การขายอาหารไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดนั้น คุณภาพของอาหารถือเป็นหัวใจหลักที่สำคัญ
กระแสธุรกิจออนไลน์ที่มาแรงมาก ทำให้หลายๆคนสามารถสร้างปรากฏการณ์ได้ภายในข้ามคืน และเกิดเป็นธุรกิจแนวใหม่ต่างๆที่ผุดขึ้นมาจากไอเดียที่สร้างสรรค์ คงยากที่จะปฏิเสธว่าอิทธิพลของสื่อออนไลน์ส่งผลต่อชีวิตในทุกๆด้าน รวมถึงธุรกิจขายอาหารออนไลน์
หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความนิยมในขณะนี้ เนื่องจากช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ว่าร้านอาหารจะอยู่ไกลแค่ไหนก็ตาม เพียงแค่คลิ๊กเดียวเท่านั้น เมนูที่สั่งสามารถส่งตรงถึงหน้าบ้านได้ สำหรับมือใหม่ที่อยากเริ่มธุรกิจขายอาหารออนไลน์นั้น
จะเริ่มต้นอย่างไร มีสิ่งใดที่ควรรู้บ้างลองมาดูกันเลย
1.ขายอะไร
สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือจะขายอะไร ใช่ว่าอาหารทุกชนิดสามารถขายออนไลน์ได้ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของการขนส่ง รวมถึงรสชาติของอาหารหลังจากปรุงเสร็จ ซึ่งประเภทของอาหารแตกต่างออกไปมีตั้งแต่อาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เบเกอรี่ อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ อาหารของเราต้องมีเอกลักษณ์และแตกต่างจากเจ้าอื่น ยกตัวอย่างเช่น
อยากขายข้าวมันไก่ออนไลน์ ลองตอบคำถามเหล่านี้ดูว่า
- ข้าวมันไก่ของเรามีทีเด็ดกว่าเจ้าอื่นอย่างไร
- ทำไมลูกค้าต้องซื้อของเรา ทั้งๆที่เดินไปซื้อหน้าปากซอยก็ได้
เนื่องจากลูกค้ามีตัวเลือกเยอะมาก จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างเรื่องราวให้กับอาหาร ให้ดูมีลูกเล่นมีความน่าสนใจเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าอยากซื้อไปรับประทาน
2.ราคาเท่าไหร่ดี
ราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพของอาหาร เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ การขายอาหารออนไลน์มีในเรื่องของค่าจัดส่งที่ต้องพิจารณา กรณีที่ขายเฉพาะบางพื้นที่ ใช้เวลาจัดส่งไม่นาน เมื่อรวมค่าส่งแล้วไม่ควรแพงไปกว่าการที่ลูกค้าเดินทางไปซื้อเอง หรือไม่หากอาหารของเรามีคุณภาพดี เป็นสูตรที่คิดขึ้นมาเอง ไม่มีที่ไหนทำขาย คู่แข่งน้อย เรื่องค่าขนส่งก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่สำคัญนัก
3.รูปแบบบรรจุภัณฑ์
หน้าตาของอาหารถือเป็นสิ่งที่ชวนให้เกิดความอยากรับประทาน เรื่องของรูปแบบบรรจุภัณฑ์เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ต้องดูดี สะอาด ปลอดภัย สามารถนำไปอุ่นได้ทั้งบรรจุภัณฑ์ ทำให้ง่ายและสะดวกต่อลูกค้า
4.การชำระเงิน
มีให้เลือกทั้งแบบชำระก่อนแล้วค่อยส่ง เก็บเงินปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นผ่านการโอนเงิน ตัดบัตรเครดิต หากมีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลาย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้ทั้งสองฝ่าย
5.ช่องทางการขาย
ช่องทางการขายออนไลน์มีให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ขาย ทั้งนี้ควรเลือกช่องทางการติดต่อโดยคำนึงถึงความสะดวกและรวดเร็ว เนื่องจากมีการพูดคุยกับลูกค้าเป็นจำนวนมาก หากใช้ช่องทางที่เยอะเกินไปจนไม่สามารถจัดการได้ อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาด เช่น รับออเดอร์ไม่ทัน ตอบคำถามลูกค้าล่าช้า แต่ก็ไม่ควรใช้แค่ช่องทางเดียวในการจัดจำหน่าย ช่องทางออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมีทั้ง
Line@
- ลูกค้าที่ทำการเพิ่มเพื่อนเข้ามา จะกลายเป็นผู้ติดตามร้านได้มากถึง 300,000 คน
- 1 ไอดีไลน์ สามารถเพิ่มแอดมินได้หลายคน สามารถตอบลูกค้าได้เร็วขึ้น
- เวลาไม่ว่างตอบ ปิดร้านอยู่ ก็สามารถตั้ง Auto-reply ได้
- สามารถส่งข้อความได้พร้อมกันหลายคน หรือเลือกตอบแบบ 1 ต่อ 1 ได้
- คนไทยใช้ Facebook เป็นจำนวนมาก
- สะดวก หาลูกค้าง่าย
- หากต้องการเพิ่มการมองเห็นหน้าเพจ ต้องซื้อโฆษณากับทาง Facebook
Website
- สามารถออกแบบเว็บได้ตามชอบเข้ากับกลุ่มลูกค้า
- ค่าใช้จ่ายในช่วงเริ่มต้นค่อนข้างสูง
- การแข่งขันสูง เนื่องจากเว็บไซต์มีจำนวนมาก
6.การโปรโมทและแผนการตลาด
ไม่ว่าจะขายของทางออนไลน์หรือออฟไลน์ แผนการตลาดถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยิ่งกระจายข้อมูลให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากเท่าไหร่ ย่อมเพิ่มโอกาสทางการขายมากขึ้นเท่านั้น ควรมีเงินทุนสำหรับทำการตลาดส่วนหนึ่ง รวมถึงการเข้าร่วมออกบูทตามงานอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและให้ลูกค้าได้รู้จักมากขึ้น จากนั้นค่อยนำมาต่อยอดในช่องทางออนไลน์ อย่าลืมว่าไม่ว่าอาหารจะอร่อย มีคุณภาพมากแค่ไหนตาม หากปราศจากการบอกต่อ ก็เป็นไปได้ยากที่จะสามารถเพิ่มยอดขายได้
7.รูปภาพอาหาร
รูปลักษณ์ที่ดีย่อมดึงดูดใครต่อใครให้อยากเป็นที่รู้จัก เช่นเดียวกับอาหาร หน้าตาของอาหารเป็นสิ่งแรกที่ช่วยเรียกความสนใจจากลูกค้า
การถ่ายภาพอาหารให้ออกมาน่ารับประทานนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ขายอาหารออนไลน์ควรคำนึง
เนื่องจากลูกค้าไม่ได้เห็นของจริง ไม่ได้รับรู้ถึงกลิ่น แสงและสีจึงเป็นองค์ประกอบหลักในการถ่ายภาพเพื่อให้รูปที่ออกมานั้นมีความใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
8.ระยะเวลาในการจัดส่งและเก็บรักษา
หากจำหน่ายอาหารแห้งคงไม่ต้องกังวลในเรื่องของการเก็บรักษามากเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นอาหารสดหรืออาหารที่ผ่านการปรุงแล้ว ควรระวังในเรื่องของเวลาที่ใช้ในการจัดส่งรวมถึงเวลาในการเก็บรักษา อาหารบางประเภทต้องรับประทานขณะอุ่นไม่เช่นนั้นอาจจะเสียอรรถรสในการทาน หากไม่สามารถทำได้ควรมีคำแนะนำวิธีการอุ่นให้แก่ลูกค้าโดยที่ยังคงรสชาติของอาหารได้
9.ช่องทางการจัดส่ง
ควรเลือกช่องทางการจัดส่งให้เข้ากับอาหารมากที่สุด เพื่อลดการเสียหายระหว่างขนส่ง ตัวอย่างเช่น
ไปรษณีย์
- เหมาะกับอาหารแห้ง น้ำหนักเบา มีระยะเวลาการเก็บนาน
- สามารถส่งทั่วประเทศได้
Kerry Express
- มีบริการ Bangkok Someday ส่งภายในวันเดียว (เฉพาะกรุงเทพมหานคร)
- จังหวัดอื่นๆจัดส่งถึงที่ภายในวันถัดไป
Lalamove
- ทางเลือกสำหรับบุคคลทั่วไป และธุรกิจแม้จะเป็นธุรกิจเล็กๆ เช่น ทำข้าวกล่องขาย แล้วไม่มีคนส่ง ก็อาสาบริการส่งให้
- ส่งสินค้าในกรุงเทพ ถึงมือผู้รับภายใน 1-2 ชั่วโมง
SCG Express
- COOL TA-Q-BIN บริการส่งพัสดุแบบแช่เย็นและแช่แข็งที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ
- FARM TO TABLE บริการขนส่งสินค้าเกษตร พืช ผัก ผลไม้ หรืออาหารทะเลจากหน้าฟาร์ม และส่งตรงถึงบ้าน
10.บริการหลังการขาย
สิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้คือปัญหาที่อาจเกิดได้จากขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่การรับออเดอร์ การขนส่งสินค้า หรือแม้แต่ลูกค้าได้รับสินค้าแล้ว ต้องหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอ รวมถึงสอบถามความพึงพอใจจากลูกค้า ว่าอาหารที่ได้รับหน้าตาตรงตามที่คาดไว้จากรูปมากน้อยแค่ไหน รวมถึงการน้อมรับคำติชมเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาต่อไป
การขายอาหารไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดนั้น คุณภาพของอาหารถือเป็นหัวใจหลักที่สำคัญ นอกเหนือจากนี้การให้บริการก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เนื่องจากทุกวันนี้มีการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น การสร้างจุดขายให้สินค้าและองค์ประกอบอื่นๆ รวมถึงความอดทน มุ่งมั่น
มองให้ต่างคิดให้ต่างนั้น เป็นปัจจัยที่จะทำให้สามารถยืนหยัดในโลกของการขายอาหารออนไลน์ได้
บทความโดย
ผู้ผ่านรับการฝึกอบรม “ใช้เวลาว่างเขียนบทความสร้างรายได้”
คุณ มาลินี เพ็ชรอุไรแม่บ้าน ครูสอนพิเศษวิชาวิทยาศาสตร์ |
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME