บสย. ค้ำประกัน ตัวช่วยกู้เงินธนาคารสำหรับผู้ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง จัดตั้งขึ้นตาม “พระราชบัญญัติบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม พ.ศ. 2534” โดยรับโอนทรัพย์สิน หนี้สิน และความรับผิดชอบของกองทุนประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (กสย.) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 ทำหน้าที่ช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ สร้างความเชื่อมั่นให้กับสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน หรือหลักประกันไม่เพียงพอได้รับวงเงินที่เพียงพอกับความต้องการ.

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง

  • ช่วยเหลืออุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมให้ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินจำนวนมากขึ้น
  • ช่วยให้สถาบันการเงินมีความมั่นใจในการให้สินเชื่อแก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
  • เร่งการกระจายสินเชื่อไปยังอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมทั่วประเทศได้เร็วขึ้น
  • ช่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ข้อควรรู้ การค้ำประกันสินเชื่อ

บสย. คือใคร ทำหน้าที่อย่างไร

บสย. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs (Small and Medium Enterprises) ที่ไม่มีหลักทรัพย์ หรือมีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอในการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อให้ได้วงเงินสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่มีทรัพย์สินถาวร (ไม่รวมที่ดิน) ไม่เกิน 200 ล้านบาท

บสย. ค้ำประกันธุรกิจทุกประเภทหรือไม่

บสย. ให้การค้ำประกันแก่ธุรกิจทุกประเภทที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรมอันดี ครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การค้าปลีก ค้าส่ง ธุรกิจนำเข้า ส่งออก และธุรกิจบริการ

บสย. ค้ำประกันสินเชื่อประเภทใดบ้าง

บสย. สนับสนุนสินเชื่อสำหรับการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ SMEs เท่านั้น เช่น สินเชื่อเงินกู้ระยะยาว, สินเชื่อเบิกเงินเกินบัญชี (O/D), วงเงินตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N), วงเงินหนังสือค้ำประกัน (L/G, L/I), วงเงินสินเชื่อสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ (L/C, T/R, P/C) เป็นต้น โดยที่สินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค, สินเชื่อกู้ซื้อบ้าน ที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเอนกประสงค์ บสย. ไม่สามารถให้การค้ำประกันได้

ลูกค้าที่จะมาใช้บริการ บสย. ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

เป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย (นิติบุคคลที่เป็นสัญชาติไทย คือ มีคนไทยถือหุ้นเกินกว่า 50%) / ประกอบธุรกิจโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี (ด้านการผลิต การค้าปลีก ค้าส่ง ธุรกิจนำเข้า ส่งออก และธุรกิจบริการ) / มีทรัพย์สินถาวรสุทธิ (ไม่รวมที่ดิน) ตามเกณฑ์ที่ บสย. กำหนดในแต่ละประเภทการค้ำประกันสินเชื่อ

บสย. เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันอย่างไร

บสย.เก็บค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อจากผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งอัตราการเรียกเก็บขึ้นอยู่กับประเภทการค้ำประกันสินเชื่อ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้าเป็นรายปี หรือตามแต่ข้อตกลง

การกำหนดวงเงินค้ำประกัน มีเงื่อนไขอย่างไร

ธนาคารเป็นผู้กำหนดวงเงินค้ำประกัน และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของแต่ละประเภทการค้าประกันสินเชื่อที่ธนาคารประสงค์ให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อ เช่น โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS6) ปรับปรุงใหม่ มีวงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ซึ่ง บสย. จะให้การค้ำประกัน สำหรับสินเชื่อส่วนที่ได้รับการอนุมัติจากธนาคารในครั้งนี้เท่านั้น โดยจะต้องไม่นำสินเชื่อในส่วนที่ บสย. ค้ำประกันไปชำระหนี้เดิม และไม่ค้ำประกันสินเชื่อเดิม โดยวงเงินค้ำประกันขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละประเภทการค้ำประกันสินเชื่อ

ภายหลังจากการค้ำประกัน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีต่อ ๆ ไป จะต้องดำเนินการอย่างไร

ธนาคารเป็นผู้จัดเก็บค่าธรรมเนียมส่งให้ บสย. ล่วงหน้าก่อนครบกำหนดอายุการค้ำประกันในแต่ละปี หากไม่ชำระภายในวันที่ครบกำหนด จะถือว่าธนาคาร มีความประสงค์ที่จะยกเลิกการค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการรายนั้น

ภายหลังจากผู้ขอกู้ได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจาก บสย. และได้มีการผ่อนชำระหนี้กับธนาคารลดลงแล้ว จะสามารถลดวงเงินค้ำประกันของ บสย. ได้หรือไม่ และต้องดำเนินการอย่างไร

ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร และแจ้งผลการพิจารณาแก่ บสย. ต่อไป ซึ่งผู้กู้สามารถปรึกษากับธนาคารได้

การยกเลิกการค้ำประกันก่อนครบกำหนดอายุการค้ำประกันสามารถทำได้หรือไม่ และ บสย. จะคืนค่าธรรมเนียมในส่วนที่ชำระล่วงหน้ารายปีหรือไม่

ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของธนาคาร และแจ้งผลการพิจารณาแก่ บสย. ต่อไป

ขั้นตอนการใช้บริการ บสย.

บสย. ค้ำประกัน

สินเชื่อบุคคล ซิตี้