อาหารเสริมที่นิยมกันในปัจจุบันมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มโปรตีนจากพืช กลุ่มระบบภายในผู้หญิง กลุ่มดูแลผิวพรรณ เป็นต้น จึงจำเป็นที่จะต้องมองหากลุ่มเป้าหมายของตนเองให้ได้ก่อนว่า จะเน้นทำตลาดกลุ่มไหน และต้องสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในอนาคต

การตัดสินใจเลือกทำธุรกิจอะไรสักอย่าง นอกจากความชอบและความถนัดแล้ว ประสบการณ์บางอย่างสามารถกลายเป็นแรงผลักดันชั้นดี นี่คงเป็นอีกเหตุผลสำหรับผู้ที่สนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเสริม หลายคนมองว่าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ต้องอาศัยความรู้ทางวิชาการที่ค่อนข้างมาก จนเกิดความกังวลว่าจะทำอาหารเสริมที่เป็นแบรนด์ตัวเองได้หรือไม่ แน่นอนว่าขั้นตอนการผลิตต้องผ่านหลายกระบวนการกว่าจะได้อาหารเสริมที่มีคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายบางชนิดมีงานวิจัยรองรับ ตรงส่วนนี้คือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญและดึงมาใช้เป็นจุดขายของสินค้า  ซึ่งความนิยมในการทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควบคู่กับการดูแลร่างกายได้เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตมากขึ้น ผลจากการปรับตัวของผู้บริโภคทำให้ผู้ประกอบการเองเล็งเห็นโอกาสเติบโตทางธุรกิจนี้เช่นกัน นอกจากการศึกษาแนวทางเบื้องต้นในการลงทุนแล้ว ยังมีองค์ประกอบใดอีกบ้างที่ควรรู้

สภาพตลาดอาหารเสริม แนวโน้มความต้องการอาหารเสริมสมุนไพรในปัจจุบัน

การนำมรดกแห่งภูมิปัญญาไทยอย่างสมุนไพร มาพัฒนาต่อยอดให้เป็นอาหารเสริมนั้นได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับยุคสมัย ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายผู้ที่สนใจลงทุนในธุรกิจนี้เป็นอย่างมาก มีการคาดการณ์ในอนาคตอันใกล้ว่า ลักษณะโครงสร้างทางสังคมจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่หันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะวัยทำงานและผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ดูแลตัวเองผ่านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพต่างๆ เช่น กลุ่มสินค้าออร์แกนิกส์ พืชผักสมุนไพร อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีการผสมวิตามินหรือแร่ธาตุบางชนิดที่ส่งเสริมการทำงานของร่างกาย เป็นต้น

จากข้อมูลของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics พบว่าธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารเสริมของไทยเติบโตต่อเนื่องและทำกำไรค่อนข้างดี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี และธุรกิจนี้ยังสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ได้ค่อนข้างสูงประมาณ 40-50% ต่อรายได้  แต่ในช่วงที่ผ่านมาเรามักจะได้ยินข่าวในแง่ลบเกี่ยวกับอาหารเสริมในกลุ่มของความงามและลดน้ำหนัก ทั้งในเรื่องคุณภาพสินค้าและการโฆษณาที่เกินจริง จนส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือโดยเฉพาะกับกลุ่มธุรกิจSMEs ที่ได้รับความเสียหายมากกว่าเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ได้เปรียบในด้านชื่อเสียงและอยู่ในตลาดมานาน

อย่างไรก็ตามกระแสรักสุขภาพที่มาแรงกลายเป็นแรงขับเคลื่อนของตลาดอาหารเสริม ประกอบกับผู้บริโภคยอมจ่ายเงินให้กับผลิตภัณฑ์คุณภาพดี ยังคงทำให้ตลาดอาหารเสริมสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติสามารถเติบโตได้ แต่ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น บวกกับการคาดหวังในเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่ต้องไม่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินเหตุ ซึ่งผู้บริโภคจะกลายเป็นผู้กำหนดทิศทางของตลาด นอกจากการแข่งขันอันดุเดือดแล้ว นี่ถือเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวและเตรียมตั้งรับให้ทัน เพราะอาจไม่ใช่แค่ความอยู่รอด แต่หมายถึงความมั่นคงของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

อาหารเสริมกลุ่มไหนน่าลงทุนทำแบรนด์ตัวเอง ?

อาหารเสริมที่นิยมกันในปัจจุบันมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มโปรตีนจากพืช กลุ่มระบบภายในผู้หญิง กลุ่มดูแลผิวพรรณ เป็นต้น จึงจำเป็นที่จะต้องมองหากลุ่มเป้าหมายของตนเองให้ได้ก่อนว่า จะเน้นทำตลาดกลุ่มไหน และต้องสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในอนาคต จากข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติพบว่าในปี 2030 ไทยจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึง 20% ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด และมีแนวโน้มที่จะอายุยืนมากขึ้น ตรงนี้ถือเป็นอีกช่องว่างและโอกาสทางธุรกิจ ควรมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเฉพาะโรค สามารถศึกษาข้อมูลได้จากงานวิจัยต่างๆ แล้วนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นธุรกิจ มีหลายแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับการทำวิจัยเป็นเวลาหลายปี จนได้สินค้าที่มีคุณภาพและกลายเป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นอาหารเสริมที่ช่วยบำรุงสมองและความจำ หรือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เกิดกับกลุ่มผู้สูงอายุ เช่น โรคหัวใจและความดัน กระดูกและข้อเสื่อม เบาหวาน มะเร็ง รวมทั้งโรคที่เกี่ยวกับสายตาและการได้ยิน เป็นต้น รวมถึงวัยทำงานที่ต้องใช้พลังกายและพลังทางความคิดอย่างหนัก จึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลตัวเองทั้งการเลือกรับประทานอาหารและการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เสียสุขภาพไปกับการทำงานทั้งวันจนเหนื่อยล้า ทำให้สมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าปกติ ดังนั้นผู้ที่สนใจลงทุนในกลุ่มธุรกิจนี้ควรที่จะศึกษาทำความเข้าใจถึงความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มาจากธรรมชาติยังมีขายในท้องตลาดเพียงไม่กี่ชนิด การต่อยอดผลิตภัณฑ์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติยังมีอยู่น้อยเช่นกัน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำหรับมือใหม่ในธุรกิจอาหารเสริมได้อีกมาก

ทำอาหารเสริมแบรนด์ตนเอง ต้องเตรียมงบประมาณเท่าไหร่ ?

ในส่วนของงบประมาณเริ่มต้นในการลงทุนทำแบรนด์อาหารเสริมของตนเอง คงยากที่จะระบุเป็นตัวเลขลงไปให้ชัดเจนซึ่งมีตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน เพราะแต่ละคนมีวัตถุประสงค์ในการสร้างแบรนด์ที่แตกต่างกัน ค่าใช้จ่ายหลักๆแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ

  • งบประมาณด้านสินค้า

วัตถุดิบที่เลือกใช้มีต้นทุนที่แตกต่างกัน เป็นวัตถุดิบที่ขึ้นชื่อและหายากมากแค่ไหน ส่วนผสมหรือสมุนไพรที่ใช้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาหรือไม่  ถ้าไม่เคยถูกขึ้นทะเบียนมาก่อน ต้องทำเรื่องขอ อย.ใหม่ ซึ่งค่อนข้างยุ่งยาก ผลิตจากไทยหรือนำเข้าจากต่างประเทศ ปริมาณส่วนผสมสำคัญที่ใส่ลงไป และจะทำออกมาในลักษณะใด มีทั้งแบบแคปซูล แบบผง หรือแบบน้ำ  เพราะต้นทุนต่อหน่วยการผลิตแตกต่างกันออกไป เช่น ถ้าต้องการให้ได้คุณภาพสูงสุดแบบน้ำเห็นผลได้ดีสุด แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงสุด ตามมาด้วยแบบแคปซูล และสุดท้ายคือแบบผงชงดื่ม นอกจากนี้ยังมีรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ต้องคำนึงอีกด้วย

  • งบประมาณด้านการตลาด

ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ควรเตรียมให้มากพอจนกว่าแบรนด์จะเป็นที่รู้จัก ทั้งในส่วนของการโฆษณา ส่งเสริมการขาย และการประชาสัมพันธ์ งบด้านการตลาดต้องกำหนดไว้ตั้งแต่แรก เนื่องจากไม่สามารถรู้ได้ว่าต้องใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าสินค้าจะเริ่มจำหน่ายออกไปได้ ซึ่งงบประมาณการตลาดนั้นไม่ควรมากเกินไปจนทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลาย ส่วนจะมีประสิทธิภาพในการจัดการอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับช่องทางในการใช้งบประมาณด้วย

  • งบประมาณด้านการดำเนินการ

มีค่าดำเนินการในการใช้บริการ OEM ซึ่งเป็นระบบที่เน้นในเรื่องการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อ โดยที่ผู้ประกอบการสามารถเปิดธุรกิจเป็นของตนเองได้ทันที แม้จะไม่เชี่ยวชาญด้านการผลิตหรือวางแผนกลยุทธ์การตลาดก็ตาม เช่น ค่าวิจัยและพัฒนาสูตร ค่าขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ค่าจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ค่าการสั่งผลิต ค่าบรรจุตัวยา ค่าออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น 

การเลือกโรงงานผลิตอาหารเสริมแบรนด์ตนเอง ควรเลือกอย่างไร ?

แต่ละโรงงานมีความโดดเด่นแตกต่างกัน เช่น การนำเข้าสารสกัดจากพืช มีผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะความรู้ด้านอาหารเสริมสมุนไพร ฯ ก่อนตัดสินใจเลือกผลิตกับโรงงานใดก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทนั้นว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ทำมานานกี่ปี มีทีมงานมากประสบการณ์เป็นผู้ควบคุมหรือไม่ เมื่อเข้าไปค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต บนหน้าเว็บไซต์ควรมีการอัพเดตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีความมั่นคงทางการเงิน และมีภาพลักษณ์ที่ดีหรือไม่ กระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล เช่น GMP, HACCP, ISO และ HALAL เป็นต้น มีคุณภาพ สะอาด และปลอดภัย

บางโรงงานมีบริการครบวงจรแบบ One Stop Service ดูแลจบได้ในที่เดียว เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน ให้บริการตั้งแต่ การวางแผนสินค้า, ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์, กระบวนการผลิต , การจัดการ, ออกแบบบรรจุภัณฑ์, ให้คำปรึกษาในการวางแผนทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ช่องทางการจัดจำหน่าย การทำเว็บไซต์โปรโมทสินค้า และบริการหลังการขาย

วิธีทำการทำตลาดอาหารเสริมแบรนด์ตนเองให้ยอดขายเติบโต

การว่าจ้างทางโรงงานเป็นผู้ผลิต ไม่ว่าใครก็สามารถสร้างแบรนด์อาหารเสริมเป็นของตนเองได้ แม้จะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับยุคนี้ แต่ก็มีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจSMEs ที่มักจะออกแบบสินค้าคล้ายๆกัน แม้แต่เจ้าของแบรนด์เองแทบจะบอกความแตกต่างไม่ได้ ดังนั้นการสร้างแบรนด์จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารเสริมไม่สามารถละเลยได้ การสร้างจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์จะช่วยให้แบรนด์เป็นที่จดจำของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น ซึ่งควรให้ความสำคัญกับนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์มากกว่าการพุ่งเป้าไปที่การทุ่มงบโฆษณาให้เป็นที่รู้จักเพียงอย่างเดียว เป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันซึ่งจะเป็นผลดีในระยะยาวโดยไม่ต้องเหนื่อยหรือกังวลมากนัก

มีการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการร่วมมือกันทางธุรกิจกับกลุ่มพันธมิตรที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย  เช่น สถาบันวิจัยสมุนไพร หรือโรงพยาบาล เป็นตัวช่วยที่ดีในการทำให้สินค้าเรามีจุดเด่น ในส่วนของการทำผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสมุนไพร ต้องเน้นส่วนผสมที่มาจากธรรมชาติโดยปราศจากสารอันตราย ในฐานะผู้ผลิตจำเป็นต้องมีการสื่อสารถึงผู้บริโภค ที่ต้องการทราบถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้องและชัดเจน มีการสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจให้กลายเป็นที่จดจำ ชูวัตถุดิบหลักให้โดดเด่น โดยมีข้อจำกัดว่าอาหารเสริมไม่สามารถโฆษณาบรรยายสรรพคุณได้ บอกเล่าถึงแหล่งผลิต กระบวนการเพาะปลูก การรับประกันคุณภาพสินค้า ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเพิ่มคุณค่าในใจลูกค้า สำหรับช่องทางในการทำการตลาดที่จะช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์อาหารเสริมให้เป็นที่รู้จัก มี 3 ช่องทางคือ

  • Offline Marketing

แม้กระแสการขายสินค้าออนไลน์ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่การทำตลาดผ่านช่องทางออฟไลน์ก็ไม่ควรละเลยเช่นกัน ช่องทางการตลาดแบบไร้อินเตอร์เน็ตนี้ยังคงพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การออกงานอีเวนต์ งานแสดงสินค้า การใช้เซลล์วิ่งหาลูกค้าตามหน้าร้านขายยา หรือ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวสุขภาพ สำหรับแบรนด์ขนาดเล็กที่มีงบประมาณจำกัดควรใช้สื่อออฟไลน์ให้เหมาะสมกับธุรกิจ

  • Online Marketing

SMEs สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายและรวดเร็ว โดยผ่านช่องทางออนไลน์นับว่าเป็นช่องทางทำการตลาดที่ทำให้คนรู้จักกันอย่างกว้างขวาง เป็นการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการบอกต่อได้อย่างง่ายดาย มีค่าใช้จ่ายทางการตลาดน้อยเมื่อเทียบกับช่องทางอื่น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้นทำธุรกิจ แต่ต้องใช้กลยุทธ์อย่างถูกต้อง เช่น การทำเว็บไซต์ การสร้าง Facebook Fanpage  มีการให้ความรู้ผ่านคอนเทนต์ สิ่งที่ต้องเตรียมคืองบประมาณในการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย

สำหรับท่านเจ้าของแบรนด์ผลิตอาหารเสริมที่ต้องการทำการตลาดออนไลน์ มุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ทาง Taokemai.com มีบริการด้านการสร้างแบรนด์บนช่องทางออนไลน์ให้กับทาน สามารถสอบถามพูดคุยรายละเอียดได้ >> สอบถามคลิ๊กได้ที่นี่

  • Omni Channel

เป็นการตลาดที่เชื่อมโยงช่องทางทั้งหมดของธุรกิจเข้าด้วยกัน ทั้งจากการขายผ่านหน้าร้านและทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มความประทับในการใช้บริการ เช่น ลูกค้าใช้มือถือค้นหาอาหารเสริมบำรุงสมองจากหน้าเว็บไซต์ของเรา และได้ให้ข้อมูลของตนเองไว้  สุดท้ายตัดสินใจซื้อที่หน้าร้าน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกเก็บไว้ในฐานข้อมูลในการทำตลาดครั้งต่อไป ความยากอยู่ที่การบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพที่จะต้องตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าแต่ละราย การจัดเก็บข้อมูลที่ดีและการวิเคราะห์ที่เป็นระบบ ช่วยให้แบรนด์นำเสนอสินค้าได้ตรงตามความต้องการ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์

ไม่ว่าจะมีกี่ช่องทางก็ต้องใช้ให้คุ้มค่า ต้องนำเสนอสินค้าให้เป็น แน่นอนว่าผู้บริโภคย่อมต้องมีการเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละแบรนด์  ไม่สำคัญว่าผลิตภัณฑ์จะมีปัญหาหรือข้อผิดพลาดตรงไหน แต่อยู่ที่ว่าคู่แข่งตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่าหรือไม่ จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสามารถรับมือกับคู่แข่งได้ ต้องไม่ลืมเรื่องการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหลังการขาย เพราะอาหารเสริมต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเห็นผล กระบวนการบริการหลังการขายจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาฐานลูกค้า ในช่วงแรกอาจจะเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จนกว่าลูกค้าจะเกิดความมั่นใจ

การที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตและอยู่รอดได้นั้น ต้องเข้าใจสินค้า เข้าใจผู้บริโภค รักษามาตรฐานของสินค้าให้ดี สำหรับธุรกิจอาหารเสริม ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เหนือสิ่งอื่นใดนั้นความรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้บริโภคมีความสำคัญที่สุด เพราะความจริงใจคือสิ่งที่ผู้บริโภคมองหา สินค้าของเราต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ และที่สำคัญคือการปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ต่างคือสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องพร้อมรับมืออยู่เสมอ เพื่อนำพาแบรนด์ไปให้ไกลและเติบโตอย่างมั่นคงที่สุด