การที่จะเลือกธุรกิจที่จะลงทุนในจังหวัดเชียงราย นอกจากจะต้องรู้ว่าอยากทำอะไรแล้ว ต้องเลือกอำเภอในตรงกับธุรกิจที่คุณกำลังจะเริ่มมากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงการล้มเหลว

เชียงราย จังหวัดเหนือสุดของประเทศไทย แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่ออย่างภูชี้ฟ้า วัดร่องขุ่น ดอยตุง แม่สาย เมืองศิลปะที่มีสุนทรียภาพงานศิลป์ชั้นครู บนพื้นที่ 7.3 ล้านไร่ หรือ 11,678 ตารางกิโลเมตร 18 อำเภอ ประชากร 1.3 ล้านคน ประกอบด้วยประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ  ธุรกิจหลักเน้นหนักที่ภาคบริการ การท่องเที่ยวที่กระจายตัวอยู่แค่ 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.แม่สายและ อ.แม่ฟ้าหลวง ส่วนภาคการเกษตรที่ครอบคลุมพื้นที่เชียงรายกลับมีมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก ในขณะที่ธุรกิจค้าขายและการผลิต ที่สร้างความมั่งคั่งให้แก่จังหวัด กลับกระจุกตัวอยู่แค่ อำเภอเมืองกับ 3 อำเภอที่ติดแนวชายแดน อย่าง แม่สาย เชียงแสน และเชียงของเท่านั้น

การที่จะเลือกธุรกิจที่จะลงทุนในจังหวัดเชียงราย นอกจากจะต้องรู้ว่าอยากทำอะไรแล้ว ต้องเลือกอำเภอในตรงกับธุรกิจที่คุณกำลังจะเริ่มมากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงการล้มเหลว ก่อนอื่นลองทำความรู้จักกับเชียงรายในอีกแง่มุมสำหรับนักลงทุนกันก่อนดีกว่าครับ

โอกาสทองของเชียงราย

1.แหล่งเกษตร ผักผลไม้เมืองหนาว

มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกข้าวมากที่สุด คิดเป็น 55% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด ข้าวเหนียวเขี้ยวงู พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเดิม ที่ปลูกในแถบอ.แม่จัน เป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์สูงให้กับเชียงราย รองลงมาคือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ที่เหลือไม่ถึง 10% ใช้ในการปลูก ลำไย มันสำปะหลัง ชา กาแฟ แต่สินค้าที่กลับสร้างชื่อให้กับเชียงราย กลับกลายเป็นส่วนเพาะปลูกเล็กๆอย่าง สับปะรดภูแล นางแล ชาเขียว ชาอู่หลง และกาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI ในสหภาพยุโรป นำมาแปรรูปและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เพราะความแตกต่างที่ไม่เหมือนจังหวัดใด

2.แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมล้านนา

จังหวัดที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้บนดอยสูง เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำและน้ำตกงดงาม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยงยอดนิยมของชาวไทยและเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะชาวจีน ถึงแม้ว่ายังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง รายได้ดีเข้ามาในจังหวัดได้มากนัก เช่นกลุ่มยุโรป ซึ่งมีเพียงกลุ่มเล็กๆ ที่สนใจศิลปวัฒนธรรมล้านนา หรือเป็นได้แค่นักท่องเที่ยวแบ็คแพคที่เยี่ยมเยียนแล้วผ่านไป

3.การได้รับเลือกเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจระยะที่ 2

รัฐบาลประกาศเชียงรายเป็นเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษใน 3 อำเภอคือ แม่สาย เชียงแสน และเชียงของ เนื่องจากเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเข้ามายังอาเชียน ทำให้นักลงทุนได้สิทธิพิเศษในการดำเนินกิจการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม บริการและขนส่ง เช่น ปลอดภาษี การค้าเสรีตามแนวชายแดน และส่งออก

4.การเชื่อมโยงการเดินทางของถนนสายเศรษฐกิจ

เริ่มจาก R3A ผ่านด่านเชียงของ และ สปป.ลาว ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ซึ่งใช้เวลาในการขนส่งสั้นกว่าทางเรือ เหมาะแก่การขนส่งสินค้าเกษตรอายุการเก็บรักษาสั้น และโครงการเชื่อมโยงถนน R3B ผ่านด่านแม่สายและเมียนมา ที่กลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวไปสู่เมืองลา เชียงรุ้ง สร้างโอกาสให้กับการลงทุนใน 4 ประเทศ

5.การพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำผ่านท่าเรือ

จากเชียงแสนสู่ท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งออกทางทะเล เป็นอีกช่องทางการขนส่งของสินค้าจำพวกผัก ผลไม้สด สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องจักรวัสดุก่อสร้าง โดยมีจุดศูนย์กลางที่เชียงราย อาจกล่าวได้ว่า เชียงราย กำลังจะเป็น ศูนย์การเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้า Logistic hub ไม่ว่าจะเป็นเชียงของ หรือ เชียงแสนก็ตาม

6.การเป็นเมืองสุขภาพ เมืองสมุนไพร

มีการเพิ่มการลงทุนของโรงพยาบาลและสถาบันการศึกษา  ม.แม่ฟ้าหลวงทุ่มงบเปิด รพ.ศูนย์การแพทย์ ทันตแพทย์ เพื่อพัฒนาให้เชียงรายเป็นศูนย์การแพทย์ และการศึกษาที่ใหญ่ขึ้น รองรับการเจริญเติบโตของชุมชนเช่นกัน รวมถึงการพัฒนาสมุนไพรพื้นบ้านให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ

ธุรกิจที่น่าลงทุน

1.ธุรกิจการเกษตรและเกษตรแปรรูป

ด้วยภูมิอากาศหนาวเย็น และจากกระแสนิยมในการหันมาดูแลสุขภาพ ธุรกิจเพาะปลูกพืชอินทรีย์ ผักออร์แกนิก ผักผลไม้เมืองหนาวที่มีความต้องการของตลาดสูงมาก หรือปลูกผักผลไม้ปลอดสารพิษ ส่งโครงการหลวง จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่จะนำผลิตภัณฑ์มาแปรรูปอย่าง กาแฟคั่วบด ใบชาอบแห้ง แยมชาเขียว ผลไม้อบแห้ง หรือจำหน่ายเป็นผักผลไม้สดในแพคเกจสวยงามส่งตรงถึงผู้บริโภค หรือห้างสรรพสินค้า ในช่องทางการจำหน่ายที่แตกต่างจากเดิม การจัดจำหน่ายผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์เป็นอีกทางเลือกในการกระจายสินค้า สร้างแบรนด์ สร้างความแตกต่างในตลาด โดยเน้นย้ำให้ใส่ใจเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์ ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียล คัดสรรสินค้าเมืองหนาวที่มีคุณภาพดี สดใหม่ หล่อเลี้ยงดีมานด์ที่เกิดขึ้นมหาศาลในสังคมเมืองใหญ่และรองรับการพัฒนาเชียงรายเป็นเมืองสุขภาพ เมืองสมุนไพรในอนาคตอันใกล้

2.ธุรกิจการท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรมและสุขภาพ

การท่องเที่ยวในเชิงประสบการณ์ผ่านวิถีชุมชนที่เรียบง่ายแบบล้านนา นั่งรถอีต๊อกชมวิวริมฝั่งโขง ที่ตำบลบ้านแซว ภาพประทับใจของชาวต่างชาติ เยี่ยมเยียนการใช้ชีวิตวิถีชาวไตหย่า กับบรรยากาศสบายๆเป็นกันเองของคนในพื้นที่ ช่วยต่อยอดจากธุรกิจท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ไม่เหมือนทัวร์รายวัน รวมถึงธุรกิจที่พักแบบโฮมสเตย์ เรียนรู้วิถีชาวบ้าน กินอยู่ร่วมกับชาวบ้าน ปลูกข้าวดำนา หรือธุรกิจที่พักเพื่อสุขภาพ ทานอาหารออแกนิกส์ ใช้สมุนไพรเช่น หญ้าหวาน ปรุงอาหารเพื่อสุขภาพ

3.ธุรกิจโลจิสติกส์ นำเข้า ส่งออกถึงคาร์แคร์

โอกาสสำหรับนักลงทุนที่เป็นตัวกลางประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ จากจีนตอนใต้ เมียนมาตอนบนและ สปป.ลาว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจ ลดข้อจำกัดทางด้านภาษา งานเอกสารหรือเป็นตัวแทนในการนำเข้า ส่งออกผ่านด่านสำคัญๆ ของ 3 ประเทศหลักๆ ที่มีตลาดรองรับมหาศาล รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ ปั๊มน้ำมัน งานซ่อมบำรุง ทำความสะอาด คาร์แคร์ เนื่องจากเป็นเส้นทางการค้า การขนส่งทางคมนาคมและมีรถมากมายหลายประเภททั้งรถขนส่ง รถนักท่องเทียวสัญจรผ่านตลอดเวลา

4.ธุรกิจผ้าทอมือ

งานหัตถกรรมและงานฝีมือ ถือเป็นความแตกต่างที่โดดเด่นให้กับเชียงราย แต่การออกผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นให้ดูทันสมัย เช่น กระเป๋าสะพาย กระเป๋าสตางค์ เสื้อผ้า ที่มักยึดแบบเดิมๆ ขาดดีไซน์ที่โดนใจทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว ทำให้มีแค่ลูกค้าเฉพาะกลุ่ม หากสามารถออกแบบให้ตรงกับสมัยนิยม ศึกษาเรื่องความต้องการของตลาด และดีไซน์ที่ลูกค้าแต่ละกลุ่มชื่นชอบ เพื่อออกแบบจับกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนที่ทะลักจากชายแดนเข้าเชียงราย ก็จะเป็นธุรกิจที่เติบโตได้อย่างมาก อย่างเช่น นารายาที่ประสบความสำเร็จในการจับกลุ่มลูกค้าชาวจีน

5.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ไม่แปลกที่ราคาที่ดินโซนเศรษฐกิจจะทะลุ ไร่ละ 5-6 ล้าน คาดว่าอีก 5ปี ราคาที่ดินอาจเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวโดยเฉพาะฝั่งตะวันออกเส้นทางเชื่อม 3 หัวเมืองชายแดน มายังท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เมื่อความเจริญมาเยือน ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจต่างๆ ล้วนมุ่งตรงมาลงทุน ที่อยู่อาศัยขยายตัว แรงงานจากหลายภูมิภาคทะลักเข้ามาทำงานที่เชียงราย อาคารพาณิชย์จะผุดเป็นดอกเห็ดเพื่อรองรับการเติบโตของร้านค้าหลากหลาย หากคิดจะเก็งกำไรจากราคาที่ดิน หรือลงทุนที่ดินเพื่อต่อยอดทำการค้าในอนาคตอันใกล้ ก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง

เมื่อความเจริญมาเยือน กลับพบว่าผู้ประกอบการในพื้นที่ส่วนใหญ่ ยังไม่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผนวกกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีเท่าที่ควร การก้าวให้ทันโลกที่หมุนอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ตกยุค

กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต้องใส่ใจ ถ้าไม่รีบฉวย ชิ้นปลามันก็จะตกอยู่ในมือของผู้ที่สามารถคว้าโอกาสได้ดีกว่า เพราะวันนี้คู่แข่งที่เข้ามา ไม่ใช่แค่คนไทย อีกต่อไปแล้ว

บทความเกี่ยวกับธุรกิจน่าลงทุนแต่ละจังหวัด