“ขายดีแต่เจ๊ง” หากมีใครสักคนพูดประโยคนี้ออกมาเชื่อเหลือเกินครับว่าไม่ว่าใครที่ได้ยินต่างก็ต้องขมวดคิ้วด้วยความสงสัยว่าจะเป็นไปได้อย่างไรก็ในเมื่อสินค้าสร้างยอดขายได้จนเป็นที่น่าพอใจแต่ผลลัพธ์สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าธุรกิจต้องเจ๊งสนิทและปิดตัวลงไปอย่างงง ๆ เมื่อยอดขายที่ได้มาไม่อาจคืนกลับเป็นกำไร ซ้ำร้ายยังต้องควักเนื้อเพื่อโปะแผลเลือดไหล ข้อผิดพลาดนี้ต้องมีสาเหตุและหนี่งในสาเหตุที่หลายคนคาดไม่ถึงกลับกลายเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะง่ายอย่างกลยุทธ์ในการตั้งราคาที่หากใครไม่ทันระวังตั้งตัวให้ดีก็อาจบั่นทอนธุรกิจจนไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้อีกต่อไป เมื่อกลยุทธ์ในการตั้งราคาไม่ใช่เพียงแค่ ราคาขาย = ต้นทุน+กำไร อีกต่อไป ในบทความนี้เราจะพาผู้ประกอบการไปรู้จักกับ 7 องค์ประกอบสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามหากคิดจะตั้งราคาเพื่อขายสินค้าครับ

โ่ครงสร้างต้นทุนสินค้าเพื่อการตั้งราคาสินค้า

1. ต้นทุนวัตถุดิบ

ต้นทุนลำดับแรกสุดในการทำธุรกิจแน่นอนครับว่าจะต้องเป็นเรื่องของต้นทุนทางวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตสินค้านั่นเอง ในสินค้าแต่ละชนิดย่อมมีต้นทุนวัตถุดิบที่แตกต่างกันออกไปแต่ส่วนมากแล้วย่อมหนีไม่พ้นต้นทุนต่าง ๆไม่ว่าจะเป็น วัสดุ ส่วนผสม วัสดุสิ้นเปลืองและบรรจุภัณฑ์ ทั้งหมดนี้ก็คือส่วนประกอบสำคัญที่จะถูกนำมาเปลี่ยนสภาพจนกลายเป็นสินค้าที่เราจะนำออกไปขายครับ ต้นทุนวัตถุดิบจึงเป็นต้นทุนแรกสุดที่คุณต้องนำมาคิดคำนวณก่อนว่าในสินค้า 1 หน่วยมีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะการรู้ต้นทุนวัตถุดิบไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะการคิดราคาขายเท่านั้นแต่คุณยังสามารถนำมาเป็นข้อมูลเพื่อวิเคราะห์การบริหารจัดการต้นทุนนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดครับ

2. ต้นทุนการดำเนินการ

ต้นทุนในการดำเนินการก็คือต้นทุนในการนำวัตถุดิบต่าง ๆของสินค้ามาประกอบเข้าด้วยกันจนกลายเป็นสินค้าที่เราจะนำมาขายครับ หรือหากพูดให้เข้าใจง่ายต้นทุนนี้ก็คือต้นทุนของกระบวนการผลิตสินค้านั่นเอง ต้นทุนชนิดนี้ก็ได้แก่ค่าเครื่องจักรในการผลิต ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรและค่าบำรุงรักษาเครื่องจักรเหล่านั้น ค่าพัฒนาผลิตภัณฑ์ ค่าจ้างพนักงาน ค่าสวัสดิการและค่าล่วงเวลาของพนักงาน ค่าเก็บรักษาสินค้าในสต็อกสินค้า ค่าลิขสิทธิ์ รวมไปปถึงค่าน้ำค่าไฟที่ใช้ในการผลิตสินค้า ซึ่งหากไม่มีต้นทุนเหล่านี้ก็ไม่สามารถผลิตสินค้าออกมาได้ครับ

3. ต้นทุนในการบริหาร

ต้นทุนชนิดนี้แตกต่างจากต้นทุนในการผลิตสินค้าครับ หากกล่าวว่าต้นทุนในการดำเนินการคือต้นทุนเพื่อผลิตเป็นสินค้าออกมา ต้นทุนบริหารก็คือต้นทุนในการอำนวยความสะดวกให้สินค้านั้นผลิตออกมาได้อย่างราบรื่น ต้นทุนนี้มีความสำคัญแต่ผู้ประกอบการหลายรายกลับมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ต้นทุนในการบริหารประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายในการทำบัญชี การขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ ค่าเช่าอาคารและสถานที่ ค่าซ่อมแซม รวมไปถึงเงินเดือนค่าจ้าง ค่าน้ำค่าไฟ การรับสมัครพนักงานในฝ่ายบริหาร ต้นทุนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนในการบริหารจัดการธุรกิจทั้งสิ้น นอกจากนี้ในส่วนของตัวคุณเองซึ่งเป็นเจ้าของกิจการก็จำเป็นที่จะต้องตั้งเงินเดือนให้ตัวเองและจะถูกนำไปรวมเป็นต้นทุนในการบริหารด้วยเช่นกัน ในส่วนของอาคารและสถานที่แม้ว่าธุรกิจของคุณจะดำเนินการภายในบริเวณบ้านพักอาศัยของคุณเองอย่างไรก็ตามคุณก็ยังคงจำเป็นต้องคิดคำนวณค่าเช่าสถานที่ลงไปด้วย เพราะหากไม่ใช้บ้านพักอาศัยเป็นสถานที่ประกอบการคุณก็จำเป็นต้องไปเช่าพื้นที่ในการทุรกิจเช่นกัน ดังนั้นแม้จะเป็นธุรกิจที่ทำอยู่ภายในบริเวณบ้านของคุณก็อย่าลืมที่จะคิดค่าเช่าสถานที่ลงไปเป็นต้นทุนบริหารด้วยเช่นกัน

4.ต้นทุนด้านการเงิน

หากคุณไม่ได้ดำเนินธุรกิจด้วยเงินเก็บของคุณเองและต้องไปกู้ยืมมาเพื่อดำเนินธุรกิจ ธุรกิจนี้ย่อมมีต้นทุนอีกหนึ่งประเภทที่ต้องนำมาคิดเป็นต้นทุนด้วย ต้นทุนนี้ก็คือต้นทุนด้านการเงินครับโดยต้นทุนด้านการเงินประกอบไปด้วยดอกเบี้ยระยะยาว ดอกเบี้ยในระยะสั้น และภาษีประเภทต่าง ๆ แต่กระนั้นแม้ว่าเราจะใช้เงินตัวเองในการทำธุรกิจก็ต้องนำมาคิดเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนด้านการเงินโดยจะถูกเรียกว่าต้นทุนค่าเสียโอกาสโดยให้เปรียบเทียบดูว่าถ้าเราทำธุรกิจนี้เทียบกับธุรกิจอื่นเราอาจเสียโอกาสอะไรไปบ้าง การคิดต้นทุนด้านการเงินจึงต้องอาศัยความละเอียดและรอบคอบในการคิดคำนวณมากอีกต้นทุนหนึ่งครับ

5.ต้นทุนการตลาด

สินค้าเมื่อผลิตออกมาแล้วย่อมไม่อาจขายตัวเองได้ ดังนั้นจึงต้องอาศัยกระบวนการสำคัญที่เรียกว่าการขายและการทำการตลาดเพื่อให้สินค้าของคุณเป็นที่รู้จัก และนับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการหลายรายที่ผลิตสินค้าจนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์แล้วกลับลืมคิดถึงเรื่องของการขายและการทำการตลาดไปเสียสนิทและเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต้องล้มเหลวครับ โดยผู้ประกอบการจำเป็นต้องคำนึงถึงงบประมาณที่จะนำมาใช้เกี่ยวกับการโปรโมตสินค้าให้เป็นที่รู้จักหรือก็คืองบในการทำการตลาดนั่นเอง ซึ่งช่องทางในการทำการตลาดในปัจจุบันก็มีอยู่ด้วยกันหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นโฆษณาออนไลน์ โฆษณาออฟไลน์ สื่อโฆษณา สิ่งพิมพ์ประเภทต่าง ๆ งานแสดงสินค้า การจ้างดาราหรือ influencerการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ส่วนการจะเลือกช่องทางใดนั้นก็แล้วแต่ความสะดวกของผู้ประกอบการ

6. ต้นทุนด้านคุณค่า

ต้นทุนด้านคุณค่าคือสิ่งที่เราจะใส่ลงไปในสินค้าเพื่อเพิ่มคุณค่าของผลิตภัณฑ์อันจะทำให้สินค่าของเรามีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือสามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้น การจะใส่ต้นทุนด้านคุณค่าลงไปผู้ประกอบการอาจต้องถามตัวเองว่าคุณค่าที่ต้องการใส่ลงไปนั้นเป็นสิ่งที่จะตอบโจทย์ของตัวเองหรือของลูกค้าครับ คุณค่าของสินค้าก็ได้แก่แบรนด์ knowhow รวมไปถึงค่าแฟรนไชส์

7. กำไร

กำไรที่เราต้องการคือสิ่งสุดท้ายที่จะถูกนำมาคิดคำนวณในการตั้งราคาสินค้าครับ แต่กระนั้นการจะคิดคำนวณกำไรที่ต้องการออกมาได้ผู้ประกอบการอาจต้องถามตัวเองเสียก่อนว่าต้องการที่จะขายสินค้าของตนในรูปแบบใดเช่นวางขายเปิดหน้าร้านด้วยตนเอง การขายผ่านตัวแทน การขายส่งผ่านตัวกลางอย่างยี่ปั๊ว ซาปั๊ว หรือต้องการนำสินค้าของตนไปวางขายบนห้างสรรพสินค้าต่าง ๆเพราะรูปแบบการขายที่แตกต่างกันนี้ย่อมมีวิธีการคิดกำไรที่แตกต่างกันออกไป หากคุณวางขายด้วยตนเองคุณสามารถคิดกำไรที่คุณต้องการได้โดยตรง แต่หากคุณต้องการจำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนหรือผ่านตัวกลาง คุณต้องคิดกำไรในส่วนที่คุณต้องการรวมเข้ากับกำไรในส่วนที่ตัวแทนหรือตัวกลางต้องการ หรือหากคุณต้องการที่จะวางจำหน่ายในห้างก็อาจต้องคิดกำไรที่คุณต้องการรวมเข้ากับค่า GP ที่ทางห้างจะเรียกเก็บครับ นี่จึงจะเป็นวิธีการคิดคำนวณกำไรที่ถูกต้องและไม่ทำให้คุณต้องขาดทุนในการขายสินค้าครับ

องค์ประกอบทั้ง 7 นี้คือสิ่งที่คุณจะต้องนำมาคิดคำนวณก่อนที่จะตั้งราคาขายสินค้าเสมอหากไม่อยากเกิดเหตุการณ์ขายดีแต่เจ๊งดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นครับ กลยุทธ์ในการตั้งราคาขายสินค้าให้ประสบความสำเร็จจึงต้องอาศัยความละเอียดอย่างมากในการแยกแยะต้นทุนในแต่ละประเภทรวมไปถึงการคิดคำนวณกำไรที่คุณต้องการออกมาให้ชัดเจนที่สุด หากคุณละเอียดและรอบคอบมากพอคุณจะไม่มีวันประสบชะตากรรมของการขายดีแต่เจ๊งไม่เป็นท่าอย่างแน่นอน


บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์  ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ  Content  Marketing,การโฆษณา  Facebook,การโฆษณา  Tiktok,การตลาด  Line  OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google

บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ 
การตั้งราคาสินค้า