“การมีหนี้เป็นทุกข์ในโลก” หลายคนจึงหลีกเลี่ยงการสร้างหนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องหนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวเสมอไป หากรู้จักวิธีรับมือที่ถูกต้องและควรจะเป็น
หากพูดถึง “หนี้” หลายคนมักมีทัศนคติในด้านลบ เพราะสิ่งที่เราเห็นกันบ่อยครั้งจากการเป็นหนี้นั้นคือทำให้เกิดความทุกข์ ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “อิณา ทานํทุกฺขํโลเก” “การมีหนี้เป็นทุกข์ในโลก” หลายคนจึงหลีกเลี่ยงการสร้างหนี้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องหนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวเสมอไป หากรู้จักวิธีรับมือที่ถูกต้องและควรจะเป็น ก็เหมือนกับการแก้ปมเชือกที่ต้องค่อยๆแกะทีละปม เมื่อปมแรกถูกแก้ ปมต่อๆไปก็จะค่อยๆคลี่คลาย จนในที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากพันธนาการเหล่านี้ แน่นอนว่าต้องใช้เวลา แล้วทำอย่างไรถึงจะหมดหนี้ได้
เป็นหนี้เยอะมากทำไงดี ปัญหาภาระหนี้ของ SMEs เกษตรกร และมนุษย์เงินเดือน
จริงอยู่ที่ว่าไม่มีใครอยากสร้างหนี้ขึ้นมา แต่ด้วยความจำเป็นบางอย่างจึงเป็นเหตุให้ต้องกู้ยืมเงินไม่ว่าจากสถาบันทางการเงิน ญาติที่ดูเหมือนจะสนิท มิตรสหายที่นานๆคุยกันสักครั้ง และเงินกู้นอกระบบ ซี่งอย่างหลังนี้ค่อนข้างเสี่ยงพอสมควร อย่าลืมไปว่าสิ่งที่น่ากลัวของหนี้นั่นคือดอกเบี้ย เรียกได้ว่าทำงานกันตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มปล่อยกู้ ทำงานแบบไม่มีหยุด แหม…ช่างขยันเสียจริง และนั้นคือจุดเริ่มต้นของหายนะต่างๆที่บางคนแทบไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ
ฟังดูเหมือนว่าหนี้เป็นสิ่งที่สร้างความปวดหัวให้กับชีวิต ในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยส่งเสริมโอกาสบางอย่างที่ส่งผลต่ออนาคตได้ นั่นเป็นเพราะว่าหนี้มีทั้งแบบที่ดีและไม่ดี
- หนี้ดี คือหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การกู้ยืมเพื่อการศึกษา การขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ
- หนี้เสีย คือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้เพื่อความสะดวกสบาย หนี้จากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
อีกสิ่งที่น่าเป็นห่วงนั่นคือ การที่หนี้เก่ายังไม่ทันสะสาง หนี้ใหม่ก็เข้ามาเสียแล้ว กลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้น และดูเหมือนจะสร้างความเครียดไม่ใช่น้อย ซึ่งปัญหาหนี้สินล้วนแตกต่างกันไป แต่จะคล้ายกันในกลุ่มอาชีพที่เหมือนกัน ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง 3 กลุ่มคือ SMEs เกษตรกร และมนุษย์เงินเดือน ว่าอะไรต้นเหตุของหนี้เกิดจากอะไร
ปัญหาภาระหนี้ของ SMEs
สาเหตุที่นำไปสู่การกู้หนี้ยืมสินที่ทำให้บรรดา SMEs ต้องกุมขมับนั่นคือ “เงินทุนหมุนเวียนไม่พอ” การที่โอกาสเข้ามาในจังหวะเวลาที่ยังไม่พร้อม เช่น
- มียอดสั่งซื้อจำนวนมาก ต้องเพิ่มกำลังผลิต แน่นอนว่าต้องลงทุนเพิ่มทั้งในส่วนวัตถุดิบ แรงงาน ค่าขนส่ง และอื่นๆ ซึ่งถือเป็นหนี้ที่ดี แต่หากขาดการจัดการที่ดีสำหรับเงินก้อนแรก แน่นอนว่าย่อมต้องมีหนี้ก้อนต่อไปตามมา
- หรือแม้แต่ SMEs ที่กำลังไปได้สวย ต้องการขยับขยายกิจการ มีการขอสินเชื่อทุนหมุนเวียน แต่กลับนำเงินมาลงทุนผิดประเภท ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ในตอนแรก เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหาหรือเจอวิกฤตที่ไม่ทันตั้งรับ หมดทางที่จะขยับขยายทุกอย่างช่างดูมืดมน จนต้องหันไปหาที่พึ่งสุดท้ายนั่นคือหนี้นอกระบบ
ปัญหาภาระหนี้ของเกษตรกร
ในส่วนของภาคเกษตรกรรมนั้น ดูเหมือนว่าปัญหาหนี้สำหรับเกษตรกรทั้งหลายมีมานาน ตั้งแต่การลงทุนเริ่มแรก ขั้นตอนการดูแล กว่าจะถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ต้องอาศัยระยะเวลา อีกทั้งสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวนยากจะคาดเดา ที่มาเยือนทั้งทีทำเอาแทบจะลมจับกันไปตามๆกัน ซึ่งน่าเห็นใจเป็นอย่างมาก สาเหตุที่ส่งผลต่อปริมาณหนี้สินคือ
- ราคาผลผลิตตกต่ำ เป็นปัญหาซ้ำซากที่มีมานาน เนื่องจากมีผลผลิตออกมามากเกินความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงการแข่งขันด้านราคาจากคู่แข่ง และขาดหน่วยงานที่จะมาจัดสรรวางแผนการผลิตสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกร
- ภัยธรรมชาติ เช่น ปัญหาขาดแคลนน้ำ ปัญหาน้ำท่วม และโรคระบาด
- ค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยการผลิตที่สูง เช่น ปุ๋ย น้ำยาฆ่าศัตรูพืช และอาหารสัตว์ที่มีราคาแพงขึ้นเกือบทุกปีตามภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ทำการผลิตแล้วไม่ได้ค่าตอบแทนตามเป้าหมาย เกิดปัญหาในการชำระหนี้แต่ยังคงต้องการเงินทุนในการผลิตรอบต่อไป ทำให้ต้องกู้ยืมจากแหล่งอื่นกลายเป็นภาระหนี้สินที่พอกพูนสะสมขึ้นเรื่อยๆ เป็นวัฏจักรที่ไม่สิ้นสุดยากที่จะแก้ไข
ปัญหาภาระหนี้มนุษย์เงินเดือน
จริงๆแล้วการมีเงินเดือนประจำช่วยให้วางแผนการใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น สามารถบริหารจัดการรายจ่ายให้สอดคล้องกับรายรับได้อย่างลงตัว แต่ในความเป็นจริงนั้นจะมีสักกี่คนที่ทำได้ตามแผนที่กำหนด นอกจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่เกิดการสร้างหนี้สินสำหรับมนุษย์เงินเดือนได้ นั่นคือ
- ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน แน่นอนว่าสถานการณ์บางอย่างไม่มีใครอยากให้เกิด แต่หากมีการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่แล้ว เมื่อเกิดปัญหาขึ้น สามารถช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่หากไม่มีอาจจะต้องคิดหนักกว่าเดิม เช่น ค่าซ่อมบำรุงยานพาหนะ ค่ารักษาพยาบาล ค่าซ่อมแซมต่างๆ
- การใช้ชีวิตตามวัตถุนิยม “อะไรใหม่ ใครๆก็ว่าดี” บางคนเปลี่ยนสมาร์ทโฟนกันว่าเล่น จะซื้อรถทั้งทีต้องเอาที่หรูหราเป็นที่เชิดหน้าชูตาไว้ก่อน ทานอาหารทั้งทีต้องขอร้านที่ดูดีไว้ก่อนเวลาถ่ายรูปจะได้ไม่น้อยหน้าใคร หากใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือยแบบนี้ เรื่องหนี้สินคงไม่ต้องพูดถึง
- ขาดการวางแผนทางการเงิน จะทำอะไรก็ขอให้มีเป้าหมาย สิ่งแรกที่ต้องทำหลังจากเงินเดือนโอนเข้าบัญชีนั่นคือการออม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ในทางทฤษฎีฟังดูง่ายแต่ในทางปฏิบัติทำไมถึงทำได้ยากเหลือเกิน จะออมมากหรือน้อยไม่สำคัญ สำคัญที่ความสม่ำเสมอ
- หนี้บัตรเครดิต “ใช้ก่อน ผ่อนทีหลัง” ผลพวงจากการใช้จ่ายเกินตัว จริงๆข้อดีนั้นมีอยู่ หากเจ้าของบัตรเป็นคนที่ใช้เงินเป็น เนื่องจากตอนใช้เราไม่เห็นตัวเงินที่จ่ายออกไป โอกาสที่จะสร้างหนี้นั้นจึงมีสูงมาก
วิธีการปลดหนี้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อเป็นหนี้แล้ว คงไม่เป็นปัญหาหากสามารถผ่อนชำระคืนได้อย่างไม่สะดุด แต่ดูเหมือนว่าบางครั้งสถานการณ์ก็ไม่เป็นไปตามคาด บางคนรีบแก้ไขปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ แต่สำหรับบางคนนั้นไม่ยอมรับกับปัญหาที่เกิด ยิ่งไปกว่านั้นกลับสร้างหนี้สินเพิ่มขึ้นไปอีก ทำให้โอกาสที่เคยมีอยู่มากนั้นเหลือน้อยลงทุกทีและทำได้ยากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ไม่ยากเกินความพยายาม เริ่มต้นจากการปรับทัศนคติของตนเองก่อน แล้วหาแนวทางเพื่อยึดปฏิบัติให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แนวคิดที่ดีและสมควรถือเป็นแบบอย่างนั่นคือ “แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” วิธีการปลดนี้ตามแนวคิดนี้ทำได้อย่างไร
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลาง และความไม่ประมาท มุ่งเน้นให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีหลัก 3 ประการคือความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ที่สำคัญจะต้องมี “สติ ปัญญา และความเพียร” ซึ่งจะนำไปสู่ความสุขในการดำเนินชีวิตอย่างแท้จริง
- ความพอประมาณ
สิ่งที่ควรทำเมื่อมีภาระหนี้สินคือการตั้งสติ ต้องบอกกับตัวเองตลอดว่าอะไรคือความพอดี จะกินหรูดูดีอย่างในอดีตนั้นไม่ได้ ให้โฟกัสไปที่เป้าหมายในการปลดหนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยังมีความสุขไม่ได้ เงินกับความสุขมันคนละเรื่องกัน แค่รู้จักความพอดีในการใช้ชีวิตก็ช่วยให้ผ่านปัญหานี้ไปได้
- ความมีเหตุผล
เมื่อมีภาระหนี้สิน การตัดสินใจในเรื่องที่อาจก่อให้เกิดหนี้เพิ่มนั้นทำได้ง่ายมาก ควรใช้เหตุผลพิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จะใช้เงินในแต่ละครั้ง มองถึงความจำเป็นหรือมองหาทางเลือกอื่นๆทดแทน
- การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี
ก็เหมือนกับการได้รับวัคซีนป้องกันการเกิดโรคบางชนิด แม้แต่ภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองหลังจากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ทำได้แค่คาดเดาและเตรียมการตั้งรับ เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเองจะเป็นการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันทางการเงินที่ดีได้
ทำอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้ในอนาคต
บางครั้งหากไม่ยอมเป็นหนิ้ อาจสูญเสียโอกาสในบางเรื่อง เช่น การลงทุนเพิ่มเติมสำหรับ SMEs แต่เป็นเรื่องดีกว่าหากไม่เป็นหนี้เลย ต้องทำอย่างไรไม่ให้เป็นหนี้ในอนาคต
- เรียนรู้จากประสบการณ์ หากเคยประสบกับภาระหนี้สินในอดีต ให้จำความรู้สึกนั้นไว้แล้วหาทางเพื่อไม่ให้เจอกับสภาพเช่นนั้นอีก
- วินัยทางการเงิน บางครั้งการใช้จ่ายมีออกนอกลู่นอกทางไปบ้าง แต่การมีวินัยจะคอยช่วยกำกับทำให้การใช้จ่ายจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้
- มีสติ คิดให้เยอะ ก่อนใช้เงิน ให้ถามตัวเองย้ำๆซ้ำๆ ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่มีสิ่งนี้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติหรือเปล่า
- วางแผนทางการเงิน ช่วยจัดการเรื่องเงินได้ดีและมีประสิทธิภาพ เป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อต้องเจอกับเรื่องที่ไม่คาดคิด รวมถึงสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆที่ต้องใช้เงินได้ง่ายยิ่งขึ้น
เหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้เป็นหนี้นอกจากการขาดวินัยทางการเงินนั่นคือความไม่รู้ ไม่รู้ว่าเมื่อกู้ยืมแล้วหากไม่สามารถชำระได้ผลที่ตามมาคืออะไร ไม่รู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาภาระหนี้สินแล้วต้องจัดการอย่างไร ที่น่ากลัวที่สุดคือไม่รู้วิธีจัดการรับมือกับปัญหาต่างๆจนท้ายสุดคิดว่าทางออกที่ดีคือการกู้ยืมเงิน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่หากไม่มีความจำเป็นในการสร้างหนี้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือกรณีฉุกเฉินที่เลี่ยงไม่ได้ ก็ไม่ควรใช้เงินแก้ปัญหาควรใช้สติปัญญาไตร่ตรองดูก่อน
ซึ่งการเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดร้ายแรงอะไร แต่จะผิดหากเป็นหนี้แล้วไม่ยอมจ่าย และตามมาด้วยสารพัดปัญหามากมาย ควรนึกอยู่เสมอว่าการไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐนั่นเอง
บริการอบรม ให้คำปรึกษาการทำธุรกิจออนไลน์ ฝึกอบรมภายในบริษัท แบบตัวต่อตัว การทำ Content Marketing,การโฆษณา Facebook,การโฆษณา Tiktok,การตลาด Line OA และการทำสินค้าให้คนหาเจอบน Google
บริการดูแลระบบการตลาดออนไลน์ให้ทั้งระบบ
ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสารความรู้การทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ Add Line id :@taokaemai
รับชมคลิป VDO ความรู้ด้านการตลาด กรณีศึกษาธุรกิจ แหล่งเงินทุนน่าสนใจ ติดตามได้ที่ช่อง Youtube : Taokaemai เพื่อนคู่คิดธุรกิจ SME