพุ่งสูงกว่าพันราย รวมถึงอัตราการเสียชีวิตในระดับเลข 2 หลักที่กินระยะเวลาต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ ผลกระทบดังกล่าวนี้ไม่ได้มีผลแต่เฉพาะกับภาวะสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ และรายรับของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุนี้เองที่ทางสำนักงานกองทุนประกันสังคมจึงได้มีมาตรการช่วยเหลือด้านต่าง ๆแก่ทั้งลูกจ้างและเจ้าของกิจการที่ต้องนำส่งเงินสมทบ  โดยเป็นมาตรการลดเงินนำส่งของทั้งผู้ประกันตนมาตราต่าง ๆและนายจ้างลง ซึ่งมาตรการดังกล่าวล่าสุดในปี 2564 นี้จะเป็นอย่างไรบ้าง บทความนี้เราจะพาไปดูกัน

เพราะวิกฤติยังคงมีทำให้ในรอบ 12 เดือน กองทุนประกันสังคมปรับลดเงินนำส่งต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563

ในปี 2564 นี้ การปรับลดเงินนำส่งของกองทุนประกันสังคมไม่ใช่ครั้งแรกนับแต่วิกฤติการระบาดของโควิด -19   เพราะในปี 2563 รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกันตนและนายจ้างโดยการปรับลดเงินสมทบลงถึง 2 ครั้งโดยครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2563 โดยนายจ้างนำส่งเงินสมทบ 4% และลูกจ้างนำส่งในอัตรา 1 % มาตรการรอบที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงเดือน กันยายน-พฤศจิกายน 2563 ที่ปรับลดอัตราของทั้งนายจ้างและลูกจ้างลงเหลือ 2%

มาตรการอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2564 ล่าสุดเป็นอย่างไร

ภายหลังที่มาตรการลดเงินสมทบรอบที่ 2 สิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน 2563 ทำให้เดือนธันวาคม 2563 ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องกลับไปจ่ายเงินสมทบในอัตราเดิมที่ 5% แต่วิกฤติการระบาดระลอกที่ 2 กำลังอยู่ในช่วงวิกฤติจึงทำให้สำนักงานกองทุนประกันสังคมเสนอมาตรการช่วยเหลือเข้าสู่คณะรัฐมนตรีซึ่งได้มีมติเห็นชอบในการลดเงินนำส่งกองทุนประกันสังคมลงซึ่งจะมีผลในเดือน มกราคม-มีนาคม 2564 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

เดือนมกราคม 2564:

ผู้ประกันตนมาตรา 33: ผู้ประกันตนในมาตรานี้จะต้องนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตรา 3% หรือสูงสุดไม่เกิน 450 บาท

ผู้ประกันตนมาตรา 39: ผู้ประกันตนมาตรานี้ต้องส่งเงินสมทบในอัตรา 278 บาท

นายจ้าง: สำหรับนายจ้างจะต้องส่งเงินนำส่งเข้ากองทุนในอัตรา 3% หรือสูงสุดไม่เกิน 450 บาท

เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564

ผู้ประกันตนมาตรา 33: ในรอบเดือนนี้ผู้ประกันตนมาตรา 33 จะต้องส่งเงินสมทบในอัตรา 0.5 % หรือสูงสุดไม่เกิน 75 บาท

ผู้ประกันตนมาตรา 39: ผู้ประกันตนในมาตรานี้ต้องส่งเงินสมทบในอัตรา 38 บาท

นายจ้าง: สำหรับนายจ้างจะต้องส่งเงินสมทบในอัตรา 3% หรือสูงสุดไม่เกิน 450 บาท

ทั้งนี้สำหรับผู้ประกันตนในมาตรา 40 นโยบายดังกล่าวไม่ได้ครอบคลุมผู้ประกันตนในกลุ่มนี้  จึงต้องจ่ายเงินสมทบในอัตราเดิม

เมื่อมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดในเดือนมีนาคมแล้ว จะเกิดผลอย่างไร

สำหรับมาตรการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมในรอบล่าสุดนี้มีระยะเวลาครอบคลุมเป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งในขณะนี้มาตรการช่วยเหลือดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งเป็นผลให้นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ทั้งนายจ้างและผู้ประกันตนทั้ง 2 มาตราต้องกลับไปจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตราเดิมดังนี้

ผู้ประกันตนมาตรา 33: จ่ายเงินสมทบในอัตรา 5% แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท

ผู้ประกันตนมาตรา 39: จ่ายเงินสมทบในอัตรา 9% ของฐานเงิน 4,800 บาท หรือ 432 บาทต่อเดือน

นายจ้าง: จ่ายเงินสมทบในอัตรา 5% แต่สูงสุดไม่เกิน 750 บาท

ซึ่งอัตราดังกล่าวจะมีผลนับตั้งแต่การจ่ายเงินสมทบในรอบเดือนเมษายนเป็นต้นไป

แม้มาตรการลดหย่อนเงินสมทบจะสิ้นสุดลง แต่มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 อื่น ๆ ยังมีอยู่

แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือในเรื่องของลดการจ่ายเงินสมทบจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ทางกองทุนประกันสังคมก็ยังคงมีมาตรการช่วยเหลือให้แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนดังต่อไปนี้

จ่ายเงินเยียวยาทดแทน 50% จากเหตุสุดวิสัย ในภาวะวิกฤติโควิด-19

หากลูกจ้างได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19ไม่ว่าจะเกิดจากคำสั่งกักตัว หรือเกิดจากคำสั่งให้ปิดสถานที่ทำงานจากราชการ จนส่งผลให้ลูกจ้างไม่ได้รับค่าจ้างตามปกติ ในระหว่างนั้นลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา ในอัตรา 50% ของค่าจ้าง หรือสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน ภายในระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน

มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ กรณีว่างงานปกติเนื่องจากถูกเลิกจ้าง

ในกรณีที่ลูกจ้างถูกเลิกจ้างก็มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทน 70% ซึ่งคิดจากค่าจ้างรายวัน เป็นระยะเวลา 200 วัน โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทนเพียง 50% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 180 วันต่อปี

ได้รับเงินทดแทน 45%กรณีว่างงาน จากการลาออกตามปกติ

หากลูกจ้างลาออก ก็จะสามารถได้รับเงินทดแทน กรณีว่างงานจากการลาออก 45% จากค่าจ้างรายวันปีละไม่เกิน 90 วัน ซึ่งต่างจากในอดีตที่ได้รับเพียง 30%เท่านั้น

ได้รับเงินเยียวยา 4,000 บาท จากม. 33 เรารักกัน

เงินเยียวยาจา ม.33 นี้ รัฐบาลจะจ่ายให้กับผู้ประกันตนในมาตรา 33 เป็นจำน 4,000 บาท ซึ่งผู้ประกันตนสามารถใช้ได้ถึง 31 พฤษภาคม 2564 และจากข่าวล่าสุดรัฐบาลมีมาตรการที่จะเพิ่มเงินช่วยเหลืออีกคนละ 2,000 บาทซึ่งจะถูกนำจ่ายในปลายเดือนพฤษภาคม

เพราะวิกฤติระลอก 3 เกิดขึ้น จึงปรับอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2564 ในรอบนี้

ล่าสุดในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 จากสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ในระลอกที่ 3 นี้ ทางคณะกรรมการกองทุนประกันสังคมมีการเสนอปรับลดเงินสมทบของทั้งลูกจ้างและนายจ้างลงเหลือฝ่ายละ 2.5% เป็นระยะเวลา 3 เดือน  ซึ่งหากมาตรการนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก็จะมีการประกาศใช้และเริ่มให้นายจ้างและลูกจ้างนำส่งเงินสมทบในอัตราใหม่นี้ในรอบเดือน มิถุนายน-สิงหาคม 2564 นี้เพื่อเป็นการเยียวยาช่วยเหลือให้กับทั้งผู้ประกันตนแบะนายจ้างในการระบาดระลอกที่ 3 ของโควิด-19 ซึ่งนับเป็นการระบาดระลอกที่มีความรุนแรงมากที่สุด

ทั้งหมดนี้ก็คือมาตรการที่ทางสำนักงานกองทุนประกันสังคมออกมาเพื่อแบ่งเบาภาระและช่วยเหลือทั้งผู้ประกันตนและนายจ้าง  ซึ่งคุณสามารถเข้าไปตรวจสอบมาตรการการช่วยเหลือต่าง ๆ ได้ที่ www.sso.go.th หรือทางสายด่วนที่เบอร์ 1506

สรุปอัตราเงินสมทบประกันสังคม 2564 ล่าสุด